Skip to content

ปรับปรุง เว็บไซต์ เยอะแยะเลย ลองกดเข้าไปเล่นดูสิ ตอนนี้ มีหมอตั้ม มาประจำที่ โรงพยาบาลแล้วนะครับ ใครมีปัญหาปลาป่วย ปรึกษาได้ครับ

ห้อง Crossbreed อาทิ เช่น ปลาไตรทอง, ปลาเท็กซัสแดง, Flowerhorn, Pearl horn, นกแก้ว, คิงคอง, และ ครอสบรีด สายพันธุ์ต่างๆ แยกออก มาเป็นห้อง แต่ไม่แยก ค่าย เพื่อความ มัน ในการอ่าน กระทู้จริงๆ

0012820

ความรู้สำหรับมือใหม่

นาย y เจ้าเก่า
นาย y เจ้าเก่า (58.11.40.10) [2006-02-03 15:10:46]
ลูกปลาที่ยังไม่ลอกสี
ผู้เลี้ยงที่กำลังเลือกซื้อปลาเรเทกซัสที่ยังไม่ลอก มักเลือกซื้อลูกปลาเล็ก ขนาดตั้งแต่ 2 ถึง 5 นิ้ว ปลาที่ยังไม่ลอกที่โตแล้วส่วนใหญ่จะไม่นิยมซื้อมาเลี้ยง เพราะโอกาสที่ปลาจะลอกขณะที่โตเต็มที่นั้นมีน้อยมาก แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไป ส่วนที่พบว่ามีการซื้อขายกันก็มักเป็นตัวผู้ที่มีเชื้อเพื่อใช้เป็นพ่อพันธุ์ในการผลิตลูกปลาเรดเทกซัส แต่โอกาสที่จะพบเรดเทกซัสตัวผู้มีเชื้อนั้นหาได้ยากมาก ดังนั้นในส่วนของบทความนี้จึงผู้เขียนจึงขออนุมานว่า การเลือกซื้อปลาที่ยังไม่ลอกก็คือการเลือกซื้อลูกปลาเรดเทกซัสนั่นเอง ซึ่งขออธิบายเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้
1) เม็ดมุก และรูปแบบการเรียงตัว
โดยปกติ ราคาของลูกปลาเรดเทกซัส รูปแบบและการปรากฏของเม็ดมุกบนตัวปลาจะเป็นสิ่งกำหนดราคาลูกปลาแต่ละตัว ซึ่งลักษณะมุกปลาที่ดีนั้น ให้ผู้ซื้อสังเกตความแววาว ความคมชัด และรูปแบบการเรียงตัวของเม็ดมุก หรือที่เรียกกันว่า “แพทเทิร์นมุก” (Pearl Pattern) เม็ดมุกจะต้องมีความแวววาว คมชัด หากลามกระจายไปถึงส่วนหัว ลงมาที่หน้าระหว่างตา จรดริมฝีปากบน อีกทั้งครอบคลุมไปถึงส่วนใต้คางและส่วนท้องด้านล่าง จะเป็นลักษณะที่ดี อนาคตโอกาสที่จะได้ปลาสวยๆ ก็มีมาก ลักษณะเม็ดมุกและรูปแบบการเรียงตัวของมุกปลาเรดเทกซัสจะเป็นรูปแบบเฉพาะของปลาแต่ละตัว ไม่ซ้ำกัน นอกจากรูปแบบการเรียงตัวของมุก ผู้ซื้อจะต้องพิจารณาในส่วนสีของเม็ดมุกด้วย ซึ่งมีหลายสีด้วยกัน ได้แก่ มุกสีขาวด้าน มุกสีขาวสว่าง มุกสีเขียว และมุกสีฟ้า เป็นต้น และไม่ว่าจะเป็นสีใดก็ตามมุกที่ให้สีสว่างปลาจะสวยมากกว่าปลาที่มีมุกสีด้าน อย่างไรก็ตาม หากยังไม่รู้ว่าจะเลือกมุกปลาลวดลายแบบใหนดีนั้น ผู้เขียนแนะนำให้เลือกแบบที่ถูกใจผู้เลี้ยงเป็นสำคัญ เพราะการเลือกปลายังมีส่วนอื่นๆ ให้พิจารณาตัดสินใจอีกมาก ซึ่งรายละเอียดของมุกปลาแต่ละแบบสามารถอ่านได้ในหัวข้อ รูปแบบลวดลายมุกปลาเรดเทกซัสในหัวข้อถัดไป

