0000030

เมื่อ ป.ปลาตากลมของยูมิจัง เป็นหวัด

ยูมิจัง ถาม คุณแม่ ว่า ...

กบเอ่ยทำไมจึงร้อง(ซ้ำ) จำเป็นต้องร้องเพราะว่าท้องมันปวด กบเอ่ยทำไมจึงร้อง(ซ้ำ) จำเป็นต้องร้องเพราะว่าข้าวมันดิบ ข้าวเอ่ยทำไมจึงดิบ(ซ้ำ) จำเป็นต้องดิบเพราะว่าฟืนมันเปียก ฟืนเอ่ยทำไมจึงเปียก(ซ้ำ) จำเป็นต้องเปียกเพราะว่าฝนมันตก

ไตรทอง ของหนูจะเป็นหวัดไหม ค่ะ

ฟืนเอ่ยทำไมจึงเปียก(ซ้ำ) จำเป็นต้องเปียกเพราะว่าฝนมันตกหนูน้อยยูมิจังร้องเพลงแข่งกับเสียงกบ โอ๊ป โอ๊ป โอ๊ป ที่ แว่วดังมาแต่เช้าตรู่ ยูมิจังหันไปเอ่ยถามคุณแม่ ”คุณแม่จ๋า กบมันปวดท้องหรือเปล่าค่ะ” คุณแม่ตอบว่า “ไม่ใช่หรอกค่ะ เพลงนี้เป็นเพลงเด็กพื้นบ้านที่บอกให้พวกเราทราบว่า ในช่วงเวลานี้เข้าหน้าฝนแล้วนะลูก” ยูมิจังถามต่อ” แล้วเจ้าทองหยิบ (ไตรทองตัวน้อยที่คุณพ่อซื้อให้เป็นของขวัญวันเกิด) ของหนูมันจะเป็นหวัดไหมค่ะ”

นั่นสิครับ คงมีเพื่อนๆ คงอยากรู้เหมือนกับผมใช่ไหมครับว่า เจ้าทองหยิบจะเป็นหวัดไหม แล้วน้องยูมิจังจะต้องดูแลเจ้าทองหยิบในยามที่ฝนมายังไง พวกเรามาหาคำตอบกันดีกว่าครับ

เมื่อฝนมาเพื่อนๆ จะพบว่าปลาที่เรารักจะป่วยง่ายเหลือเกิน บางครั้งขาดการดูแลและการจัดการที่ดี เราก็อาจจะเสียปลาที่เรารักไปโดยไม่ทันตั้งตัวเสียด้วยซ้ำไป

การเลี้ยงแบบหนาแน่น ต้องดูแลเรื่อง คุณภาพน้ำ เป็นพิเศษ

พวกเรามาลองค้นหากันดีกว่าครับว่าอะไรคือสาเหตุหลัก ที่ทำให้ปลาที่เรารักป่วยไม่สบาย

1. อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อย่างที่เราทราบกันครับปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น (Ectotherms) ที่เราเรียกปลาเป็น สัตว์เลือดเย็น ก็เพราะว่า อุณหภูมิภายในตัวปลาจะปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมที่ปลาอยู่อาศัยครับ การที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไปส่งผลถึง ออกซิเจนในน้ำ อ๊อกซิเจนในน้ำจะลดลงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นและมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิลดลง หลายคนอาจจะสงสัยว่า เมื่อออกซิเจนมากขึ้นไม่ดีหรอครับ คำตอบมีดังนี้ครับ การที่อุณหภูมิลดต่ำลงถึงแม้ออกซิเจนจะมากขึ้นก็จริง แต่กระบวนการดูดซึมอาหาร (Metabolism) ของปลาจะลดต่ำลงด้วย ทำให้ปลากินน้อยลงครับ เมื่อเราเคยให้อาหารปลาด้วยความคุ้นเคยตามปกติ อาหารก็จะยังคงเหลือซึ่งเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคเป็นอย่างดี

