0000312

การฟอร์มปลาหมอสี Flower Horn

ปลาหมอสี Flower Horn สามารถเลี้ยงรวมได้ในขนาดเล็ก ๆ ไม่เกิน 1.5 – 2 นิ้ว แล้วจึงนำมาแยกเพื่อขึ้นตู้ฟอร์มทีละตัว โดยการคัดเลือกปลาเพื่อขึ้นฟอร์มนั้น จะคัดจากปลาที่มีขนาดใหญ่โดดเด่นกว่าลูกปลาตัวอื่นในครอก หรือ ที่เรียกกันว่า “หัวปลา” หรือ อีกวิธีที่นิยมใช้ในการคัดปลาขนาดเล็ก ๆ ที่ยังไม่เห็นรายละเอียดอะไรมากนัก คือ การคัดโดยการดูที่มาร์คกิ้ง ส่วนมากจะคัดลูกปลาที่มีมาร์คกิ้งยาวที่สุดไว้ก่อน เพราะถือว่าเป็นพื้นฐานของลักษณะที่ดี โดยลูกปลาส่วนที่เหลือยังสามารถที่จะเลี้ยงรวมได้อีกสักระยะหนึ่ง จากที่เคยเห็น ปลาขนาด 3 นิ้ว ประมาณ 100 ตัว



ยังสามารถอยู่ในตู้ขนาด 60 x 20 x 20 นิ้วได้ ถ้ามีการให้อาหารที่ “ถึง” ระบบกรองที่ดี อากาศที่เพียงพอ และ มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่อย่างไรก็ตามแน่นอนว่า อัตราการเจริญเติมโต และ ความสมบูรณ์ของปลาก็จะยังไม่ดีเท่าที่ควรหากเทียบกับปลาที่นำขึ้นมาฟอร์ม



การฟอร์มปลาเล็ก (1.5-2 นิ้ว)

ในระยะนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาลักษณะของปลา ทั้งเรื่องสีสัน รูปทรง มาร์คกิ้ง และ ขนาดของหัว ซึ่งจะมีการพัฒนาได้เร็วขนาดไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าปลาตัวนั้น ๆ มีที่มาของสายพันธุ์อย่างไร หรือ ลักษณะเฉพาะตัวโดดเด่นมากน้อยแค่ไหน ตู้ฟอร์มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ตู้ขนาด 24 x 12 x 15 นิ้ว นำมากั้นเป็น 3-4 ช่อง (ช่องละ 6-8 นิ้ว) นอกจากเหตุผลที่ว่าปลาเล็กในตู้ที่ไม่ใหญ่เกินไปจะช่วยให้ลูกปลาหาอาหารกินได้ง่ายแล้ว ปลาขนาดเล็ก ระบบการย่อยอาหารและระบบขับถ่ายยังสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว หรือ พูดง่าย ๆ คือ กินง่าย ถ่ายคล่อง และยังเป็นวัยที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงมาก หลังจากให้อาหารเพียงไม่นาน ก็สามารถให้ต่ออีกได้เท่าที่ปลาจะยอมกิน

อาหารหลักที่นิยมให้ปลาฟอร์มไซส์เล็กกินกันมากคือ ไรทะเล และ หนอนแดง การให้อาหารบ่อยครั้ง และ มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำสม่ำเสมอ จะช่วยให้ปลากินเก่งขึ้น มีความแข็งแรง คึกคัก และ มีพัฒนาการด้านการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นได้อีกด้วย สำหรับนักเลี้ยงที่ไม่มีเวลาให้อาหารแบบถี่ ๆ ทั้งวัน ก็ยังมีทางเลือกอื่นอีก เช่น การให้อาหารเป็นไส้เดือนน้ำ ซึ่งจะใส่กรวยสำเร็จรูปที่วางขายกันทั่วไปอันละ 5-10 บาท หรือ หาถ้วยเล็ก ๆ วางไว้ที่พื้นตู้ก็ได้ ลูกปลาจะสามารถกินได้ตลอดเวลาที่หิวโดยที่นักเลี้ยงไม่ต้องคอยใส่ใจมากนัก เพียงแค่หมั่นสังเกตว่าเมื่อไส้เดือนน้ำหมดก็ต้องคอยเติม การให้ไส้เดือนน้ำเป็นอาหารสิ่งที่ต้องระวังก็คือ อย่าให้ทีละเยอะเกินไป เพราะ ไส้เดือนน้ำมีของเสียเยอะมาก จะทำให้น้ำเสียได้อย่างรวดเร็ว และ ควรจะมีการถ่ายน้ำบ่อยครั้งเป็นพิเศษหากต้องการใช้ไส้เดือนน้ำเป็นอาหารหลัก

