0000073

เปอร์เซนต์การลอก และ เปอร์เซนต์มุก ของเทคซัสแดง

Red Texas ปลายอดนิยมในกลุ่มของปลาหมอครอสบรีด

เทคซัสแดงเป็นปลายอดนิยมในกลุ่มของปลาหมอครอสบรีดที่มีความสวยงามเฉพาะตัว จุดเด่นอยู่ที่มุกและสีแดงที่ลอก การครอสบรีดให้ได้เทคเซัสแดงจึงมีหลายแบบ เพื่อที่ให้ได้เทคซัสแดงอย่างที่ต้องการ จึงมีการทดลองทำเทคซัสแดงแบบต่างๆ เพื่อให้ได้เปอร์เซนต์มุกและการลอกที่ดี ปลาเทคซัสแดงเข้ากันแล้วจะให้ลูกออกมามีเปอร์เซนต์มุกและเปอร์เซนต์การลอกเป็นยังไง คือ คำถามยอดนิยมที่ทุกคนอยากรู้

ผมจึงอยากทำเสนอการทดลองและวิธีคิด (อย่าเรียกว่า สมการเลยเพราะมันไม่มีในตำรา ฮุฮุ) ที่จะทำให้เราสามารถเปรียบเทียบ เปอร์เซนต์มุกและเปอร์เซนต์การลอกของเทคซัสแดงแบบต่างๆ ได้ สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยทำเทคซัสแดง วิธีคิดนี้อาจจะยากไปซักหน่อย ให้ลองไปศึกษาสายเลือดและการเพาะพันธ์เทคซัสแดงมาก่อนจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น ที่นี้เราก็ลองมาหาเปอร์เซนต์การลอกและเปอร์เซนต์มุกของเทคแดงกัน

การเข้าคู่ ระหว่างพ่อแม่หลายสาย เพื่อหวังผลที่แตกต่าง

กำหนดตัวแปร ก่อน

1. R1 = เทคซัสเขียว สายพันธ์แท้ 2. R-1 = ปลานกแก้วธรรมดาๆ คือปลาสายเลือดซิน ฯที่ไม่ได้ผสมสายเลือดปลาอย่างอื่นเลย ปลาพวกนี้คือนกแก้วราคาถูกๆที่มีขายทั่วๆไป 3. F0 = เทคซัสแดง ที่เกิดจาก R1+R-1 4. F1 = เทคซัสแดงที่เกิดจาก R1+F0 5. F2 = เทคซัสแดงที่เกิดจาก R1+F1 6. F3 = เทคซัสแดงที่เกิดจาก R1+F2 7. F4 = เทคซัสแดงที่เกิดจาก R1+F3

สมมุติฐาน

1. ถ้าค่าตัวเลข ยิ่งสูง คือเป็นบวก เปอร์เซนต์มุกจะมากเปอร์เซนต์การลอกจะต่ำ เช่น F1 มุกน้อยกว่า F2 แต่ F1 จะมีเปอร์เซนต์ลอกมากกว่า F2 2. ถ้าค่าตัวเลขน้อยจะมีเปอร์เซนตร์การลอกที่สูงกว่าแต่เปอร์เซนต์มุกจะต่ำลง เช่น F0 จะมีเปอร์เซนต์ ลอกสูงกว่า F2 แต่ F0 จะมีเปอร์เซนต์มุกที่น้อยกว่า F 2 3. ลูกปลาที่เกิดจาการครอสบรีด ถ้าอยู่ใน F ไหน จะให้ลูกที่มีปอร์เซนต์การลอกและเปอร์เซนต์มุกของ F นั้น ไม่ว่าตัวมันจะมีมุกหรือไม่มีมุก จะลอกหรือไม่ลอกก็ตาม

พ่อพันธุ์เท็กซัสเขียว แม่พันธุ์นกแก้ว
กฎ

1. ปลาที่สามารถนำมาคิดในสูตรนึ้ได้ จะต้องมีสายเลือดแค่ 2 สายเลือดเท่านั้น คือ เทคซัสเขียวกับนกแก้ว(ผมขอเรียกรวมๆ หมายถึง คิงคองละซินแดงสายเก่าด้วย) ถ้ามีสายเลือดปลาอย่างอื่นมาปน ค่าต่างๆ จะคลาดเคลื่อน

2. ค่า ของ R คือค่าคงที่ ของปลาหลัก ไม่สามารถนำปลา F มาผสมกลับให้ได้เป็นปลาหลักได้

3. ถ้านำปลา F มาผสมกัน ถ้า F ของค่าตัวเลขตัวที่น้อยมีค่ามากกว่า 1 ต้อง คูณ 0.2 เข้ากับค่าที่น้อย แต่ถ้าตัวเลของ F ที่น้อย มีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ให้ บวก 0.2 เพิ่มไปในสูตร มันคือค่าความคลาดเคลื่อน

4. ถ้านำนกแก้ว (R-1)ไปผสมปลา F คือ ใช้พ่อเทคซัสแดงมีเชื้อ ให้ ลบ 0.15 เพิ่มเข้าไปในสูตร มันคือค่าความคลาดเคลื่อน


ลูกปลาในหนึ่งครอก ก็จะมีลักษณะที่แปลก หลายแบบ

วิธีคิด

เมื่อเราจะเอาปลามาครอสบรีด ให้นำค่าตัวเลขที่อยู่หลังตัวแปรมาบวกกันก็จะได้ ค่าของลูกปลาตัวใหม่ เช่น

