0000045

ภัยมืดของ การเลี้ยงปลาที่มากับ “สนิม”

นี่แหละครับ ขาตู้ปลาที่ไม่อยู่ในสภาพใช้งานได้แล้ว

ถ้าจั่วหัวข้อเพียวๆ โดยที่ไม่ได้นำรูปมาประกอบ หลายๆ คน คงจะนึกถึง โรคสนิมที่เกิดขึ้นบนตัวปลา ที่คร่าชีวิตของ เจ้าปลาตู้ที่เราเลี้ยงไปอย่างเงียบๆ ทีละตัวสองตัวใช่ไหมครับ จริงๆ แล้วสิ่งที่ผมกำลังจะพูดถึงในบทความนี้ ก็ คือ เรื่องของสนิมที่เกิดขึ้นบนขาตู้ปลาของเรานั่นเอง ฟังดูมันก็ไม่ได้น่ากลัว หรือเลวร้ายอะไรสักเท่าไร แต่จริงๆแล้ว เจ้าสนิมที่คอยรังควานขาตู้ปลาของเรานั้น เปรียบเสมือนกับระเบิดเวลาที่ถูกผูกติดไว้กับขาตู้ปลาเรานั่นเอง

สนิม ที่ขึ้น บริเวณ รอยต่อ ของเหล็ก ฉาก ของขาตู้

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ขาตั้งตู้ปลาส่วนใหญ่ในบ้านเรา มักจะใช้วัสดุที่ทำมาจากเหล็กกล่องกลวงๆ ซึ่งถ้ามองจากภายนอกแล้วดูเหมือนจะแข็งแรงมาก แต่จริงๆแล้ว เหล็กที่นำมาใช้บางชนิดก็ค่อนข้างบางเหลือเกิน ผู้เลี้ยงปลาส่วนใหญ่ ก็มักไม่ค่อยใส่ใจกับสนิม บริเวณส่วนขาตู้เหล่านั้น จึงไม่ได้มีการกำจัด หรือป้องกันสนิมเหล่านี้เท่าที่ควร ผลที่ตามมาก็คือ ขาโดยเฉพาะบริเวณขาตั้งที่สัมผัสกับพื้น เกิดการสึกกร่อนเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ ทำให้ตู้ปลานั้นๆ เกิดการเสียสูญ และล้มพังลงมา

ในกรณีที่ตู้นั้นเป็นตู้ยี่สิบสี่นิ้วขนาดกะทัดรัด เลี้ยงปลาสอด หรือหางนกยุงตัวเล็กๆ ก็คงไม่น่าหนักใจอะไรมากนัก แต่ถ้าเจ้าขาตู้เจ้ากรรมนี้ บรรทุกตู้ที่มีขนาดหกสิบนิ้วขึ้นไป แถมพี่แกใส่ตู้ไปสองชั้น บวกหินอีกเป็นร้อยกิโล สิริรวมก็เกือบๆ ตัน แล้วยังต้องมาวางยาสลบเจ้าทองมาเลย์ ตัวสวยราคาเหยียบแสนแล้วละก็ งานนี้หนักแน่ ทางที่ดี เราควรที่จะหาทางป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าที่จะต้องมานั่งแก้ไขกันทีหลังครับ

ลักษณะการจัดวางภาชนะไรทะเล ที่ร้านปลาบางร้านชอบทำกัน

สาเหตุของการเกิดสนิม

ถ้าจะต้องอธิบายเป็นตัวแปรทางวิทยาศาสตร์ ก็คงจะงงกันน่าดู เอาเป็นว่า สนิมเกิดจากการที่โลหะ (เหล็ก) ทำปฏิกริยากับ ความชื้นและอ๊อกซิเจนหรืออากาศ จนทำให้เกิดการผุกร่อนของพื้นผิวเหล็กนั่นแหละ ถ้าจะให้วิเคราะห์กันคร่าวๆ ปัญหาหลักๆ ของการเกิดสนิมบนขาตู้ของคนเลี้ยงปลาโดยส่วนมาก มักจะมาจากการ

1. เปลี่ยนถ่ายน้ำ ซึ่งบางครั้ง อาจมีบ้างที่เกิดการกระเซ็นของหยดน้ำ และไปเกาะติดอยู่ตามขาตู้ต่างๆ โดยที่เราไม่ทันได้สังเกต

2. การตั้งภาชนะใส่ไรทะเลไว้ใต้ขาตู้ โดยมากแล้ว ปัญหานี้มักจะเกิดขึ้นกับร้านขายปลา หรือคนเลี้ยงปลาซึ่งต้องซื้อไรทะเลไว้ใช้ วันละหลายๆกิโล ดังนั้น เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ภาชนะใส่ไรทะเล หรืออาร์ทีเมีย มักจะถูกสอดใส่ไว้ใต้ขาตู้ โดยที่หารู้ไม่ว่า กรดเกลือที่ระเหยขึ้นมาจากน้ำทะเลในภาชนะ นั้นๆ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสนิมได้เร็วที่สุด

3. ความชื้นของอากาศ ความชื้นของอากาศมักจะแตกต่างไปตามสถานที่ตั้งของขาตู้นั้นๆ โดยทั่วไปสถานที่ตั้งที่อยู่ในจุดอับและ บริเวณพื้นที่ๆมีการขังตัวของน้ำมากๆ มักจะมีความชื้นมากกว่าบริเวณอื่น จะสังเกตได้ว่าสถานที่ตั้งตู้ที่อยู่ในที่โปร่ง แห้ง และไม่มีการขังตัวของน้ำ มักจะไม่ค่อยเกิดสนิม หรือมีแต่น้อย

