0000059

ถึงคราว สวมวิญญาณ พยาบาลจำเป็น !!

“การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” เป็นประโยคที่ได้ยินมาหลายยุคหลายสมัย ซึ่งเป็นสัจธรรมไปซะแล้ว หลายคนพยายามเหลือเกินที่จะขวนขวายทำทุกอย่างเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนเวลาหาสตางค์ (ซึ่งจำเป็นมากๆสำหรับยุคนี้) สำหรับคนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างง่าย ที่จะพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอันทำให้เกิดโรคต่างๆ แต่สำหรับปลา โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่ล้วนเกิดจาก วิธีการเลี้ยงของผู้เลี้ยงแทบทั้งนั้น ตัวปลาเองไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอันทำให้เกิดโรคได้เลย ได้แต่ว่ายไปว่ายมาอยู่ในตู้กระจกสี่เหลี่ยม ทำตาละห้อย ถ้าตัวปลาเองพูดได้คงจะบอกกับเจ้าของว่า “น้ำในตู้ผมตอนนี้อุ่นกำลังดี ถ้าจะเปลี่ยนน้ำ อย่าเอาน้ำเย็นจัดๆ มาใส่ให้ผมนะครับ” หรือไม่ก็ “นายครับ !! กุ้งที่นายให้ผมไปเมื่อวาน มันทิ่มข้างในปากผม ผมรู้สึกว่าจะมีหนองค่อยๆ ใหญ่ขึ้น ในปากผม เจ็บจังเลยคับ” หรือ “ นายคร๊าบบบ!! ผมรู้สึกเหมือนไส้จะไหลครับ ทำไงดีคร๊าบบ โอ้ววว..ไม่ไหวแล้ว พรวดดดดด” ง่า!!... ถ้ามันพูดได้จริงๆ ผมก็คงใส่เท้าสุนัขโกยอ้าวคนแรกเลย คิคิ (ล้อเล่นนะครับ)

ถ้ามันพูดได้จริง ปัญหาการเสียชีวิตของปลาสวยงามอันแสนรักของพวกเราคงจะน้อยลง ไปมากๆ เลยทีเดียวเชียวล่ะ แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ อย่างดีมันก้อคงทำได้แค่ภาวนาสาธุฯ ให้เราเลี้ยงดูมันดีๆ ซึ่งบางทีเราคิดว่าเลี้ยงดูมันดีที่สุดแล้ว ก็ยังไม่วายเจ็บป่วยจนได้ ซึ่งบางทีก็ต้องทำใจครับ เพราะมันเกิดจากหลายปัจจัยมาก ไหนจะเรื่องคุณภาพของน้ำเอย อุณหภูมิของน้ำเอย คุณภาพของอาหารเอย ปริมาณอาหารที่ให้แต่ละมื้อมากน้อยไปมั๊ย สภาวะแวดล้อม เยอะแยะเต็มไปหมด ในบทความนี้ ผมนาย Nuttor จะไม่ขอพูดถึงเรื่องยาที่ใช้ในการรักษานะครับ เพราะโรคของปลานั้นมีหลายสาเหตุ ทั้งเกิดจากโปรโตรซัว แบคทีเรีย ไวรัส เยอะแยะมากมายก่ายกอง แต่ผมจะขอพูดถึงในเรื่องการดูแลพยาบาลปลาของเรายามป่วยไข้ ทั้งเรื่องการผสมยาหรือวิตามินกับอาหาร เทคนิคการให้อาหารทางหลอดฉีดยา และรวมถึงเทคนิคการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ จากประสบการณ์จริงโดยตรง

