0000046

เปิดบันทึกการ เพาะพันธุ์ของ นาย Snot กับ การเพาะพันธุ์ Apistogramma cacatuoides

สวัสดีคร๊าบบบบบบบบบบบบบบบบ เพื่อนๆ พ่อ แม่ พี่ น้อง ชาวเวบninekaow.com ทั้งหลาย กลับมาพบกับผมอีกแล้ว เป็นยังไงกันบ้างครับ หวังว่าท่านทั้งหลายคงสบายกันดีนะครับ วันนี้ผมนายน็อตจะขอมาเล่าถึงประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตของกระผม กับการเพาะเจ้าปลาหมอแคระชนิดนี้นะครับ

อพิสโตแกรมมา เป็นปลาหมอแคระที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่งที่หลายๆ ท่าน คงจะรู้จักกันบ้างแล้วนะครับ ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่มีแหล่งกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ แต่ปลาที่เราเห็นๆ กันอยู่ในตอนนี้ ส่วนใหญ่จะมาจากทางประเทศเยอรมันและเชค ปลาพวกนี้เป็นปลาที่ได้รับการ พัฒนาสายพันธุ์มาแล้ว ซึ่งมีสีสันสวยงามขึ้น ต่างจากปลาที่จับจากธรรมชาติ อาหารของปลาชนิดนี้ก็ได้แก่พวกหนอนแดง ลูกไร ไรทะเล ( ถ้าใครจะให้ ไรทะเลเป็นอาหารแก่ อพิสโตแกรมม่า ควรนำไปล้างน้ำให้จืดสนิทก่อน เพราะว่าปลาชนิดนี้ค่อนข้างที่จะไม่ถูกกับเกลือ ) ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่เหมาะสำหรับที่จะนำมาใส่ตู้ต้นไม้ เพราะว่าปลาชนิดนี้ไม่กัดทำลายต้นไม้ของท่าน แถมยังมีสีสันที่สวยงามแสบตา ตัดกับตู้ต้นไม่น้ำของท่านได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

มาเริ่มเรื่องกันเลยดีกว่านะครับ หลังจากที่ผมได้คุยกับพี่คนนึงผ่านทางห้องแช็ตของเว็บ ninekaow.com

พี่เขาชื่อพี่หมูครับ ตอนที่ได้คุยกับพี่เขาก็ถามว่าพี่เขาเลี้ยงปลาอะไรบ้าง พี่เขาบอกมาเขาเลี้ยงปลาหมอแคระอยู่ครับ พอคุยไปคุยมาผมก็เริ่มสนใจในปลาชนิดนี้ พี่เขาเป็นคนแนะนำให้ผมเลี้ยงเจ้าอพิสโตแกรมมา หลังจากที่ได้คุยกับพี่เขาคราวนั้น ผมก็เริ่มไปหาหนังสือที่เกี่ยวกับปลาชนิดนี้อ่าน แต่ก็ได้ข้อมูลที่ค่อนข้างน้อยมากเลยครับ

เวลาผ่านไป 2 อาทิตย์กว่าๆ หลังจากคุยครั้งแรก ผมก็ตัดสินใจไปลองซื้อเจ้าอพิสโตแกรมม่าที่เป็นปลาป่ามาเลี้ย เลี้ยงไปเลี้ยงมาก็เริ่มอยากได้ตัวที่สวยๆ มาเลี้ยงเพิ่ม หลังจากนั้นไม่นานผมก็ได้ไปซื้อเจ้า Apistogramma cacatuoides มาเลี้ยงครับ ขนาดของปลาที่ผมซื้อมานั้นประมาณ 1 นิ้วกว่าๆ โดยที่ตัวผู้ค่อนข้างใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย นำมาเลี้ยงในตู้ขนาด 18 นิ้ว ในตู้ใส่เศษกระถางไป 1 ชิ้น ขอนไม้ที่มีต้นอนูเบียส อีก 1 ขอน คือ ตอนที่ซื้อมาเลี้ยงทีแรกก็กะจะลองเพาะครับ เลยแยกปลา ตัวผู้ ตัวเมีย อย่างละ 1 ตัว มาอยู่ในตู้ต่างหากเลยครับ แล้ว ที่ใส่เศษกระถางกับขอนไม้ ก็เพราะว่าปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ผสมพันธุ์และวางไข่บริเวณผนังและเพดาน ของโพรง และซอกหลืบต่างๆ

