Skip to content

ปรับปรุง เว็บไซต์ เยอะแยะเลย ลองกดเข้าไปเล่นดูสิ ตอนนี้ มีหมอตั้ม มาประจำที่ โรงพยาบาลแล้วนะครับ ใครมีปัญหาปลาป่วย ปรึกษาได้ครับ

ห้อง Crossbreed อาทิ เช่น ปลาไตรทอง, ปลาเท็กซัสแดง, Flowerhorn, Pearl horn, นกแก้ว, คิงคอง, และ ครอสบรีด สายพันธุ์ต่างๆ แยกออก มาเป็นห้อง แต่ไม่แยก ค่าย เพื่อความ มัน ในการอ่าน กระทู้จริงๆ

0004231

รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม(ไข้หวัดนก)

Tomtexas
Tomtexas
110
[2004-01-28 11:39:19]
พอดีช่วงนี้ มีการพูดถึงการระบาดของไข้หวัดนก อาจจะดูแล้วไม่เกี่ยวกับเรื่องปลาสักเท่าไหร่ แต่ผมเชื่อว่ามีเพื่อนๆหลายคนอาจจะเลี้ยงนกเป็นเพื่อนด้วยนอกจากปลา ยังไงก็อยากให้เพื่อนๆคอยระวังไว้ แต่ไม่ตื่นตระหนกนะครับ ลองตามไปดูข้อมูลของสาธาณสุขกันครับ

ความคิดเห็นที่ 1

Tomtexas
Tomtexas
110
[2004-01-28 11:43:27]
คำแนะนำสำหรับประชาชนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก


กระทรวงสาธารณสุข
27 มกราคม 2547


จากสถานการณ์การระบาดของโรคในไก่รวมถึงไข้หวัดนก (Avian influenza) ในขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคในคนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ และได้ประสานงานกับกรมปศุสัตว์ ซึ่งเข้าดำเนินการควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ที่เกิดการระบาดทุกแห่งแล้ว รวมทั้งป้องกันไม่ให้มีการนำไก่ป่วยหรือตายออกจำหน่ายในท้องตลาดอย่างเด็ดขาด

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปมีความเสี่ยงน้อยต่อการติดโรค การรับประทานไก่และไข่ที่ปรุงสุกไม่ทำให้ติดโรค จึงไม่ควรตื่นตระหนก อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก กระทรวงสาธารณสุขขอแนะนำความรู้เรื่องโรคและแนวทางปฏิบัติ ดังนี้



ความรู้เรื่องโรคไข้หวัดนก


โรคไข้หวัดนกเป็นโรคติดต่อของสัตว์ประเภทนก ตามปกติโรคนี้ติดต่อมายังคนได้ไม่ง่ายนัก แต่คนที่สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ที่เป็นโรคอาจติดเชื้อได้ มีรายงานการเกิดโรคในคนเป็นครั้งแรกในปี 2540 เมื่อเกิดโรคระบาดของสัตว์ปีกในฮ่องกง โรคไข้หวัดนกเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ ที่พบในนก ซึ่งเป็นแหล่งรังโรคในธรรมชาติ โรคอาจแพร่มายังสัตว์ปีกในฟาร์ม คนติดโรคโดยการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย เชื้อที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และมูลของสัตว์ป่วย อาจติดมากับมือ และเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุของจมูกและตา ทำให้เกิดโรคคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีระยะฟักตัว 1 ถึง 3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ ผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจมีภูมิคุ้มกันไม่ดี และมีอาการรุนแรงได้ โดยจะมีอาการหอบ หายใจลำบาก เนื่องจากปอดอักเสบรุนแรง ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนก ได้แก่ ผู้ที่ทำงานในฟาร์มสัตว์ปีก ผู้ที่ฆ่าหรือชำแหละสัตว์ปีก ในพื้นที่ที่เกิดโรคไข้หวัดนกระบาด โรคไข้หวัดนกต่างจากไข้หวัดใหญ่ กล่าวคือ ไข้หวัดใหญ่แพร่ติดต่อจากคนสู่คน แต่ในปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกที่ติดต่อจากคนสู่คน




แนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก



ผู้บริโภคไก่และผลิตภัณฑ์จากไก่

1. เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจและโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร การบริโภคเนื้อสัตว์ รวมทั้งเนื้อไก่และไข่ไก่ โดยทั่วไปจึงควรรับประทานเนื้อที่ปรุงให้สุกเท่านั้น เนื่องจากเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนมา ไม่ว่าจะเป็นไวรัส แบคทีเรีย หรือพยาธิ จะถูกทำลายไปด้วยความร้อน

