Skip to content

ปรับปรุง เว็บไซต์ เยอะแยะเลย ลองกดเข้าไปเล่นดูสิ ตอนนี้ มีหมอตั้ม มาประจำที่ โรงพยาบาลแล้วนะครับ ใครมีปัญหาปลาป่วย ปรึกษาได้ครับ

โรงพยาบาลสัตว์น้ำ บ่อยครั้ง ที่ปลาเราป่วย ด้วยโรคภัยไข้ เจ็บต่างๆ ย่อม นำความไม่สบายใจ มาสู่ ผู้ เป็นเจ้าของ อย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้ วัตถุประสงค์ ของ section นี้ เพื่อเป็น ที่พึ่ง ทางด้านข้อมูล เกี่ยวกับโรค และ อาการผิด ปกติต่างๆ ที่พบได้บ่อย ให้เพื่อนๆ ได้อ่าน และ ใช้เป็นแนวทาง รักษา โรคปลาอย่างถูกวิธี

0002975

ปลาปักเป้าเป็นอะไรไม่รุ้อ่ะครับ

arztz
arztz
4
[2011-04-11 15:36:01]

ผมถอยปลาปักเป้าตัวนี้มาได้ 4 วันแล้วครับ ในตู้ 24นิ้วคาดว่าน่าจะเป็นพันธุ์ ฟาฮาก้า แต่ไม่มั่นใจคือตั้งแต่นำมานอนแต่ก้นตู้ครับ นานๆว่ายที แล้วว่ายแต่ละทีไม่เกิน 1นิ้วจากก้นตู้มีท่าที ว่ายหันหน้าลงก้นตู้ไปมา(นานๆึครั้ง ส่วนมากนอนตลอด)มันไม่ค่อยกินด้วยครับ 4 วัน กินกุ้งฝอยไปตัวเดียว ขนาดประมาน 1 นิ้วกว่าๆครับกลัวมันไม่สบายอ่ะครับ มันปกติหรือเปล่า(ได้ยินว่าพันธุ์นี้โหดอยู่ไม่สุก)

ชื่อสายพันธุ์
ปลาปักเป้า
เพื่อนร่วมตู้
ไม่มี
ที่เลี้ยง
ห้องนอน
ขนาดที่เลี้ยง
24x12x14 นิ้ว
ระบบกรองน้ำ
ไม่มี
อาหารที่ให้
กุ้งฝอย
การรักษาที่ทำอยู่
ทำอะไรไม่ถูก
สังเกตเห็นอาการเมื่อ
นำมาเลี้ยง 4 วัน
% การเปลี่ยนถ่ายน้ำ
ยังไมไ่ด้เปลี่ยน

ความคิดเห็นที่ 1

arztz
arztz
4
[2011-03-31 07:54:36]

นี่ก็อาทิตย์นึงแล้วอ่ะครับ มันก็ยังหลบอยู่ก้นตู้อยู่ดีอ่ะครับ

มีลองเอากระดาษหนังสือพิมพ์แปะรอบตู้ ปิดฝาให้มืดๆกันมันเครียดก็ไม่หายอ่ะครับ

ความคิดเห็นที่ 2

RoF
RoF
125
[2011-04-04 00:56:18]

ถึงกับต้องถอยเลยหรอครับ

คุณควรให้เวลาปลาได้เติบโต และปรับตัวบ้างครับ อ่านอะไรมา ก็ควรคิดและวิเคราะห์สักนิดนึงว่า มันควรจะเป็นเช่นนั้นเมื่อใด ในระยะเวลาใด การที่คุณไปจับมันแบบนั้นสิครับ จึงจะเรียกว่าผลเสีย ว่างๆก็ลองอ่านวิธีการเลี้ยงดูครับ ด้านล่าง

ฟาฮากา ปักเป้ายักษ์จอมโหด

.....ปักเป้าฟาฮากา... เรามาทำความรู้จักลำดับอนุกรมวิธานของมันเป็นอันดับแรกตามระเบียบครับ

Domain: Eukaryota - Whittaker & Margulis,1978 - eukaryotes Kingdom: Animalia - Linnaeus, 1758 - animals Subkingdom: Bilateria - (Hatschek, 1888) Cavalier-Smith, 1983 Branch: Deuterostomia - Grobben, 1908 Infrakingdom: Chordonia - (Haeckel, 1874) Cavalier-Smith, 1998 Phylum: Chordata - Bateson, 1885 - Chordates Subphylum: Vertebrata - Cuvier, 1812 - Vertebrates Infraphylum: Gnathostomata - Auct. - Jawed Vertebrates Superclass: Osteichthyes - Huxley, 1880 - Bony Fishes Class: Actinopterygii - Huxley, 1880 - Ray-Finned Fishes Subclass: Actinopterygii - Ray-Finned Fishes nfraclass: Actinopteri Cohort: Clupeocephala Superorder: Acanthopterygii Order: Tetraodontiformes Suborder: Tetraodontoidei Family: Tetraodontidae - Puffers Subfamily: Tetraodontinae Genus: Tetraodon - Linnaeus, 1758 Specific name: lineatus - Linnaeus, 1758 Scientific name: - Tetraodon lineatus Linnaeus, 1758

