0000601

ศูนย์ฯ ประมงน้ำจืด (พะเยา) เพาะพันธุ์ “ปลาบึก” ต่อเนื่อง

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2526 หลายๆหน่วยงานแสดงความเป็นห่วงถึง สายพันธุ์ “ปลาบึก” ในลำน้ำโขง อาจได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ทำให้ทรัพยากรปลาบึกลดปริมาณลงและอาจสูญพันธุ์ลงได้ ตั้งแต่นั้นมากรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเริ่มทดลองเพาะพันธุ์ และอนุรักษ์สายพันธุ์ปลาบึก

ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเขต 1 (พะเยา) ในปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่กว่า 67 ไร่ ริมถนนพหลโยธิน ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา และเป็นที่ตั้งของ ศูนย์เพาะพันธุ์ปลาบึกแห่งแรกของโลก.

ในที่สุด ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเขต 1 (พะเยา) หน่วยงาน สังกัด กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถเพาะพันธุ์ปลาบึก เลี้ยงในบ่อดิน ได้เป็นครั้งแรกของโลก เมื่อปี พ.ศ.2544

เวลาต่อมา กรมประมง ได้ปรับโครงสร้างงานและภารกิจให้เหมาะสม โดยรับผิดชอบบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ด้วยการ ผลิตพันธุ์ปลาน้ำจืด และดูแลรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำภายใน กว๊านพะเยา, ลำน้ำโขง, ปิง วัง ยม น่าน ในพื้นที่ 14 จังหวัดทั่วภาคเหนือ ไปสิ้นสุดที่ แม่น้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

ทีมข่าวไทยรัฐ ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมและติดตามความก้าวหน้าของ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเขต 1 (พะเยา) ในปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่ กว่า 67 ไร่ ริมถนนพหลโยธิน ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา

นายสมชาติ ธรรมขันทา ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเขต 1 (พะเยา) นำเยี่ยมชม ความก้าวหน้า การเพาะพันธุ์ปลาบึก และสัตว์น้ำต่างๆ.

นายสมชาติ ธรรมขันทา ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเขต 1 (พะเยา) กล่าวว่า ภายในพื้นที่แห่งนี้ ประกอบด้วย อาคารที่ทำการ อาคารปลาบึก ประตูระบายน้ำ อาคารแสดงพันธุ์ปลา หรืออะควาเรียม ระบบบำบัดน้ำเสีย และบันไดปลาโจน ครบครัน

นักท่องเที่ยวเข้าชม “ปลาบึก” และปลาต่างๆที่เพาะเลี้ยงภายในพิพิธภัณฑ์ปลาบึก แหล่งเรียนรู้เรื่องสัตว์น้ำของ จ.พะเยา และภาคเหนือ.

นอกจากนั้นยังเป็นที่ตั้ง พิพิธภัณฑ์ปลาบึก แสดงให้เห็นภาพความ สำเร็จจากการนำเชื้อปลาบึกในลำน้ำโขง มาทดลองเพาะพันธุ์เลี้ยงในบ่อดิน ได้เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของกรมประมงในสมัยนั้น

ปลาบึก เป็นปลาน้ำจืด ไม่มีเกล็ด ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กินพืชเป็นอาหาร ตัวโตเต็มวัยยาวประมาณ 3 เมตร น้ำหนักประมาณ 250 กก. ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำโขง แต่เนื่องจากแม่น้ำสายนี้ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และภัยจากน้ำมือมนุษย์อย่างต่อเนื่อง จนส่งผลทำให้ปริมาณปลาบึกลดลงอย่างหนัก

อะควาเรียม ภายใน ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเขต 1 (พะเยา)

แต่จากเนื้องานของศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ได้ช่วย เติมเต็ม โดยการเพาะพันธุ์ปลาบึกและปลาน้ำจืดหลายชนิดแจกจ่ายให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงในพื้นที่ต่างๆ เช่น ปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียน ปลายี่สก และปลาอื่นๆ บางส่วนนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ปลาสวยงามและปลาหาดูยากให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง

พิพิธภัณฑ์ปลาบึก ของศูนย์ฯ มีเด็กและผู้ใหญ่เข้าเยี่ยมชมหาความรู้เป็นประจำ.