เอาปลาเทคซัสเขียว+นกแก้ว = F0 คือ R1 + (R-1) = F0 วิธีคิด 1 + (-1) = 0

เอาปลาเทคซัสเขียว (R1) + เทคซัสแดง (F2) = F3 คือ R1 + F2 = F3 วิธีคิด 1 + 2 = 3

เอาปลาเทคซัสแดง (F0) + เทคซัสแดง (F1) = F0.2 คือ F0 + F1*0.2 = F0.2 (ใช้กฎข้อที่ 3.) วิธีคิด 0 + (1 *0.2 ) = 0.2

เอาปลาเทคซัสแดง (F0) + นกแก้ว (R-1) = F-1.15 คือ F0+ (R-1) - 0.15 = F-1.15 (ใช้กฎข้อที่ 4.) วิธีคิด 0+(-1+(-0.15)) = -1.15

เอาเทคซัสแดง (F1) + นกแก้ว (R-1) = F-0.15 คือ F1+ R-1 - 0.15 = F-0.15 (ใช้กฎข้อที่ 4.) วิธีคิด 1 + (-1+( -0.15) ) = - 0.15

เอาเทคซัสแดง (F2) +เทคซัสแดง (F3) = F3.4 คือ (F2*0.2)+F3 = F3.4 (ใช้ กฎข้อที่ 3.) วิธีคิด (2*0.2)+3 = 3.4
โหนก แดง มุก และ ที่สำคัญ ต้องลอก คือ โจทย์ สำหรับ Breeder

พอคำนวณได้แล้วทีนี้เรามาลอง พิสูจน์สมมุติฐานกัน ปลาที่ใช้ในการทดลอง

1. เทคซัสเขียว (R1) + ปลานกแก้ว (R-1) ใส่ในสูตร จะได้ R1+(R-1) = F0

วิธีคิด 1+(-1) = 0 เพราฉะนั้นคู่นี้จะได้ลูกปลาคือ F0

2. เทคซัสเขียว(R1) + เทคซัสแดง (F0) ใส่สูตร จะได้ R1+F0 = F1

วิธีคิด 1+0 = 1 เพราะฉะนั้นจะได้ลูกปลาคือ F1

นำตัวอย่างทั้งสองมาเปรียบเทียบกัน คือ ตัวอย่างที่ 1 = F0 ตัวอย่างที่ 2 = F1 จะได้ F0 < F1

จากสมมุติฐาน ปลาที่ได้

1. ตัวอย่างที่ 1 จะมีเปอร์เซนต์ลอกที่สูงกว่า ตัวอย่างที่ 2 (สมมุติฐานข้อ 1-2) 2. ตัวอย่างที่ 1 จะมีเปอร์เซนต์มุกน้อยกว่าตัวอย่างที่ 2 (สมมุติฐานข้อ 1-2)

เมื่อทราบ เปอร์เซนต์พวกนี้แล้วทำให้การเลือกซื้อหรือทำปลา จะได้ใกล้เคียงกับที่เราต้องการ คือ ถ้าชอบลุ้นมุก เอาลอกไว้ก่อน ก็ให้เลือกปลาตัวอย่างที่ 1 แต่ถ้าเอาชัวร์ยังไงก็มุกสวยจะลอกไม่ลอกไม่สน ลุ้นเอาข้างหน้า ก็ให้เลือก ข้อ 2

แล้วข้อดีอีกอย่าง ถ้าโทรมาถามผมว่าพี่แมวทำปลาอะไรบ้าง ผมตอบ มี F0 กับ F2 ถ้าคิดตามสมการนี้เป็นแล้วจะรู้ได้ทันที ว่าจะเลือกครอกไหน ไม่ต้องอธิบายกันมาก จะไม่มีคำถามที่ว่า F2 มันจะลอกเยอะไหม๊พี่ เพราะเรารู้แล้ว ว่าแน่นตึบ ฮุฮุ

เท็กซัสแดง สวยๆ สักตัว เป็นสิ่งที่ นักเพาะพันธุ์ ตามหา

สรุป

สูตรนี้เป็นสูตรที่ผมใช้ทดลองทำปลา คิดว่ามีค่าคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด แต่มันก็เป็นแค่การทดลองนั่นเองที่ยังต้องทำต่อไป ผมเอามาบอกก็คิดว่าบ้าพอดู อย่าเอาไปเล่าให้ใครฟังหรือใช้อ้างอิง ไม่งั้นเค้าอาจจะว่าเราเป็นบ้าได้ ฮุ ฮุ ค่าพวกนี้ ต้องลองพิสูจน์ด้วยตัวเอง ว่าใกล้เคียงหรือไม่ ต้องลองพิสูจน์กันดูครับ

ค่าตัวเลขต่างๆ ในนี้เป็นเพียงค่าสมมุติ มีไว้เปรียบเทียบแค่มากกว่าน้อยกว่าเท่านั้นไม่ใช่ค่าลงตัวเป๊ะๆ ถ้าเข้าใจค่าพวกนี้จะทำให้เลือกปลาได้ง่ายขึ้น แต่พอจริงๆ แล้วยังไงก็ต้องลุ้นอยู่ดี เพราะเทคแดงตัวสวยๆ เกิดขึ้นได้ ทุก F อยู่ที่มันครับว่าจะเกิดที่ไหน สวัสดีครับ

หมายเหตุ สูตรนี้ใช้คิดปลาแค่ไม่เกิน F4 ถ้าจะคำนวณปลาในชั้นที่สูงกว่านั้นต้องแก้ค่าตัวแปร นิดหน่อยให้ละเอียดขึ้น