ลูกปลาเรดเทกซัสที่เกิดจากพ่อปลาเรดเทกซัสมีเชื้อกับแม่ปลานกแก้ว ตัวขนาด 5 นิ้ว แหล่งเพาะพันธุ์ปลาบางแหล่งผลิตลูกปลามีคุณภาพ ได้ มุก ทรง และสีปลาที่ดี แม้ปลาจะยังมีขนาดเล็กอยู่ก็ตาม
2) รูปทรง หรือรูปร่างของปลา
ในการพิจารณารูปทรงของลูกปลาเรดเทกซัส ส่วนใหญ่จะคล้ายกับการเลือกซื้อลูกปลาหมอสีครอสบรีดทั่วไป กล่าวคือ ลำตัวควรสั้นกว้าง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าได้สัดส่วนที่ดี ส่วนหัวมีแววหัวโหนก บางตัวหัวตั้งโหนกตั้งแต่ขนาด 3 - 4 นิ้ว ถือเป็นข้อดี และที่จะต้องพิจารณาเป็นพิเศษคือ ความหนาส่วนแผ่นหลังของปลา ลักษณะรูปร่างปลาที่ดีเมื่อมองเป็นภาพตัดจากด้านหน้าจะคล้ายกับรูปใบโพธิ์ หรือรูปหยดน้ำคว่ำ หากปลาที่ท่านเลือกมีลักษณะดังกล่าว เมื่อปลาโตขึ้นจะทำให้รับกับส่วนหัวและส่วนหน้าของปลา ทำให้เมื่อมองปลาจากด้านหน้า หัวจะไม่ลีบแบน ใบหน้าของปลาจะกว้างดูอิ่ม แก้มปลาจะยุ้ยซึ่งเป็นลักษณะที่ดี สวยงาม
3) ครีบปลา
ครีบปลา หรือภาษาของนักเล่นปลาเรียกกันว่า “เครื่องปลา” ซึ่งประกอบด้วย ครีบชายน้ำบน หรือกระโดง, ครีบชายน้ำล่าง, ครีบอก, ครีบท้อง, รวมทั้งครีบหาง ลักษณะที่ดีจะต้องแผ่กว้าง หรือที่เรียกกันว่า “ปลาเครื่องใหญ่” ปลายกระโดงจะต้องตั้งคล้ายธงสะบัดชัย ครีบชายน้ำบนและล่าง จะต้องยาวปิดส่วนครีบหาง จากนั้นให้พิจารณาในส่วนของก้านครีบ ว่าตรงดีหรือไม่ ก้านครีบที่ดีต้องตรงไม่มีปม ซึ่งการเกิดปมบนก้านครีบปลานี้ จะไม่ค่อยพบในลูกปลาที่มีขนาดเล็ก จะพบในปลาที่มีอายุมากๆ แล้วเท่านั้น
4) สีสัน
สีของเนื้อปลาจะต้องแดงใส สีแดงในลูกปลาขนาดเล็กจะพบได้บางบริเวณเท่านั้น โดยเฉพาะตรงส่วนแก้ม และปลายขอบครีบชายน้ำบนและล่าง ลูกปลาที่มีเนื้อแดงเชื่อกันว่าเมื่อปลาลอกและโตเต็มที่แล้วโอกาสที่ปลาตัวนั้นจะแดงจะยิ่งมีสูงขึ้น
5) เพศปลา
ผู้เลี้ยงปลาเรดเทกซัสส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงปลาเพศผู้เนื่องจากปลาตัวผู้เมื่อโตเต็มที่แล้วจะมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าตัวเมีย หัวโหนกกว่า และสีสันของตัวผู้จัดจ้านกว่า อีกทั้งท่วงท่าการว่ายจะสง่างามมากกว่าตัวเมีย แต่ก็เคยมีพบเห็นเช่นกันที่เรดเทกซัสตัวเมียที่มีความสวยงามเทียบเท่ากับตัวผู้ การดูเพศปลาเรดเทกซัสนั้นค่อนข้างดูได้ยากเมื่อเทียบกับปลาหมอสีครอสบรีดสายพันธุ์อื่น โดยปกติหากเป็นปลาจำพวกฟลาวเวอร์ ขนาดประมาณ 4-5 นิ้ว ก็สามารดูเพศปลาได้แล้ว แต่เรดเทกซัสจะต้องรอให้โตมากกว่านี้
6) จุดตำหนิปลา
หลังจากพิจารณา เม็ดมุก รูปทรง ครีบ และสีสัน ตามที่แนะนำข้างต้นแล้ว สิ่งสุดท้ายที่ลืมไม่ได้โดยเด็ดขาด คือ จุดตำหนิ เช่น แก้มบุบ ปากเบี้ยว ตาเหล่ ตาโปน ครีบแหว่ง การทรงตัวขณะว่ายน้ำ อาการที่เกิดจากปลาป่วย หรือขาดสารอาหาร เป็นต้น
ลูกปลาเรดเทกซัส ขนาด 5 นิ้ว ดูโดยรวมสวยครบเครื่อง แต่บางครั้งกลับพบตำหนิที่ไม่น่าเกิด เช่น ปากเบี้ยว ตาโบน เป็นต้น