การฟอร์มปลาขนาดกลาง (2.5-5 นิ้ว)

ปลาขนาด 3-5นิ้ว ถือว่าเริ่มโตขึ้นและเห็นพัฒนาการด้านความสวยงามอย่างชัดเจนขึ้นมากแล้ว การฟอร์มปลาขนาด 3-5นิ้ว ควรใช้ตู้ขนาด 24 x 12 x 15 นิ้วขึ้นไป สามารถกั้น 2 ช่อง หากใช้ตู้ที่เล็กกว่านี้ จะทำให้พัฒนาการของปลาไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจาก Flower Horn เป็นปลาที่คึกคัก กินเก่ง และต้องการพื้นที่ในการว่ายน้ำและสร้างอาณาเขตพอสมควร หากได้ตู้ขนาด 24-30นิ้วที่มีระบบกรองข้างด้วยจะยิ่งดี ปลาหลายตัว (โดยเฉพาะปลาสายหัวโหนกทั้งหลาย) จะมีพัฒนาการที่โดดเด่นเป็นพิเศษเมื่อได้อยู่ในตู้กรองข้างที่มีปั๊มน้ำช่วยพ่นน้ำภายในตู้ ทำให้น้ำเกิดการหมุนเวียน และ ปลาได้ออกกำลังกายไปในตัว หรือการใช้ตู้ทรงสูงสั่งทำพิเศษ ก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่ง ที่หลายคนนิยมใช้กัน แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า หากคุณต้องการใช้ระบบกรองข้างและมีปั๊มน้ำพ่นออกมาให้เกิดการหมุนเวียน คุณต้องระวังในเรื่องความแรงของปั๊มด้วย เพราะ หากความแรงของปั๊มน้ำมีมากเกินไป ปลาจะต้องใช้แรงในการต้านน้ำอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะได้ออกกำลังกาย จะกลายเป็นปลาเกิดความเครียดแทน ซึ่งอาจจะทำให้ปลาหาซอกมุมเพื่อพยายามหลบกระแสน้ำ และ ปลาไม่ยอมกินอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุให้ปลาป่วยได้ง่าย

การให้อาหารปลา Flower Horn ขนาด 3-5 นิ้ว อาจจะเน้นไปที่หนอนแดง ไม่ว่าจะสด หรือ แช่แข็งก็ตาม สลับกับการให้อาหารเม็ด กุ้ง และ หนอนนก ซึ่งการให้อาหารที่หลากหลายจะช่วยให้ปลามีนิสัยกินง่าย ไม่ค่อยเลือก และ ได้สารอาหารที่ครบถ้วน โดยเฉพาะอาหารเม็ด หลายยี่ห้อผสมวิตามินลงไปด้วย ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้พัฒนาการของปลาสวยงาม สมบูรณ์และแข็งแรงขึ้นได้อีก

