bettafoodcocc
[2013-08-03 23:39:34]

หนอนน้ำส้มเป็นสัตว์จำพวกหนอนตัวกลม กินแบคทีเรียชนิดต่างๆเป็นอาหาร สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นกรดได้ดี แต่ก็สามารถอาศัยอยู่ในน้ำจืดได้เช่นกัน

    ดังนั้นในอดีต จึงเป็นที่นิยมของนักเพาะปลากัด แต่เนื่องจากการดูแลที่ยุ่งยาก จึงไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คงเหลือไว้แต่เพื่อการศึกษาเท่านั้น การเพาะหนึ่งครั้งสามารถใช้ได้นานกว่า 4 เดือน โดยไม่จำเป็นต้องทำการเปลี่ยนภาชนะใหม่อีก
อีกทั้งเพียงแค่ให้ยีสต์ผงและน้ำตาลอย่างละปลายช้อนชาทุกอาทิตย์ หนอนน้ำส้มก็จะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว

    สำหรับการเพาะเลี้ยงนั้นไม่ยาก แค่เตรียม น้ำส้มสายชูดิบที่ทำจากแอปเปิ้ล(apple cider vinegar) ซึ่งหาซื้อได้ตามซุปเปอร์มาเก็ตเพื่อสุขภาพ หรือตามห้างชั้นนำทั่วไป ผสมกับน้ำดื่มในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 หรือ 2 ต่อ 1 ในขวดโหลหรือขวดแก้ว แล้วทำการใส่หัวเชื้อที่ได้มาลงไป ตามด้วยยีสต์ที่ใช้สำหรับทำขนมปังกับน้ำตาลอย่างละปลายช้อนช้า ภายใน1-2 อาทิตย์ หนอนน้ำส้มก็จะเพิ่มจำนวนจนสามารถนำไปเลี้ยงลูกปลาได้แล้ว

    ส่วนวิธีการให้ลูกปลานั้นทำได้โดยการกรองน้ำส้มสายชูด้วยผ้ากรองกาแฟ ล้างน้ำซัก1-2 ครั้งก็นำไปให้ลูกปลาได้ทันที น้ำส้มสายชูที่เหลือจากการกรองก็สามารถเทกลับลงไปในภาชนะได้ แต่ผ้าที่ใช้กรองจะต้องล้างให้สะอาดและตากแดดให้แห้งทุกครั้ง(โดยส่วนตัว แล้วผมชอบใช้กระดาษกรองกาแฟมากกว่า ใช้แล้วทิ้งได้เลย แถมกรองได้ดีกว่าด้วย)

     ข้อดีของหนอนชนิดนี้คือสามารถอยู่ได้นานโดยไม่ต้องเปลี่ยนวัสดุที่ใช้เพาะ เลี้ยงบ่อยเหมือนหนอนจิ๋ว เหมาะสำหรับผู้ที่เพาะปลาจำนวนไม่มาก แต่สำหรับผู้ที่เพาะปลาจำนวนมากแล้ว การใช้หนอนจิ๋ว หนอนจิ๋วกล้วย น่าจะเหมาะสมมากกว่า อีกทั้งหนอนชนิดนี้ยังมีชีวิตอยู่ในน้ำได้นาน ทำให้น้ำในอ่างที่ใช้เพาะปลาไม่เน่าเสียง่าย แถมการว่ายน้ำของหนอนยังทำให้ลูกปลาเจริญอาหารอีกด้วย เพิ่มอัตราการรอดชีวิตของลูกปลาแรกเกิดให้มากขึ้น เหมาะกับนำไปอนุบาลลูกปลากัด ปลานีออน ปลาม้าลาย ปลาเรนโบว์ ฯลฯ

    แต่ก็มีข้อที่ต้องพึงระวังอย่างหนึ่งคือ ถ้าล้างหนอนไม่สะอาดจะทำให้มีน้ำส้มสายชูปนอยู่ในหนอนมาก อาจทำให้สภาพน้ำในอ่างเพาะเกิดความเป็นกรดมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกปลาตายยกครอกได้

    *ถ้าอยากให้ตัวหนอนมีสารอาหารและเพิ่มจำนวนได้เร็วขึ้น ก็อาจจะฝานแอปเปิ้ลชิ้นบางๆลงไปซักชิ้นก็ได้นะครับ*

www.thaiaquagroup.net

อ่านความคิดเห็น 0

bettafoodcocc
[2013-08-03 23:30:38]


การเพาะพารามีเซียม

พารามีเซียมเป็นสัตว์เซลล์เดียว ขยายพันธุ์ได้โดยทั้งการแบ่งตัว และอาศัยเพศ กินจุลินทรีย์เป็นอาหาร เพาะพันธุ์ได้ง่าย อาศัยอยู่ในน้ำได้นาน สามารถว่ายน้ำได้จึงทำให้ลูกปลาเจริญอาหาร และยังเพิ่มอัตราการรอดของลูกปลาอีกด้วย เหมาะสำหรับนำไปอนุบาลลูกปลาแรกเกิด อาทิ ลูกปลากัด ลูกปลานีออน ลูกปลาม้าลาย และลูกปลาเรนโบว์ เป็นต้น