การพิจารณาเลือกซื้อปลาเรดเทกซัสลูกปลาที่ลอกสีแล้ว
โดยปกติติปลาเรดเทกซัสที่ลอกสีแล้วผู้เลี้ยงส่วนใหญ่มักนิยมเลือกปลาที่โตแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากประสบการณ์ของนักเลี้ยงปลาส่วนใหญ่มักพบว่า ปลาเรดเทกซัสที่มีการลอกสีขณะที่เป็นลูกปลาอยู่นั้นปลาเมื่อโตเต็มที่แล้วปลามักไม่แดงซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ดี ดังนั้นความหมายของผู้เขียนในการเลือกซื้อปลาลอก คือหมายถึงปลาโตที่ลอกสมบูรณ์แล้ว มีอายุโดยเฉเลี่ยประมาณ ปีครึ่งถึงสองปี ขนาดตั้งแต่ 10 นิ้วขึ้นไป โดยอธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้
1) เม็ดมุก และรูปแบบการเรียงตัว
โดยปกติการพิจารณาเม็ดมุก และรูปแบบการเรียงตัว จะใช้หลักการเดียวกันกับการเลือกซื้อลูกปลาที่ยังไม่ลอก และที่มักให้ความสำคัญกันมากที่สุดสำหรับปลาลอก คือมุกจะต้องคลุมมาถึงส่วนหัวและหน้า จรดริมฝีปากบน หรือมีเค้าอนาคตว่ากำลังจะขึ้น หากลามคลุมมาถึงส่วนท้องได้จะดียิ่ง ส่วนรูปแบบการเรียงตัวของมุกบริเวณลำตัวก็สามารถจำแนกได้เช่นเดียวกันกับลูกปลาที่ยังไม่ลอก (ดูรูปและคำอธิบายประกอบในหัวข้อรูปแบบลวดลายมุกปลาเรดเทกซัส) แต่ต้องพิถีพิถันในการเลือกมากกว่า เพราะปลาโตที่ลอกแล้วมีราคาค่อนข้างสูง
1.1 มุกเรียงตัวแบบตาข่าย มุกจะเรียงตัวเป็นเส้นเล็กๆ เชื่อมโยงกันคล้ายตาข่าย มุกรูปแบบนี้ ถ้าการเว้นช่องไฟไม่ดีหรือมุกถี่เกินไป อีกทั้งหากสีเนื้อปลาไม่แดงเข้ม ปลาจะมีสีขาวซีด ไม่สวยงาม
1.2 มุกเรียงตัวแบบเมล็ดข้าวโพด เม็ดมุกจะเรียงตัวยาวขนานตามความยาวลำตัวปลา มีช่องไฟสม่ำเสมอกัน มุกรูปแบบนี้ เป็นรูปแบบมาตรฐานที่นิยมกันมาก เพราะดูสวยงามแบบไม่รู้เบื่อ
1.3 มุกเรียงตัวแบบกระจาย เม็ดมุกจะกระจายทั่วทั้งตัว หากมีการเว้นช่องไฟที่ดีตัดกับสีพื้นแดง ก็เป็นปลาที่สวยงามอีกรูปแบบหนึ่ง โอกาสที่จะพบปลารูปแบบนี้ที่สวยๆ ก็จะพอๆ กับปลามุกแบบเมล็ดข้าวโพด ซึ่งถือเป็นรูปแบบมุกแบบมาตรฐานอีกแบบหนึ่งที่นิยมในปัจจุบัน
1.4 มุกเรียงตัวแบบลายงูเลื้อย เป็นมุกอีกแบบหนึ่งที่หาได้ยาก เป็นที่ต้องการของนักเลี้ยงเรดเทกซัสมากอีกแบบหนึ่ง ลักษณะของเม็ดมุกจะเรียงติดกันเป็นเส้นยาวคดเคี้ยวไปมาคล้ายการเลื้อยของงู
1.5 มุกเรียงตัวแบบลายสมอง จะเป็นเม็ดมุกที่เรียงติดกันเป็นเส้นคดเคี้ยวคล้ายรอยหยักของสมอง ลวดลายนี้ต้องเกิดทั่วทั้งตัวมิใช่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง เรดเทกซัสส่วนใหญ่จะพบลายนี้เฉพาะส่วนหน้า มุกปลารูปแบบนี้หายากเช่นกันกับมุกแบบลายงูเลื้อย
1.6 มุกแบบผสม
รูปแบบมุกของปลาบางตัวอาจไม่สามารถจำแนกอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งได้ เนื่องจากมีรูปแบบมุกหลายแบบอยู่ในตัวเดียวกัน ปลาที่มีมุกแบบนี้ผู้ซื้อควรพิจารณาในเรื่องของการเว้นช่องไฟเป็นสิ่งสำคัญ เม็ดมุกไม่ควรถี่มากจนเกินไป และหากปลาตัวนั้นดูองค์ประกอบโดยรวมแล้วสวยก็ถือว่าเป็นปลาที่มีลักษณะดีด้วยเช่นกัน
2) รูปทรง หรือรูปร่างของปลา
ในการพิจารณารูปทรงของปลาเรดเทกซัส ส่วนใหญ่จะคล้ายกับปลาหมอสีครอสบรีดทั่วไป กล่าวคือลำตัวสั้นกว้าง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าได้สัดส่วน หัวโหนก แต่ที่จะต้องพิจารณาเป็นพิเศษคือ ความหนาของส่วนแผ่นหลังของปลา ลักษณะรูปร่างปลาที่ดีเมื่อมองเป็นภาพตัดจากด้านหน้าจะคล้ายกับรูปใบโพธิ์ หรือรูปหยดน้ำคว้ำ ปลาที่มีลักษณะดังกล่าวจะทำให้ส่วนหลังรับกับส่วนหัวและหน้าของปลา ทำให้เมื่อมองปลาจากด้านหน้า ส่วนหัวจะไม่ลีบแบน ใบหน้าของปลาจะกว้างดูอิ่ม แก้มปลาจะยุ้ยซึ่งเป็นลักษณะที่ดี สวยงาม และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ปลาจะต้องไม่อ้วนลงพุง
3) ครีบปลา
ครีบปลา หรือภาษาของนักเล่นปลาเรียกกันว่า “เครื่องปลา” ซึ่งประกอบด้วย ครีบชายน้ำบน หรือกระโดง, ครีบชายน้ำล่าง, ครีบอก, ครีบท้อง, รวมทั้งครีบหาง ลักษณะที่ดีจะต้องแผ่กว้าง หรือที่เรียกกันว่า “ปลาเครื่องใหญ่” ปลายกระโดงจะต้องตั้งคล้ายธงสะบัดชัย ครีบชายน้ำบนและล่าง จะต้องยาวปิดส่วนครีบหาง จากนั้นให้มาพิจารณาในส่วนของก้านของครีบ ว่าตรงดีหรือไม่ ก้านครีบที่ดีต้องตรงไม่มีปม
4) สีสัน
สีของเนื้อปลาจะต้องมีสีแดง ระดับความข้มของสีแดงนี่เองที่จะเป็นสิ่งกำหนดราคาของปลา ระดับความเข้มของสีปลาจะเริ่มจาก สีขาวซีดซึ่งไม่เป็นที่นิยม, สีขาวอมชมพู, สีเหลือง, สีส้ม, สีแดงอมส้ม และสีแดงซึ่งเป็นที่นิยมกันมากที่สุด
5) เพศปลา
ผู้เลี้ยงปลาเรดเทกซัสส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงปลาเพศผู้เนื่องจากปลาตัวผู้เมื่อโตเต็มที่แล้วจะมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าตัวเมีย หัวโหนกกว่า และสีสันของตัวผู้จะจัดจ้านกว่า อีกทั้งท่วงท่าการว่ายจะสง่างามมากกว่าตัวเมีย แต่ก็เคยมีพบเห็นเช่นกันที่เรดเทกซัสตัวเมียที่มีความสวยงามเทียบเท่ากับตัวผู้ การดูเพศปลาเรดเทกซัสที่โตนั้นก็เหมือนกับการดูเพศปลาหมอสีทั่วไป คือ บริเวณใต้ท้องปลาจะมีอวัยวะเพศยื่นออกมา ตัวผู้จะเป็นรูปปลายแหลม ส่วนตัวเมียส่วนปลายจะกลมทู่
6) จุดตำหนิปลา
การเลือกปลาลอกถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากราคาปลาชนิดนี้แพงมาก ตั้งแต่หลักหลายหมื่นจนถึงหลายแสนบาทหากซื้อไปแล้วพบตำหนิภายหลังก็จะทำให้ผู้ซื้อเสียเปรียบผู้ขายได้ แต่ถ้าพบขณะที่ต่อรองราคาปลากันอยู่ก็จะทำให้ผู้ซื้อใช้จุดตำหนิของปลาตัวนั้นเป็นส่วนลดได้ โดยส่วนใหญ่เมื่อเราพิจารณา เม็ดมุก รูปทรง ครีบ และสีสัน ตามที่แนะนำในข้อ 1 ถึง 4 แล้ว สิ่งสุดท้ายที่ลืมไม่ได้โดยเด็ดขาด คือ จุดตำหนิ เช่น แก้มบุบ ปากเบี้ยว ตาเหล่ ตาโปน ครีบแหว่ง การทรงตัวขณะว่ายน้ำ อาการที่เกิดจากปลาป่วย หรือขาดสารอาหาร ฯลฯ ผู้เลือกซื้อจะต้องอาศัยการสังเกตที่ดี หากผู้ขายร้านใดมีความจริงใจกับลูกค้าก็มักจะช่วยแนะนำลูกค้าให้ระวังในจุดนี้ได้



