Skip to content

ปรับปรุง เว็บไซต์ เยอะแยะเลย ลองกดเข้าไปเล่นดูสิ ตอนนี้ มีหมอตั้ม มาประจำที่ โรงพยาบาลแล้วนะครับ ใครมีปัญหาปลาป่วย ปรึกษาได้ครับ

โรงพยาบาลสัตว์น้ำ บ่อยครั้ง ที่ปลาเราป่วย ด้วยโรคภัยไข้ เจ็บต่างๆ ย่อม นำความไม่สบายใจ มาสู่ ผู้ เป็นเจ้าของ อย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ วัตถุประสงค์ ของ section นี้ เพื่อเป็น ที่พึ่ง ทางด้านข้อมูล เกี่ยวกับโรค และ อาการผิด ปกติต่างๆ ที่พบได้บ่อย ให้เพื่อนๆ ได้อ่าน และ ใช้เป็นแนวทาง รักษา โรคปลาอย่างถูกวิธี

0000462

หัวเป็นรู และเส้นข้างลำตัวเป็นรู

aek99
aek99 [2006-03-17 15:16:48]
ต่อแรกเริ่มเห็นรูเล็กที่หัวแต่ไม่ได้เอะใจอะไรเลยดูแลตามปกติ ต่อมาเริ่มสังเกตเห็น Leteral Line เริ่มเป็นรู ควรจะรักษาอย่างไรรบกวนพี่ทีนะคับ ลักษณะอาการเหมือนปลาในรูป
ชื่อสายพันธุ์
18นิ้ว
เพื่อนร่วมตู้
นกแก้ว,เสือตอ,อินทรีเน็ต
ที่เลี้ยง
ตู้
ขนาดที่เลี้ยง
30x60x30 นิ้ว
ระบบกรองน้ำ
กรองนอก atman 2400
อาหารที่ให้
หนอนนก,กู้งตลาด,อาหารเม็ด
การรักษาที่ทำอยู่
เกลือ
สังเกตเห็นอาการเมื่อ
เกือบ 1 อาทิตย์เห็นจะได้
% การเปลี่ยนถ่ายน้ำ
15% วันเว้นวัน

ความคิดเห็นที่ 1

aek99
aek99 [2006-03-17 20:30:30]
ปลาที่เลี้ยงไว้เป็นปลาอโรวาน่า ลักษณะอาการเหมือนในรูป ยืมรูปมาจาก arofanatics ที่บ้านไม่มีกล้องดิจิตอล เลยถ่ายจากตัวจริงไม่ได้ แต่เค้าไม่ได้บอกวิธีรักษา