ใช่ครับ มันก็คือ1ในสมาชิก ปลาปักเป้า ซึ่งทุกๆคนคงรู้จักกันดีนั่นเองเพียงแต่ตัวนี้มันอาจมีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ เลยทำให้นักเลี้ยงปลาทั่วโลกหลงรักมัน เดี๋ยวเรามาค่อยๆทำความรู้จักกันครับ ปลาปักเป้าจัดอยู่ในอันดับ เตทตราโอดอนทิฟอร์เมส (Order: Tetraodontiformes) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกประมาณ 10 ครอบครัว (families) 360 ชนิด (species)ในทางวิวัฒนาการแล้ว นักวิทยาศาสตร์ถือว่า ปลาในอันดับนี้ มีวิวิฒนาการสูงสุดกว่าปลาในอันดับอื่นๆครับ ซึ่งเราก็สังเกตุได้ด้วยตาง่ายๆว่า มันแปลกพิเศษจากปลาอื่นๆทั่วไปอย่างไร เช่น มีเกล็ดบนลำตัวที่พัฒนาเปลี่ยนรูปแบบไปหลากหลาย มีทักษะการว่ายน้ำและเคลื่อนที่ไปได้ทุกทิศทุกทาง แม้กระทั่งว่ายถอยหลัง รวมทั้งการทรงตัวนิ่งๆ มีช่องเปิดเหงือกที่พัฒนาไปเป็นพิเศษ เพื่อการกักเก็บน้ำและลมในร่างกาย มีสายตาที่ดี และที่สำคัญ เป็นปลาที่ฉลาด มีระดับสติปัญญากว่าปลาในกลุ่มอื่นๆ ซึ่งมักจะแสดงออกเป็นพฤติกรรมต่างๆ แม้แต่กระทั่งสายตาที่จ้องมองดูเรา ก็เสมือนว่า มันกำลังมีความคิดอะไรอยู่เสมอ...

ชื่อไทย : ปักเป้าฟาฮากา

ชื่อสามัญ : Globe fish, Nile Puffer, Coral butterfly, Fahaka , Band puffer, Lined Puffer

ชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง : Tetraodon lineatus Linnaeus, 1758 อ่านว่า เตทตราโอดอน ลายนิเอทัส แปลง่ายๆตรงตัวว่า เจ้าปลาฟันสี่ซี่ ที่มีลายเป็นแถบบนลำตัว ชื่อวิทยาศาสตร์ถูกตั้งไว้โดย ท่าน ลินเนียส เมื่อประมาณ 251 ปีมาแล้วโน่น

ชื่อพ้อง :Crayracion fahaca (Hasselquist, 1762) (synonym)

Tetraodon fahaka Hasselquist, 1762 (synonym)

Tetraodon fahaka fahaka Hasselquist, 1762 (synonym)

Tetraodon fahaka rudolfianus Deraniyagala, 1948 (synonym)

Tetraodon fahaka strigosus Bennett, 1834 (synonym)

Tetraodon lineatum Linnaeus, 1758 (synonym)

Tetraodon lineatus lineatus Linnaeus, 1758 (synonym)

Tetraodon lineatus rudolfianus Deraniyagala, 1948 (synonym)

Tetraodon lineatus strigosus Bennett, 1834 (synonym)

Tetraodon physa Geoffroy Saint-Hilaire, 1809 (synonym)

Tetrodon strigosus Bennett, 1834 (synonym)

ถิ่นกำเนิด การแพร่กระจายและแหล่งที่อยู่อาศัย

ดังที่เกริ่นไปแล้วในย่อหน้าแรกครับ ทวีปอาฟริกาอันกว้างใหญ่ คือบ้านเกิดของปักเป้ายักษ์ชนิดนี้ เช่นลุ่มน้ำ Nile และ Chad รวมทั้งแม่น้ำในประเทศ Niger, Volta, Gambia, Geba, Egypt, Kenya, Sudan, Ghana, Gambia, Cameroon, Nigeria, Sierra Leone, Burkina Faso, Senegal ,Guinea Bissau และทะเลสาบ Turkana เป็นต้นครับ ปักเป้าฟาฮากา จะพบอาศัยตั้งแต่ในบริเวณแหล่งน้ำจืดสนิท ไปจนถึงแหล่งน้ำกร่อยใกล้ปากแม่น้ำ แต่ไม่พบในทะเลครับ ค่า pH ของน้ำ อยู่ระหว่าง 7-8 ค่าความกระด้าง dH ระหว่าง 10-12 แล้วแต่แหล่งน้ำ อุณหภูมิจัดอยู่ในเขตร้อน ตั้งแต่ 24-27 องศาเซลเซียสครับ พบทั้งในทะเลสาบ แม่น้ำต่างๆ โดยชอบอาศัยหลบซ่อนอยู่บริเวณที่มีที่กำบัง เช่นพวกรากไม้กิ่งไม้จมน้ำ วัชพืชต่างๆ สำหรับปลาปักเป้าฟาฮากาที่นำเข้ามาขายในบ้านเรา ส่วนใหญ่จะมาจากไนจีเรียครับ

