0000037

พาปลาไปหาหมอ

ป้ายชื่อ รพ.สัตว์น้ำ ริมถนนอังรีดูนัง

เมื่อปลาไม่สบาย เราจะทำยังงัย หลายคนคงคิดหนัก กลุ้มใจ ไปถามตาม คลีนิกสัตว์แพทย์ ก็ไม่รับรักษาปลา บางรายก็รักษาปลากันตามความรู้ที่มี ใส่ยาเหลืองมั่ง ใส่เกลือมั่ง ใส่ยาแก้อักเสบมั่ง หายมั่งไม่หายมั่ง ตายมั่งไม่ตายมั่ง กันตามเรื่องตามราว ซึ่งคนเขียนเองก็ไม่มี ความรู้เกี่ยวกับการรักษาปลา อย่างถูกวิธี เช่นเดียว กับอีกหลายๆ ท่าน พอปลาป่วยขึ้นมาก็ไม่รู้จะทำยังงัย

ในที่สุดก็ได้พบทางสว่าง เมื่อเพื่อนๆ ในเวบนี้หลายท่านบอกว่า ควรจะนำส่งโรงพยาบาลสัตว์น้ำ หลายๆ คนคงจะต้องมีคำถามว่า รพ.สัตว์น้ำนี่มันอยู่ที่ไหน ไปยังงัย ค่าใช้จ่ายแพงไหม มีขั้นตอนในการรักษาอย่างไร เอาล่ะ ตามผมมาครับ ผมจะพาไปเที่ยว รพ.สัตว์น้ำกัน

ตรงไป 500 เมตร จะเจอตึกสูง 8 ชั้น (อาคาร 60 ปี)

รพ.สัตว์น้ำ ที่ว่านี้ ก็คือ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี่เอง ถ้าใครไปไม่ถูกลองนึกภาพสยามสแควร์สิครับ ตรงถนนอังรีดูนัง ฝั่งเดียวกับแคนตันสุกี้ครับ ถ้าขับรถมาจากถนนพระราม4 เมื่อเลี้ยวเข้า ถนนอังรีดูนังแล้วก็ตรงมาเรื่อยๆ จนถึง โรงเรียนเตรียมอุดมครับ สังเกตสะพานลอยคนข้ามถนนครับ ทางเข้าคณะจะอยู่ระหว่างโรงเรียนเตรียมอุดมกับทางเข้าสยามสแควร์ มองด้านซ้ายมือให้ดีนะครับจะได้ไม่หลงทาง

เมื่อเลี้ยวเข้าไปแล้วก็ตรงไปสัก 50 เมตรจะเจอตึกสูงประมาณ 4 ชั้น อยู่ด้านขวามือครับ หาที่จอดแถวนั้นเลย ที่จอดรถจะมีมากพอสมควร เพราะเขาไม่อนุญาตให้นักศึกษาและบุคคลภายนอกเข้าไปจอด จอดรถแล้วก็เดินเข้าตึกไปเลยครับ ไปแลกบัตรผ่านก่อนแล้วก็ขึ้นลิฟท์ไปที่ ชั้น 2 ครับ ดูตามป้ายบอกทางได้เลย แค่นี้ปลาของเราก็ถึงมือคุณหมอแล้วครับ

ที่นี่เลย ชั้น 2 ของ ตึก 8 ชั้น ( อาคาร 60 ปี )

ต่อไปก็จะเล่าถึงขั้นตอนในการรักษาครับ คุณหมอจะให้เอกสารมากรอกครับ เหมือนกับลงทะเบียนคนไข้ แล้วก็จะดูปลาของเราว่าเป็นอะไร ถ้าอาการป่วยสามารถมองเห็นจากภายนอกเลยก็ไม่ต้องทำการ X-Ray แต่ส่วนใหญ่จะให้ทำ ครับ โดยคุณหมอจะออกเอกสารให้ไป X-Ray ที่ตึกด้านหน้าครับ เราต้องเอาเอกสารนั้นไป จ่ายค่า X-Ray ก่อนครับ ถ้าปลาเล็ก ก็150 บาท ปลาใหญ่ก็ 200บาท

เมื่อจ่ายเงินที่ตึกด้านหน้าเราก็เอาปลามา X-Ray ที่ตึกด้านหน้านั่นแหละครับ และเป็นห้องเล็กๆ อยู่ด้านล่าง สังเกตเส้นทางเดินจะมีเส้นสีเขียวบอกทางไป ไปถึงก็จะเอาปลาของเราออกมาใส่ถุงเปล่าๆ แล้ววางบนเตียงโลหะ จากนั้นก็จับปลาเราพลิกซ้าย ขวา แล้วก็ถ่ายหลายๆ มุม เมื่อถ่ายเสร็จแล้วก็นำฟิลม์ไปให้คุณหมอวินิจฉัยครับ ถ้าอาการไม่หนักมากนักก็จะให้ยามาแช่ แล้วก็แนะนำวิธีการให้ยาหรือแช่ยา

