0000015

การเพาะพันธุ์ปลาหมอแคระ

ครั้งแรกที่ผมสั่ง ปลาหมอแคระ มาจากประเทศเยอรมัน คือ เมื่อ ปี พ.ศ.2543 คือ หลังจากได้ทดลอง เลี้ยงปลาป่า ที่มีคนนำเข้ามาก่อนหน้านี้ มาพอสมควร จนค่อนข้างมั่นใจ ว่าการเลี้ยงนั้นคงไม่ยากนัก เมื่อนั้นแล้วเงินหลายหมื่น จึงล่องลอย ออกจากกระเป๋า เปลี่ยนไปเป็นปลาตัวเล็กๆ ที่ไม่มีใคร คนไหนเขา สนใจกัน มาแทนหนึ่งฝูง

อพิสโตแกรมมาเป็น ปลาหมอแคระ ที่คนนิยมไปแล้วครับในตอนนี้ แต่ก็แปลกใจว่า ทำไมยังไม่ค่อยมี การเพาะพันธุ์ อย่างจริงจังเสียที ปลาตัวหนึ่งราคาไม่น้อย หลายร้อยบาท แพงกว่าปลาป่าสองสามเท่าตัว เมื่อสอบถามจากเพื่อนฝูงที่นิยมในปลากลุ่มนี้ ต่างกล่าว เป็นเสียงเดียว กันว่า ไม่มีเวลา ทั้งที่เห็นอยู่ว่าปลาหมออื่นๆ เพาะไม่ยากเย็นอะไร ยิ่งพวก ปลาวางไข่จากทางอเมริกากลางอเมริกาใต้แล้ว ส่วนใหญ่เพาะง่ายจริงๆ ออกมาครอกหนึ่งๆ ผมว่าไม่น้อยกว่า ห้าหกร้อยตัว (อาจถึงพันตัวถ้าพ่อแม่ปลาดีจริง)

อพิสโตแกรมมา คาคาทอยเดส โกลด์

กลุ่มคนเลี้ยงอพิสโตแกรมมาส่วนใหญ่มักเลี้ยงต้นไม้น้ำด้วย อันต้นไม้น้ำนี้ถ้าลงว่าได้จัดกันเต็มรูปแบบแล้ว คงจะลงไปยุ่งกับมันลำบากมาก เพื่อนผมคนหนึ่งได้ อพิสโตแกรมมา ครูซอาย ไปเพียงอาทิตย์เดียว โทรกลับมาบอกว่าปลาวางไข่และฟักออกมาเป็นตัวแล้ว ผมดีใจด้วย แต่เพื่อนบอกว่าอย่าพึ่งดีใจเพราะยังไม่รู้เลย ว่าจะเอามันออกมาได้ยังไง

ถึงตอนนี้คงมีหลายคนแปลกใจว่าทำไมต้องเอาลูกปลาออกมา ปล่อยไว้ในตู้อย่างนั้นไม่ได้รึ? ตอบว่า ไม่ได้ครับ หรือถึงได้ก็คงไม่ดี ลูกปลานี้ถ้าได้รับอาหารไม่เพียงพอ ก็มักจะตายได้ง่ายๆ ตู้ต้นไม้น้ำนั้นเขาก็จะไม่นิยมให้อาหารปลาปริมาณมากๆ เสียด้วย เพราะว่าจะทำให้น้ำเสียได้ง่าย ระบบนิเวศของต้นไม้น้ำจะละเอียดอ่อนกว่าปลามากนัก ครั้นจะปล่อยให้ลูกปลาหากินเก็บเอาเศษอาหารก้นพื้นก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะตู้ต้นไม้นั้นเขาจะมีการใส่ปลาที่ทำหน้าที่นี้ลงไปอยู่แล้ว อาทิ ปลาเล็บมือนางหรือปลาแพะ ปลาแพะนี้ก็แสบไม่ใช่เล่น ชอบแอบดอดมาขโมยกินไข่ชาวบ้านเขาออกบ่อยๆ คนที่เลี้ยงอพิสโตแกรมมาในตู้ไม้น้ำหลายคนเลยไม่ค่อยได้มีโอกาสเห็นลูกปลา เพราะโดนปลาแพะงุบงิบเอาไปหมด