อย่างไรก็ตาม การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำมีข้อจำกัด ด้วยเรื่องงบประมาณ ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนการเพาะพันธุ์ ปลาถูกปรับลดลงไปด้วย จากที่เคยผลิตได้ปีละเกือบ 20 ล้านตัว จึงเหลือเพียง 6,800,000 ตัว เพื่อนำไป แจกจ่ายเกษตรกร และปล่อยลงตามแหล่งน้ำและ ชุมชน เนื่องในวันสำคัญต่างๆทั่วประเทศ

“ปลาบึก” ที่เพาะเลี้ยงในตู้โชว์ของพิพิธภัณฑ์ปลาบึก ให้คนได้ชมในการทัศนศึกษา.

เสร็จแล้วมีทีมงานคอยติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เช่น กว๊านพะเยา จะมีนักวิชาการลงพื้นที่เก็บข้อมูล นำมาประเมินผล เพื่อให้เห็นว่าความอุดมสมบูรณ์ของ สัตว์น้ำอยู่ในระดับใด หรือประสบปัญหาใดบ้าง

ส่วนวิวัฒนาการของ ศูนย์เพาะพันธุ์ปลาบึก แห่งแรกของโลก และ พิพิธภัณฑ์ปลาบึก รวมทั้ง อะควาเรียม ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงสัตว์น้ำจืดและพันธุ์ปลาต่างๆ เมื่อก้าวเข้าไปด้านในจะมองเห็นตู้แสดงพันธุ์ปลาน้ำจืด 34 ตู้ มีทั้งปลาสวยงามและ ปลาหายาก จากกว๊านพะเยา แม่น้ำอิง แม่น้ำแม่ลาว และน้ำโขง ทั้งหมด 69 ชนิด

นายสนั่น ปานบ้านแพ้ว ประมงจังหวัดพะเยา

ขณะที่ยังนำอุปกรณ์จับปลาในท้องถิ่นมาจัดแสดง เปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรี วันจันทร์ถึง วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. โดยมีเจ้าหน้าที่และป้ายบอกรายละเอียดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิด ต่างๆอย่างชัดเจน ส่วนนักเรียน นักศึกษา เข้าศึกษา ความรู้เป็นหมู่คณะ หากทำหนังสืขออนุญาตจะมี เจ้าหน้าที่บรรยายให้ความรู้ไปด้วยด้าน นายสนั่น ปานบ้านแพ้ว ประมงจ.พะเยา กล่าวว่า นอกจากงานในหน้าที่รับผิดชอบ เป็นไปตาม พ.ร.บ.การทำประมงปี 2558 ยังให้ การสนับสนุนศูนย์วิจัยแห่งนี้ ในการเพาะพันธุ์ปลา พัฒนาการเลี้ยง การแปรรูป และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของเกษตรกร ตามนโยบายประชาชนต้องมีอยู่มีกิน มั่งคั่งยั่งยืน ของรัฐบาล

ปลาสายพันธุ์ต่างๆที่ทางศูนย์ฯเพาะเลี้ยงและนำมาใส่ตู้โชว์ให้คนชมในพิพิธภัณฑ์.

ขณะที่ด้านการพัฒนาอาชีพนั้น ได้ดำเนินการ ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล และกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ด้วยการส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ โดยให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มเลี้ยงปลาน้ำจืด ส่งผลทำให้เกษตรกรบ้านต๊ำเกิดการรวมกลุ่มเลี้ยงปลานิล และจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล

เครื่องมือจับปลาในยุคต่างๆ ถูกนำมาโชว์ให้คนรุ่นหลังได้ชม ที่พิพิธภัณฑ์ฯ.

จึงต้องยอมรับว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนา ประมงน้ำจืดเขต 1 (พะเยา) แห่งนี้ ถือเป็นสถาบันหลักให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลา สัตว์เศรษฐกิจ สำคัญในพื้นที่ภาคเหนือ ได้พึ่งพิงมาอย่างยาวนาน.


Reference Resource: https://www.thairath.co.th/content/1418976