รูปร่างลักษณะ นิสัย และอาหาร

อันรูปร่างของปลาชนิดนี้นั้น ใครเห็นก็ต้องรู้ครับว่า มันเป็นปลาปักเป้า ด้วยลักษณะลำตัว ครีบ และหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว ดวงตากลมใหญ่สีแดงฉาน หันมองได้รอบทิศ ปากค่อนข้างเล็ก แต่มีฟันเป็นแผงขนาดใหญ่และแข็งแกร่ง 4 ซี่ ช่องเปิดเหงือกลดขนาดลงเป็นช่องเล็กๆทั้งสองด้านของหัว ครีบอกขนาดใหญ่ ทำหน้าที่ทรงตัวและเคลื่อนที่ไปได้ทุกทิศทางด้วยการโบกสะบัดด้วยความถี่สูงตลอดเวลา แทนการโบกหางและลำตัวเหมือนปลากลุ่มอื่นๆ ลวดลายบนลำตัวเป็นแถบดำหลายแถบ ลากตามยาวของลำตัว ตั้งแต่ครึ่งลำตัว จนข้ามหลัง บนพื้นลำตัวสีเขียวอมน้ำตาล ปลาวัยอ่อนจะมีจุดกระสีดำกระดำกระด่างปรากฏแต่จะค่อยๆหายไปเมื่อปลาโตขึ้นครับ ส่วนล่างของท้องไม่มีลาย สีเหลืองสดใส ครีบหางเหลืองสด เกล็ดบนลำตัวพัฒนาเป็นหนามซึ่งมีขนาดเล็กมากๆครับ จับตัวดูจะรู้สึกลื่นๆเมือกๆครับถ้าลูบจากด้านหัวไปหาง แต่ถ้าลูบย้อนทิศ ก็จะสัมผัสได้ถึงหนามขนาดเล็กๆมากมาย แต่ก็ไม่แหลมคมจนกระทั่งทำให้เราบาดเจ็บอะไรได้มากมายครับ

ปลาปักเป้าฟาฮากา ตลอดจนสมาชิกตัวอื่นๆในกลุ่มนี้ เป็นปลาที่ว่ายน้ำได้ช้า ไปจนถึงช้ามากครับ ถือเป็นข้อด้อยของมัน แต่ก็ถูกกลบและทดแทนด้วยสิ่งอื่นๆในการป้องกันตัวและหาอาหาร เช่น ฟันที่แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มปลาทุกชนิด โดยมีฟันรูปแบบพิเศษที่เชื่อมต่อกันเป็นแผงฟันขนาดใหญ่คล้ายจงอยปากนก ซึ่งมี 4 ซี่ ในปลาปักเป้าฟาฮากา และพิษที่ร้ายกาจที่สุดชนิดหนึ่งในโลก เรียกว่า tetrodotoxin ซึ่งเป็นพิษที่พบในกลุ่มปลาปักเป้าเท่านั้นครับ จัดเป็นพิษในกลุ่มทำลายระบบประสาทอย่างรุนแรง (neurotoxin) แรงกว่า ไซยาไนด์ถึง 1000 เท่า !!! ไม่มียาต้านพิษใดๆในโลกนี้ที่จะช่วยคุณได้ครับ ซึ่งพิษสามารถฆ่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่กล้ากินมันเข้าไปได้อย่างง่ายดาย รวมทั้งมนุษย์ และสามารถฆ่าปลาด้วยกันเองได้อีกด้วยครับ ดังนั้น ถ้าเลี้ยงฟาฮากาแล้วเกิดทำตายขึ้นมา อย่าทะลึ่งเอาไปทำอาหารรับประทานโชว์พาวละกันครับ