ผมแนะนำให้เอาสายยางดูดเอาลูกปลาออก เพราะถ้าจะใช้กระชอนไล่ตัก ก็เห็นว่าตู้คงได้พังกันเป็นแถบๆ และจะขุ่นคลั่กเนื่องจากปุ๋ยที่ฝังอยู่ใต้พื้นกรวดจะฟุ้งขึ้นมาให้วุ่นวาย สายยางที่ว่าไม่ต้องใช้ขนาดให้ใหญ่มากนัก เวลาใช้งานก็ดำเนินการตามวิธีกาลักน้ำ คือดูดจากที่สูงสู่ที่ต่ำกว่า แต่อย่าให้ระดับต่ำกว่ามากนักเพราะน้ำจะไหลแรง ลูกปลาที่ถูกดูดออกมาจะอำลาโลกไปหมด ตรงนี้ควรมีสมาธิ ทำอย่างตั้งใจ ลูกปลาอยู่ตรงไหนดูไม่ยาก ก็ตรงที่แม่ปลาอยู่นั่นแหละครับ มันไม่ยอมปล่อยลูกให้ห่างสายตาเลยจนกว่าลูกจะโต เพราะฉะนั้น ง่ายมาก ลองดูได้ครับ

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้สั่งปลาชุดใหม่มาจากประเทศเยอรมันอีกครั้ง ปลาชุดนี้ดีมาก เสียแต่ตัวเล็กไปนิด ผมเก็บตัวอย่างเพียงอย่างละสองสามคู่ ที่เหลือก็แบ่งๆให้พรรคพวกกันไป (ก็คือขายนั่นเอง ถอนทุนคืน) มีอพิสโตแกรมมาอยู่ชนิดหนึ่งที่ดูแล้วไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ทางเยอรมันระบุมาว่า คาคาทอยเดส โกลด์ บรรยายสรรพคุณว่าเป็นนิววาไรตี้ ยังไม่ค่อยมีขายที่ไหนในโลก (ตรงนี้อ่านแล้วก็อย่าเชื่อมากครับ ฝรั่งก็ขี้โม้ไม่ใช่เล่นเหมือนกัน) พิจารณาแล้วเข้าท่าถูกใจ เลยลองคิดว่าจะเพาะพันธุ์ดู คงไม่น่ายากเพราะเคยประสบความสำเร็จกับคาคาทอยเดส ดับเบิ้ลเรดมาแล้ว สองปีก่อน ลองผิดลองถูกเสียปลาเสียเงินไปเยอะ มาคราวนี้จึงพอมีประสบการณ์บ้าง

ผมเตรียมตู้ขนาด 30x16x18 นิ้ว สองใบ ใบหนึ่งวางขอนไม้เล็กๆที่มีต้นอนูเบียส นานา(Anubias nana) เกาะติดหนึ่งต้น เลือกขอนไม้ที่มีลักษณะเป็นโพรงหรือซอกหลืบซักหน่อย วางไปบริเวณกลางตู้ จากนั้นเอากระถางต้นไม้ดินเผาใบเล็กๆ มาทุบให้แตกแบบหยาบๆ เลือกชิ้นส่วนที่มีลักษณะโค้งซักสามสี่ชิ้น วางคว่ำลงไปให้ทั่วๆตู้ ตู้อีกใบหนึ่งจัดแบบเดียวกันแต่ไม่มีขอนไม้ติดอนูเบียส ไม่มีกรวดอื่นใดมาปูพื้น ปล่อยให้เป็นกระจกเปล่าๆ ทั้งอย่างนั้นเลย ระบบกรองก็ใช้กรองโฟมธรรมดา เปิดแอร์ปั๊มปานกลางไม่แรงมาก ใส่น้ำเตรียมไว้สองวันเต็มๆ ค่อยปล่อยปลาลงไป