รูปแบบลวดลายมุกปลาเรดเทกซัส
1) มุกเรียงตัวแบบตาข่าย มุกจะเรียงตัวเป็นเส้นเล็กๆ เชื่อมโยงกันคล้ายตาข่าย มุกรูปแบบนี้หากการเว้นช่องไฟไม่ดีหรือมุกถี่เกินไป หลังปลาลอกสีแล้วหากสีไม่แดงเข้ม อาจทำให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า “ลอกขาว” ซึ่งปลาที่ลอกลักษณะนี้จะมีสีขาวซีด

ปลาเรดเทกซัส มุกเรียงตัวแบบตาข่าย เป็นปลาที่สวยสมบูรณ์ตัว
2) มุกเรียงตัวแบบเมล็ดข้าวโพด เม็ดมุกจะเรียงตัวยาวขนานตามความยาวลำตัวปลา มีช่องไฟสม่ำเสมอกัน มุกรูปแบบนี้หากปลาลอกสี โอกาสที่จะได้ปลาสวยมีมาก
ปลาเรดเทกซัสลอก มุกเรียงตัวแบบเมล็ดข้าวโพด
3) มุกเรียงตัวแบบกระจาย เม็ดมุกจะกระจายทั่วทั้งตัว หากมีการเว้นช่องไฟที่ดี เมื่อลอกสีแล้ว ก็เป็นปลาที่สวยงามอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งโอกาสที่จะได้ปลาสวย ก็มีพอๆ กับปลาที่มีมุกแบบเมล็ดข้าวโพด

ตัวอย่างปลาเรดเทกซัสไม่ลอก มุกเรียงตัวแบบกระจาย




4) มุกเรียงตัวแบบลายงูเลื้อย เป็นมุกอีกแบบหนึ่งที่หาได้ยาก เป็นที่ต้องการของนักเลี้ยงเรด เทกซัสมากอีกแบบหนึ่ง ลักษณะของเม็ดมุกจะเรียงติดกันเป็นเส้นยาวคดเคี้ยวไปมาคล้ายการเลื้อยของงู ผู้เขียนพยายามหาถ่ายรูปปลาโตที่ลอกแล้วเพื่อเป็นตัวอย่างประกอบ แต่หาไม่ได้ มีปลาขนาด 5 นิ้ว ตัวนี้แหละครับที่คงทำให้ผู้อ่านพอนึกภาพออกได้
ตัวอย่างปลาเรดเทกซัสขนาด 5 นิ้ว มุกเรียงตัวแบบลายงูเลื้อย
5) มุกเรียงตัวแบบลายสมอง เป็นลักษณะเม็ดมุกที่เรียงติดกันเป็นเส้นคดเคี้ยวคล้ายรอยหยักของสมอง ลวดลายนี้ต้องเกิดทั่วทั้งตัวมิใช่เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง เรดเทกซัสส่วนใหญ่จะพบได้เฉพาะส่วนหน้าเท่านั้น มุกปลาแบบนี้เป็นที่ใฝ่ฝันของนักเลี้ยงปลาเรดเทกซัสมากเช่นเดียวกับลายงูเลื้อย ซึ่งราคาปลาในรูปแบบที่ 4 และ 5 นี้ จะแพงที่สุด เพราะเป็นลักษณะที่หาได้ยาก
ปลาเรดเทกซัสลอกแล้ว มุกเรียงตัวแบบลายสมอง
6) มุกแบบผสม รูปแบบมุกของปลาบางตัวอาจไม่สามารถจำแนกอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งได้ เนื่องจากมีมุกหลายแบบอยู่ในตัวเดียวกัน ดังนั้นผู้ซื้อควรพิจารณาในเรื่องของการเว้นช่องไฟเป็นหลัก ซึ่งไม่ควรถี่มากจนเกินไป
ปลาเรดเทกซัสลอกแล้วเช่นกัน มุกเรียงตัวแบบผสม

นอกจากนี้ เนื่องจากปลาเรดเทกซัสเป็นปลาสายพันธุ์ไม่นิ่ง เราอาจพบปลาลวดลายมุกแบบอื่นอีกมากมาย ถ้าหากท่านผู้อ่านมีปลาที่มีรูปแบบมุกสวยแปลก นอกเหนือจากตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด และต้องการให้เพื่อนๆ สมาชิก TRT ได้ชมกัน


