Skip to content

ปรับปรุง เว็บไซต์ เยอะแยะเลย ลองกดเข้าไปเล่นดูสิ ตอนนี้ มีหมอตั้ม มาประจำที่ โรงพยาบาลแล้วนะครับ ใครมีปัญหาปลาป่วย ปรึกษาได้ครับ

Arowazone เว็บบอร์ด สำหรับ เพื่อนๆ ที่รักการเลี้ยงปลาในครอบครัว Osteoglossidae ไม่ว่าจะเป็นอะโรวาน่าจากทวีปเอเชีย อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย หรือ อัฟริกา ไว้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

0001311

ถามผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดไฟครับ

DragonBoy
DragonBoy (202.5.84.143) [2004-05-21 17:38:31]
อยากทราบว่าหลอดGro-lux กับ Aqua Star เวลาเปิดแล้วแสงที่ออกมามันแตกก่างมากน้อยแค่ไหน อย่างไรครับ
Aqua Star นี่เป็นหลอดแดดใช่ไหมครับ
ตู้72นิ้วนี่มีหลอดไฟ4หลอด พอไหมครับ

ความคิดเห็นที่ 1

 
  (203.113.71.134) [2005-07-01 22:26:07]
ป้าแว่นป้าแว่น3/6za

ความคิดเห็นที่ 1

aLight
aLight [2004-05-21 19:12:50]
ความรู้เกี่ยวกับแสงสว่าง
จากทฤษฏีคลื่นของแสงสว่างได้ให้คำนิยามของแสงสว่างว่า เป็นพลังงานรูปหนึ่งที่มีลักษณะเป็นคลื่น สามารถเคลื่อนที่ได้ มีลักษณะเหมือนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และมีคุณสมบัติที่ทำให้ตาของมนุษย์สามารถมองเห็นแสงสว่างมีสีต่างๆได้ และสามารถแยกแยะขนาด รูปร่าง และสีของสิ่งต่าง ๆ ได้ แต่ความยาวคลื่นของแสงสว่างสีต่าง ๆ จะมีความยาวคลื่นต่างกันออกไป การที่เรามองเห็นแสงสว่างสีต่าง ๆได้ก็ขึ้นอยู่กับความยาวคลื่นของแสงสว่างสีที่ตกกระทบตาเราว่าอยู่ที่ช่วงความยาวคลื่นของแสงสว่างสีที่เท่าไรก็เห็นแสงสว่างสีนั้นออกมา