2. เชื้อโรคที่มากับอาหารสด หลายๆคนที่ให้อาหารสด จำพวก ไรทะเล กุ้งฝอย เคยมีประสบการณ์ ไหมครับ หลังจากที่ฝนตกแล้ว1-2วัน เมื่อเพื่อนๆให้อาหารกับปลาที่เรารัก โดยไม่ได้ล้างทำความสะอาดให้ดี หรือ ล้างน้ำไม่มากพอ หลายวันต่อมาปลาของเราจะเริ่มป่วย สาเหตุก็มาจาก ไรทะเลหรือกุ้งฝอยเหล่านี้หละครับ เมื่อฝนตกลงมาได้นำเอาเชื้อโรคและสิ่งเจือปนลงมาในแหล่งอาหารสดซึ่ง ต่อมาได้เข้า ไปสะสมในตัวเจ้าพวกนี้ เมื่อเราให้อาหารปลาที่มีเชื้อโรคเจือปนอยู่ ก็จะเป็นหนทางที่ทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายปลาได้ง่ายขึ้น

3.คุณภาพน้ำจากท่อประปาเมื่อฝนมา ในช่วงหน้าฝน ถ้าเราสังเกตให้ดีจะพบว่า น้ำก๊อกที่เราเอาเลี้ยง ปลาซึ่งบางครั้งได้ทำ การผ่านระบบกรองคลอรีนมา อย่างดี อาจจะมีบางช่วงที่พบว่า เครื่องกรอง คลอรีนไม่สามารถกรองออกได้ทั้งหมด เมื่อเราทำการเปลี่ยนน้ำ ปลาจะได้รับสารคลอรีนเข้าไป จะมีอาการ ซึมก้นตู้ หายใจถี่ หรือบางครั้ง จะลอยตามผิวน้ำขึ้นมาหายใจ ดังนั้น เราจึงควรตรวจสอบ คุณภาพน้ำทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนน้ำใหม่

4. จำนวนปลาต่อหนึ่งตู้ ถ้าเพื่อนๆ เลี้ยงลูกปลาไว้เป็นจำนวนมากในตู้เดียวกัน สิ่งที่ควรพึงระวังในหน้าฝนก็คือ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างรวดเร็วในหนึ่งวัน ซึ่งจะทำให้ลูกปลาไม่สามารถปรับตัวเหมาะสมกับ อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ภูมิต้านทานของลูกปลาลดลง ซึ่งจะทำให้สามารถติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ ดังนั้นเมื่อฝนมา เราจึงควรหาทางลดความหนาแน่นของลูกปลาในตู้นั้นๆ ลง

5. การปนเปื้อนของโลหะหนักและก๊าซต่างๆ ที่มากับสายฝน ในเมืองที่มีมลภาวะอย่างในกรุงเทพมหานคร เมื่อเวลาฝนตก สิ่งที่เพื่อนๆ ควรระวัง ก็คือ น้ำฝน เพราะในช่วงเวลาที่ฝนตก คาร์บอนมอนนอกไซด์และโลหะหนักต่างๆ จะรวมตัวกับเม็ดฝนแล้วตกลงมาตามบ้านเรือน ทำให้น้ำฝนที่ได้มามีสารพิษและโลหะหนักปนอยู่ ถ้าไม่ได้สังเกตและมีการป้องกันที่ดี อาจจะทำให้ปลาที่เรารักได้รับสารพิษเหล่านี้ไปด้วย

การสังเกต สุขภาพ ปลาที่เรารัก ทุกวัน เป็นสิ่งที่ขาด ไม่ได้

เมื่อเราพอรู้สาเหตุเบื้องต้น ของสิ่งที่ทำให้ปลาเราป่วยแล้วนะครับ คราวนี้พวกเรามาลองสังเกตุอาการที่บ่งบอกว่า ปลาที่เรารักเริ่มมีปัญหากันดีกว่าครับ