ตู้ปลาและอุปกรณ์ประกอบ
การเลี้ยงปลาหมอสีเรดเทกซัสหรือปลาหมอสีครอสบรีดอื่นๆ โดยรวมแล้วมีหลักวิธีคล้ายกันทั้งในเรื่องการดูแล และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเลี้ยง ท่านที่เคยมีประสบการณ์ในการเลี้ยงปลาชนิดนี้ทราบดีว่าการเลี้ยงปลาหมอสีครอสบรีดจะเลี้ยงง่ายกว่าปลาสวยงามชนิดอื่น เนื่องจากเป็นปลาที่มีการปรับตัวและทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี โดยเฉพาะบ้านเราที่เป็นประเทศในเขตร้อนชื้น ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเลี้ยงและการเพาะพันธุ์ ปลาหมอสีครอสบรีดมากสำหรับท่านที่เป็นมือใหม่เพิ่งเริ่มเลี้ยง ควรต้องมีความพร้อมและความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์การเลี้ยงจำเป็นต้องเตรียมให้พร้อมก่อนปลาจะมาถึงที่บ้าน ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. ตู้ปลาและอุปกรณ์ประกอบ เป็นสิ่งแรกที่จะต้องคำนึงถึงมากที่สุดในบรรดาอุปกรณ์ทั้งหมด ขนาดของตู้ปลาให้ซื้อขนาดใหญ่ไปเลยหากสถานที่และกำลังทรัพย์เพียงพอ ปัจจุบันราคาตู้ปลาถูกลงมาก ขนาดที่แนะนำคือ ขนาด 48 นิ้ว หรือ 60 นิ้ว ขึ้นไป ซึ่งเป็นขนาดที่ปลาโตเต็มที่ 1 ตัว อยู่ได้อย่างสุขสบาย การเลือกซื้อตู้ปลามีหลักการและข้อปฏิบัติในการการเลือกซื้อ ดังนี้
1.1) ถ้าเพิ่งซื้อลูกปลาตัวเล็กมาเริ่มเลี้ยงพร้อมกับตู้ปลาตู้ขนาดตามที่แนะนำข้างต้น เมื่อปลาเริ่มโตผู้เลี้ยงจะไม่เสียเงินเสียเวลาในการหาซื้อตู้ใบใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น สำหรับปลาตัวเล็ก แรกๆ อาจจะต้องใช้แผ่นกั้นช่องกั้นให้ก่อน เนื่องจากขนาดตู้ที่ใหญ่จะทำให้ปลาหาอาหารที่หย่อนให้ไม่เจอ ทำให้ปลากินอาหารน้อย สิ้นเปลืองอาหารด้วยเช่นกัน เมื่อปลาเริ่มชินตู้หรือมีขนาดโตขึ้นจึงค่อยเอาแผ่นกั้นออก
1.2) ตู้ปลาขนาดใหญ่บรรจุน้ำได้ปริมาณมาก เวลาที่น้ำในตู้ปลาจะเน่าเสียก็นานขึ้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนน้ำตู้ปลาบ่อยๆ การเปลี่ยนน้ำเป็นการรบกวนปลาทำให้ปลาตื่นสีปลามักจะซีด ตู้ที่มีขนาดพื้นที่กว้างปลาจะไม่เคลียด ทำให้กินอาหารได้มาก เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
1.3) ตู้ปลาขนาดใหญ่ น้ำในตู้มีปริมาณมากทำให้อุณหภูมิน้ำในตู้ไม่เปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิภายนอกเร็วจนเกินไป ทำให้ปลาไม่ต้องปรับตัวกับอุณหภูมิอยู่บ่อยๆ ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของปลา และที่สำคัญเที่สุด ปลาหมอครอสบรีดส่วนใหญ่รวมทั้งปลาเรดเทกซัสนั้น สีปลามักจะซีด หรือที่เรียกกันว่า “สีดร็อบ” เมื่ออุณหภูมิในน้ำต่ำ หรือน้ำเย็นจนเกินไป อีกทั้งปลาอาจป่วยเป็นโรคได้ โดยเฉพาะโรคจุดขาว (White Spot) ที่มักพบเมื่ออากาศภายนอกเริ่มเย็น อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงปลาหมอสีครอสบรีดจะอยู่ที่ประมาณ 27-28 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิปกติของบ้านเรา ยกเว้นในช่วงฤดูหนาว ผู้เลี้ยงจะต้องจัดหาฮีทเตอร์ (Heater) ทำความร้อนในตู้ปลา (ราคาไม่กี่ร้อยบาท) เพื่อให้ปลาคงความสวยงาม และอยู่รอดได้ในช่วงฤดูดังกล่าว
1.4) ปลาหมอเรดเทกซัสเป็นปลาที่มีอุปนิสัยหวงถิ่นเช่นเดียวกันกับปลาหมอสีครอสบรีดอื่นทั่วไป ปลาที่โตแล้วจะเลี้ยงรวมกันไม่ได้และไม่ควรเลี้ยงรวมกันกับปลาชนิดอื่น เพราะปลาจะไล่กัดกัน ดังนั้นหากจำเป็นต้องเลี้ยงรวมในตู้เดียวกันหลายตัวควรกั้นตู้ให้อยู่ช่องละตัว
1.5) สำหรับการติดตั้งตู้ปลา ขอแนะนำให้วางบนพื้นผิวทีเรียบ หากเป็นโต๊ะจะต้องแข็งแรงมากพอที่จะรับน้ำหนักของตู้รวมกับน้ำได้ ควรมีโฟมหนาขนาด 2 เซนติเมตร ขนาดความกว้างและยาวจะต้องเท่ากับส่วนพื้นตู้ การใช้โฟมรองพื้นก็เพื่อเป็นการกระจายน้ำหนักและลดแรงเครียดของกระจกกับพื้นผิว ซึ่งจะทำให้ตู้ปลาไม่แตกร้าวได้ สว่นใหญ่ร้านค้าที่ขายตู้ปลามักจะให้มาเป็นชุดกับตู้ปลา สำหรับท่านที่มีงบประมาณในการจัดซื้อมากแนะนำให้ซื้อขาเหล็กที่เป็นชุดมาตรฐานออกแบบมาโดยเฉพาะกับตู้แต่ละรุ่นซึ่งจะเข้ากันได้พอดี หากจะให้สวยงามยิ่งขึ้นทางร้านค้าอาจมีแบบที่เป็นชุดเฟอร์นิเจอร์ทำมาจากไม้ ราคาก็จะแพงขึ้นตามชนิดของไม้และการออกแบบ
1.6) ส่วนของฝาตู้ มีไว้เพื่อป้องกันปลาไม่ให้กระโดดออกมาจากตู้ ป้องกันฝุ่นละออง และสัตว์อื่นๆ ที่จะทำร้ายปลาท่านได้ บางรุ่นมีไฟนีออนอยู่ใต้ฝาเพื่อเป็นไฟส่องสว่างในตู้ปลาให้เกิดความสวยงาม หรือบางรุ่นไม่มีซึ่งก็จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ สำหรับความเห็นของผู้เขียนขอแนะนำให้ผู้เลี้ยงลงทุนซื้อฝาตู้ นอกจากประโยชน์ที่ได้กล่าวมา ฝาตู้ยังช่วยให้อุณหภูมิน้ำภายในตู้ไม่เปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิภายนอกเร็วจนเกินไป ซึ่งเป็นผลดีตามที่กล่าวไว้ในหัวข้อที่ 1.3