ความคิดเห็นที่ 2

aLight
aLight [2004-05-21 19:13:48]
ว่าสีของแสงสว่าง ที่ตาเรามองเห็นได้จะอยู่ในช่วงความยาวคลื่นระหว่าง 380 ถึง 760 นาโนเมตร เมื่อพลังงานของแสงสว่างสีลดลงโดยเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำเงิน การตอบสนองของดวงตามนุษย์ก็จะลดลงไปด้วย และเมื่อลดลงจนถึง 380 นาโนเมตร เราก็จะไม่สามารถมองเห็นสีของแสงสว่างได้ แต่พลังงานคลื่นแสงจะเปลี่ยนเป็นรังสีอุลตราไวโอเล็ต ในขณะเดียวกันถ้าพลังงานของแสงสว่างสีเพิ่มขึ้นจากสีเขียวเป็นสีเหลืองจนกระทั่งเป็นสีแดง การตอบสนองของดวงตาก็จะลดลงเช่นเดียวกัน จนกระทั่งถึงความยาวคลื่นแสงในช่วง 760 นาโนเมตร ก็จะไม่สามารถมองเห็นสีของแสงสว่างได้ ความยาวคลื่นแสงที่เลยจาก 760 นาโนเมตรนี้จะเปลี่ยนเป็นรังสีอินฟราเรด
แสงในช่วงที่สายตาเรามองเห็นได้นี้จะประกอบไปด้วยสี 7 สี ตามสีรุ้งคือ ม่วง, คราม, น้ำเงิน, เขียว, เหลือง, แสด และแดง
หลอดฟลูออเรสเซนต์ ( Fluorescent lamp )
หลอดแก้วของหลอดฟลูออเรสเซนต์ มีหลายแบบเช่นวงกลม ทรงกระบอก เป็นต้น การแบ่งชนืดของหลอดฟลูออเรสเซนต์นั้นเราจะแบ่งกันตามขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของหลอด เช่น หลอด T8 คือเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 หุน
T12 ก็คือเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 หุน ปัจจุบันในเมืองไทยนิยมใช้หลอด T8 กัน ในขณะที่เมืองนอกโดยเฉพาะในยุโรปกำลังนิยมใช้หลอดรุ่น T5
การทำงานของหลอดฟลูออเรสเซนต์
ภายในหลอดฟลูออเรสเซนต์ จะถูกบรรจุด้วยก๊าซเฉื่อย ( Argon, Neon, Krypton ), ไอปรอด ( Mercury ) ที่เปลือกหลอดด้านในจะถูกเคลือบด้วยสารเรืองแสง ( Phosphor ) เมื่อเราเปิดไฟ จะเกิดแรงดันที่ขั้วแคโทด ( Cathode ) ทั้ง 2 ข้าง และเมื่อแรงดันมีค่าสูงพอ ก๊าซที่อยู่ภายในจะเกิดการแตกตัวเป็นไอออน ( Ion ) ความต้านไฟฟ้าภายในตัวหลอดจะลงต่ำลง ทำให้กระแสไฟวิ่งผ่านตัวหลอดด้านใน ไปกระทบกับไอปรอด ไอปรอดตัวนี้จะเปล่งแสงอุลตร้าไวโอเล็ตออกมา มีความยาวคลื่นประมาณ 253.7 นาโนเมตร แสง UV นี้จะวิ่งไปทั่วหลอดไปกระทบกับสารเรืองแสงที่เคลือบไว้ภายในก็จะทำให้หลอดฟลูออเรสเซนต์สว่างขึ้น
การที่แต่ละบริษัทผลิตหลอดไฟออกมาแล้วให้สีของแสงสว่างไม่เหมือนกันนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของสารที่ใช้เคลือบหลอด เช่น สารแคดเมี่ยมบอเรต ( Cadmium Borate ) จะให้แสงออกมาสีชมพู, สารแคดเมี่ยมทังสเตด
( Cadmium Tungstate ) จะให้สีน้ำเงิน เป็นต้น
สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ไม่ได้ถูกเคลือบด้วยสารเรืองแสง ก็จะเป็นหลอด UV นั่นเอง
ข้อควรระวัง เมื่อหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่เราใช้กันอยู่ถึงอายุที่ควรจะเปลี่ยน เราควรเปลี่ยนหลอดใหม่นะครับ เพราะว่าเมื่อเราใช้ไปสารที่ถูกเคลือบไว้จะค่อย ๆ หลุดออกไป จะทำให้ UV หลุดรอดออกมาได้ครับ
พืช ( รวมทั้งสิ่งมีชีวิตจำพวกประการัง ) นั้นจำเป็นต้องมีการสังเคราะห์แสงเพื่อให้ได้น้ำตาลกลูโคส ( Glucose ) ใช้เป็นอาหารเพื่อการดำรงอยู่ และมีการคายอ็อกซิเจนออกมา ( ซึ่งถือว่าเป็นผลพลอยได้ของการสังเคราะห์แสงนั่นเอง )
แสงและความรู้สึกทางอารมณ์
เป็นที่ทราบกันดีว่าในกระบวนการสังเคราะห์แสงนั้นต้องใช้น้ำ, ปุ๋ย, ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และแสง เป็นปัจจัยหลัก ดังนั้นสำหรับตู้ปลา และตู้ต้นไม้น้ำถือว่าเป็นการจำลองระบบนิเวศน์จากธรรมชาติจริง ๆ มาใส่ไว้ในตู้เล็ก ๆ น้ำ, ปุ๋ย, คาร์บอนไดออกไซด์นั้น เป็นปัจจัยที่ทุกคนสามารถหามาใส่ได้เหมือนกันหมด แต่สำหรับแสงนั้นไม่ใช่ว่าเราเอามาเปิดในตู้แล้วได้เฉพาะความสว่าง แต่กลับให้ความรู้สึกด้านอารมณ์ด้วย ซึ่งแต่ละคนที่มองก็อาจจะรู้สึกไม่เหมือนกัน บางคนชอบสีออกไปทาง Warm white ซึ่งความรู้สึกที่ได้เวลามองจะรู้สึกอบอุ่น บางคนชอบสว่างแบบ Daylight ก็จะรู้สึกสว่าง มีสีสรรค์เข้มจัดจ้านเป็นต้น
การยกตัวอย่างของการให้แสงกับอารมณ์นั้นเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นผู้เขียนขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือร้านอาหาร หรือห้องนั่งเล่น ถ้าเราใช้แสงที่ออกไปทาง Warmwhite จะทำให้เรารู้สึกอบอุ่น อยากพักผ่อน มากกว่าแสงแบบ Daylight อีกตัวอย่างคือโชว์รูมรถยนต์ ถ้าเราให้แสงแบบ Warmwhite รถยนต์ที่อยู่ในโชว์รูมนั้นก็จะดูเป็นรถเก่าไป ความรู้สึกที่เห็นจะดูไม่ทันสมัย แต่ถ้าได้แสง Daylight ( โดยเฉพาะแสงจากหลอดเมทัลฮาไลด์ ) จะทำให้ดูทันสมัยกว่า
ในตู้ปลาก็เหมือนกันครับ เพราะว่าแต่ละคนมีสไตล์ของตัวเอง เอาคน 10 คน มาจัดตู้ปลาก็จัดไม่เหมือนกัน ความรู้สึกที่แต่ละคนต้องการก็ไม่เหมือนกันครับ ดังนั้นการใช้ไฟสำหรับตู้ปลาและตู้ต้นไม้น้ำนั้นควรเลือกจากปัจจัยหลัก 2 ข้อคือ
1. ความชอบของแต่ละบุคคล
2. คุณสมบัติของแสงที่พืชและสัตว์ต้องการใช้เพื่อการสังเคราะห์แสง ( ต้นไม้จะสวยหรือไม่ก็ข้อนี้แหละครับ )