1. ไม่กินอาหาร ถ้าเพื่อนๆ ให้อาหารปลาด้วยตัวเองทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งปลาที่เรารัก ไม่ยอมกินอาหารตามปกติ ลองเปลี่ยนอาหารก็แล้ว ก็ยังคงปฎิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย จากประสบการณ์ของผม ปลาได้เริ่มบ่งชี้ถึงคุณภาพน้ำที่พวกเขาอยู่อาศัยแล้วครับ ว่าถึงเวลาที่เราควรจะต้องทำการเปลี่ยนน้ำได้แล้ว

2. ลอยตัวตามผิวน้ำ ปกติทั่วไปปลาจะต้องไม่ลอยบนผิวน้ำ จะต้องว่ายไปว่ายมา แต่ถ้าอยู่ดีๆ วันดีคืนดีปลาที่เรารักเกิดลอยตัวตามผิวน้ำ เข้ามุมใดมุมหนึ่งของตู้ เมื่อเราจับปลาขึ้นมาดู จะพบกลิ่นคาวปลาติดมืออย่างรุนแรง ให้สันนิษฐานได้เลยครับ ว่าเจ้าตัวเก่งของเรากำลังมีปัญหาแล้วครับ โรคที่พบมากในกรณีนี้ จะเกิดจากเจ้าพวกพาราสิต วิธีแก้ไขให้ทำการเปลี่ยนน้ำแล้วใส่ยาแก้พาราสิตครับ

3. จมก้นตู้ เมื่อปลาไม่ใช่เรือดำน้ำ ดังนั้นการจมก้นตู้ต้องไม่ใช่เรื่องปกติเป็นแน่ครับ โดยธรรมชาติของปลาควรจะทำการว่ายไปว่ายมา แต่ถ้าเกิดจมก้นตู้แล้วเมื่อเอามือไปแหย่เล่น ไม่มีปฎิกริยาตอบกลับ สันนิษฐานได้เลยครับ ว่ากำลังติดเชื้อแบคทีเรียภายใน อาการที่อาจจะตามมา เราอาจจะพบว่า ตาจะฝ้าขุ่น เกล็ดพอง ท้องบวม ซึ่งเป็นอาการของการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ทางแก้ไข ควรเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกวัน งดอาหารสดทุกชนิด และใส่ยาปฎิชีวนะ เช่นพวก เอมอกซิลิน ในอัตราส่วน 250 มก. ต่อน้ำ 40 ลิตร เป็นเวลา 5-7 วัน

4. มีจุดขาวๆ ขึ้นตามครีบตามตัว โรคที่เราสามารถพบบ่อยมากเมื่อเวลาฝนมา เมื่ออากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็คงไม่พ้นเจ้าโรคจุดขาวหละครับ โรคจุดขาวถือว่าเป็นโรคหวัดของปลาก็ได้ทีเดียวเลยครับ อาการที่ปลาแสดงก็จะมีจุดเม็ดขาวๆๆเกาะตามลำตัว ครีบ เมื่อเอามือไปจับ จะสากๆ โรคนี้สามารถรักษาได้ง่ายมากครับ เราควรจะใช้เมทิลีนบลู โรคจุดขาว แต่ปัจจุบันผู้ผลิตยาในบ้านเรา ได้ผสมมาลาไคท์กับเมทิลีนบูล รวมเข้าด้วยกัน ดังนั้นเมื่อเราเลือกซื้อมาลาไคท์ จึงควรหาตัวยาที่มีส่วนผสมของเมทิลีนบลูอยู่แล้วครับ

5. ขัดตัวกับพื้นหรือหิน การที่ปลาว่ายแฉลบหรือแสดงอาการขัดตัวกับวัตถุใต้น้ำ เป็นอาการบ่งชี้ของคุณภาพน้ำครับ เจ้าตัวเก่งของเราคงไม่ได้คิดจะว่ายด้วยท่าทางเลียนแบบ สิงห์มอเตอร์ไซด์ เป็นแน่แท้ครับ อาการที่แสดงออกมาเป็นการบ่งบอกถึง ปลาตัวเก่งของเรากำลังโดนเจ้าพาราสิตเล่นงานอยู่ครับ