"ระบบกรองน้ำ" เป็นสิ่งสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่ง เป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อคุณภาพของน้ำที่ปลาอาศัยอยู่ ปลาจะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว หรือ ชงักการเจริญเติบโต เป็นผลมาจากคุณภาพของน้ำนี่เอง น้ำในตู้ที่ไม่ผ่านระบบกรองหรือบำบัดน้ำที่ดีจะทำให้มีการสะสมของเสียที่เกิดจากมูลของปลา รวมทั้งเศษอาหารเน่าเปื่อยที่เหลือจากการให้อาหาร ส่งผลให้ในน้ำมีเชื้อแบคทีเรียมากเกินไป เชื้อแบคทีเรียจะใช้ออกซิเจนที่มีอยู่ในน้ำเพื่อการหายใจ ทำให้ออกซิเจนในน้ำมีปริมาณต่ำอาจไม่เพียงพอต่อการหายใจของปลาที่เลี้ยงไว้ นอกจากนี้ ผลจากขบวนการย่อยสลายของเสียโดยแบคทีเรียยังทำให้เกิดก๊าซแอมโมเนีย ซึ่งเป็นพิษต่อปลา ทำให้ปลาอ่อนแอ ป่วยเป็นโรค หรืออาจตายได้ในที่สุด
ระบบกรองน้ำที่ดีนอกจากจะทำให้คุณภาพน้ำดีและทำให้ปลาที่เลี้ยงมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์แล้ว ยังช่วยให้ผู้เลี้ยงไม่ต้องทำความสะอาดตู้และเปลี่ยนน้ำบ่อยครั้งมากนัก ระบบกรองน้ำมีมากมายหลายแบบ แต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ก่อนจะเข้าถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ ผู้เขียนขอออกตัวก่อนว่าผู้เขียนมิใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของระบบบำบัดน้ำ (Water Treatment) จึงขออธิบายตามประสบการณ์ที่มี ดังนี้
ระบบการบำบัดน้ำแบบกรองในตู้หรือระบบปิด
วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดประหยัดที่สุด แต่ประสิทธิภาพต่ำที่สุดเช่นกัน ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้งระบบกรองแบบนี้ ได้แก่ แผ่นตะแกรงรองพื้นตู้, ท่อส่งน้ำ, หัวบังคับน้ำ, สายยางท่อออกซิเจน, หินกรวดสำหรับตกแต่งตู้ปลา และปั๊มออกซิเจน ซึ่งอุปกรณ์ที่กล่าวมา ร้านค้าจะมีขายให้เป็นชุด วิธีติดตั้งทำได้โดย
1) นำแผ่นตะแกรงรองพื้นตู้ปูให้เต็มพื้น แล้วนำหินกรวดโรยทับไว้เพื่อไม่ให้แผ่นตะแกรงลอยน้ำ ให้เว้นเฉพาะตรงที่เป็นรูสำหรับติดท่อส่งน้ำไว้
2) นำท่อส่งน้ำมาติดเข้ากับรูของตะแกรง ซึ่งถูกออกแบบมาให้ใส่กันได้พอดี จากนั้นติดหัวบังคับน้ำที่ปลายท่อ เสียบสายยางท่อออกซิเจนเข้าตรงเดือยต่อท่อส่งน้ำ ปลายอีกข้างหนึ่งต่อเข้ากับปั๊มออกซิเจน
3) เติมน้ำให้เต็มตู้ โดยให้ระดับน้ำท่วมส่วนหัวบังคับน้ำ จากนั้นเปิดปั๊มออกซิเจน เมื่อปั๊มทำงานจะทำให้ออกซิเจนถูกดันลงด้านล่างของตะแกรง ทำให้น้ำถูกดูดขึ้นมาตามท่อส่งน้ำ น้ำจะถูกไหลเวียนอยู่ในตู้ ตะกอนของเสียต่างๆ ที่อยู่ในน้ำจะถูกดูดมาเก็บที่ใต้ตะแกรงด้านล่าง
สำหรับวิธีการกรองแบบนี้ของเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตู้จะไม่ถูกกำจัดออกจากน้ำ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นเพียงวิธีการเติมออกซิเจนให้แก่น้ำวิธิหนึ่งเท่านั้นแต่ก็ยังดีกว่าการใช้ปั๊มออกซิเจนต่อสายยางเข้ากับหัวทรายแล้วหย่อนลงในน้ำเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการกรองแบบระบบปิดจึงเหมาะกับลูกปลาขนาดเล็กที่ยังกินและถ่ายมูลยังไม่มาก แต่ไม่เหมาะกับปลาที่มีขนาดโตแล้ว
ระบบการบำบัดน้ำแบบกรองนอกตู้หรือระบบเปิด
ระบบบำบัดน้ำแบบกรองนอกตู้มีอยู่หลายประเภท แต่ที่เหมือนกันก็คืออาศัยการไหลเวียนของน้ำโดยใช้ปั๊มสูบน้ำให้ไหลเข้าสู่ระบบการกรองเพื่อดึงเอาสิ่งปฏิกูลและของเสียต่างๆ ออกจากน้ำในตู้ ซึ่งวัสดุกรองก็มีหลายประเภท หลายเกรด ให้เลือกใช้ ขึ้นอยู่กับงบประมาณ รูปแบบที่นิยมกันสำหรับการกรองน้ำแบบนอกตู้นั้นมีดังต่อไปนี้
1) ระบบกรองแบบข้างตู้ ตู้ปลาบางรุ่นจะมีช่องกรองน้ำอยู่ด้านข้าง หรือมุมใดมุมหนึ่งของตู้ติดเป็นชิ้นเดียวกันกับตู้ ช่องกรองจะแบ่งเป็น 3 ชั้น มีตะแกรงที่สามารถถอดเข้าออกได้ 2 แผ่น ชั้นล่างสุดเป็นตำแหน่งสำหรับติดตั้งปั๊มสูบน้ำ ซึ่งความแรงของปั๊มก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับขนาดของตู้ ตู้ใหญ่ก็ต้องเลือกปั๊มที่สูบน้ำได้ครั้งละมากๆ เช่นกัน ซึ่งตรงนี้ผู้ขายตู้ส่วนใหญ่มักจะจัดเตรียมให้มาพร้อมกับตู้ เพราะร้านค้าจะต้องมีการทดสอบการไหลเวียนของน้ำว่าปั๊มสามารถสูบน้ำเข้าตู้ได้ทันกับปริมาณน้ำที่ไหลตกลงไปในช่องกรองหรือไม่ จากชั้นล่างสุดที่เป็นตำแหน่งของปั๊มน้ำ ถัดขึ้นไปจะคั้นด้วยตะแกรง และเหนือตะแกรงจะเป็นชั้นสำหรับใส่ช่องลูกบอล ลูกบอลนี้เป็นวัสดุที่ออกแบบมาให้มีรูพรุนเพื่อชะลอเวลาการตกของน้ำที่จะไหลลงไปยังชั้นที่มีปั๊มให้ช้าลง เพื่อให้น้ำมีเวลาสัมผัสกับออกซิเจนมากขึ้นซึ่งเป็นการเติมออกซิเจนให้น้ำนั้นเอง ลูกบอลบางรุ่นมีฟองน้ำอยู่ภายในเชื่อว่าให้เป็นที่อยู่ของเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ ช่วยย่อยสลายของเสียที่ปนมากับน้ำได้ ในชั้นนี้อาจมีการใส่หินซีโอไลท์ เพื่อให้เป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ หรือถ่านกรองน้ำเพื่อขจัดกลิ่น ถัดขึ้นไปอีกเป็นชั้นสุดท้ายจะถูกคั้นด้วยตะแกรงเช่นเดิม เป็นชั้นของวัสดุกรอง หรือใยกรองน้ำ วัสดุกรองในท้องตลาดมีหลายแบบ มีทั้งแบบถี่มากจนไปถึงหยาบ และมีทั้งแบบซักแล้วนำกลับไปใช้ใหม่หรือแบบใช้ได้ไม่กี่ครั้งแล้วทิ้ง ซึ่งผู้เขียนขอแนะนำเป็นอย่างหลังดีกว่า นอกจากราคาไม่แพงแล้วยังไม่ต้องเสี่ยงกับเชื้อโรคที่อาจจะหลบซ่อนอยู่ข้างใน เมื่อนำกลับมาใช้ใหม่อาจทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ การกรองแบบข้างตู้นี้ สามารถดูดของเสียที่สะสมอยู่บริเวณก้นตู้ แขวนลอยอยู่ในน้ำ และที่ลอยอยู่บนผิวน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนนราคาของตู้แบบนี้ก็แพงกว่าตู้เปล่าๆ นิดหน่อยเท่านั้นเอง