ความคิดเห็นที่ 2

RoF
RoF
125
[2006-03-19 10:13:12]
โรคหัวเป็นรู (Hole in the Head, HITH ) ผม RoF กลับมาสวัสดีกันอีกครั้งครับ กับเพื่อนๆพี่น้อง ชาวไทยครอสบรีดทุกท่าน อันโรคปลานั้น มีมากมายหลายโรคนัก คอยรุมล้อม จ้องทำลายปลาของเราอยู่เสมอ ยามปลาอ่อนแอ การเรียนรู้เรื่องโรคปลาเอาไว้บ้าง จึงเป็นสิ่งสำคัญในการที่เราจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงปลาได้เป็นอย่างดี โรคหัวเป็นรูนั้น ก็เป็นอีกโรคหนึ่งซึ่งสร้างความหนักใจให้กับผู้รักปลาหมอครอสบรีดค่อนข้างมากครับ เพราะนอกจากเป็นโรคซึ่งเกิดขึ้นบ่อย ป้องกันยากแล้ว ยังจะสร้างแผลเป็นที่หน้าเกลียดให้กับปลาของท่านอีกด้วย แม้ว่าจะรักษาโรคหายแล้วก็ตาม แผลเป็นก็ยังคงอยู่ จะมากจะน้อยขึ้นกับความรุนแรงของโรค แต่ถ้าเรารักษาทันท่วงที แผลที่เกิดขึ้นก็จะยังเล็ก และตื้น โอกาสที่ปลาจะสร้างเนื้อเยื่อ และกระดูกขึ้นมาทดแทนจนเป็นปกติก็มีได้มากตามไปด้วยครับ ฟังๆดูแล้วน่ากลัว และน่าหนักใจมากครับ ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับปลาตัวสวยของเราเลยจริงๆ ดังนั้น เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันนะครับ โรคหัวเป็นรูนั้น เกิดจากเชื้อโปรโตซัวร์ในสกุล Hexamita และ Spironucleus มีขนาดประมาณ 7-13 ไมครอน โดยทั่วไป เราจะพบโปรโตซัวร์ชนิดนี้ ในถุงน้ำดี และ ในลำไส้ของปลา ปกติแล้ว ก็จะไม่แสดงอาการของโรค แต่ถ้าปลาของเราอ่อนแอ เนื่องจากสาเหตุใดๆก็ตามที่กล่าวไว้ในบทความเก่าๆ และเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนเข้าสู่กระแสเลือด ก็จะแสดงอาการของโรคหัวเป็นรูขึ้นมาได้ครับ และนอกจากนั้น สัญญาณบ่งชี้อีกประการหนึ่งที่แสดงให้เราเห็นว่า ปลาเริ่มป่วยแล้ว ก็คือ ปลาจะถ่ายอุจจาระออกมาเป็นเส้นสีขาวขุ่น ยาว ติดต่อกัน คล้ายๆกับเส้นด้าย ซึ่งจะบอกให้เราทราบว่า ปลาอ่อนแอลง และมีเชื้อในทางเดินอาหารมากผิดปกติครับ ในบางตำราบอกไว้ว่า เชื้อ Hexamita Hexamita salmonis , Hexamita truttae and Hexamita intestinalis และ Spironucleus ไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดโรครูบนหัวครับ โดยอธิบายว่า แผลดังกล่าวอาจเกิดขึ้นมาจากสภาพการเลี้ยงไม่เหมาะสม และการขาดสารอาหาร เมื่อแผลเกิดขึ้นแล้วก็มักจะพบเชื้อดังกล่าวบริเวณแผลนั้นๆตามมาครับ ดังนั้น สาเหตุที่สำคัญอีกอย่างนอกจากตัวเชื้อแล้วก็คงจะหนีไม่พ้น เรื่องเกี่ยวกับสภาพการเลี้ยงที่ไม่เหมาะสมนั่นเองครับ พูดกันมาหลายครั้งแล้ว เช่น น้ำเสีย มีการหมักหมมของสารอินทรีย์มาก โดยดูจากปริมาณไนไตรท์เป็นสำคัญ น้ำมี pH ต่ำ หรือ สูงเกินไป (pH ที่เหมาะสมกับปลาหมอครอสบรีดคือ 7-7.5 ) ออกซิเจนไม่เพียงพอ มีสารพิษต่างๆในน้ำ อุณหภูมิต่ำหรือสูงเกินไป (ที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 26-28 องศาเซลเซียส) หรือ อุณหภูมิในรอบวันเปลี่ยนแปลงขึ้นลงมาก การขนย้ายปลา หรือการเลี้ยงปลาหนาแน่นเกินไป อาหารไม่เหมาะสม เช่น บางตำราบอกว่า ปลาได้รับโปรตีนมากเกินไป หรือ มีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆในอาหารไม่เพียงพอ และอีกหลายๆสาเหตุเท่าที่เราจะนึกขึ้นมาได้ สำหรับผมแล้ว สาเหตุทุกอย่างล้วนมีความสำคัญเท่าเทียมกันหมดครับ เรื่องสภาพแวดล้อมนี้เป็นเรื่องสำคัญมากและเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคทุกๆโรคเลยทีเดียว เมื่อปลาอ่อนแอ สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อเชื้อโรค