นิสัยที่ชัดเจนมากๆของปลาปักเป้าทุกชนิดก็คือ ความฉลาดและดุร้ายครับ มันเป็นนักล่าไร้ปราณีโดยสายเลือดจริงๆอันนี้ต้องยอมรับ ดังนั้น โดยพื้นฐานแล้ว ไม่ว่าปักเป้าชนิดใดๆในโลก มักจะชอบกัดทำร้ายกันเอง และทำร้ายปลาชนิดอื่นเสมอๆ ไม่มากก็น้อยครับ ถ้าทำใจได้ หรือ รับมือกับเรื่องพวกนี้ได้ ก็จงเลี้ยงรวม แต่ถ้าไม่อยากเสี่ยง ก็จงเลี้ยงเดี่ยว เป็นกฏเกณฑ์ง่ายๆของการเลี้ยงปลาปักเป้าทุกชนิด และกฏเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องเข้มข้นขึ้นอีกหลายเท่า ถ้าเราใช้กับ ปักเป้าฟาฮากา ตัวนี้ครับ ใช่ครับ ฟาฮากา มีชื่อเสียงด้านความดุร้ายก้าวร้าวสุดๆในกลุ่มปลาปักเป้าน้ำจืดด้วยกัน ไม่ดุเปล่าครับ มันยังเป็นปลาปักเป้าน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากปักเป้ายักษ์เอ็มบู (Tetraodon mbu) โดยมีขนาดโตเต็มที่เท่าที่มีการบันทึกไว้ถึง 43 เซนติเมตร หนักประมาณ 1 กิโลกรัมครับ ดังนั้น ด้วยนิสัยที่ดุร้ายเป็นทุนเดิม บวกกับรูปร่างขนาดใหญ่แข็งแรง พร้อมด้วยขากรรไกรอันแข็งแกร่งขนาดขบเปลือกหอยแตกได้ ความฉลาดเจ้าเล่ห์ของตัวปลาเอง จะสร้างความเสียหายกับเพื่อนร่วมตู้ได้มากแค่ไหน บางทีก็ร้ายแรงเกินจะนึกภาพออกครับ เอาง่ายๆว่า ตาย ละกันครับ นอกจากนั้น ปลาชนิดนี้ยังทำความคุ้นเคยกับผู้เลี้ยงได้ง่ายอีกด้วยครับ คือ มันไม่กลัวเรา แสดงปฏิสัมพันธ์ด้วยกะเรา และพร้อมที่จะเข้ามาขออาหารตลอดเวลา และเล่นกับมือเราที่โบกไปมานอกตู้ และพร้อมจะกัดให้เนื้อหลุดเป็นแว่นๆ ถ้ากล้าแหย่ลงไป ดังที่เกริ่นไปครับว่า ปลาชนิดนี้ค่อนข้างฉลาด ทั้งการจดจำสิ่งต่างๆ ตลอดจนการล่าเหยื่อหาอาหารที่ซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น ถ้าเป็นหอยไม่ว่าชนิดใด ขนาดไหนก็ตาม ถ้ามันขบกัดได้ มันก็จะหาทางขบกัดจนเปลือกแตก และเอาเนื้อออกมากินได้ และถูกบดอีกครั้งด้วยฟันชุดที่สองที่อยู่ในบริเวณคอหอย (pharyngeal teeth) ของมัน ครับ ถ้าเป็นกุ้ง ปูน้ำจืดชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารโปรด โดยเฉพาะพวกกุ้งล๊อบสเตอร์น้ำจืด ไม่ว่าจะตัวใหญ่พอๆกะมัน ก็ไม่มีทางเอาชนิดปักเป้าจอมแยกระยางค์ตัวนี้ได้เลยครับ ลองหาคลิปดูในเวปไซต์ต่างๆก็ได้ครับ แล้วท่านจะเพลิดเพลินกับวิธีการแยกกุ้งล๊อบสเตอร์ก้ามโตๆ ตัวแข็งๆ ออกเป็นชิ้นๆ และกินเป็นอาหารอย่างง่ายดาย ของฟาฮากา ตัวนี้ หรือถ้าเป็นอาหารจอมหลบช่อน เช่น ชอบมุดแอบในทราย ก็ยังหนีไม่พ้นสายตา และสัญชาติญาณการหาอาหารของฟาฮากาอยู่ดีครับ โดยมันสามารถ เป่าทรายให้ฟุ้งกระจายเป็นจุดๆ เพื่อค้นหาเหยื่อที่ฝังตัวซ่อนอยู่จนพบและโดนจับกินในที่สุด ด้วยการสร้างสูญญากาศ จากช่องเปิดเหงือกพิเศษของมัน อัดพ่นแรงดันน้ำออกทางปากโดยแรง ขณะที่ปิดและบีบช่องเปิดเหงือกเอาไว้ แรงดันน้ำที่ออกจากปาก มากพอที่จะเป่าสิ่งเล็กๆในน้ำให้ฟุ้งกระจายได้ครับ ถือเป็นความสามารถเฉพาะตัวของปลาในกลุ่มปักเป้าพวกนี้ และที่สำคัญที่แทบทุกคนคงนึกถึงคือ การพองตัว ใช่ครับ ฟาฮากา ก็สามารถพองตัวเป็นลูกโป่งขนาดใหญ่ได้เช่นกัน ถึงแม้ว่า มันจะไม่มีหนามรอบตัวเพื่อป้องกันตัวเอง แต่ก็อาศัยใช้รูปร่างการพองตัวใหญ่ขู่ศัตรู หรือทำให้ศัตรูไม่สามารถกินกลืนมันเข้าไปได้โดยง่ายครับ เช่นเมื่อเราจับมันขึ้นเหนือน้ำ มันก็จะรีบกลืนอากาศเข้าไปเป็นจำนวนมากด้วยความรวดเร็วไปเก็บไว้ในกระเพาะอาหารส่วน diverticulum ซึ่งมีความสามารถในการยืดหดได้อย่างน่าทึ่ง โดยอาศัยริมฝีปาก และช่องเปิดเหงือช่วยในการสูบลมเข้าตัวเองโดยสัมพันธ์กัน มันสามาถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3 เท่าของขนาดเดิมครับ ส่วนถ้ามันอยู่ในน้ำและต้องการพองตัว มันก็จะกลืนน้ำเข้าไปแทนอากาศได้เช่นกัน แต่ผมแนะนำว่า ไม่ควรทำให้มันพองตัวเล่นด้วยวิธีใดๆก็ตามครับ เพราะมันจะทำให้ปลาเครียด อ่อนแอ และตายง่ายในที่สุด ดังนั้นการตักปลาปักเป้าทุกชนิดให้ปลอดภัย จึงไม่ควรตักมันขึ้นพ้นน้ำครับ แต่ควรใช้ขันน้ำหรือถุงช้อนมันขึ้นมาพร้อมน้ำจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการย้ายปลา นอกจากอาหารของปักเป้าฟาฮากา จะเป็นพวก กุ้งชนิดต่างๆ หอยต่างๆแล้ว ปลาเล็กๆ ก็ยังเป็นอาหารที่มันชอบเช่นกัน และก็ไม่เว้นปลาใหญ่ๆที่มันสามารถจับกัดแทะได้เวลาหิวด้วยนะครับ เรียกได้ว่า กินเนื้อสัตว์น้ำได้หมดแทบทุกชนิดครับ