4. ความชื้นของพื้นที่สัมผัสด้านล่าง โดยปกติความชื้นที่มาจากทางพื้นดินก็มีส่วนทำให้เกิดสนิมได้เช่นกัน เนื่องจากขาตู้นั้นต้องสัมผัสกับความชื้นด้านล่างอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าปัจจัยนี้จะไม่ได้มีส่วนมากนัก แต่ก็ถือได้ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดสนิมได้ครับ

การสร้างที่รองขาตู้ เพื่อลดการขังของน้ำ

วิธีป้องกัน แบบคร่าวๆ

เท่าที่เคยสอบถามมา ยังไม่มีวิธีไหนที่สามารถป้องกันเจ้าสนิมตัวร้ายนี้ ไม่ให้เกิดขึ้นอย่างได้ผล 100% แต่วิธีที่ผมจะเสนอต่อไปนี้ก็คงจะช่วยบรรเทาความรุนแรงได้บ้าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆอย่าง เช่นความชื้นของสถานที่ และวิธีการเปลี่ยนน้ำของแต่ละคน ครับ

1. การสร้างฐาน หรือที่รองขาตู้ วัตถุประสงค์หลักของการสร้างที่รองขาตู้นั้น เพียงเพื่อยกให้ขาตู้สูงขึ้นมาจากพื้นดิน ลดโอกาสที่จะเกิดน้ำขังในบริเวณที่วางขาตู้นั้นๆ และชะลอการสัมผัสกับพื้นโดยตรง เท่าที่สังเกตมา บางร้านจะใช้ถุงพลาสติกคลุมไว้สองชั้น แล้วใช้หนังยางมัดให้แน่น เพื่อที่จะได้กันน้ำและความชื้น ออกจากตัวขาตู้

แต่ในความเป็นจริงแล้ว น้ำสามารถเกิดการ ออสโมซิส ทะลุเข้าไปในถุงพลาสติกได้ในระยะยาว แทนที่จะเป็นผลดี กลับทำให้น้ำและความชื้นขังอยู่ข้างในไม่สามารถระบายออกได้ ยิ่งจะทำให้ขาตู้นั้นเป็นสนิมได้เร็วขึ้น ตัวอย่างของสีและน้ำมันกันสนิม ที่มีหลายเกรด สนนราคาก็ต่างกั

2. การใช้สีกันสนิม หรือ น้ำมัน ทากันสนิมไว้ก่อน น้ำมันจะเป็นตัวยับยั้ง การสัมผัสของอากาศและความชื้นต่อเนื้อเหล็ก ทำให้เหล็กไม่เป็นสนิม แต่ในขณะเดียวกัน วิธีนี้ทำให้ขาตั้งตู้ปลาของเรา ค่อนข้างเยิ้ม และชุ่มไปด้วยน้ำมัน ไม่สะดวกสำหรับตู้ที่ตั้งไว้ในบ้าน เพราะจะดูสกปรก และเยิ้มติดพื้นได้

วิธีแก้ไขนี้จะทำได้เฉพาะ ขาตู้ปลาที่อยู่ในสภาพที่ยังพอใช้งานได้ สนิมกินเข้าไปไม่มาก จะสังเกตดูได้ว่า ถ้าสนิมกินเข้าไปลึกแล้ว เหล็กบริเวณขาตู้จะกรอบเป็นแผ่นๆ จับดูจะหลุดติดมือออกมา บางครั้งจับแค่นิดเดียวเหล็กอาจทะลุได้ ไม่สมควรที่จะซ่อม ควรซื้อใหม่เลยดีกว่า คราวนี้ในกรณีที่ขาตู้ปลานั้นๆ ไม่ได้โดนสนิมกัดเข้าไปมาก วิธีแก้ก็คือ ให้ใช้กระดาษทรายที่เอาไว้สำหรับขัดเหล็ก ขัดให้สนิมออก จนสีที่ทาเอาไว้ซึ่งโดยมากจะเป็นสีดำหลุดออก จนเห็นเนื้อเหล็ก

น้องหนิ่ม ที่ไม่น่ารัก เหมือน ซันวา เลย ฮือๆ มันกิน ขาตู้ ..

หลังจากนั้นให้ใช้แปรงปัดทำความสะอาดให้เศษสนิมเล็กๆ ผงๆหลุดออกให้หมด แล้วจึงใช้น้ำมันกันสนิม ฉีดพ่นลงไปทิ้งไว้ให้แห้ง สักสิบห้านาที แล้วฉีดพ่นทับอีกคร้ง ถ้าต้องการที่จะลงสีทับ ก็รอให้น้ำมันกันสนิมแห้งเสียก่อนค่อยลงทับไปอีกทีครับ

เป็นยังไงกันบ้างครับ สุดท้ายนี้ก็ลองเข้าไปเช็คดูว่า ขาตู้ปลาของเพื่อนๆ มีการสึกกร่อนจากสนิมกันบ้างหรือไม่ แล้วก็ค่อยๆหาวิธีแก้ไขกันไป ส่วนขาตู้ปลาไหนที่สภาพไม่ไหวแล้ว ก็ขอให้เปลี่ยนเถอะครับ เพราะถ้าใช้จนชำรุดแล้ว ถึงเวลาที่จำใจจะต้องเปลี่ยน จะฉุกละหุก และลำบากกว่านี้มากครับ