วัสดุอุปกรณ์
1.ขวดแก้วปากกว้าง หรือ ขวดน้ำที่ตัดปากออก
2.นมกล่องหรือนมสด
3.น้ำดื่มสะอาด
4.ผ้าขาวบาง

ขั้นตอนการเพาะ
1.ล้างภาชนะให้สะอาด แล้วเติมน้ำสะอาดลงไป ประมาณ 3 ใน 4 ส่วนของภาชนะ
2.หยดนมลงไป 4-5 หยด หรือประมาณ 1 ช้อนชา แล้วคนให้เข้ากัน
3.ใส่หัวเชื้อพารามีเซียมลงไป แล้วคลุมภาชนะด้วยผ้าขาวบาง ทิ้งไว้ 1 อาทิตย์น้ำจะเริ่มใสและเห็นฝุ่นเล็กๆว่ายน้ำไปมาบนผิวน้ำ
4.เติมนมครั้งละ 4-5 หยด หรือ 1 ช้อนชา และเริ่มทำการเพาะได้ใหม่ตามขั้นตอนที่ 1 เมื่อเลี้ยงไปได้นาน 1-2 เดือน

การนำไปใช้
เมื่อน้ำเริ่มใสและมีพารามีเซียมว่ายไปมาจำนวนมากแล้ว สามารถดูดพารามีเซียมไปให้ลูกปลากินได้ทันที โดยให้ตามความเหมาะสมของจำนวนลูกปลาและปริมาณน้ำในอ่าง

www.thaiaquagroup.net

อ่านความคิดเห็น 0

bettafoodcocc
[2013-08-03 23:26:32]

Grindal worms สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่สำหรับเพาะเลี้ยงปลา

Grindal worms(Enchytraeus buchholzi)
ถูกค้นพบโดยสตรีชาวสวีเดนที่ชื่อว่า Morton Grindal ถูกนำเข้าประเทศไทยและเพาะเลี้ยงให้รอดได้ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2009 โดย Anont Kowitsathianchai (ผู้เขียนนี่ล่ะครับ)

กรินดอลเวิร์ม ไกรดอลเวิร์ม ไกรน์ดอลเวิร์ม หรือหนอนขาวจิ๋ว บางคนก็เรียกแค่หนอนขาว(จริงๆมีหนอนขาวอีกชนิดครับ) มีลักษณะคล้ายไส้เดือนดิน แต่มีสีขาว หนอนชนิดนี้สามารถมีชีวิตอยู่ในอุณหภูมิ ระหว่าง 21-32 องศาเซลเซียส
ถ้าอุณหภูมิมากกว่า 32 องศาเซลเซียส หนอนจะหยุดออกลูกและเริ่มตาย แต่ถ้าอุณหภูมิน้อยกว่า 21 องศาเซลเซียส หนอนจะยังมีชีวิต แต่จะไม่เพิ่มจำนวนอีก

หนอนชนิดนี้จะยาวประมาณ 1 นิ้ว ลำตัวเล็กกว่าหนอนแดงหรือใส้เดือนน้ำ หากจะเทียบแล้วก็เหมือนหนอนจิ๋วตัวใหญ่ๆนั่นเอง แต่ว่าหนอนจิ๋วจะเคลื่อนที่โดยสะบัดเป็นรูปตัว S ส่วนกรินดอลเวิร์มจะเคลื่อนที่โดยยืดและหดตัวเหมือนไส้เดือนดินครับ

หนอนชนิดนี้ จากประสบการณ์ที่เคยปล่อยลงบ่อปลานั้น สามารถเจริญเติบโตในน้ำได้ แต่น้ำต้องเย็น และต้องเป่าออกซิเจนตลอดเวลาครับ แต่เท่าที่สังเกตไม่นานหนอนมันก็จะค่อยๆหายไป (ไม่รู้ว่าโดนปลากินหมดหรือเปล่า)

หนอนชนิดนี้ ให้ปลากินแล้วก็ไม่ค่อยมีโรครบกวนเท่าไหร่เนื่องจากหนอน Grindal worms นั้น สามารถอยู่ในน้ำได้นาน จึงทำให้น้ำไม่เน่าเสียครับ

วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมในการเลี้ยง ได้แก่
* ภาชนะที่มีฝาปิดแน่นหนา และเจาะรูเล็กๆไว้สัก6-9 รู เพื่อให้หนอนหายใจและป้องกันแมลงหวี่
* วัสดุ ที่ใช้ในการเลี้ยง เช่น กาบหรือใยมะพร้าวสับ ดินสำหรับปลูกต้นไม้กระถางถูกๆ พีทมอส ฯลฯ (แต่ผมแนะนำให้ใช้ดิน ซึ่งจะค่อนข้างสะดวกและหนอนก็ชอบด้วย)
* น้ำที่รองทิ้งไว้อย่างต่ำ 3-4 วัน เพื่อไม่ให้มีคลอรีน
* อาหารสำหรับเลี้ยงหนอน เช่น ขนมปัง อาหารแมวหรือสุนัข อาหารปลา ข้าวโอ๊ตแผ่นอบแห้ง มันบด หรืออื่นๆเท่าที่จะหาได้ (ผมแนะนำอาหารปลาแบบเม็ดเล็กจะดีที่สุดเพราะหนอนกินหมดเร็ว ทำให้อาหารไม่เน่าเสียและขึ้นรา)