การผสมพันธุ์วางไข่และการเพาะพันธุ์

ปักเป้าฟาฮากา เป็นปลาที่แยกเพศด้วยการดูภายนอกได้ยากและไม่มีลักษณะบ่งบอกเพศได้ชัดเจนครับ ส่วนใหญ่ ปลาเพศเมียเมื่อถึงวัยเจริยพันธุ์ จะมีลำตัวอ้วนใหญ่ ส่วนท้องขยายเนื่องจากมีการสร้างไข่จำนวนมาก มีติ่งเพศยื่นออกมาเล็กน้อยพอสังเกตุได้ เมื่อไม่ได้รับการผสมพันธุ์ มันจะปล่อยทิ้งออกมานอกตัว อันนี้ก็ชัดเจนครับว่าตัวเมีย สำหรับใครที่เลี้ยงฟาอากาจนโตแล้วเจอเหตุการณ์แบบนี้ ก็ให้รีบเปลี่ยนน้ำทันทีก่อนที่น้ำจะเน่าเสียอย่างรวดเร็วจนทำให้ปลาตายนะครับ ส่วนปลาเพศผู้ก็จะลำตัวผอมบางกว่า แต่ก็ไม่ชัดเจนเท่าที่ควรครับ ปักเป้าฟาฮากานั้น ถือว่าเป็นปลาที่ค่อนข้างเพาะพันธุ์ยากชนิดหนึ่ง สาเหตุหลักๆก็เนื่องจากความดุร้ายก้าวร้าวเกินงามของพวกมันนั่นเองครับ เพราะมันชอบที่จะฆ่ากันมากกว่าที่จะรักกัน แต่ก็มีรายงานการเพาะพันธุ์ในที่เลี้ยงอยู่เช่นกันครับ และที่สำคัญ ผมก็พึ่งได้ข่าวว่า มีการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้ในประเทศไทยด้วยครับ ปกติแล้ว ปลาปักเป้าฟาอากา จะจับคู่ผสมพันธุ์กันโดยมีอายุเฉลี่ย 12 ปีขึ้นไป ขนาดไม่ต่ำกว่า 1 ฟุต ในที่เลี้ยงขนาดใหญ่ ปลาเพศเมียที่พร้อมผสมพันธุ์จะสร้างไข่เต็มท้องทำให้ท้องขยายใหญ่ มีติ่งเพศยื่นออกมาจนสังเกตุได้ครับแสดงว่าพร้อมวางไข่แล้ว ส่วนตัวผู้ที่พร้อมผสมพันธุ์ก็จะเลือกเข้ามาจับคู่กับตัวเมียดังกล่าวเอง โดยจะว่ายจับคู่ไปด้วยกัน เมื่อมีจังหวะ ตัวผู้จะทำการรัดตัวเมียจนมีไข่ไหลออกมาพร้อมทั้งฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมกับไข่ในเวลาเดียวกัน โดยจะทำการเข้ารัดผสมหลายๆครั้งจนไข่หมด แล้วจึงแยกออกจากกัน ในกระบวนการทั้งหมดของการจับคู่ ผสมพันธุ์วางไข่นั้น ย่อมมีการกัดกันเกิดขึ้นไม่มากก็น้อยครับ หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว ก็ต้องเอามาดูแลรักษาใส่หยูกยากันมิใช่น้อย ส่วนไข่ของฟาฮากานั้น มีขนาดเล็กมากวางไข่แต่ละครั้งจำนวนหลายพันฟอง ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะจมลงสู่ก้นตู้ เราควรแยกพ่อแม่ปลาออกให้หมดเพื่อความสะดวกในการฟักไข่และดูแลลูกปลาในเวลาต่อมา และปลาชนิดนี้ ก็ไม่มีพฤติกรรมการดูแลปกป้องไข่และการเลี้ยงลูกแต่อย่างใดครับ ไข่จะฟักเป็นตัวภายในเวลา 72-96 ชั่วโมงขึ้นกับอุณหภูมิน้ำขณะนั้น ลูกปลาแรกฟักจะเกาะติดกับวัสดุต่างๆบนพื้น ในระยะนี้ เราควรลดระดับน้ำให้ต่ำลงมากๆ ประมาณ ไม่เกิน 5 นิ้วเพื่อให้ลูกปลาขึ้นมาหายใจได้ง่าย รักษาคุณภาพน้ำให้ดีจะได้อัตรารอดที่น่าพอใจครับ ลูกปลาจะสามารถว่ายน้ำได้เองอย่างคล่องแคล่ว เมื่อผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ อาหารที่ให้ควรเป็นอาร์ทีเมียแรกฟัก หรือ ไรแดง และไส้เดือนน้ำ เมื่อปลาโตขึ้นเรื่อยๆและมีขนาดต่างกัน เราควรแยกเลี้ยงปลาที่มีขนาดพอๆกันไว้ด้วยกันครับ และให้อาหารเต็มที่อย่าให้ปลาหิว เพื่อป้องกันการกัดกินกันเองให้น้อยที่สุดครับ