นายแบบในวันนี้เป็น FH ตัวนึงในบ้าน ป่วยเริ่มจากอาการ มีหนองขึ้นที่เพดานปากด้านบน และมีอาการซึมไม่กินอาหาร ผมก็จัดแจงย้ายเจ้าตัวนี้ ลงตู้พยาบาล ขนาด 24 นิ้ว ปริมาตรน้ำ 70 ลิตร โดยประมาณ และได้ผสมยา xxx 1 เม็ด ลงในน้ำ เพื่อ รักษาอาการติดเชื้อ เปลี่ยนถ่ายน้ำสะอาดทุกวัน วันละ 30-40 %ประมาณ 2-3 วัน อาการก็ยังไม่ดีขึ้น เห็นทีว่าวิธีแช่ยาสำหรับ อาการขนาดนี้คงจะไม่ได้ผลซะแล้วงานนี้ 3 วันถัดมา หนอง ลามจนถึงขั้นกินจนปากบนหายไปเลยจนเห็นฟันโผล่ออกมา ปลาไม่ได้กินอาหารอะไรเลยตลอด 3 วัน คงจะเจ็บปากค่อนข้างมาก แต่ร่างกายยังแข็งแรงดี ปลาเป็นสัตว์เลือดเย็นสามารถอดอาหารได้นานหลายวันเลยทีเดียว แต่ในกรณีที่ปลาป่วย เราควรจะให้อาหารบ้าง เพื่อที่ปลาจะได้รับสารอาหารที่จำเป็นในตอนที่ป่วย เพื่ออาการจะได้ไม่ทรุดมาก (เท่าที่สังเกต ปลาที่ได้รับอาหารช่วงที่ป่วย จะแข็งแรงและหายเป็นปกติได้ไวกว่า ปลาที่อดอาหาร นอกจากในกรณีที่จำเป็นต้องอดอาหาร เช่น ป่วยเพราะเกิดจากอาการท้องอืด หรือติดเชื้ออย่างรุนแรงในช่องท้อง)  ทีนี้เรามาดูกันว่าต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้างในการป้อนอาหารหรือยา อุปกรณ์

1. ถ้วยเล็กๆสำหรับบด (แนะนำให้เป็นถ้วยกระเบื้อง)

2. ช้อนชาเล็กๆที่หนาๆ หน่อย

3. หลอดฉีดยาขนาดเล็ก

4. ไส้ไก่รถจักรยาน (สำหรับปลาที่มีขนาดเล็ก)

5. อาหารเม็ดหรือเนื้อกุ้งบด

6. ยาและวิตามินรวม

 เริ่มจากเอาอาหารเม็ดหรือเนื้อกุ้งบดมาผสมน้ำเล็กน้อย แล้วรอจนอาหารเม็ดพองเล็กน้อย (ใส่ยาที่ต้องการผสมลงไปในอาหารได้เลย ในที่นี้ผมไม่ได้ใส่ยาแต่ใส่วิตามินรวมแทน เพราะจะใช้ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อแทน ซึ่งผมจะอธิบายในช่วงหลัง)

หลังจากอาหารเม็ดขึ้นอืดได้ที่ก้อเริ่มลงมือบดๆๆ อาหารกับยา เข้าด้วยกันถ้าแห้งไปให้ค่อยๆผสมน้ำทีละน้อย (ขอย้ำทีละน้อย) บดไปเรื่อยๆจนมันเป็นเนื้อเดียวกันเนียนๆ ตอนนี้ก็ถึงขั้นตอน การบรรจุอาหารเหลวใส่หลอดฉีดยา ใช้หลอดฉีดยาค่อยๆสูบอาหารเหลวเข้ามา สังเกตว่าจะมีอากาศติดเข้ามาในหลอดด้วย

Tip คือ เมื่อมีอากาศเข้ามาในหลอดฉีดยา ให้ตั้งหลอดขึ้นแล้วใช้นิ้วดีดที่ตัวหลอดเพื่อให้อาหารไหลตกลงมากอง รวมกัน จากนั้นก้อดันหลอดเพื่อไล่อากาศออกให้หมด แล้วสูบอาหารต่อแล้วสลับกับการไล่อากาศออก จนอาหารเต็มหลอด (ดังรูป)  ปริมาณของอาหารที่จะให้

ขึ้นอยู่กับขนาดของตัวปลา ถ้าปลาที่เราจะให้อาหารมีขนาดเล็ก ต้องสวมไส้ไก่รถจักรยานที่ปลายหลอดด้วย (หาซื้อได้ตามร้าน ซ่อมหรือขายจักรยาน) เพราะถ้ายัดหลอดเข้าไปทั้งหลอด มีหวังปลาตาเหลือกและคงเข็ดไปอีกนานแน่ๆ คิคิ ล้างไส้ไก่ให้ สะอาด ตัดให้ได้ความยาวซัก 2 นิ้ว แล้วสวมที่ปลายหลอดฉีด  ทีนี้ก้อถึงเวลาให้อาหารกันแล้ว ช้อนปลาด้วยกระชอนที่มีขนาดใหญ่ซักหน่อย (ถ้าปลามีขนาดใหญ่ควรมีผู้ช่วย) ประคองปลาให้อยู่ในท่าตะแคงข้างแนวนอน ให้ครึ่งตัวอยู่ในน้ำ ยกหัวปลาขึ้นเล็กน้อย (ดังรูป) ปลาเชื่องหน่อยก็สบายไปไม่ดิ้นมาก ปลาใครเป็น Dancer ก็เหนื่อยหน่อยนะครับ (อันนี้ แล้วแต่บุญแต่กรรม)