6. ตัวด่างๆ คล้ายปลาจะลอก อาการตัวด่าง เหมือนผิวหนังถลอก เป็นอาการของโรคตัวด่าง โรคนี้โดยปกติจะพบน้อยมากในการเลี้ยงปลาที่ไม่หนาแน่น แต่ถ้าเพื่อนๆ เลี้ยงลูกปลาอยู่เป็นจำนวนมากและแออัด เมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ลูกปลาที่ถูกเลี้ยงในสภาพที่แออัด ก็จะเกิดโรคนี้ได้ง่ายครับ

7. ได้รับสารโลหะหนัก เมื่อปลาของเราโดนฝน อาการที่อาจจะพบเห็นได้ ปลาที่เรารักจะลอยตัวขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ คงไม่ใช่เพราะปลาขึ้นมาเล่นน้ำอย่างที่เราเข้าใจหรอกนะครับ อย่างที่กล่าวมาข้างต้น น้ำฝนที่ตกลงมา ได้นำพาสารพิษและโลหะหนักเข้ามาด้วย ดังนั้นเราจึงควรรีบเปลี่ยนน้ำโดยด่วนครับ อีกกรณีหนึ่งที่อยากให้เพื่อนๆ พึงระวังไว้เวลาเปลี่ยนน้ำปลาใหม่ๆ ถ้าพบว่าปลาลอยขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ เมื่อเราเปลี่ยนน้ำใหม่ๆ แสดงว่า ระดับคลอรีนที่ผสมอยู่ในน้ำเกินมาตรฐานที่ปลาจะทนได้ครับ เราจึงควรระมัดระวังในการเปลี่ยนน้ำด้วยครับ

แก๊งร่วมก๊วน ของยูมิจัง เองค่ะ

เสียง โอ๊ป โอ๊ป โอ๊ป ของเจ้ากบตัวน้อยได้หายไปแล้ว แสงแดดเริ่มสาดแสงสีทองกลับมาอีกครั้ง หนูน้อยยูมิจังหันมากระซิบข้างหูคุณแม่เบาๆๆ ว่า “คุณแม่ขา ยูมิจัง ขอสัญญาน่ะค่ะ ว่ายูมิจังจะดูแลเจ้าทองหยิบเมื่อเวลาฝนมาให้ดีที่สุดค่ะ” คุณแม่ได้แต่พยักหน้า ไม่มีคำตอบใดๆๆที่ออกจากปาก มีแต่แววตาที่บ่งบอกถึงความรักและความเอ็นดูที่มีให้กับลูกรัก หนูน้อยบรรจงหอมแก้มของคุณแม่อันเป็นที่รัก แล้วกล่าวขอบคุณ ก่อนที่จะเดินจากไปที่สวนหลังบ้าน เพื่อดูแลเจ้าทองหยิบตามสัญญาที่ได้ให้ไว้ “ลา ลา ล่า ล่า ล้า ล๊า ล๊า ลา ลา ล้า ล้า ล่า ล๊า ลั้น ล่า ลั๊น ลั้น “ ดังไปตามจังหวะก้าวเดิน ของหนูน้อยยูมิจัง

เพื่อนๆ คงจะได้รับคำตอบแล้วน่ะครับว่า เจ้าทองหยิบของน้องยูมิจังจะเป็นหวัดเมื่อฝนมาหรือเปล่า สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเสริมจากเรื่องราวของยูมิจัง ก็คือ “ผมอยากให้เพื่อนๆ ดูแลเรื่องคุณภาพน้ำให้ดีอยู่เสมอ การรักษาโรคปลา เป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ถ้าเราหมั่นดูแลเรื่องคุณภาพน้ำให้ดีอยู่เสมอ ผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะกี่ฝนก็ตามก็ไม่สามารถทำอันตรายกับปลาที่คุณรักได้หรอกครับ“

ขอให้มีความสุขกับการเลี้ยงปลาน่ะครับ แล้วอย่าลืมแบ่งปันความสุขเหล่านี้ให้คนรอบข้างคุณด้วยแล้วกัน