2. เนื้อไก่และไข่ไก่ที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดในขณะนี้ ถือว่ามีความปลอดภัย สามารถบริโภคได้ตามปกติ แต่ต้องรับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุกเท่านั้น งดการประทานอาหารที่ปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ

3. เลือกรับประทานไข่ที่ปรุงสุกอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงที่มีปัญหาโรคระบาดในไก่

ผู้ประกอบอาหาร

ผู้ประกอบอาหารทั้งเพื่อการจำหน่ายและแม่บ้านที่เตรียมอาหารในครัวเรือน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคติดต่อจากอาหาร กระทรวงสาธารณสุขขอเน้นการป้องกัน ดังนี้

1. ควรเลือกซื้อเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์จากไก่จากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐาน หรือร้านค้าประจำ และเลือกซื้อไก่สดที่ไม่มีลักษณะบ่งชี้ว่าอาจตายด้วยโรคติดเชื้อ เช่น มีเนื้อมีสีคล้ำ มีจุดเลือดออก เป็นต้น สำหรับไข่ ควรเลือกฟองที่ดูสดใหม่และไม่มีมูลไก่ติดเปื้อนที่เปลือกไข่ ก่อนปรุงควรนำมาล้างให้สะอาด

2. ไม่ใช้มือที่เปื้อนมาจับต้องจมูก ตา และปาก และหมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจับต้องเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และเปลือกไข่ที่มีมูลสัตว์เปื้อน

3. ควรแยกเขียงสำหรับหั่นเนื้อไก่ และมีเขียงสำหรับหั่นอาหารที่ปรุงสุกแล้ว หรือผัก ผลไม้ โดยเฉพาะ ไม่ใช้เขียงเดียวกัน


ผู้ชำแหละไก่

ผู้ชำแหละไก่อาจมีความเสี่ยงจากการติดโรคจากสัตว์ จึงควรระมัดระวังขณะปฏิบัติงาน ดังนี้


1. ต้องไม่ซื้อไก่ที่มีอาการผิดปกติจากการติดเชื้อ เช่น ซึมหงอย ขนฟู หน้า หงอน หรือเหนียงบวมคล้ำ มีน้ำมูก หรือขี้ไหล เป็นต้น หรือไก่ที่ตายมาชำแหละขาย

2. ไม่ขังสัตว์ปีกจำพวก ไก่ เป็ด ห่าน ฯลฯ ที่รอชำแหละไว้ในกรงใกล้ ๆ กัน เพราะจะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เชื้อโรคกลายพันธุ์ จนอาจเกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่เป็นอันตรายทั้งต่อคนและสัตว์ได้

3. ควรทำความสะอาดกรงและอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ ด้วยน้ำผงซักฟอก และนำไปผึ่งกลางแดดจัด ๆ นอกจากนั้นอาจราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเดือนละ 1- 2 ครั้ง

4. หากสัตว์ที่ชำแหละมีลักษณะผิดปกติ เช่น มีจุดเลือดออก มีน้ำหรือเลือดคั่ง หรือจุดเนื้อตายสีขาวที่เครื่องใน หรือเนื้อมีสีผิดปกติ ต้องไม่นำไปจำหน่าย และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาตรวจสอบทันทีเพราะอาจเป็นโรคระบาด

5. ต้องล้างบริเวณชำแหละสัตว์ให้สะอาดด้วยน้ำผงซักฟอกหลังเสร็จสิ้นการชำแหละไก่ และควรราดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเดือนละ 1- 2 ครั้ง

6. ผู้ชำแหละไก่ควรดูแลระมัดระวังตนเองอย่างถูกต้อง โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ แว่นตา รองเท้าบู๊ต และต้องหมั่นล้างมือบ่อย ๆ

7. รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด และต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังปฏิบัติงานเสร็จ ส่วนเสื้อผ้าชุดเดิม พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ แว่นตา ควรนำไปซักหรือล้างให้สะอาด และผึ่งกลางแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้อีกครั้ง


ผู้ขนย้ายสัตว์ปีก

ผู้ขนย้ายสัตว์ปีกควรระมัดระวังตนเองไม่ให้ติดโรคจากสัตว์ และป้องกันการนำเชื้อจากฟาร์มหนึ่งไปแพร่ยังฟาร์มอื่นๆ จึงควรเน้นการปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง


1. งดซื้อสัตว์จากฟาร์มที่มีสัตว์ตายมากผิดปกติ

2. เมื่อขนส่งสัตว์เสร็จในแต่ละวัน ต้องรีบล้างทำความสะอาดรถและกรงขังสัตว์ให้สะอาดด้วยน้ำผงซักฟอก สำหรับกรงควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำผสมผงปูนคลอรีนราดซ้ำอีกครั้งหนึ่งด้วย