ผ่านไป 3 อาทิตย์หลังจากที่ได้เจ้า Apistogramma cacatuoides คู่นี้มาเลี้ยง แม่ปลาก็เริ่มวางไข่ครับ แต่ครอกนี้ไม่รอดครับ T_T เนื่องจากว่าผมไม่ได้แยกตัวผู้ออก แล้วมันผสมกันซ้ำรอบ 2 ครับทำให้แม่ปลากินไข่หมดเลยครับ กาลเวลาผ่านไป 1 เดือนหลังจากออกไข่ครั้งแรก เจ้าปลาน้อยของผมก็ออกไข่ครอกที่ 2 มาให้ผมเลี้ยงอีกแล้วครับ โดยที่มันไปออกไข่ไว้ที่ขอนไม้ตรงหน้าตู้ปลาพอดีเลยครับ ทำให้ผมมองเห็นไข่ของมันได้สะดวก แต่ว่าก่อนที่ปลาจะออกไข่นั้น ท้องของปลาตัวเมียจะใหญ่ขึ้นเล็กน้อยครับ แล้วลำตัวก็จะเป็นสีเหลืองๆ ครับ

วันที่ 1-2 หลังจากวางไข่

ช่วงนี้ไข่ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ผมสังเกตเห็นว่า แม่ปลาจะคอยเหมือนไปจิกๆ ที่ไข่ของมัน สงสัยว่ามันอาจจะทำความสะอาดให้แก่ไข่ หรือไม่ก็เป็นการเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ไข่ของมัน ส่วนตัวผู้นั้น โดนตัวเมียไล่ เลยได้แต่ไปแอบตามมุม ต่างๆ ของตู้ครับ

วันที่ 3 หลังจากวางไข่

วันนี้ลูกปลาเริ่มฟักเป็นตัวกันแล้ว แต่ยังไม่ว่ายน้ำครับ กองๆ กันอยู่ที่พื้น บริเวณที่แม่ปลาวางไข่ ลักษณะของลูกปลาช่วงนี้เป็นตัวยาวๆ หัวกลมๆ ผมยังไม่ได้ให้อาหารลูกปลา แล้ววันนี้ ผมก็ได้ตักพ่อปลาออก เพราะกลัวว่าเดี๋ยวมันจะผสมพันธุ์ซ้ำแล้วกินลูกอีกหน่ะครับ อิอิ

วันที่ 4 หลังจากวางไข่

วันนี้ลูกปลาบางตัว เริ่มว่ายน้ำแล้วครับ โดยที่มีแม่ปลาที่น่ารัก คอยดูแลอย่างใกล้ชิด ถ้าลูกปลาตัวไหนว่ายออกไปไกลจากพวก แม่ปลาก็จะว่ายน้ำตามไปคาบกลับมาครับ

วันที่ 5 หลังจากวางไข่

วันนี้ลูกปลาว่ายน้ำกันหมดแล้วละครับ ผมก็เลยถือโอกาสเป็นวันฤกษ์ดี เริ่มให้อาหารลูกปลาเป็นวันแรก โดยอาหารที่ให้ก็เป็นหนอนจิ๋วหรือไมโครเวิมนั้นเอง โดยให้วันละ 2 มื้อเช้าเย็น เนื่องจากไม่มีเวลานะครับ ไปเรียนกลับมาถึงบ้านก็เย็นแล้วละครับ

วันที่ 6 หลังจากวางไข่

วันนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงครับ ผมให้อาหารลูกปลาและแม่ปลาตามปกติ แม่ปลาก็ยังเลี้ยงลูกน้อยของมันเหมือนเดิมครับ

