0000199

Pearl ray + Motoro อีกขั้นหนึ่งของกระเบน sp.

สวัสดีครับสมาชิก ninekaow ทุกท่านผมเป็นคนหนึ่งที่หลงสเน่ห์ในกระเบนกลุ่ม Potamotrygon โดยเฉพาะอย่างยิ่ง " Polkadot " ชอบมากเป็นพิเศษ เนื่องจาก เป็นกระเบนที่มีความ classic ในตัวเอง ค่อนข้างมาก ดูแล้วไม่น่าเบื่อ ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่งคือ กระเบนsp. ซึ่งเกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างกระเบนสายพันธุ์แท้มาผสมข้ามกัน ทำให้ลูกปลาที่เกิดมีความหลากหลายของสีและลวยลาย ตามแต่ลักษณะเด่นของแต่ละตัวพ่อแม่พันธุ์ อีกทั้งsp.นั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงของสีสัน ลักษณะจุดและลวดลายตลอดเวลา ทำให้น่าลุ้นและติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น


* ลักษณะความเปลี่ยนแปลงของ Polkadot sp.

ด้วยสเน่ห์ที่มีของ sp. ทำให้ผมเกิดความหลงใหลและพยายามเพาะพันธุ์ sp. ที่มี (โดยส่วนใหญ่จะใช้แม่ปลาเป็น motoro และ sp.กลุ่ม motoro ยืนพื้น) ลูกปลาที่ได้มีความหลากหลายและสวยงามในระดับหนึ่ง


* sp. ที่พัฒนาจากการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี ลูกปลาที่ได้มีความโดดเด่นในเรื่องของลวดลาย สีสัน และความเข้มของเส้นรอบตัว

สำหรับการเพาะพันธุ์ sp. ในประเทศไทยนั้นมีการผสมข้ามพันธุ์แตกต่างกันออกไป ด้วยความตั้งใจ หรือความบังเอิญก็ดีเช่น

- sp. + Motoro - Motoro + Histrix - Jaguar + Motoro - Histrix + Jaguar

หรือในระดับขั้นที่สูงขึ้นไปเช่น (เพื่อความเข้าใจโดยง่าย ขอใช้ชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไป)

- Motoro + Polkadot - Polkadot + Histrix - Jaguar + Tiger - Polkadot + Tiger เป็นต้น

* หมายเหตุ * - อาจมีการจับคู่สายพันธุ์ที่นอกเหนือจากที่กล่าวถึง - ไม่รวมถึง sp. ในกลุ่มเดียวกันเองเช่นกลุ่ม จากัวร์(P.castexi + P.falkneri) หรือ Polkadot (P.leopoldi + P.henlei) - สามารถสลับเพศได้เช่น พ่อ Motoro + แม่ Polkadot เป็นพ่อ Polkadot +แม่ Motoro - Histrix หมายถึงกระเบนในกลุ่มของ histrix

Pearl ray + Motoro ray

" ยกระดับ Motoro หรือลดเกรด Pearl ray ให้ต่ำลง? "

เนื่องจากพื้นที่ในการเลี้ยงปลาที่บ้านผมค่อนข้างน้อย ( มีบ่อเลี้ยงขนาด 5 x 5 m.เพียงบ่อเดียว) การเพาะพันธุ์ sp. จึงค่อนข้างจำกัด ผมจึงแก้ปัญหาโดยการแบ่งปลาที่มีออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งคือกระเบน ระดับทั่วไป คือ sp. และ Motoro ส่วนอีกฝั่งหนึ่งคือกระเบน ระดับสูง Polkadot และ Pearl โดยที่ pearl และ polkadot ต่างทำหน้าที่ของตัวเอง คือให้ผลผลิตเป็น ลูก Polkadot และ Pearl สายพันธุ์แท้

แต่เป็นที่น่าเสียดายเนื่องจากการที่ผมไม่มีประสบการณ์ในการอนุบาล(ในตอนนั้น) ทำให้เกิดความสูญเสียขึ้น เพราะแม่ปลา Pearl ray (ดังรูป) ให้ลูกออกมา 1 ตัว เนื่องจาก Pearl ray เป็นปลาที่ให้ลูกแล้ว แม่ปลาจะอ่อนแอ ค่อนข้างมาก ประกอบกับผมไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนเลยไม่ได้แยกแม่ปลาออกมาเพื่อรักษาอาการ ทำให้ ต้องสูญเสียแม่ปลา Pearl ray ในที่สุด

* โฉมหน้าพ่อปลา+แม่ปลา pearl ray ที่บ้านครับ

จากการสูญเสียครั้งนั้นทำให้ผมคิดหนักเนื่องจากโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่มีปลาตัวไหนสามารถทดแทนแม่ปลาตัวนั้นได้ (อาจจะไม่ใช่ปลาที่สวย แต่มันแปลกตรงที่ลวดลายคล้ายกับ " ดอกพิกุล") ผมจึงต้องหาเจ้าสาวตัวใหม่ให้มันแทน ผมต้องการให้ลูกที่ได้เป็น sp. จึงนำปลาตัวเมียสายพันธุ์ Motoro และ sp. ที่มีในบ่อ นำไปให้พ่อปลา Pearl ray พิจารณา ผลจากการดูตัวเจ้าสาว ครั้งนั้น ทำให้ผมสูญเสียโอกาสในการผลิตลูกปลาไปถึง เกือบ 5 เดือนเต็มๆเนื่องจากต้อง เตรียมตัวเมียให้พร้อมที่สุด และต้องมั่นใจว่ายังไม่ถูกตัวผู้ตัวอื่นผสมพันธุ์ไปก่อนหน้านั้น