ปลาก็ย่อมแพ้ต่อเชื้อโรคและแสดงอาการออกมา เมื่อปลาแข็งแรง ถึงแม้จะมีเชื้อโรค ก็ไม่สามารถทำอะไรปลาได้ ดังนั้น เมื่อปลาเราเป็นโรค ก่อนที่เราจะทำอะไรต่อไป อันดับแรกเลย เราต้องมาพิจารณาถึงสภาพการเลี้ยงของเราในตอนนี้ก่อน ว่าเหมาะสมหรือไม่ต่อปลาของเรา มิฉะนั้นแล้ว ถ้าเราไม่แก้ไขเรื่องดังกล่าวก่อน การรักษาในขั้นตอนต่อไป ถึงแม้จะเป็นการใช้ยาที่ถูกต้อง ถูกวิธี ก็อาจไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ครับ การติดต่อของเชื้อโรค เชื้อ Hexamita นั้นจะถ่ายทอดไปยังปลาตัวอื่น ผ่านทางน้ำ โดยออกมาจากขี้ปลาที่มีการติดเชื้อดังกล่าวครับ เมื่อปลาได้รับเชื้อเข้าไป เชื้อก็จะไปอาศัยอยู่ในผนังลำไส้ส่วนบน และจะว่ายวนเวียนอยู่ในลำไส้ปลาบริเวณที่มีกากอาหารอยู่ ในสภาพปกติแล้ว เราจะพบเชื้อปรสิตชนิดนี้ในลำไส้ปลาในปริมาณไม่มากเกินไป แต่เมื่อใดที่ปลาอ่อนแอ สภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อ เชื้อดังกล่าวก็จะขยายพันธุ์แบ่งตัวอย่างรวดเร็วมาก ทุกๆ 24 ชั่วโมง จนปลาเป็นโรคดังที่บอกไว้ข้างต้นครับ อาการของปลาที่เป็นโรค ปลาที่เริ่มเป็นโรค จะแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร สีซีดผิดปกติ ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นของปลาป่วยโดยทั่วไปครับ ในระยะต่อมา เราจะเริ่มเห็น รูเล็กๆ เกิดขึ้น บริเวณส่วนหัว ส่วนหน้าเหนือปากด้านบน บริเวณจมูก โดยลักษณะของรูนั้น จะมีขนาดเล็กมาก และค่อยๆขยายกว้างขึ้น และลึกลงเรื่อยๆ ลักษณะของแผลดังกล่าว จะเหมือนกับมีเนื้อ และกระดูกบริเวณนั้นถูกขูดหายไป บางครั้งอาจมีอาการบวมช้ำ หรือเป็นหนองเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย บางทีก็มักสร้างความสับสนให้กับเราได้เหมือนกันว่า แผลดังกล่าว เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเพียงอย่างเดียว หรือ เกิดจากเชื้อโปรโตซัวร์ Hexamita ด้วย แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ให้เราสันนิษฐานได้ว่า ถ้ามีแผลดังกล่าวบริเวณหัว ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า น่าจะเกิดจากเชื้อ Hexamita ด้วยเช่นกัน อาการดังกล่าว ยังอาจเกิดขึ้นได้บริเวณเส้นข้างตัวปลาได้อีกด้วย โดยจะพบลักษณะเป็นรู คล้ายๆกัน รูปแสดงปลาที่เป็นโรคหัวเป็นรู รูปแสดงปลาที่เป็นโรคหัวเป็นรูและมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย การป้องกันโรคหัวเป็นรู โรคหัวเป็นรูนั้น มีสาเหตุหลักๆมาจาก สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น น้ำเสีย มีแอมโมเนีย และไนไตรท์สูง มีเศษอาหาร และขี้ปลาหมักหมมมานาน ระบบกรองไม่มีประสิทธิภาพ และสกปรก ออกซิเจนในน้ำต่ำ ฯลฯ อาหารไม่ได้คุณภาพ หรือปลาขาดสารอาหารอย่างรุนแรง ปลาก็จะแสดงอาการของโรคออกมา การป้องกันโรคนี้นั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะว่าเชื้อ Hexamita นั้น เป็นเชื้อที่พบได้ทั่วไปในปลาอยู่แล้ว สามารถติดต่อกันไปยังปลาตัวอื่นในตู้ผ่านทางขี้ปลา ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เช่นกันครับ ถ้าปลาแข็งแรง สภาพแวดล้อมดี เชื้อดังกล่าวก็จะไม่สามารถทำให้เกิดโรคหัวเป็นรูได้ครับ ดังนั้น อย่าลืม รักษาความสะอาด รักษาคุณภาพน้ำ ด้วยนะครับ การรักษาโรคหัวเป็นรู การรักษาโรคนี้นั้น จะได้ผลดี และ เกิดแผลเป็นน้อยที่สุด ต้องรีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆครับ คือ เมื่อเริ่มเห็นอาการรูบนหัวเมื่อไร ก็ให้รีบรักษา ส่วนสำหรับปลาที่เกิดรูบนหัวแล้วนั้นยิ่งชัดเจน และผ่านไปนานเท่าไรก็จะรักษายากขึ้นครับ เพราะโปรโตซัวร์ดังกล่าวมีปริมาณมากแล้ว อีกทั้งเนื้อเยื่อ และกระดูกปลาถูกทำลายไปเป็นบริเวณกว้างแล้วล่ะครับ เราจะรักษาด้วยการใช้ยาต้านโปรโตซัวร์ Metronidazole (TRICHOPOL) (2-methyl-5-nitroimidazole-1-ethanol) มีสูตรเคมีว่า C 6 H 9 N 3 O 3 หาซื้อได้ตามร้านขายยาคนทั่วไปครับ (จริงๆถูกห้ามใช้ไปแล้ว แต่ก็ยังมีหลงเหลืออยู่ครับ) รูปแสดงโครงสร้างทางเคมีของเมโทรนิดาโซล การรักษานั้น วิธีที่ดีที่สุดและได้ผล คือการป้อน และการผสมอาหารให้กินครับ เนื่องจากเชื้อจะพบในทางเดินอาหารมากมาย การป้อน เราจะป้อนด้วยอัตราส่วน 50 mg/น้ำหนักปลา 1 กิโลกรัม โดยละลายยาที่คำนวณได้ ในน้ำสะอาด 1 cc. ต่อปลา 1 กิโลกรัม โดยป้อนด้วยกระบอกฉีดยาขนาดเล็ก ไม่ติดเข็ม เข้าทางปากปลา ทำทุกๆ 5 วัน วิธีการดังกล่าวยังจะช่วยการรักษาโรคขี้ขาวได้อีกด้วยครับ ส่วนปลาที่ยังกินอาหารอยู่ หรือปลาที่ไม่สะดวกในการป้อน เราจะใช้การผสมอาหารในอัตราส่วน 10 mg/อาหาร 1 กรัม โดยคลุกยากับอาหาร และพรมน้ำหมาดๆ เข้าด้วยกัน ผึ่งลมให้แห้ง และให้ปลากิน อาหารที่เหลือเก็บไว้ได้ในตู้เย็น การป้อนและการผสมอาหารเราจะทำติดต่อกัน จนกว่าอาการจะเริ่มดีขึ้น สังเกตได้จาก ปลาเริ่มมีการสร้างเนื่อเยื่อขึ้นมาทดแทนบริเวณรูดังกล่าวครับ ส่วนวิธีการแช่นั้น อาจได้ผลช้ากว่าวิธีการข้างต้น แต่ก็เป็นวิธีที่สะดวกอีกวิธีหนึ่ง เราจะแช่ด้วยอัตราส่วน ยา 20 mg/น้ำ 1 แช่จนกว่าจะหาย โดยต้องทำการเปลี่ยนน้ำ และยา 30 เปอร์เซ็นต์ ทุกๆ 2 วันจะช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้นครับ หรือจะใช้วิธีการป้ายยาที่บริเวณแผล โดยการจับปลาขึ้นมาเหนือน้ำ เอากระดาษซับเมือกปลาบริเวณแผลออก และทาด้วยผงยาที่แกะออกมาจากแคปซูล หรือผงยาที่เราบดละเอียด บริเวณแผลดังกล่าวให้ทั่ว แล้วปล่อยปลาคืนลงตู้ครับ ทำวันเว้นวันจนกว่าจะหายเช่นกัน ตัวยาอื่นๆที่ใช้ทดแทนกันได้ เช่น ยาต้านโปรโตซัวร์ Dimetridazole (C5H7N3O2) แช่ด้วยอัตราส่วน 10 mg/ลิตร รูปแสดงโครงสร้างทางเคมีของ ไดเมไทรดาโซล ยาต้านจุลชีพ (antimicrobial agent) ฟูราโซลิโดน Furazolidone มีสูตรเคมีว่า C8H7N3O5 รูปแสดงโครงสร้างทางโมเลกุลของฟูราโซลิโดน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่ม nitrofuran ซึ่งก็โดนห้ามใช้ไปแล้วล่ะครับ ใครยังหาได้อยู่ก็ลองเอามาใช้กัน ใช้แช่ด้วยอัตราส่วน 20 mg/ลิตร ส่วนถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยในบริเวณแผล เราจะพบการอักเสบ บวม เปื่อย บริเวณแผลดังกล่าวด้วย ให้เราแช่ด้วยยาปฏิชีวนะ หรือ ยาต้านจุลชีพต่างๆ ลงไปด้วยนะครับ เช่น อคริฟลาวิน 60 mg/ลิตร หรือ แอมม๊อกซี่ซิลิน 30 mg/ลิตร ครับ แช่ไปพร้อมๆกับยาต้านโปรโตซัวร์ข้างต้นเลยครับ คิดว่าคงไม่มีอะไรจะเขียนแล้วล่ะครับสำหรับบทความนี้ หวังว่ามันคงมีประโยชน์ และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง ยามที่ท่านเจอปัญหาดังกล่าวนะครับ ผิดพลาดประการใด ผมก็กราบขออภัยไว้ ณ. ที่นี้ด้วยครับ เพื่อนๆท่านใด อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติม หรือ ถามตอบกันสดๆก็ เชิญที่เวปไซด์ http://gene-pool-aquarium.pantown.com/ ได้เสมอนะครับ ขอบพระคุณครับ
ด้านบน

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนทำรายการ

เข้าระบบ