3. ควรดูแลระมัดระวังตนเองอย่างถูกต้อง โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ รองเท้าบู๊ท และต้องหมั่นล้างมือบ่อยๆ

4. รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด และต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังปฏิบัติงานเสร็จ ส่วนเสื้อผ้าชุดเดิมและเครื่องป้องกันร่างกาย ควรนำไปซักหรือล้างให้สะอาด และผึ่งกลางแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้อีกครั้ง



เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่

เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ รวมทั้งผู้เลี้ยงสัตว์ และผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับสัตว์ในฟาร์มที่มีการะบาด เป็นกลุ่มประชาชนที่เสี่ยงต่อการติดโรคจากสัตว์ ดังนั้นจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์โดยเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

1. เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ ต้องป้องกันไม่ให้สัตว์อื่น ๆ รวมทั้งนกทุกชนิด และสัตว์พาหะนำโรค เช่น หนู เป็นต้น เข้ามาให้โรงเรือน เพราะอาจนำเชื้อโรคเข้ามาแพร่ให้ไก่ได้ นอกจากนั้นจะต้องรักษาความสะอาดในโรงเรือนให้ดีอยู่เสมอ และหากมีไก่ป่วยหรือตายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที ต้องไม่นำไก่ป่วยหรือตายออกมาจำหน่าย และทำการกำจัดทิ้งตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด เช่น อาจฝังให้ลึกแล้วราดน้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือปูนขาว หรือนำไปเผา เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อมาสู่สัตว์หรือคน

2. ผู้ที่เลี้ยงสัตว์หรือผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับสัตว์ในฟาร์มที่มีการระบาด ไม่ว่าจากสาเหตุใดควรดูแลระมัดระวังตนเองอย่างถูกต้อง โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ แว่นตา รองเท้าบู๊ต และต้องหมั่นล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจับต้องสัตว์ป่วย หรือซากสัตว์ที่ตาย

3. รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด และต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังปฏิบัติงานเสร็จ เสื้อผ้าชุดเดิม พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ แว่นตา ควรนำไปซักหรือล้างให้สะอาด และผึ่งกลางแดดให้แห้งสนิทก่อนนำมาใช้อีกครั้ง



การป้องกันโรคให้แก่เด็ก

1. เนื่องจากเด็กมักมีนิสัยชอบเล่นคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงรวมทั้งไก่และนก และหากติดเชื้อไข้หวัดนกมักป่วยรุนแรง ดังนั้นในช่วงที่มีโรคระบาดในสัตว์ปีก มีสัตว์ตายมากผิดปกติ พ่อ แม่ ผู้ปกครองควรระมัดระวังดูแลเด็กให้ใกล้ชิด และเตือนไม่ให้เด็กอุ้มไก่หรือนก จับต้องซากสัตว์ที่ตาย และต้องฝึกสุขนิสัยที่ดี โดยเฉพาะการล้างมือทุกครั้งหลังจับต้องสัตว์

2. หากเด็กมีอาการป่วย สงสัยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว โดยทั่วไปเมื่อได้รับการรักษาและดูแลอย่างถูกต้อง เด็กจะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นภายใน 2 ถึง 7 วัน ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น มีอาการหอบ ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที

คำแนะนำทั่วไปในการรักษาสุขภาพและพฤติกรรมอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อ

1. ควรรักษาร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคได้ดี โดยการรับประทานอาหารให้ครบถ้วน รวมทั้งผักและผลไม้ งดบุหรี่และสุรา นอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และในช่วงอากาศเย็น ควรสวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น

2. หากมีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น เจ็บคอ ไอ เป็นต้น ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งแพทย์ด้วยว่าทำงานในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรือมีประวัติสัมผัสซากสัตว์


ข้อแนะนำกรณีพบสัตว์ปีกตายผิดสังเกต

สัตว์ที่ตายผิดสังเกต อาจมีสาเหตุมาจากโรคระบาดหลายโรค รวมทั้งโรคไข้หวัดนกด้วย หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ผู้ที่พบเห็นควรปฏิบัติโดยเร็ว ดังนี้

1. โทรศัพท์แจ้งให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบหาสาเหตุ

ในเขตกรุงเทพมหานคร แจ้งที่สำนักงานเขต หรือกรมปศุสัตว์

โทร. 0-2653-4401

ต่างจังหวัด แจ้งเจ้าหน้าที่เทศบาล หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์