วิธีเลี้ยง
1.เริ่มแรกให้นำดินหรือวัสดุเพาะเลี้ยง ใส่ลงภาชนะลึกประมาณ 1 – 1 ½ นิ้ว หลังจากนั้นรดหรือฉีดพ่นด้วยน้ำเก่าให้พอชุ่ม แต่ห้ามมีน้ำขัง
2.นำGrindal worms ที่ได้มา ใส่ลงไว้บนดิน บริเวณตรงกลาง
3.นำอาหาร เช่น อาหารปลา ขนมปังหรืออาหารแมว มาวางในบริเวณที่ใส่หนอนลงไปหรือจะวางไว้ด้านบนเลยก็ได้ หลังจากนั้นหยอดน้ำใส่อาหารให้ชุ่ม
4.ไม่เกิน 1 อาทิตย์ถ้าหากอุณหภูมิเหมาะสม หนอนจะเริ่มปีนข้างๆภาชนะ และจะมีจำนวนมากในบริเวณที่วางอาหารไว้

ส่วนวิธีการเก็บเกี่ยวนั้น ให้วางแผ่นกระจกหรือแผ่นพลาสติกทับบนวัสดุและอาหารที่ใช้ที่เพาะเลี้ยง ที้งเอาไว้สัก1-2 ชม. หรือทั้งวันก็ได้ หนอนจะไต่ขึ้นมาบนกระจก ก็ให้เอากระจกขึ้นมา แล้วเทน้ำใส่กระจกให้หนอนลอยหลุดติดไปกับน้ำ เทใส่ลงภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วนำไปล้างน้ำ1-2 ครั้ง โดยคนและเขย่ากับน้ำสะอาด รอให้หนอนตกตะกอน แล้วจึงเทน้ำข้างบนทิ้ง แค่นี้ก็จะได้หนอนที่สะอาดและปลอดโรค สามารถนำมาใช้เลี้ยงปลาได้แล้วครับ

ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น
การเลี้ยงหนอนชนิดนี้ง่ายมาก เพียงแต่ต้องระวังเรื่องความชื้นให้ดีว่าจะไม่แห้งหรือเปียกเกินไป แต่ชุ่มเกินไปก็ยังดีกว่าแห้งไปครับ ไม่งั้นหนอนจะแห้งตายหมด
และยิ่งมีที่อากาศเย็นระหว่าง 21-27 องศาเซลเซียส หนอนจะค่อนข้างให้ลูกมากและดูมีชีวิตชีวามากกว่าอากาศที่ค่อนข้างร้อน

อีกปัญหาที่สำคัญคือ วัสดุในภาชนะเริ่มเน่า ซึ่งกลิ่นจะค่อนข้างแรง อาจเกิดจากการใช้มือที่ไม่สะอาด อาหารและดินชุ่มมากเกินไป ให้อาหารมากเกินไป หรือมีสิ่งสกปรกปนเปื้อนลงในภาชนะ วิธีแก้ก็ให้ตักอาหารที่เน่าเสียนั้นออกไปครับ
ส่วนหนอนที่เหลือสามารถนำไปเพาะต่อได้ไม่มีปัญหาอะไรครับ

อีกปัญหาก็คือตัว Mites ทั้งหลายจำพวกเห็บ เล็น ไร แต่พวกนี้ก็จะไม่ทำอันตรายหนอนครับ แค่แย่งอาหารและพื้นที่เฉยๆ ดังนั้นก็แค่นำอาหารที่ใช้เลี้ยงหนอนใส่ลงไป ตัว Mites จะมารุมกินครับ ก็ให้ยกออกนำไปทิ้งหรือทำลายได้เลยครับ

ส่วนปัญหาใหญ่จริงๆก็คือมดครับ มดตัวใหญ่ๆจะชอบกินหนอนประเภทนี้มาก จะต้องหาถาดหรือกะละมังมาใส่น้ำ แล้วรองใต้ภาชนะที่เพาะเลี้ยงไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้มดขึ้นครับ

*เคล็ดลับการเลี้ยง ใช้พีทมอสในการเลี้ยงจะหลีกเลี่ยงกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ดีกว่าแบบใช้ดินครับ และถ้าจะให้ดีกว่าก็ให้เลี้ยงหนอนด้วยอาหารปลาแบบเม็ดเล็ก แค่นี้ก็จะไม่เกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์แล้วล่ะครับ


www.thaiaquagroup.net

อ่านความคิดเห็น 0