ความคิดเห็นที่ 3

aLight
aLight [2004-05-21 19:14:29]
หลอดไฟชนิดใดที่มีความเหมาะสมกับตู้ต้นไม้น้ำและตู้ปลา
บรรดาพืชและสัตว์ ทั้งหลายล้วนมีกำเนิดและวิวัฒนาการมาจนกลายเป็นสายพันธ์ต่าง ๆ มากมายภายใต้แสงอาทิตย์ มานับล้าน ๆ ปี ดังนั้นหลอดไฟที่เราจะนำมาใช้เพื่อทดแทนแสงอาทิตย์นั้น จึงควรเป็นหลอดที่สามารถปล่อยแถบสี ( Spectrum ) ของแสงได้ครบทุกแถบสี ซึ่งเรียกกันว่าหลอด Full Spectrum คือจะมีตั้งแต่แถบสีแดงจนถึงสีม่วง แต่การผลิตหลอดแบบนี้มีกระบวนการผลิตย์ที่ยุ่งยาก ซับซ้อนมากจึงทำให้มีราคาค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ดีจากการศึกษาพบว่าต้นไม้น้ำจะมีช่วงสูงสุด ( Peak ) ของความต้องการแถบสีเพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสงสีส้ม ? แดง ในช่วงความยาวคลื่น 600-680 นาโนเมตร และในแถบสีม่วง ? น้ำเงินในช่วง 380-480 นาโนเมตร โดยขณะเดียวกันก็จะสะท้อนแถบสีในช่วงสีเขียวออกมา ในขณะที่จุดสูงสุดของการให้พลังงานจากแสงอาทิตย์นั้นจะอยู่ที่แถบสีฟ้า ? เขียว ( ช่วงความยาวคลื่นแสงที่ 475 นาโนเมตร )
ดังนั้นหลอดไฟที่เหมาะสมกับพืชและสัตว์น้ำนั้นจึงควรจะเป็นหลอดไฟที่ปล่อยแถบสีหรือสเปรคตัมของแสงครอบคลุมทุกแถบสี
เป็นความจริงว่าในยุคแรก ๆ ของการปลูกต้นไม้น้ำนั้น ประเทศที่เป็นแม่แบบคือประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้นำเอาหลอดไส้ชนิด Incandescent มาใช้ ซึ่งก็ประสปความสำเร็จพอประมาณ ( ต้นไม้บางชนิดเจริญงอกงามได้ ) ทั้ง ๆที่หลอดชนิดนี้ให้อุณหภูมิสีที่ต่ำมาก ๆ คือสามารถปล่อยแสงได้เฉพาะแสงในช่วงสีส้ม ? แดง แต่บังเอิญแถบสีส้ม ? แดงนั้น จำเป็นต่อการสังเคราะห์แสงของพืชพอดีดังที่กล่าวมาข้างต้น ต้นไม้จึงสามารถดำรงอยู่ได้ ( เฉพาะในบางประเภทเท่านั้น )
ในทุกวันนี้หลอดฟลูออเรสเซนต์ ( บางคนเรียกติดปากว่าหลอดนีออน ) ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วมากเพราะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมหลายประการเช่น หาซื้อได้สะดวก, ใช้งานง่าย, ให้พลังงานในรูปแบบความร้อนต่ำ, ประหยัดพลังงาน และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน จึงทำให้เป็นที่นิยมแพร่หลายในปัจจุบัน
ด้วยความหลากหลายของหลอดฟลูออเรสเซนต์ซึ่งมีทั้งอุณหภูมิแสง, ความสว่าง, สี, คุณสมบัติของคลื่นแสง และความหลากหลายของยี่ห้อ ก็ขอให้ผู้ที่นำไปใช้เลือกหลอดไฟที่เหมาะสมจากคุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้นก็แล้วกันครับ