จากนั้นก็ค่อยๆ สอดหลอดเข้าไปในปากปลา กะให้ปลายหลอดเลยจากเหงือกปลาด้านในลงไป เพื่อจะได้เข้าถึงกระเพาะอาหารง่ายขึ้นและลดการพ่นออกทางเหงือกและ ปาก ของปลา ค่อยๆ ดันอาหารเข้าไปช้าๆ (อย่าดันเร็ว เพราะปลาจะสำลักและคายออกมาทั้งหมด) ปลาจะมีอาการเหมือนกลืนและขยับเหงือกตอบสนอง

หลังจากป้อนอาหารจนหมดหลอด ให้ดึงหลอดออกแล้วประคองปลาให้อยู่ในท่าว่ายน้ำปกติ ปริ่มๆ น้ำ ประคองท่านั้นซัก 10 วินาที ปลาจะมีอาการพ่นอาหารบางส่วนออกทางช่องเหงือกและปาก (อย่าตกใจโมโหหัวฟัดหัวเหวี่ยง ว่า “จะคายออกมาทำไมเสียของ จริงๆ เลย” เป็นเรื่องปกติครับ ส่วนนึงได้เข้าไปในกระเพาะแล้ว) แล้วปล่อยปลาให้ว่ายตามปกติ ทำอย่างนี้ทุกวันและเปลี่ยนน้ำครั้งละ 40 – 50 % ทุกวัน ปลาจะไม่ซูบโทรมมากและหายไวขึ้น

เทคนิคการฉีดยาปลา

ก่อนอื่นผมขอบอกเพื่อนๆไว้ก่อนนะครับว่า เรื่องการฉีดยาปลาที่ผมจะนำเสนอนี้ ไม่ใช่เพื่อจะชี้นำว่าการฉีดยาปลานั้นเป็นเรื่องง่ายๆ ปลาป่วยก้อให้ฉีดยา หายเร็วกว่าการรักษาโดยการกินยา เพราะการจะฉีดยาปลาแต่ละครั้งจะต้องดูมูลเหตุด้วยว่า ปลาตัวนั้นไม่สามารถที่จะรักษาโดยการแช่ยา หรือกินยา จึงจะทำการรักษาโดยการฉีดยา และการฉีดยาแต่ละครั้ง เราจะต้องดูว่าปลาตัวนั้นแข็งแรงพอที่จะรับการฉีดยาได้มั๊ย และต้องรู้ถึงปริมาณยาเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว และคุณสมบัติของยาฉีดแต่ละชนิด จึงจะสามารถฉีดได้ แต่ที่ผมนำเสนอครั้งนี้เพื่อว่า เผื่อเพื่อนๆคนไหนมีความจำเป็นต้องรักษาโดยการฉีดยาจริงๆ บทความนี้อาจจะเป็นประโยชน์ได้บ้างไม่มากก็น้อย

เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ เริ่มจากตักปลาขึ้นมาเหมือนกับตอน ที่เราให้อาหารในตอนแรก ในครั้งนี้ควรจะหาผู้ช่วยมาช่วยจับ ตัวปลาเพื่อไม่ให้มันดิ้นตอนขณะกำลังฉีด ซึ่งถ้ามันดิ้นเข็มอาจจะหักคาอยู่ภายในตัวปลา (ไม่อยากนึกภาพตอนเอาเข็มที่หักออกจาก ตัวปลาเลย คงจะทุลักทุเลเอามากๆ) วิธีฉีด คือ ฉีดย้อนแนวเกล็ด (แทงเข็มจากทางหางไปหัว) ตำแหน่งที่ฉีดคือใต้กระโดงหลังลงมา