การเลี้ยงและดูและรักษา

ตู้ที่ใช้เลี้ยงฟาฮากานั้น ขึ้นกับขนาดปลาที่เรากำลังเลี้ยงอยู่เป็นสำคัญครับ ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงตู้ใหญ่แต่เริ่ม ขอแค่มีขนาดตู้พอเหมาะกับขนาดปลาก็พอ โดยปกติ ปลาขนาด 2 นิ้ว ถ้าจะเลี้ยงตัวเดียว เราเริ่มที่ตู้อย่างต่ำ 18 นิ้ว กรองฟองน้ำก็ได้ครับ แล้วค่อยๆขยับขยายไปเรื่อยๆเมื่อปลาโตขึ้น สำหรับตู้เล็กที่สุดที่จะเลี้ยงปลาชนิดนี้จนโตเต็มที่อย่างเหมาะสม ก็จะเป็นตู้ 36 หรือ 40 นิ้ว กรองข้างเต็ม ซึ่งปลาจะโตได้ในตู้หรือที่เลี้ยงได้ประมาณ 1 ฟุต หรือกว่านั้นเล็กน้อย ขึ้นกับปัจจัยมากมายครับ เรื่องคุณภาพน้ำสำหรับการเลี้ยงฟาฮากา เป็นหัวใจสำคัญครับ ฟาฮากา เป็นปลาที่ไม่ทนทานต่อสภาพน้ำเสียเลยแม้แต่น้อย นั่นหมายถึงแอมโมเนีย และไนไตรท์ ไม่ควรตรวจพบในตู้เลี้ยงของเรา รวมทั้งสภาพขาดออกซิเจนหรือออกซิเจนน้อยใดๆก็ตาม ไม่ควรมีเกิดขึ้นครับ ดังนั้น ระบบกรองเอาให้เต็มที่ครับ ได้ทุกระบบไม่มีอะไรดีกว่าอะไรถ้าเข้าใจเรื่องระบบกรองอย่างถ่องแท้ แต่ถ้ายังไม่เต็มที่ ก็ดูแลทางอื่นเพิ่มเติม เช่นการเปลี่ยนถ่ายน้ำให้บ่อยขึ้นในปริมาตรน้อยๆ การให้อาหารแต่พอเหมาะพอดี ไม่ให้อาหารเหลือตกค้าง หรือมีการช่วยซ้อนเศษอาหารทิ้งอยู่เสมอ ก็ช่วยได้เช่นกัน ให้อากาศเต็มที่ แต่ไม่ใช่แรงจนกลายเป็นเครื่องซักผ้านะครับ จำเอาไว้ว่า ปลาปักเป้าฟาฮากา ชอบน้ำนิ่งๆ หรือไหลเอื่อยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ชอบน้ำแรงซึ่งอาจทำให้มันเครียดจนตายได้เช่นกัน การแต่งตู้ เน้นตู้โล่งๆครับ จัดหินไม่มีคมขนาดใหญ่หรือตอไม้ที่ไม่คายสีแล้วได้ ไม่ควรมีพืชน้ำครับเพราะจะโดนกัดทำลายสิ้นในเวลาอันสั้น ส่วนการปูหินก็ทำได้ครับเพื่อความสวยงามถ้าคุณคิดว่าคุณดูแลรักษาความสะอาดมันได้และแก้ปัญหาต่างๆเรื่องการหมักหมมได้อย่างถูกวิธีหรือทันท่วงที แต่ถ้าจะให้เหมาะ แนะนำให้ปูทรายละเอียดสีขาวครับ จะป้องกันการกลืนกินหินเข้าไปติดกระเพาะแล้วคายออกหรือขับถ่ายออกไม่ได้ของปลาได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ เราจะได้เห็นพฤติกรรมการเป่าทรายหาอาหารของปลาได้อีกด้วย เพลินไปอีกแบบ สีของปลานั้น ปรับตามวัยและอารมณ์ครับ เมื่อปลาโตเต็มที่ ลวดลายและสีสันจะออกมาแสดงแก่สายตาท่านเต็มที่ ฉากที่สว่างสดใส ไม่มืดทึบ จะทำให้ปลาขับสีได้ชัดเจนสวยงาม ในสายตาของมนุษย์ได้เช่นกัน