ความคิดเห็นที่ 4

aLight
aLight [2004-05-21 19:16:47]
Sylvania grolux จะออกสีชมพูเข้มครับ
สำหรับหลอดแดดคือหลอด 12000 K ครับ

ความคิดเห็นที่ 5

DragonBoy
DragonBoy (202.57.167.16) [2004-05-22 09:51:53]
ขอบพระคุณมากๆนะครับสำหรับความรู้เรื่องหลอดไฟ
คือว่าตู้72นิ้วนี้ผมจะเอาไว้เลี้ยงเจ้าเป่าเป้ยอโรเขียวที่บ้านครับ(เวลามันโตคับตู้48ตู้เดิม)
แต่ว่าตู้48ที่ใช่เลี้ยงอยู่นั้น หลอดไฟมันออกสีชมพูจนเห็นตัวเป่าเป้ามีสีอมชมพู คือไม่ใช่สีที่แท้จริงของมันครับ
ผมจึงอยากได้หลอดที่ดูแล้วมันไม่หลอกตาหนะครับ
แล้วอายุของหลอดไฟแต่ละหลอดนี่มีอายุซักเท่าไหร่จึงจะควรเปลี่ยนครับ
รบกวนช่วยตอบอีกทีนะครับ

ความคิดเห็นที่ 6

marnsura
marnsura (203.113.46.4) [2004-05-22 12:54:18]
ระวังเรื่องความร้อนด้วยละ 4 หลอด ไม่แยะไปเหรอครับกลัวปลาจะสุกสะก่อน

ความคิดเห็นที่ 7

DragonBoy
DragonBoy (202.5.80.147) [2004-05-22 15:25:15]
คือจะเปิดเฉพาะตอนดูปลากับตอนถ่ายรูปครับ นอกนั้นปิดหมด(ตู้เดิมมีหลอดเดียวผมยังไม่เปิดเลยครับ กลัวน้ำร้อนเหมือนกัน)

ความคิดเห็นที่ 8

กมลนาวิน
กมลนาวิน (203.113.76.11) [2004-05-22 18:25:14]
เรื่องไฟ ยกให้เลย แล้วพอจะทราบมั้ยครับว่า MH เลี้ยงกับ อะโรได้หรือเปล่าว เพราะตู้ทะเลผมก็ใช้ MH 14000 k 400 w อยู่

