0000190 2021-04-12 15:44:04

ปลาแรด (Giant gourami) (Osphronemus goramy)

ปลาแรด (Giant gourami)

Osphronemus goramy

แหล่งที่อยู่อาศัย
เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก
ขนาดโตเต็มที่
2 ฟุต หนัก 6 - 8 กิโลกรัม
อาหาร
กินได้ทุกประเภท
การสังเกตุเพศ
ตัวผู้มีหัวเป็นนอชัดเจน ฐานครีบอกสีขาว ชายน้ำแหลม
วิธีการสืบพันธุ์
วางไข่ในรังที่ทำจากเศษวัสดุ
เป็นปลาขนาดใหญ่ที่สุดในตระกูลปลากระดี่ ปลาในตระกูลนี้ ได้แก่ ปลาแรด ปลากระดี่ ปลาสลิด ปลากัด ฯลฯ จะมีอวัยวะพิเศษเพื่อช่วยการหายใจ ( Labyrinth organ ) อยู่ในโพรงอากาศ หลังช่องเหงือก ที่จะมีเนื้อเยื่อรอยหยัก และมีเส้นเลือดฝอยมาหล่อเลี้ยง ทำให้ปลาในตระกูลนี้ ต้องโผล่ขึ้นมาฮุบอากาศที่ผิวน้ำเสมอ และสาเหตุนี้เองที่ทำให้ปลาแรดอาศัยอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนต่ำๆ ได้ ปลาแรดมีรูปร่างแบนข้างมาก กระดูกแก้มมีขอบเป็นจักร เกล็ดเป็นรูปหยัก เวลาจับจะรู้สึกสากมือ ครีบหลังและครีบก้น มีก้านเดี่ยวเป็นหนามแหลม ครีบอกมีขนาดเล็ก ครีบท้องอันแรกเปลี่ยนรูปเป็นรยางค์ยาว มีลักษณะเป็นเส้น ( ตะเกียบ , ไม้เท้า ) ปลายหางกลมมน ส่วนหัวเล็กและป้าน มีฟันแข็งแรง ปลาแรดมีสีสันต่าง ๆ กันตามขนาด และอายุของปลา ปลาที่มีขนาดเล็ก ลำตัวมีสีดำอมม่วงปนเหลือง และมีแถบสีดำข้างละ 8 แถบ มีจุดสีดำที่โคนหาง ข้างละจุด เมื่อปลาโตขึ้น จะมีสีที่อ่อนลงกว่าเดิม เมื่อโต ขึ้น จะมีนอขึ้นบริเวณหน้า เด่นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลาเพศผู้ ตรงนี้เองน่าจะเป็นที่มา ของชื่อปลาแรด ปลาแรดสามารถเลี้ยงได้ในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และตู้กระจก ปลาแรดเป็นปลาที่สามารถเลี้ยงให้เชื่องได้ง่าย