แล้วความพยายามของผมก็ประสบความสำเร็จ พ่อปลา Pearl ray ของผมเจอเนื้อคู่ที่ถูกใจเข้าให้แล้วครับ เป็น Motoro ที่ดูผิวเผินจากลักษณะของจุดที่เป็นจุดแฝด(คล้ายเลข 8) และมีขอบเป็นวงสีดำขนาดใหญ่ล้อมรอบ แต่จะแตกต่างจาก Pearl ray ก็ตรงที่ลักษณะสีผิวที่ออกโทนน้ำตาลไหม้ และเนื้อไม่สว่างเหมือน Pearl ray

* ภาพเปรียบเทียบแม่ปลา Motoro และพ่อปลา Pearl ray


* รักแรกพบ * (ขออภัยครับ ภาพไม่ชัดเนื่องจากถ่ายตอนกลางคืน)

หลังจากนั้นเป็นเวลา 92 วัน แม่ปลาตัวดังกล่าวให้กำเนิดลูกน้อยมา 2 ตัว เป็นเพศผู้และเพศเมียอย่างละตัว

* ภาพซ้ายคือเพศผู้(ถ่ายเมื่ออายุ 2 เดือน) ภาพขวาคือเพศเมีย(แรกเกิด)

ลักษณะลูกปลาที่ได้เป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง คือก้ำกึ่งระหว่าง Motoro หรือ Pearl แต่ออกไปแนวๆ Motoro มากกว่า

ลักษณะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ภาพปลาในปัจจุบัน(อายุ 100 วัน)


ลักษณะของจุด สีผิวที่เปลี่ยนไป

ภายหลังจากที่แม่ปลาคลอดลูกท้องแรกไป ลูกปลาที่ได้ยังไม่เป็นที่ประทับใจเท่าที่ควร ผมจึงรออีกประมาณ 110 วัน แม่ปลาตัวเดิมคลอดลูกอีกครั้ง ครั้งนี้ได้ลูกปลาจำนวน 4 ตัวคือ ผู้2 - เมีย2


* ลูกปลาครอกสอง (ถ่ายตอนแรกเกิด)

ความเปลี่ยนแปลงหลังจากผ่านไปประมาณ 1 เดือน

ตัวแรกครับ ลักษณะสีผิวเริ่มสว่างขึ้น มีจุดแฝด 4-5 จุดกระจายทั่วตัว เส้นสีขาวเริ่มชัดขึ้น


ตัวที่สอง มีลักษณะคล้าย Motoro มากที่สุด(ขออภัยรูปไม่ชัดครับ) ดูผิวเผินคล้าย Motoro ทั่วไป


ตัวที่สาม ผมชอบตัวนี้มากที่สุด เนื่องจากมีความโดดเด่นตั้งแต่แรกเกิด จุดที่กลมและมีขนาดใหญ่ ขอบสีดำเข้ม เส้นสีขาวระหว่างจุดเห็นชัดเจนตั้งแต่เกิดครับ


ตัวสุดท้าย ในบรรดา 4 ตัว ถ้าจะมีตัวที่เหมือน Pearl ray มากที่สุดน่าจะเป็นตัวนี้ครับ เพราะสีผิวออกแนวสว่างมากๆ

*** ในปัจจุบันปลามีอายุประมาณ 1 เดือนครึ่ง การเปลี่ยนแปลงยังมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น ผมหวังให้เชื้อของ Pearl ray ช่วยดึงลักษณะด้อยของ Motoro ขึ้นไป ส่วนผลที่ได้จะพยายาม update ใน webboard ต่อไปครับ

sp.ในฝันของผม

คู่แรก Pearl ray เพศผู้ กับ Polkadot เพศเมีย มีนักเลี้ยงปลาชาวต่างประเทศสามารถเพาะพันธุ์ได้แล้ว แต่ในประเทศไทย ยังไม่ปรากฏครับ ผมว่า sp. ระหว่าง 2 สายพันธุ์นี้น่าจะเป็น "สุดยอด" ของ sp. ในกลุ่ม Potamotrygon แล้วครับ


คู่ที่สอง เป็นการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง sp. สาย Motoro กับ sp. สาย Polkadot

เคล็ดลับสำหรับการเพาะพันธุ์ sp.

- ประการแรก การคัดเลือกสายพันธุ์เป็นสิ่งที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง - ประการที่สอง คุณภาพน้ำเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ น้ำที่ใช้เลี้ยงต้องสะอาด มีระบบกรองที่ดี และอาหารต้อง "สด" - ประการที่สาม พยายามอย่า"คาดหวัง" ว่าลูกที่ได้จะสวย เด่น เพราะ sp. ไม่ใช่อะไรที่ตายตัว บ่อยครั้งที่พ่อแม่ปลาสวย ให้ลูกไม่สวย และบ่อยครั้งที่ sp. ที่ได้นั้นได้มาจากความไม่ตั้งใจ - ประการที่สี่ ศึกษาลักษณะ sp. ที่หลากหลาย รวมถึงพยายามแยกให้ออกว่าเป็น sp. ที่มาจากพ่อแม่สายพันธุ์ใด - ประการสุดท้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผมคือการรอคอยอย่าง " อดทน "

* ทิ้งท้าย * * ข้อมูลทั้งหมดถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรงของผม หากมีข้อผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ *

ขอบคุณที่ติดตามครับ

* ขอให้มีความสุขกับการเลี้ยงปลาครับ *