2) ระบบกรองแบบบนตู้ วิธีนี้อาจถูกใจหลายๆ คน เนื่องจากเป็นวิธีที่ประหยัดเงิน ติดตั้งง่าย ให้ประสิทธิภาพในการกรองสูง เกือบจะเท่ากับวิธีการแรก ท่านผู้อ่านที่มีตู้เปล่าที่ไม่มีกรองด้านข้างอาจลองใช้วิธีนี้ดูกับตู้ที่บ้านจะช่วยให้ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ วิธีการนี้ผู้เขียนดัดแปลงมาจากชุดกรองบนฝาตู้ที่มีขายทั่วไป ซึ่งราคาไม่ถูกเลย โดยขออธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้
-อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม คือ ปั๊มสูบน้ำ ควรเลือกขนาดความแรงของปั๊มให้เหมาะกับขนาดของตู้ที่จะติดตั้ง หากไม่ทราบให้สอบถามจากผู้ขาย สายยางแบบตัวหนอนขนาดที่สามารถใส่กันได้พอดีกับทางออกน้ำของปั๊ม อย่าใช้สายยางที่ใช้กันทั่วไปเนื่องจากจะไม่พอดีกับปั๊มและแข็งมากทำให้ติดตั้งได้ยาก จากนั้นให้หาขวดพลาสติกรูปทรงสี่เหลี่ยมที่ใช้แล้ว ขนาด กว้าง x ยาว x หนา = 6 x 10 x 4 นิ้ว (มีขวดอาหารปลาหมอครอสบรีดยี้ห้อหนึ่งในตลาด นำเข้าจากไต้หวันที่ได้ขนาดตามที่ผู้เขียนบอก ลองไปหากันดู) นอกจากนี้ให้เตรียมลูกบอลที่ใช้กับระบบกรองน้ำขนาด 1.5 นิ้ว ประมาณ 15 - 20 ลูก, ใยกรองน้ำ, ลวด และเหล็กเส้น 2 เส้น หาขนาดที่พอดัดด้วยคีมตัดลวดได้ ความยาวก็ขึ้นอยู่กับความกว้างของตู้
-นำขวดพลาสติกที่เตรียมไว้ใช้คัตเตอร์ปาดเอาฝาด้านหนึ่งออกให้เป็นรูปกระบะ และให้เหลือส่วนหนึ่งไว้สำหรับเจาะรูสอดลวดมัดปลายสายยางที่มาจากปั๊ม ส่วนอีกด้านของขวดพลาสติกให้เจาะรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม. สักประมาณ 5 ถึง 6 รู-ใส่ลูกบอลกรองน้ำที่เตรียมไว้ลงในขวดพลาสติกที่แต่งเรียบร้อยแล้วให้เต็มเพียงชั้นเดียว จากนั้นตัดใยกรองน้ำให้พอดีกับขนาดช่องกระบะ แล้วนำมาวางทับบนลูกบอล มัดขวดพลาสติกติดกับปลายสายยางที่มาจากปั๊ม จากนั้นนำไปติดที่ตู้ปลาโดยวางบนเหล็กเส้นที่วางพาดเป็นคานอยู่บนขอบของตู้ปลา จัดสายยางสายไฟให้ดูเรียบร้อย ลองครอบฝาตู้ลงมาว่าสามารถครอบได้สนิทหรือไม่ หากปิดไม่สนิทให้ดัดเหล็กเส้นให้โค้งลงจนกว่าจะปิดได้สนิทพอดี เท่านี้ก็ได้ระบบกรองน้ำแบบประหยัด ประสิทธิภาพก็พอรับได้ ที่สำคัญคือตู้ปลาที่ซื้อมาสามารถใช้พื้นที่ได้เต็มที่ (สำหรับท่านที่ชอบให้อาหารปลาจำพวกหนอนนก มูลของปลาจะเป็นกากหนอนลอยบนผิวน้ำ ระบบกรองแบบนี้จะไม่สมารถกรองได้ ดังนั้นผู้เลี้ยงจะต้องหมั่นช้อนกากหนอนทิ้งเป็นประจำ)
3) ระบบกรองนอกตู้แบบสำเร็จรูป มีผลิตภัณฑ์มากมายที่เป็นอุปกรณ์สำหรับกรองน้ำตู้ปลาแบบสำเร็จรูปราคาส่วนใหญ่มักจะแพง ราคาแบบที่ถูกที่สุดเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 500 บาท ผลิตได้ภายในประเทศ มีรูปแบบการทำงานเหมือนกับระบบกรองแบบข้างตู้ เครื่องกรองมีลักษณะเป็นกระจกทรงสี่เหลี่ยมมีปั๊มสูบน้ำอยู่ข้างใน มีชั้นที่บรรจุลูกบอลเติมออกซิเจนให้น้ำ และชั้นบนเป็นชั้นใยกรองน้ำ การติดตั้งทำได้ง่ายเพียงวางเครื่องกรองลงในตู้ปลา เติมน้ำให้เต็มเครื่องกรองก่อน มิฉะนั้นเครื่องกรองจะลอยน้ำ อาจกระแทกตู้ปลาแตกได้ ประสิทธิภาพในการกรองน้ำให้ผลเทียบเท่าการกรองแบบข้างตู้ แต่ข้อเสีย คือ เวลาทำความสะอาดตู้ปลาจะยุ่งยากมากขึ้น เสียพื้นที่ในตู้ปลา แลดูไม่สวยงาม สำหรับระบบกรองนอกตู้สำเร็จรูปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งผลิตมาจากต่างประเทศ มีกลไกการทำงานซับซ้อน สามารถบำบัดน้ำได้คุณภาพดีมาก เครื่องกรองดูสวยงาม ติดตั้งง่ายและไม่เสียพื้นที่ของตู้ปลา แต่ข้อเสียของเครื่องกรองประเภทนี้คือคือ ราคาแพงมาก
"เครื่องปั๊มออกซิเจน "ถือเป็นอุปกรณ์พื้นฐานอันหนึ่งของการเลี้ยงปลาโดยทั่วไป ปลาสวยงามบางชนิดขาดปั๊มออกซิเจนไม่ได้ เมื่อไฟฟ้าดับก็มักจะตายกันยกตู้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้เลี้ยงปลาหลายคนเกิดอาการท้อแท้ บางคนเลิกเลี้ยงปลาไปเลยก็มี แต่สำหรับปลากลุ่มปลาหมอสีครอสบรีดดูจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นมากนัก อาจมีใช้บ้างเล็กน้อยกับปลาขนาดเล็กที่ต้องอนุบาลอยู่เท่านั้น ส่วนปลาที่มีขนาดตั้งแต่ 4 นิ้ว ขึ้นไปไม่จำเป็นต้องใช้ปั๊มออกซิเจนช่วย มีระบบกรองน้ำก็อย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว และเมื่อไฟฟ้าดับปลาหมอสีครอสบรีดสว่นใหญ่ก็ยังคงอยู่ได้ตามปกติ แต่สำหรับบางตัวที่ให้ออกซิเจนอยู่ตลอดเวลาจนเคยชิน อาจจะมีปัญหาพอควร เนื่องจากปลาไม่ได้ถูกฝึกมาให้อยู่ได้ในสภาพที่มีออกซิเจนน้อย ดังนั้นท่านที่ยังเลี้ยงปลาหมอสีครอสบรีดแบบนี้อยู่ ให้พยายามค่อยๆ ลดออกซิเจนลง จนกว่าปลาจะอยู่ได้โดยไม่ต้องมีเครื่องปั๊มออกซิเจนช่วย ซึ่งเป็นสิ่งดีเพราะปลาของท่านจะแข็งแรงโดยไม่ต้องมีเครื่องช่วยหายใจ อีกทั้งช่วยท่านประหยัดไฟได้อีกต่างหาก "ระบบบำบัดน้ำโดยการใช้สารจุลินทรีย์" ปกติจุลินทรีย์จะมีอยู่ในทุกๆ ที่ ในสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา รวมทั้งตู้ปลาทุกตู้ด้วยเช่นกัน จุลินทรีย์มีอยู่หลายชนิด บางชนิดทำให้ปลาเกิดโรค บางชนิดมีประโยชน์ช่วยในการย่อยสลายของเสียภายในตู้ปลา ทำให้น้ำในตู้ปลาเกิดความสมดุล ดังนั้นจึงมีผู้พยายามคิดค้นหาจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เพื่อช่วยในการกำจัดของเสียในน้ำ ซึ่งมีออกมาจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ มีทั้งแบบน้ำ และแบบผง บางชนิดอาจใช้ไม่ได้ผล บางชนิดใช้แล้วได้ผลดีช่วยยืดรอบของการเปลี่ยนน้ำได้อีกระยหนึ่ง แต่อ