ภาพอื่นๆ

ปลาแรด (Giant gourami)
มีความทนทาน และปรับตัวเข้ากับสถานที่ที่คับแคบได้ แต่อัตราการเจริญเติบโตจะค่อนข้างช้า ปลาแรดสามารถกินอาหารได้หลากหลายชนิด ปลาที่อยู่ในบ่อเป็นตัวกำจัดวัชพืชพวกจอก แหน ชั้นเยี่ยม ปลาแรดเป็นปลาที่กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร ได้แก่ ผักบุ้ง ผักกาด กะหล่ำ กล้วย อาหารสำเร็จรูป กุ้งฝอย เนื้อสัตว์หั่นชิ้น ลูกไร ลูกน้ำ ปลาเหยื่อ ฯลฯ การเลี้ยงไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาขนาดเล็กอื่น ๆ เนื่องจากอุปนิสัยที่ค่อนข้างก้าวร้าว ในกรณีที่เลี้ยงกับปลาแรดด้วยกัน ควรปล่อยปลาให้มีขนาดที่เท่ากัน และควรมีที่หลบซ่อนได้บ้าง เพราะปลาแรดจะทำร้ายกันเองในบางครั้ง กรณีเลี้ยงในตู้ ควรมีฝาปิดเพื่อป้องกันปลากระโดด ปลาแรดที่โตเต็มวัย เป็นปลาที่มีพละกำลังมาก หากทำการเคลื่อนย้าย ควรกระทำอย่างระมัดระวัง เพราะปลาอาจจะบอบช้ำเนื่องจากการกระโดดและการดิ้นที่รุนแรง จนอาจเกิดการสูญเสียได้ปลาแรดวางไข่ได้ตลอดทั้งปี เฉลี่ยปีละ 2-3 ครั้ง โดยมากจะเป็นช่วงเดือน เมษายน ถึง สิงหาคม ปลาจะสมบูรณ์เพศเต็มที่เมื่อมีอายุ 3 ปี ปลาแรดเป็นปลาที่มีการวางไข่พิสดารกว่าปลาอื่น กล่าวคือ พ่อแม่ปลาจะใช้กิ่งไม้ ก้านไม้ และวัตถุต่าง ๆ มาสร้างรังเพื่อวางไข่ ลักษณะของรังจะคล้ายรังนก หรือตะกร้า ตรงกลางจะเป็นโพรงเพื่อใช้วางไข่ ถ้าจะให้สะดวกแก่การทำรังมากยิ่งขึ้น ผู้เลี้ยงอาจใช้กาบมะพร้าวทุบฉีกฝอย วางไว้ริมน้ำเพื่อให้พ่อแม่พันธุ์นำไปทำรังได้ ปลาแรดวางไข่ครั้งละประมาณ 1,000- 3,000 ฟอง แล้วแต่ความสมบูรณ์และขนาดของปลา ไข่จะฟักเป็นตัวภายใน 36 ชั่วโมง ในอุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส ไข่ของปลาชนิดนี้มีขนาด 1.5 – 2 ม.ม. และมีไขมันมาก ผู้ที่เลี้ยงปลาแรดในบ่อดินหรือในสระ จะสังเกตว่าปลาวางไข่ได้จากการดูว่ามีพ่อแม่ปลาว่ายวนเวียนอยู่ตรงบริเวณชายน้ำ ซึ่งจะมีจุดน้ำมันลอยขึ้นมาหรือไม่ หลังจากฟักเป็นตัวแล้วสามารถปล่อยให้พ่อแม่ปลาเลี้ยงลูกอ่อนได้ แต่ถ้าหากจะให้มีอัตราการรอดสูงแล้วละก็ ควรที่จะย้ายมาอนุบาลเองในบ่อดิน ระดับผิวน้ำประมาณ 1 ฟุต โดยใช้พืชน้ำจำพวกผักบุ้ง ให้ลูกปลาได้ยึดเกาะ ระยะนี้ควรอนุบาลด้วยอาหารให้สมบูรณ์ เพราะถ้าหากปลาหิว ปลาอาจจะทำร้ายกันเองจนทำให้สูญเสียผลผลิตได้ ปลาแรดเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งในด้านของปลาเนื้อและปลาสวยงาม แหล่งที่พบปลาแรดในไทยมีหลายแหล่ง ทั้งในภาคกลาง ที่ลำน้ำเจ้าพระยาและสาขา และทางภาคใต้พบที่ลำน้ำตาปีและสาขา นอกจากนี้ยังพบกระจายอยู่ทั่วทุกภาค แหล่งที่เพาะเลี้ยงปลาแรดกันมานานและได้รับการยกย่องคือ บริเวณแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีการเลี้ยงกันในกระชัง ทำรายได้แก่เกษตรกรเป็นอันมาก ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกษตรกรได้เลี้ยง และได้มีการคัดสายพันธุ์ปลาเนื้อขึ้นมา ชื่อ ปลาแรดพันธุ์เหลืองทอง ซึ่งมีอัตราการแลกเนื้อสูงกว่าพันธุ์พื้นเมือง (ปลาแรดดำ, แรดธรรมดา)
ผู้ใช้ตกลงที่จะผูกพันตามข้อกำหนดในการให้บริการของ YouTube ด้วย Terms of Services | Privacy policy