การหาคู่ประกบ
ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้ Flower Horn มีความคึกคักอยู่เสมอ ช่วยให้ปลามีการขับสี และ หัว เพื่อข่มคู่ต่อสู้ที่อยู่ตู้ข้าง ๆ จุดสำคัญคือ การจับคู่ปลา ควรจะนำมาเทียบให้ถูกคู่ด้วย โดยนำปลาหลักที่ต้องการฟอร์มให้สวยมาเทียบกับปลาตัวรอง(ตัวกระตุ้น) ปลาคู่เทียบที่นำมาใช้กระตุ้นนั้น ควรจะเป็นปลาที่มีขนาดเล็กกว่าซักเล็กน้อย แต่มีนิสัยที่คึกคัก ดุดัน ไม่กลัวตัวใหญ่ การเทียบเช่นนี้ ปลาตัวหลักจะยิ่งพยายามข่มปลาเล็ก ยิ่งปลาตัวเล็กคอยยั่วอยู่ด้วยล่ะก็ ปลาฟอร์มจะยิ่งแสดงอาการฮึกเหิมมากเป็นพิเศษ ในการหาคู่ประกบ อาจจะเป็นตู้ขนาด 24-30นิ้ว กั้น 2 ช่องก็ได้

การหาลูกไล่
หลักการคล้ายกับการหาคู่ประกบ แต่ให้นำปลาเล็กใส่รวมกับตู้ปลาใหญ่ไปเลย เพื่อให้ปลาตัวใหญ่ได้ไล่อย่างเต็มที่ ข้อดีคือ การที่ปลาได้ว่ายอย่างเต็มที่เพื่อไล่ผู้บุกรุก จะทำให้ปลาได้ออกกำลังกาย และ มีความคึกคักอยู่เสมอ การที่มีปลาอื่นเข้ามาวุ่นวายในอาณาเขตของตน จะทำให้ปลาแสดงอาการข่มขวัญคู่ต่อสู้ ซึ่งมีผลทำให้สีและโหนกดีขึ้นตามไปด้วย ลูกไล่ที่ดี คือ ปลาขนาดเล็กที่ไม่สามารถทำร้ายปลาฟอร์มของเราได้ และ มีความคล่องแคล่ว รวดเร็ว พอที่จะหลบหลีกการไล่ล่าได้อย่างดี ปลาที่นิยมนำมาใช้เป็นลูกไล่ เช่น ลูกปลาหมอสีเหลือคัดขนาดเล็ก ปลาตะเพียน ปลาสอด แต่ข้อควรระวังคือ หากเป็นตู้ขนาดเล็กเกินไป ปลาลูกไล่จะไม่มีทางหนี ไม่มีที่หลบซ่อน จะทำให้โดนไล่ล่าจนตายได้ง่าย หรือตู้ปลาขนาดใหญ่ก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ที่ปลาลูกไล่อาจจะพลาดท่าเสียทีจนตาย หากเจ้าของไม่ใส่ใจดูแลจนมีการตาย และเน่าเปื่อยคาตู้ ปลาเจ้าถิ่นผู้อยู่อาศัยในตู้นั้นอาจจะพากันติดเชื้อและมีอาการป่วยตามมา หรือที่หนักกว่านั้นหากปลาที่เรานำขึ้นมาฟอร์มมีการไล่ล่าที่รุนแรงจนเกินไป อาจจะว่ายน้ำผิดจังหวะจนพลาดท่า เอาตัวเองไปกระแทกเข้ากับกระจกตู้ก็เป็นได้ ซึ่งสาเหตุนี้ทำให้ปลาหลายตัว ต้องป่วยเพราะกระดูกหักจนพิการ หรือ ตายมาหลายตัวแล้วเช่นกัน

การล่อปลาด้วยกระจก น่าจะเป็นวิธีที่ได้ผล และปลอดภัยที่สุด นั่นคือ นำกระจกเล็ก ๆ มาล่อตรงหน้าปลา ให้ปลาคิดว่ามีศัตรูเข้ามาระรานในอาณาเขตของตน จนเกิดอาการฮีท แสดงอาการไล่ล่า เพื่อปกป้องพื้นที่ การนำกระจกล่อให้ปลาได้ไล่จากซ้ายไปขวา และ จากขวามาซ้ายบ่อย ๆ จะช่วยกระตุ้นปลาให้ได้ออกกำลังกาย และ มีความฮึกเหิมได้เป็นอย่างดี การล่อปลา 1ครั้ง อาจจะใช้เวลาประมาณ 10-15นาที/ครั้ง ทำเป็นระยะ ๆ ในเวลาที่คุณว่าง อาจจะวันละ 1-5ครั้ง ตามแต่สะดวก แต่หากไม่มีเวลาขนาดนั้น การนำกระจกไปแปะไว้ข้างตู้ก็สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อนานไป ปลาจะเริ่มมีการเรียนรู้ว่า เงาในกระจกไม่สามารถทำร้าย หรือ บุกรุกอาณาเขตได้ ก็จะเกิดอาการเฉยเมยกับกระจก และทำให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร

การฟอร์มปลาขนาดใหญ่ (5 นิ้ว ขึ้นไป)
โดยธรรมชาติของปลาหมอสีปกติ การพัฒนาการในเรื่องรูปทรง สีสัน และ โหนก นั้น จะค่อยเป็นค่อยไปตามอายุของปลา และจะเริ่มเข้าที่เข้าทางหลังจากช่วง 5-7นิ้ว หรือมีอายุประมาณ 6เดือน-1ปีขึ้นไป การกระตุ้นในปลาเล็กเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเร่งพัฒนาการของปลาขึ้นมา แต่สำหรับในปลาขนาดใหญ่ที่ถึงอายุเจริญพันธุ์แล้ว การเทียบคู่กับตัวเมีย ก็สามารถช่วยกระตุ้นให้ปลาขับตัวเองให้สวยขึ้นมาได้ตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ที่พยายามจะแสดงความเข้มแข็งออกมาให้ได้มากที่สุด ดังนั้นจะพบว่า Flower Horn ขนาด 5นิ้วขึ้นไปหลายตัว เมื่อนำมาเทียบคู่กับตัวเมีย ปลาจะมีความสวยงามโดดเด่นขึ้นมาได้ในระยะเวลาอันสั้น หรือ หากไม่ต้องการนำมาเทียบคู่กับตัวเมีย ตู้ขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ให้ปลาสามารถว่ายน้ำแบบสบาย ๆ โล่ง ๆ มีลูกไล่เล็กน้อย มีอาหารการกินที่ดี มีน้ำที่สะอาด มีอากาศที่เพียงพอ + กับอายุของปลาที่เหมาะสมที่ปลาจะแสดงรูปทรง สี และ หัวออกมาได้อย่างเต็มที่ เท่านี้ปลาขนาดใหญ่ก็สามารถที่จะแสดงความสวยงามของมันออกมาได้แล้ว โดยที่บางครั้งเราแทบจะไม่ต้องทำอะไรกับมันมาก แต่หากเราได้เอาใจใส่ เล่นกับมัน ทำให้มันคึกคัก ปลาหลายตัวก็จะยิ่งทวีความสวยงามให้โดดเด่นได้มากยิ่งขึ้นไปอีก

เทคนิคการจัดหิน และ ฉาก

หากเป็นปลาที่เนื้อออกเขียว – คล้ำ การจัดหินและฉากควรจะออกไปในแนวที่ไม่ดำทึบมากนัก เช่น อาจจะใช้ฉากสีน้ำเงิน ฟ้า หรือ รูปวิวสีโทนอ่อนซักนิด หินที่ใช้อาจจะโรยบาง ๆ ด้วยหินสีขาว หรือ สีโทนอ่อน เช่น สีครีม หรือ หินแม่น้ำคละสีที่ใส่หินสีขาวเพิ่มไปอีกซักนิด เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาปรับตัวจนเข้มเกินไป จนกลายเป็นปลาดูหม่น หมอง และ ดำ

หากเป็นปลาเนื้อแดง ผิวขาว-เทา-ใส การจัดหินสามารถทำได้ง่าย อาจจะใช้หินแม่น้ำ หรือ หินทราย หรือ หินลูกรังคละกับหินสีขาวก็ช่วยทำให้ปลาขับสีแดงออกมาได้อย่างดีเช่นกัน

วิดิโอที่เกี่ยวข้อง