 ประมาณ 2 ใน 5 นับจากกระโดงหลังถึงกลางลำตัวปลา ฉีดได้ตลอด แนวกระโดงหลัง จากในรูปผมฉีดใต้กระโดงหลังลงมาประมาณ 1 นิ้ว สำหรับปลาตัวใดที่ต้องฉีดยาทุกวันอย่างตัวนี้ ควรจะสลับ ตำแหน่งการฉีดอย่าง เช่น วันนี้ผมฉีดฝั่งซ้ายค่อนไปทางหาง อีกวันผมจะฉีดฝั่งขวาค่อนไปทางหัว สลับตำแหน่ง เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อ ของปลาช้ำมาก  หลังจากจับปลานิ่งแล้ว ก็แทงเข็มย้อนเกล็ดเข้าไป โดยใช้ นิ้วมืออีกข้างประคองตรงช่วงหัวเข็ม เพื่อให้มือนิ่งและแนวเข็มจะตรงไม่บิดเบี้ยว เพราะถ้าเข็มบิดไปบิดมาในขณะแทงปลาอาจจะดิ้น เมื่อแทงเข็มเข้าไปแล้วทีนี้ก็ถึงขึ้นตอนเดินยาเข้ากล้ามเนื้อ การเดินยา ใช้นิ้วโป้งกดก้านเข็มในตอนนี้เราจะรู้สึกว่ากดไม่เข้า ให้พยายามเพิ่มแรงในการกดทีละน้อย อย่าเพิ่มแรงกดในทันทีทันใด ให้ค่อยๆเพิ่ม แรงกดทีละน้อย เพราะถ้าตัวยาเริ่มเข้าไปในกล้ามเนื้อแล้วมันจะ ไม่มีแรงต้าน เราจะหยุดเข็มไม่ทันยาจะเข้าไปในตัวปลาจนหมดหลอดด้วยความเร็ว ซึ่งจะทำเกิดอันตรายต่อตัวปลาได้

เมื่อยาเริ่มเข้าไปในตัวปลา ให้เราค่อยๆ เดินยาช้าๆ ระหว่างนี้กล้ามเนื้อ ช่วงที่เราฉีดลงไปจะเกิดการกระตุก รุนแรงแตกต่างกันไป อย่าตกใจครับ  ให้ค่อยๆเดินยาต่อไปจนหมดเข็ม จากนั้นค่อยๆถอนเข็มออกมา ปลายังอาจมีการกระตุกของกล้ามเนื้ออยู่บ้าง ให้เราใช้นิ้วโป้งค่อยๆ นวดลงตรงจุดที่เราฉีด เบาๆซักพัก เพื่อให้ยากระจายไปเร็วขึ้นและลดการปวดกล้ามเนื้อช่วงนั้นของปลา จากนั้นก็ปล่อยปลาลงตู้ตามปกติ ผมจะให้ป้อนอาหารก่อนที่จะฉีดยาทุกครั้งเพื่อที่ว่าหลังฉีดยาเสร็จผมจะ ปิดไฟเลย เพื่อให้ปลาได้พักและคลายเครียด (ไม่ควรเปิดไฟตลอดเวลา เพราะปลาก็ต้องการ การพักผ่อนเหมือนกับคนในช่วงเวลาที่ป่วยเหมือนกัน)

ผมรักษาและป้อนอาหารอย่างนี้อยู่ 3 วัน วันที่ 4 มันสามารถกินอาหารเม็ดได้เองโดยไม่ต้องป้อนอาหาร ทั้งๆ ที่ปากบนมันยังไม่มีเลย คิคิ ดูปลาแข็งแรงและไม่โทรมมาก แต่ผมยังคงฉีดยาต่อไปจนครบ 5 เข็ม อาการมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ (ซึ่งในตอนแรกคิดว่าเจ้านี่คงจะไปเฝ้าเง๊กเซียน อย่างแน่นอน !!) เวลาเรารักษาและดูแลปลาถูกวิธี ดูมันเริ่มกินอาหารได้เอง ได้ว่ายน้ำร่าเริงเหมือนเดิม รู้สึกทั้งดีใจมีความสุขและภูมิใจในตัวเองเสียยิ่งกระไรจริงๆ

เป็นยังไงกันบ้างครับ บทความในครั้งนี้ พอจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆได้บ้างมั๊ยครับ ปลาก็เหมือนคนต้องการความรักและความเอาใจใส่ ยิ่งตอนเวลาป่วย มันไม่สามารถบอกและร้องขออะไรเราได้ สีก็ดรอปหม่นหมองดูไม่มีสง่าราศี ไม่ร่าเริง ดูแล้วไม่สบายตาสบายใจ เอาเสียเลย เราก็อย่าทอดทิ้งมันนะครับ คนเราป่วยยังหายากินเองได้ เวลามันป่วยเราก็ควรเอาใจใส่ดูแลมันให้เหมือนกับ ตอนที่มันยังแข็งแรงสีสวยร่าเริงสดใส ว่ายไปว่ายมาขออาหารเรากิน ทำให้เรามียิ้มติดแก้มได้เสมอๆ

สุดท้ายนี้ ขอให้ปลาและตัวของเพื่อนๆเองมีสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมา เยี่ยมเยือน วันนี้กระผมนาย Nuttor ขอลาไปก่อนนะขอรับ Good Bye . . .