น้ำที่ใช้เลี้ยงก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งครับ จำเอาไว้อย่างแรกว่า ปักเป้าฟาฮากา ไม่ชอบน้ำอ่อน หรือน้ำที่มี pH ต่ำๆ หรือมีการหมักหมมของสารอินทรีย์สูงๆครับ เช่นจำพวก แบลควอเตอร์ pH ของน้ำไม่ควรต่ำกว่า 6.5 และไม่ควรเกิน 8.3 การใช้เศษปะการังบดละเอียดในการปูพื้น หรือ เศษปะการังหักเป็นสับสเตรทในระบบกรองก็ช่วยได้ครับ รักษาคุณภาพน้ำให้ดีดังที่บอกไว้ข้างต้น ปลาเราจะอายุยืน อุณหภูมิก็มองข้ามไม่ได้เลยนะครับ ฟาฮากา ไม่ชอบน้ำร้อนเป็นที่สุดครับ อุณหภูมิเกิน 28 องศาเซลเซียสขึ้นไปปลาก็จะเริ่มมีปัญหาครับ เช่นความเครียด กินอาหารน้อยลง ซึม อ่อนแอ เจ็บป่วยได้ง่าย หรือตายเอาดื้อๆ ดังนั้น ควรรักษาอุณหภูมิของน้ำไม่ให้เกิน 27 องศาเซลเซียสไว้เป็นดี วิธีการง่ายๆเช่น ไม่ปิดฝาตู้ (ไม่ต้องกลัวกระโดดเพราะมันกระโดดไม่เป็น) ใช้พัดลมเล็กๆเป่าผิวน้ำ หรือ ใช้การพ่นน้ำผ่านอากาศเพื่อลดอุณภูมิ เป็นต้น ส่วนอาหารของปลาปักเป้าฟาฮากานั้นหลากหลายครับ นับตั้งแต่ปลาขนาดเล็กๆ ก็ให้ไรทะเลซึ่งแช่น้ำจืดให้คายเกลือทิ้งไว้ก่อนสัก 30 นาทีก่อนให้ หรือจะเป็น ไส้เดือนน้ำ หนอนแดง กุ้งฝอยสับ เนื้อปลาสับ เนื้อหอยสับฯลฯ เมื่อปลาโตขึ้น ก็ให้อาหารชิ้นใหญ่ขึ้นได้ในประเภทเนื้อๆเหมือนเดิมครับ กินได้ทั้งอาหารมีชีวิต หรือตายแล้วแต่ยังสด อาหารเม็ดไม่มองครับ ไม่แนะนำให้พวกเนื้อสัตว์บกต่างๆนะครับ ย่อยยาก และทำให้น้ำเน่าเสียได้ง่าย คนที่เคยเลี้ยงปลาปักเป้าฟาฮากา คงทราบดีครับว่า ปลาชนิดนี้กินจุมากๆ จนน่าตกใจ เนื่องด้วยกระเพาะพิเศษของมันซึ่งขยายตัวได้อย่างมหาศาลนั่นเอง ทำให้มันยัดอาหารเข้าไปได้มากผิดปกติกว่าปลาชนิดอื่นๆ ดังนั้น ถ้ามันกินเพลินจนท้องบวมผิดปกติ ปัญหาที่มักตามมาคือ อาหารไม่ย่อย ท้องอืด จบลงด้วยการตายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งสาเหตุนี้ เป็นสาเหตุหลักๆที่ทำให้ปลาของเราตายก่อนวัยอันควรครับ ดังนั้น ไม่ควรใจอ่อนให้อาหารมันจนมากเกินไป และในปลาขนาดเล็กๆ ไม่เกิน 6 นิ้ว ไม่ควรให้กุ้งฝอยเป็นๆครับ ถ้าจะให้ปลอดภัยควรให้กุ้งฝอย ที่ทำการเด็ดหัวทิ้งแล้วทุกตัว จะทำให้ปลาย่อยได้ง่ายมากกว่ากินทั้งหัวแข็งๆหลายเท่า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการตาย อย่าดูถูกความแหลมคมของกรีกุ้งฝอยนะครับ ไม่เชื่อ ลองตักกุ้งฝอยเป็นๆมาสักกระชอน แล้วเอามือกำไว้ และบีบแรงๆดูสิครับ... สิ่งสำคัญประการสุดท้ายในเรื่องอาหารก็คือ เราควรให้ฟาฮากากินหอยพร้อมเปลือกบ้างครับ อาทิตย์ละครั้งก็ยังดีเพื่อสุขภาพที่ดีของปากและฟันของมัน สิ่งที่เราต้องการจากหอยในกรณีนี้ไม่ใช่เนื้อหอยครับ แต่เราต้องการความแข็งของเปลือกหอยในการช่วยลับฟันของปลาที่ยาวขึ้นเรื่อยๆทุกๆวันให้อยู่ในตำแหน่งและขนาดความยาวที่เหมาะสมอยู่เสมอ ให้อาทิตย์ละครั้งก็ได้ครับ ไม่ต้องถึงกับนับตัว ใช้กะๆเอาก็พอ เป็นหอยน้ำจืดทั่วๆไปนี่แหละครับ ถ้าหาไม่ได้ก็หอยทะเล เช่นหอยลายก็คงหาได้กันทุกคน หรืออาจจะทิ้งเปลือกหอย หรือเศษชิ้นส่วนปะการัง ไว้ในตู้บ้างเล็กน้อยครับ เพื่อให้ปลากัดลับฟันเล่นบ้างก็พอ หรือพวกสัตว์เปลือกแข็งอื่นๆเช่นกุ้งล๊อบสเตอร์ หรือ ปูน้ำจืด ก็ได้เช่นกันครับ

สำหรับแทงก์เมทของฟาฮากา ก็ดังที่เตือนไปแล้วข้างต้นครับว่า ถ้าไม่เก๋าพอก็จงเลี้ยงเดี่ยวครับ ถ้าอยากหาประสบการณ์เพิ่มหรืออยากลองก็ลองได้ครับ ไม่ผิดแต่ประการใด แทงก์เมทของฟาฮากาที่อาจจะเอาตัวรอดได้นานๆต้องมีคุณสมบัติเด่นๆคือ ว่ายน้ำได้เร็ว ถึงเร็วที่สุด ว่องไวที่สุด แค่นั้นพอครับ ความเร็วเท่านั้นที่จะทำให้มันปลอดภัยจากฟาฮากา ที่ต้วมเตี๊ยม แต่กัดตายตัวนี้ ไม่ว่าแทงก์เมทจะแข็งแกร่งปานซัคเกอร์ แต่ถ้าว่ายน้ำช้า ก็มีสิทธิ์โดนควักไส้ได้ ถ้าฟาฮากาหิว หรืออารมณ์ไม่ดีครับ ส่วนแทงก์เมทโหดๆ ฟันคมๆยักษ์ๆใหญ่ๆ ที่กิน หรือกัดฟาฮากาตายได้ก็มีมากมายครับ คงไม่ต้องบอกว่า อย่าเอามารวมกะมันนะ เป็นสามัญสำนึกอยู่แล้วครับ สำหรับการเลี้ยงฟาอาการวมๆ หลายๆตัวในตู้เดียวกันนั้น ก็ทำได้ครับ มีเทคนิคง่ายๆคือ ปลาต้องเยอะ ไม่ต่ำกว่า 10 ตัวขึ้นไปเป็นดี ตู้ต้องโล่งใหญ่ ปลาต้องมีขนาดใกล้เคียงกันให้มากที่สุด ปลาที่แสดงอาการดุร้ายเป็นจ่าฝูงให้แยกออกไป ปลาที่บอบช้ำมากๆ ก็จงรีบแยกออกไป และเมื่อแยกแล้วก็จงหามาเติมใหม่ให้จำนวนใกล้เคียงของเดิมครับ ส่วนเรื่องอาหาร ก็ต้องให้เต็มที่เลยครับ เน้นอิ่มเข้าไว้เป็นปลอดภัย แต่ระวังประเด็นเรื่องท้องอืดตายด้วยนะครับ จงประยุติและหาความพอดีให้เจอ ถ้าอยากพบอะไรใหม่ๆในชีวิตครับ

ปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับการเลี้ยงฟาฮากา นอกจากเรื่องท้องอืดและคุณภาพน้ำดังที่กล่าวมาแล้ว โรคที่พบบ่อยก็เช่น โรคจากไวรัส โดยจะมีอาการเป็นเม็ดตุ่มขนาดใหญ่ ขึ้นตามตัว ปกติมักจะเกิดกับปลาเล็กๆ ที่มีความเครียดจากการขนย้ายไกลๆ แก้ไขได้ไม่ยากครับ คือ นำมาเลี้ยงในสภาพที่เหมาะสมและให้เวลาปลาปรับตัวจนแข็งแรงดีก็จะหายไปเอง ส่วนโรคจุดขาวก็ใช้ยาRoFจะปลอดภัยที่สุดครับ ปัญาเรื่องการกัดกัน เรื่องแผล เรื่องการติดเชื้อ ก็ยันพื้นไว้ด้วยเตทตร้าซัยคลิน 20 มก. ต่อลิตร เปลี่ยนน้ำและยา 30 เปอร์เซนต์ทุกๆ 2-3 วัน เป็นต้น การใส่เกลือในน้ำเล็กน้อยจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องปลาซึม อ่อนแอ ไม่กินอาหาร หรือแสดงอาการเครียด ผิดน้ำ เจ็บป่วยเบื้องต้นได้นะครับ ส่วนปัญหาเรื่องฟันงอกยาวเกินก็อาจเกิดขึ้นได้ในปลาบางตัว ฟันที่งอกยาวเกินทำให้ปลากินอาหารได้ลำบากจนถึงขั้นกินอะไรไม่ได้อดตายในที่สุด รักษาง่ายๆโดยการตัดปลายฟันออกครับ กะดูว่าปลาปิดปากได้ปกติเหมือนเดิม เครื่องมือที่ใช้ตัด ก็หาง่ายๆครับ สำหรับปลาเล็กๆก็ใช้กรรไกรตัดเล็บ ถ้าปลาขนาดใหญ่ก็ต้องพึ่งคีมตัดลวดคมๆ เป็นต้น

มาถึงย่อหน้าสุดท้ายแล้วนะครับ สรุปว่า ความสุขและเสน่ห์ของปลาชนิดนี้ก็อยู่ที่ความฉลาดแสนรู้ พร้อมที่จะเล่นกับเราเสมอเมื่อเราไปอยู่หน้าบ้านของมัน ตลอดจนการกินอาหารที่ง่าย และตื่นตาตื่นใจในการล่า สีสันที่สวยงาม พฤิตกรรมที่ยากจะคาดเดา และความสุขในการค่อยๆเลี้ยงจากตัวเท่าขี้เล็บ จนกลายเป็นปักเป้ายักษ์ที่งดงามคามือผู้เลี้ยงนั่นเองครับ บทความนี้ค่อนข้างเร่งเขียนครับ ใช้เวลาไม่กี่นาทีรวดเดียวจบ ผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ ณ.ที่นี้ด้วยนะครับ เหมือนเดิมครับ อยากทราบข้อมูลปลาเพิ่มเติมไม่ว่าชนิดไหน ด้านใด ในทุกๆแง่มุม ง่ายๆ แค่คลิกเข้าไปศึกษาที่ www.genepoolaquarium.com เจ้าเก่าครับ มีความสุขกับการเลี้ยงฟาฮากา นะครับพี่น้อง

ความคิดเห็นที่ 3

arztz
arztz
4
[2011-04-11 15:36:01]

คือนิสัยมันชอบนิ่งๆใช่ไหมครับ

จากด้านบนผมก็มีอ่านบ้างก่อนซื้อนะครับ

แต่ไม่คิดว่ามันจะนิ่งขนาดนี้อ่ะครับ ขยับต่อเมื่อกินเท่านั้น

จนปัจจุบันนี้มันก็อยู่ในท่อที่ผมให้มันเป็นที่หลบอ่ะครับ ให้กุ้งฝอยวันละ 3-4 ตัว(เด็ดหัว)

ความคิดเห็นที่ 4

RoF
RoF
125
[2011-04-13 11:58:22]

หรอครับ?
ถ้าทุกอย่างในโลกเป็นอย่างที่เราคิดก็คงดีไม่น้อยนะครับ

ด้านบน

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนทำรายการ

เข้าระบบ