ความคิดเห็นที่ 1

CrazyHead
CrazyHead
27
[2006-02-03 15:45:09]
ขอบคุณมากครับ เป็นประโยชน์มากๆ

ความคิดเห็นที่ 2

Jub
Jub
5
[2006-02-03 21:24:48]
ขอบคุณสำหรับความรู้มากๆเลยครับ ถือว่าเป็นประโยชน์มากเลยครับ สำหรับมือใหม่อย่างผม

ความคิดเห็นที่ 3

คนผ่านมา
คนผ่านมา (61.91.70.171) [2006-02-03 21:45:54]
นายแน่มาก ขอบอก

ความคิดเห็นที่ 4

1571663
1571663 (58.8.195.119) [2006-02-03 22:16:52]
ตั้งแต่อ่านกระทู้มามากมาย
นี่ถือว่าเป็นกระทู้ที่ยอดเยี่ยมมาก น่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง
อ่านแล้วเข้าใจง่าย
ขอชมเชยครับ

ความคิดเห็นที่ 5

BOY
BOY (20.17.35.31) [2006-02-04 10:52:25]
สุดยอดมากๆ ..บรรรุแล้วครับเท็กแดง.....

ความคิดเห็นที่ 6

 
  (58.10.183.24) [2006-02-05 11:51:19]
สุดยอกกดดดดดด

ความคิดเห็นที่ 7

ขุญหาญ
ขุญหาญ (203.113.80.140) [2006-02-06 11:13:24]
ขอบคุณ นาย y เจ้าเก่า มากครับ

ความคิดเห็นที่ 8

WICHANCOPY
WICHANCOPY [2006-08-23 06:42:00]
ขอบคุณครับ ยังอ่านไม่หมดเลย 555
ด้านบน

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนทำรายการ

เข้าระบบ