0000264

เกร็ดเล็กน้อย... เรื่องของเกล็ด Arowana

ปลาอโรวาน่า เป็นปลาที่ค่อนข้างแอคทีพ เป็นปลาที่ว่ายน้ำตลอดเวลา บางครั้งก็มีบ้างที่ เกิดอาการตกใจ หรือตื่นกลัว ทำให้บางครั้งปลาที่เรารัก เมื่อเกิดอาการตกใจแล้ว มีอาการกระโดด อาจจะไปชนกับคานตู้ หรือเฉี่ยวชนกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ภายในตู้ และอาจเป็นต้นเหตุ ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อเกล็ดปลา ในบางกรณีเกล็ดมีการหลุด ซึ่งเราก็ไม่ต้องไปวิตกกังวลมาก แค่ดูแลเรื่องระบบกรองให้เป็นไปตามปกติ ถ่ายเปลี่ยนน้ำสม่ำเสมอ เกล็ดที่หลุดไปก็จะกลับขึ้นมาตามปกติเอง

แต่ในบางครั้งอาจจะมีบ้าง ที่เกล็ดไม่หลุด แต่ติดค้างเติ่งอยู่ จะหลุดก็ไม่หลุดซะทีเดียว ตอนนี้แหละครับที่เราจำเป็นต้อง สวมวิญญาณ เป็นคุณหมอจำเป็น และต้องถอดเกล็ด ที่ติดค้างเกือบหลุด อันนั้น ให้ออกไป เพื่อป้องกัน การเกิดการติดเชื้อ หรือทำให้ เกล็ดที่ขึ้นมาใหม่ ขึ้นซ้อนกัน จนทำให้เสียรูปทรงได้ ดังที่เห็นในรูปด้านขวามือครับ จากรูปจะเห็นได้ว่า มีเกล็ด กลางลำตัวที่จะหลุด แต่ไม่ยอมหลุด แถมเริ่มมีอาการอักเสบเข้ามา ผมจึงเล็งเห็นแล้วว่า หากปล่อยไว้ มันจะไม่ดีแน่ ว่าแล้วผมจึงตัดสินใจ ที่จะถอดเกล็ดออก

ว่าแล้วมือผมก็เร็วเท่าความคิด จึงได้จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จะใช้ และเนื่องจากปลาผมยังเป็นปลาที่ขนาดไม่ใหญ่มากนัก ผมจึงให้อดอาหารล่วงหน้าเป็นเวลา3วัน ซึ่งถ้าเป็นปลาใหญ่แนะนำให้อด1อาทิตย์ขึ้นไปครับ การอดอาหารเพื่อป้องกันปลาสำลักอาหาร ซึ่งเวลาเราวางยาอาจทำให้ปลาสำลักอาหารอาจทำให้เกิดอันตรายอื่นๆ ตามมาได้ครับ อุปกรณ์ที่ผมเตรียมไว้มี

1. แอลกอฮอล์

2. น้ำมันกานพลู

3. ถุงมือ

4. แหนบ

5. เบตาดีน

6. ถุงจับปลา

ขั้นแรกเลยครับ ผมทำการลดน้ำในตู้ให้เหลือแค่ 60-70% ป้องกันการตกใจของปลา เมื่อเราต้อนเข้าถุง ซึ่งอาจทำให้ปลา กใจกระโดดได้ แล้วก็ทำการต้อนปลาเข้าถุง ค่อยๆ ต้อนครับ ถ้าสังเกตุว่าปลามี อาการลนลานมาก เราก็ค่อยๆ ถอยออกมาแล้ว ค่อยไล่ต้อนปลาใหม่ เพราะในบางครั้ง ถ้าเราไล่ต้อนจนเขาตกใจ อาจทำให้ปลา กระโดดสวน ออกมาได้ครับ