2. เก็บซากสัตว์ใส่ลงในถุงพลาสติก รัดปากถุงให้แน่น ต้องไม่จับซากสัตว์ด้วยมือเปล่า ควรสวมถุงมือยาง ถ้าไม่มีอาจใช้ถุงพลาสติกหนา ๆ สวมมือ เจ้าหน้าที่อาจนำซากบางส่วนไปตรวจชันสูตรหาสาเหตุการตาย ส่วนซากที่เหลือต้องรีบนำไปเผาหรือฝัง หากใช้วิธีฝัง ควรราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือโรยปูนขาว หรืออาจใช้น้ำเดือดราดที่ซากก่อนกลบดินให้แน่น


ข้อแนะนำขั้นตอนการล้างตลาดอย่างถูกหลักสุขาภิบาลในช่วงการเกิดโรคระบาด

1. ในบริเวณที่มีการระบาดของโรคติดต่อ ควรล้างตลาดอย่างถูกหลักสุขาภิบาล อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

2. กวาดหยักไย่ หรือ เศษสิ่งสกปรกที่ติดบน ฝาผนัง โคมไฟ พัดลม

3. เจ้าของแผงทำความสะอาดแผง และร่องระบายน้ำเสีย กวาดเศษขยะไปรวมทิ้งไว้ในบริเวณพักขยะ หรือในที่ที่จัดไว้ รวมทั้งกำจัดแมลงและสัตว์นำโรคที่อาศัยอยู่ในบริเวณตลาดด้วย

4. บนแผงหรือพื้นที่ที่คราบไขมันจับ ใช้น้ำผสมโซดาไฟราดลงบนพื้นหรือแผง ทิ้งไว้นาน 15-30 นาที และใช้แปรงลวดถูช่วยในการขจัดคราบไขมัน ส่วนบริเวณอื่นใช้ผงซักฟอกช่วยในการล้างทำความสะอาด ในบริเวณที่ไขมันจับตัวหนา ใช้โซดาไฟชนิด 96% ในอัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำครึ่งปีบ ในบริเวณที่ไขมันน้อย ใช้โซดาไฟ 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำครึ่งปีบ

5. ใช้น้ำสะอาดฉีดล้างบนแผง ทางเดิน ฝาผนังและกวาดล้างลงสู่ร่องระบายน้ำเสียเพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก โซดาไฟหรือผงซักฟอกให้หมด

6. ใช้น้ำผสมผงปูนคลอรีน (ใช้ผงปูนคลอรีน 60% ในอัตราส่วน 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 1 ปีบ ใส่ลงในบัวรดน้ำ และรดบริเวณแผง ทางเดิน ร่องระบายน้ำเสียให้ทั่ว ปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคและกำจัดกลิ่น ส่วนบริเวณที่มีกลิ่นคาวให้ใช้หัวน้ำส้มสายชูผสมน้ำให้เจือจาง แล้วราดบริเวณที่มีกลิ่นคาว โดยเฉพาะแผงขายสัตว์ปีก ควรฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนทุกวัน

7. บริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม อ่างล้างมือ ที่ปัสสาวะ และก๊อกน้ำสาธารณะที่ใช้ในตลาด ต้องล้างทำความสะอาดโดยใช้ผงซักฟอกช่วยและล้างด้วยน้ำสะอาด

8. บริเวณที่พักขยะต้องเก็บรวบรวมขยะไปกำจัดให้หมด แล้วล้างทำความสะอาดและทำการฆ่าเชื้อ เช่นเดียวกับข้อ 6


ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค : โทร. 0-2590-3333
และเว็ปไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ www.moph.go.th



แหล่งข้อมูล : กรมควบคุมโรค กรมอนามัย และกรมปศุสัตว์



ความคิดเห็นที่ 2

นานา
นานา (202.5.80.199) [2004-01-28 12:49:42]
ขอบคุณครับ

ความคิดเห็นที่ 3

MuszimmoBighorn
MuszimmoBighorn
22
[2004-01-28 15:10:37]
ได้ความรู้มากๆอีกแล้วครับ

ขอบคุณมากๆครับพี่ รู้ไว้ใช่ว่า....

ความคิดเห็นที่ 4

smallfish
smallfish (203.155.22.105) [2004-01-28 17:26:24]
รับทราบครับ

ความคิดเห็นที่ 5

FOOT
FOOT
9
[2004-01-29 02:08:25]
ระวังเต็มที่

ความคิดเห็นที่ 6

 
  (169.210.6.200) [2004-02-02 16:17:39]
ขอบคุณมากๆ ครับ
ด้านบน

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนทำรายการ

เข้าระบบ