ไม่ได้ เพาะ ยากไป กว่าแรม หรือ ปลาหมอพันธุ์อื่นๆ

การเลือกพ่อแม่ปลาผมใช้วิธีมาตรฐานตามแบบฉบับทั่วโลกนิยม พ่อปลาตัวจะต้องใหญ่หน่อย หนา ครีบกางสง่างามโดยเฉพาะครีบหลังอันเป็นจุดเด่นของปลาชนิดนี้ ถ้าเป็นคาคาทอยเดสตัวอื่นลายดำข้างลำตัวต้องเข้มและตรงเผง แต่คาคาทอยเดสโกลด์นั้นพิเศษหน่อยตรงที่จะมีลำตัวสีเหลืองสดและไม่มีเส้นกลางตัวสีดำให้เห็น จึงต้องอาศัยดูแนวของเกล็ดแทน ปลาที่มีแนวเกล็ดโค้งโก่งเป็นอันว่าขาดคุณสมบัติพ่อพันธุ์ อย่าได้เลือกมา ส่วนปลาตัวเมียต้องมีขนาดไม่น้อยกว่าหนึ่งนิ้ว ตัวอวบอ้วนและมีสีเหลืองจัดอมส้ม เวลาว่ายน้ำจะกางครีบฟ้อไม่เกรงกลัวใคร แม่ปลาที่ตัวเรียวๆผอมๆไม่เวิร์คสำหรับการนี้แน่นอนครับ

เมื่อคัดพ่อแม่ปลาได้แล้วสองคู่ ก็ทำการปล่อยลงไปในตู้ทดลองตู้ละคู่ บำรุงด้วยไส้เดือนน้ำบ้าง ไรทะเลบ้าง ไรทะเลนี้จะต้องล้างให้จืดสนิทเสียก่อน มิฉะนั้นอาจเกิดผลร้ายกับปลาได้ (ซึ่งจะพูดในโอกาสต่อไป) ผมแนะนำนิดนึงว่าอย่าให้อาหารจะปลาอิ่มมากเกินไป ควรให้ปริมาณน้อยๆพออิ่มในหนึ่งมื้อ ปลาที่กินอิ่มมากเกินไปมักไม่ใคร่สนใจเรื่องทางเพศ (คล้ายๆคนหรือเปล่าไม่รู้เหมือนกันแฮะ) เปลี่ยนถ่ายน้ำวันเว้นวัน ครั้งละประมาณสิบห้าถึงยี่สิบเปอร์เซ็นต์ กาลเวลาผ่านไปได้สองสัปดาห์ ราวกับปรากฏการซินโครไนซ์ ปลาทั้งสองคู่เริ่มจับคู่และวางไข่พร้อมกัน การจับคู่นั้นทำเพียงระยะสั้นๆ สังเกตดูว่า ตัวที่อยู่ในตู้ที่มีแต่ดินเผานั้นจะเลือกชิ้นที่มีส่วนโค้งและขนาดพอเหมาะ อันที่ใหญ่กว่าตัวมากๆจะไม่เอา การวางไข่จะตีลังกาวางบนเพดาน ไข่มีสีเหลืองใสๆ คะเนว่าไม่ต่ำกว่า 30 ฟอง

ส่วนแม่ปลาในตู้ที่มีขอนไม้จะเข้าไปวางไข่ในโพลงของขอนไม้นั้น โพลงค่อนข้างลึกเลยมองไม่เห็นไข่ที่วางไว้ แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้ได้ว่าปลาวางไข่แน่นอนแล้วคือดูจากที่แม่ปลาจะคอยเข้าไปทำท่าจิกอะไรซักอย่างอยู่บ่อยๆ ในระยะนี้ แม่ปลาทั้งสองจะมีอารมณ์ดุร้าย หวงไข่มากๆ แม้ผู้เป็นสามี ก็ไม่สามารถกรายกล้ำเข้ามาใกล้ได้ ถ้าลองเสนอหน้ามาเป็นได้โดนไล่เปิงออกมาแทบไม่ทัน ก็เลยได้แต่ว่ายวนไปรอบๆห่างๆหน่อย สามวัน ไข่ฟักเป็นตัว แม่ปลาจะขนลูกน้อยไปซุกๆ ตามมุมตามซอก มองดูเป็นขยุ้มๆกระดุกกระดิกไปมา ช่วงนี้แม่ปลาที่ว่าดุอยู่แล้วก็จะยิ่งดุเพิ่มขึ้นไปอีก พ่อปลาที่อยู่ไกลๆก็ยังอุตส่าห์พุ่งเป็นจรวดไปไล่เขาอีก จนพ่อปลาน้อยอกน้อยใจซึมเศร้าอยู่หลายวัน (ผมไม่ย้ายออกเพราะต้องการ ดูพฤติกรรมของพวกมัน ในช่วงนี้ด้วย)

เมื่อถึงเวลาค่ำ แม่ปลาจะคาบลูก ไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย

DAY 5 ถุงไข่ที่ท้องลูกปลายุบไปหมดแล้ว ผมจึงเริ่มให้อาหาร มื้อแรกเป็นตัวอ่อนอาร์ทีเมียที่ล้างน้ำจืดเป็นอย่างดีเสิร์พพร้อมกับไส้เดือนน้ำสำหรับพ่อแม่ปลา ในวันหนึ่งให้ประมาณห้าหกครั้งๆหนึ่งไม่ต้องมาก พฤติกรรมปลาตอนนี้น่ารักมาก แม่ปลาเมื่อถึงเวลาค่ำ จะคาบลูกไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย แม่ปลาตัวที่วางไข่ในโพลงไม้ก็จะคาบลูกไปแอบไว้ในโพลงไม้สิ้นทุกตัว ผ่านไปสัปดาห์หนึ่ง ลูกปลาว่ายน้ำได้แต่ยังไม่แข็งแรงนัก แม่ปลาจะคอยเฝ้าราวกับแม่ไก่เลี้ยงลูกเจี๊ยบ ตัวไหนออกไปซนไกลหน่อยแม่ปลาก็จะรีบว่ายไปคาบกลับมาอยู่รวมกลุ่ม อาหารช่วงนี้เปลี่ยนเมนูเป็นไส้เดือนน้ำอย่างเดียว เชิญรับกันทั้งพ่อแม่ลูก ลูกปลากินทั้งวัน โตเร็วมาก

DAY 10 ลูกปลามีขนาดประมาณ 4-5 มิลลิเมตรว่ายน้ำคล่องแล้ว แต่จะว่ายเรี่ยๆพื้น ไม่ว่ายขึ้นสูงนัก แม่ปลาจะพาทัวร์ลูกปลาไปทั่วตู้ จะสั่งสอนอะไรบ้างผมก็ไม่เคยได้ยิน ระยะนี้พ่อปลาเริ่มมีส่วนร่วมหลังจากถูกตัดออกไปเสียหลายวัน ลูกปลาเริ่มว่ายไปหาพ่อปลาบ้างโดยที่แม่ปลาก็อนุโลมให้ แต่ตอนกลางคืน ลูกๆ ก็ยังต้องมานอนกับแม่อยู่ พ่อปลานอนตัวเดียวตามเคย

DAY 15 ลูกปลามีความยาว 6-7 มิลลิเมตร ลำตัวเริ่มหนาออกไปในทางกลมทรงกระบอก แม่ปลาเริ่มปล่อยไม่ดูแลเข้มงวดเหมือนก่อน ลูกปลาว่ายพล่านไปทั่วตู้ พ่อแม่ปลาเริ่มคืนดีกัน มีการจู๋จี๋กันบ้างตามแต่โอกาสจะอำนวย ผมย้ายลูกปลาออกจากตู้ในวันที่สิบหก ใช้กระชอนผ้านุ่มๆ บรรจงไล่ช้อน พอใกล้จะพ้นน้ำอย่ายกขึ้นมาทั้งกระชอน ให้เอาช้อนหรือกระบวยค่อยๆตักออกมา นับได้ 35 ตัว ส่วนอีกตู้ได้ 17 ตัว ยังงงๆกับความแตกต่างของจำนวนลูกปลาอยู่เหมือนกัน

DAY 22 ถึงวันนี้เช้าวันที่ยี่สิบสอง ลูกปลามีความยาว 1 ซ.ม. ลำตัวที่กลมทีแรกตอนนี้เริ่มออกแบนข้างบ้างแล้ว สังเกตดูที่เหงือกของลูกปลามีลักษณะกางออกทุกตัวคล้ายๆ ลูกปลาบู่ แปลกใจเหมือนกันเลยลองค้นดูในอินเตอร์เนต พอเห็นภาพลูกปลาที่บรรดาเซียนทั้งหลายเพาะแล้วถ่ายรูปมาให้ดูก็ค่อยสิ้นสงสัย เป็นลักษณะเดียวกันหมด ถึงตอนนี้แล้วผมมั่นใจว่าปลาหมอแคระอพิสโตแกรมมาไม่ได้เพาะพันธุ์ยากไปกว่าแรมหรือปลาหมอพันธุ์อื่นๆ หลายคนอ่านบทความนี้จบลงก็อาจจะเกิดความคิดว่า อุเหม่ ในเมื่อไอ้เจ้าอันโตนิโอมันสามารถเพาะปลาตัวจ้อยเช่นนั้นได้ ไฉนตูข้าจะทำบ้างไม่ได้เล่า ลองดูนะครับ