เมื่อเราสามารถต้อนปลาเข้าถุงได้ คราวนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะวางยาแล้วครับ ซึ่งในตอนนี้ผมได้เตรียมยาสลบไว้แล้ว โดยการนำแอลกอฮอล์ 8 ส่วนผสมกับน้ำมันกานพล ู1 ส่วน และการคำนวนยาสลบที่เราจะใช้คือ ปริมาตรน้ำในถุงที่เราจับปลา 1 ลิตรใช้ยา 1 ซีซี เมื่อเราได้ปริมาณยาที่จะใช้แล้ว เราก็นำเอายาสลบที่ได้มาเจือจาง โดยการเติมน้ำลงไปในแก้วที่เราใส่ยาไว้ เพื่อป้องกันการที่ยา จะโดนผิวหนังปลาแบบโดยตรงและเข้มข้นครับ

แล้วเมื่อเราใส่ยาสลบ โดยใส่ตามขนาดโดสที่เราคำนวนไว้ จากนั้นก็รอครับ หลังจากนี้ปลาของเราจะเริ่มมีอาการทรงตัวไม่ได้ เริ่มมีอาการเมายา และจะเริ่มค่อยๆนิ่งจนมีอาการหงายท้อง เมื่อถึงตอนนี้ เราก็รีบยกถุงออกจากตู้ปลาเพื่อนำลงมา ทำการในขั้นต่อไปครับ

ถึงตอนนี้แล้วให้เราทำอย่างระมัดระวัง และรวดเร็ว ทำอย่างรอบคอบ จากนั้นผมก็เริ่มเอามือประคองปลาให้มั่นคง และใช้แหนบไปหนีบจับตรงเกล็ดที่ผมต้องการจะถอดออก โดยการดึงให้ดึงถอนออกมาโดยเฉียงลงไปทางท้องครับ

ดูกันชัดๆครับกับเกล็ดที่เพิ่งถอดออกมา จะสังเกตุเห็นว่า บริเวณของเกล็ดมีอาการแตกไปอยู่เสี้ยวนึง ซึ่งถ้าเราปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้เกิดอาการอักเสบ และติดเชื้อได้ครับ แถมเกล็ดที่ขึ้นมาใหม่ก็จะแทรกเกล็ดเดิม อาจทำให้เสียหายได้อีกครับ

เมื่อถึงตอนนี้เราก็จะได้เห็นปลาเราแบบใกล้ชิด เห็นแบบเต็มๆโดยที่ปลาไม่วิ่งหนีเรา อิอิ จะสังเกตุได้ว่าปลาที่อยู่เหนือน้ำนี่ สีจะเงามากๆครับ แถมยังเข้มสวยมาก แต่.....อย่ามัวชมเพลินนานเกินไปครับ มันอาจทำให้ปลาเราอันตรายได้ ว่าแล้วก็เอาไปลงตู้เลยครับ

ตอนนี้เราพยายามประคองตัวปลา แล้วเอาหัวปลาไปจ่อตรง ฟองอ๊อกซิเจน เมื่อเราไปจ่อได้สักพักไม่เกิน2นาที ปลาจะเริ่มฟื้นตัว และจะดิ้นหลุดจากมือเราไป แต่เราควรประคองไว้สักพักจนกว่าเขาจะทรงตัวได้ครับ

เมื่อปลาทรงตัวได้ปกติ ปลาก็จะว่ายปร๋อเลยครับ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยครับ จากบทความที่ผมเขียนขึ้นมาเป็นแค่ประสบการณ์ส่วนตัวครับ ในขั้นตอนอาจจะไม่ถูกต้องดีนัก ซึ่งขออภัยล่วงหน้าครับ การวางยาปลาทุกครั้ง ต้องระลึกไว้อยู่เสมอนะครับว่า มีความเสี่ยงทุกครั้งไปครับ ดังนั้นควรตัดสินใจให้ดีก่อนทำการ วางยาทุกครั้งนะครับ

สุดท้ายนี้ ขอให้ปลาของทุกๆคน สุขภาพ สมบูรณ์ สวยๆ ไม่เจ็บไม่ป่วยครับ