วันที่ 7 หลังจากวางไข่

วันนี้ผมเก็บของจัดบ้านครับ พอดีไปเจอ ที่วัดค่า pH ของน้ำ เลยจัดการลองวัดค่าของน้ำในตู้ที่ใช้เพาะพันธุ์ วัดออกมาได้ค่า pH ประมาณ 8 ครับ ซึ่งนับว่าค่อนข้างจะเหมาะสมกับปลาชนิดนี้ เพราะค่า pH ที่เหมาะสมของเจ้า Apistogramma cacatuoides นี้อยู่ที่ประมาณ 6.0-8.0 ครับ

วันที่ 14 หลังจากวางไข่

วันนี้ผมเริ่มเปลี่ยนเมนูอาหารที่ให้แก่ลูกปลาสุดน่ารักของผม เป็นหนอนแดงที่ล้างจนสะอาด แล้วก็เต็ตร้า บิท ซึ่งผมให้ปนๆ กันไปครับ

วันที่ 20 หลังจากวางไข่

วันนี้ผมเริ่มดูดน้ำในตู้ปลาออก 10% โดยใช้สายยางขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 หุน ค่อยๆ ดูด เศษต่างๆ ออก แล้วเติมน้ำกลับเข้าไปใหม่ นับเป็นการดูดน้ำออกครั้งแรก หลังจากที่ปลาเริ่มวางไข่ แล้วผมก็สังเกตว่าลูกปลาของกระผมเริ่มมีลำตัวที่กว้างออกครับ เริ่มจะคล้ายๆ กับพ่อและแม่ของมันแล้ว ต่างจากตอนที่เพิ่งฟักใหม่ๆ ที่จะมีลักษณะค่อนข้างยาว

วันที่ 30 หลังจากวางไข่

ลูกปลาของผม มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร แล้วที่ลำตัวก็เริ่มมีลายขีดสีดำขึ้น ผมจึงได้ย้ายเจ้าลูกปลาน้อยของผมไปอยู่ในตู้ 20 นิ้วที่ผมได้เตรียมเอาไว้ ก่อนที่จะย้ายปลาไปลงตู้นั้น ผมได้ลองวัดค่า pH ของน้ำในตู้นั้น ได้ประมาณ 8 ครับ

จากนั้นผมก็ค่อยๆ ตักลูกปลาย้ายไปทีละตัว พร้อมๆ กับนับจำนวนลูกปลาด้วยครับ ครอกนี้ได้ลูกปลาทั้งหมด 18 ตัว แล้วผมก็เลี้ยงลูกปลาของผมไว้ในตู้นี้ ไปเรื่อยๆพอลูกปลาของผมอายุได้ประมาณ 3 เดือน ลูกปลาก็เริ่มมีสีขึ้นที่ตามลำตัวแล้วก็เริ่มดูเพศออกแล้วหล่ะครับ จากนั้นไม่นานผมก็ได้ แบ่งแจกจ่ายปลาครอกนี้ ให้เพื่อนๆผมแล้วก็พี่ๆ ในอินเทอร์เน็ตไปเลี้ยงกันครับ

สุดท้ายนี้ผมก็ขอขอบคุณ คุณพ่อของผมนะครับ ที่ให้ผมยืมกล้องมาถ่ายรูปปลา มาให้ชมกัน คุณแม่ที่คอยให้อาหารปลามื้อเช้าแทนผม พี่หมู ( ซูชิไข่หวาน )ที่คอยเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของกระผม พี่โอ๋ & พี่พล ที่ให้หัวเชื้อไมโครเวิมมาเพาะให้ลูกปลาผมกิน และที่ขาดไม่ได้ ก็คือ พี่ตุ๊กแกสุดหล่อแห่ง นิตยสารAqau น่ะครับ ที่อนุญาตให้ผมเอาต้นฉบับ มาลงในเว็ปของพี่เก๋าให้เพื่อนๆทั้งหลายได้อ่านกันนะครับ ตอนนี้ผมต้องขอตัวไปก่อนนะครับ ขอให้เพื่อนๆทั้งหลายโชคดีนะครับ Bye