ถ้าดูอาการไม่น่าไว้ใจก็ต้องฝากคุณหมอดูแลโดยเสีย ค่าใช้จ่ายวันละ10 บาท (ค่าตู้+ค่าอาหาร) โดยคุณหมอจะขอมัดจำเอาไว้ 200 บาทครับ โดยคุณหมอจะบอกคร่าวๆ ว่าต้องดูอาการกี่วัน ส่วนใหญ่ถ้าปลาหลังหักก็คงอยู่นานหน่อย อย่างของผมอยู่เดือนนึงพอดี ระหว่างที่ปลาอยู่กับคุณหมอ เราก็โทรไปถามอาการสักอาทิตย์ละครั้ง ถ้าปลาตายทางคุณหมอก็จะแจ้งให้ทราบ ให้เราไปรับซากกลับหรือจะฝากไว้ที่นั่นเพื่อทางนั้นจะได้ผ่าพิสูจน์เป็น กรณีศึกษา ก็ได้ครับ บางท่านมัดจำไป 200 บาท แล้วอีก 2-3วัน ปลาตายก็อย่าไปทวงเงินมัดจำคืนล่ะ เพราะส่วนใหญ่เขาจะไม่ขอคืนกัน โดยส่วนใหญ่จะบริจาคเพื่อเข้ามูลนิธิรักษาพันธ์สัตว์น้ำ (หรือเปล่าไม่ค่อยแน่ใจ)

ห้อง x ray

บางท่านอ่านแล้วอยากรู้ว่าที่นั่นรักษาปลาอย่างไร สถานที่พักฟื้นปลาเป็นอย่างไร ผมได้มีโอกาสไปเดินดูรอบๆ (ซึ่งปกติเขาไม่ค่อยยอมให้เราไปเดินเพราะกลัวติดเชื้อครับ โซนนี้เข้าไปต้องเปลี่ยนรองเท้าที่ทางเขาจัดไว้) สถานที่ก็กว้างขวางครับ มีระบบกรองน้ำเหมือนโรงงานย่อมๆ มีตู้สแตนเลสขนาด24นิ้ววางอยู่เป็นร้อยตู้ มีคนงานทำความสะอาดเปลี่ยนน้ำตู้ทุกวัน แต่ละตู้จะมีชื่อเจ้าของปลาและอาการป่วยของปลาติดอยู่ ในใบรายละเอียดจะมีบอกว่าในแต่ละวันให้อาหารตอนไหน ให้ยาอะไร ปริมาณเท่าไหร่(เหมือนกับใบ repor tของคนไข้ตรงปลายเตียงในโรงพยาบาลน่ะครับ) ผมสังเกตเห็นอาหารที่เขาเตรียมไว้ให้ปลาก็จะมีทั้งอาหารเม็ดและกุ้งแช่ยา ฆ่าเชื้อโรคครับ

คุณหมอ นรินทร์ ยะนิล กำลังเตรียมยาฉีด

จากที่ผมได้พูดคุยและขอความรู้จาก นสพ.นรินทร์ ยะนิล คุณหมอประจำที่นั่น ท่านได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแบบง่ายๆ ครับ เช่น ถ้าปลาลงไปนอนราบกับพื้นตู้และเหงือกกระพืออ่อนแรง ให้เอาวิตามินซี (ที่หาซื้อตามร้านขาย) 3-4 เม็ด มาบดให้ละเอียดแล้วละลายน้ำผสมลงไปในน้ำครับ ปลาจะดูดซึมวิตามินแล้ว เหงือกจะสามารถรับอ๊อกซิเจนได้ดีขึ้น

เจ้าเทคแดงของผม กำลังโดนฉีดยา เข้ากล้ามเนื้อ

แต่ถ้าอยากจะใส่เกลือให้ปลาควรละลายน้ำ ก่อนที่จะใส่ลงตู้ครับ เพราะเกลือที่ไม่ละลายน้ำก่อนจะตกตะกอนอยู่พื้นตู้ ซึ่งอาจจะเข้าไปในเหงือกปลาทำให้ปลาที่ป่วยหายใจติดขัดมากขึ้นครับ จากนั้นก็นำปลาไปส่งโรงพยาบาลครับ หวังว่าเพื่อนๆหลายๆ ท่านคงหายสงสัยว่าจะพาปลาไปหาหมอที่ไหนแล้วนะครับ

ท่านใดไปไม่ถูกก็ติดต่อได้ที่นี่ครับ

ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนอังรีดูนัง ปทุมวัน กทม. โทร. 02-2189510 , 02-2189514 เปิดจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 8.00-16.00 น.

เอาไว้คราวหน้ามีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์จะนำมาเล่าสู่กันฟังอีกครับ