ความคิดเห็นที่ 9

aLight
aLight [2004-05-22 21:13:18]
สำหรับอโรเขียว ในตู้ 72 นิ้ว ใช้ KOWA 12000 K ซัก 2 หลอดก็พอครับ
สำหรับเรื่องหลอดเมทัลฮาไลด์ 14000 K ไม่เหมาะกับอโรวาน่าครับ
เอาบทความไปอีกตอนนึง
หลากหลายคำถามเกี่ยวกับหลอดไฟสำหรับตู้ปลา
ขึ้นหัวข้อมาอย่างนี้เพราะผมเข้าไปดูตามเว็บบอร์ดของเว็บไซท์เกี่ยวกับปลาสวยงาม แล้วสังเกตุว่ามีคนตั้งกระทู้ถามกันเยอะว่า การเปิด-ปิดไฟมีผลกับปลาอย่างไร? , เปิดไฟตลอดดีไหม? ,ใช้หลอดไฟบ้านได้ไหม? , ควรเปิด-ปิดไฟตอนไหน? , เปิดไฟวันละกี่ ช.ม.ดี? เป็นต้น.
ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ยิ่งมีคนถามเข้ามาผมยิ่งชอบครับ เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่ามีจำนวนคนที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับเรื่องนี้กันมากขึ้น อนาคตก็จะมีการใช้งานในแนวทางที่ถูกต้องมากขึ้น
คำถามแรก การเปิด-ปิดไฟมีผลกับปลาอย่างไร?
มีผลมากครับ ซึ่งมากหรือน้อยนี่ขึ้นอยู่กับชนิดของปลาที่คุณเลี้ยงกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเลี้ยงปลาถ้ำ ซึ่งโดยธรรมชาติจะอยู่แต่ในที่มืด ปลาจะไม่ได้ใช้ประสาทสัมผัสด้านสายตาจนความสามารถด้านนี้ลดลงไป แต่ไปเพิ่มประสาทสัมผัสด้านอื่นแทน ถ้าแบบนี้ก็ไม่ก็ไม่ควรที่ต้องเปิดไฟที่มีความสว่างมาก ๆ เพราะอาจจะไปรบกวนสายตาเขาได้ แต่ถ้าคุณเลี้ยงปลาที่ต้องการแสงปริมาณสูง ตัวอย่างเช่นอโรวาน่า ( ธรรมชาติเป็นปลาหากินผิวน้ำ ซึ่งจะได้รับแสงแดดในปริมาณมากอยู่แล้ว ) ถ้าอโรวาน่าได้รับแสงสว่างที่ถูกต้อง และปริมาณที่เหมาะสม ปลาก็จะสามารถสร้างสีขึ้นมาให้สวยได้ครับ
อีกอย่างนึงที่มีผลอย่างมากคือในกรณีที่มีการย้ายปลาลงตู้ใหม่ ๆ ปลายังตื่น ถ้าปิดไฟ ในตู้จะมืดปลาจะสามารถเห็นความเคลื่อนไหวนอกตู้ เขาอาจจะกลัวและคอยหลบอยู่ตามหลังก้อนหินหรือมุมตู้ แต่ถ้าเราเปิดไฟในตู้ไว้บรรยากาศในตู้จะเปลี่ยนไป ความรู้สึกจะเป็นแบบตอนกลางวัน ไม่มีมุมมืด ๆ ให้หลบและไม่รู้สึกถึงอันตราย ปลาก็จะคุ้นกับสถานที่เร็วขึ้นครับ
คำถามที่ 2 เปิดไฟตลอดเวลาดีไหม?
สำหรับข้อนี้คำตอบมีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ
เอาข้อดีก่อนครับ คือในกรณีที่คุณเลี้ยงปลาแล้วอยากให้ปลามีสีสวยงาม การเปิดและปิดไฟจะมีผลอย่างมากครับ
โดยธรรมชาติปลาจะมีสีสวยงามตอนกลางวัน แต่พอกลางคืนสภาพแวดล้อมมืด ปลาก็จะปรับสีให้ซีดลงตามสภาพแวดล้อม แต่ถ้าเราฝืนธรรมชาติโดยเปิดไฟไว้ตลอด ก็จะเหมือนมีแต่กลางวัน ปลาก็จะไม่ปรับตัวให้ซีดลง สีก็จะคงที่หรือเข้มขึ้นได้ครับ
สำหรับข้อเสีย ก็เปรียบเหมือนปลาตัวนั้นอยู่ในโลกที่มีแต่กลางวัน อาจขาดการพักผ่อน และร่างกายไม่อาจหลั่งฮอร์โมนบางชนิดที่ช่วยสร้างการเจริญเติบโตได้ครับ
คำถามที่ 3 ( เจอบ่อยมากครับ คำถามนี้ ) คือใช้หลอดไฟบ้านได้ไหม?
ตามธรรมชาติของน้ำจะสามารถกรองสีที่ประกอบเป็นแสงสว่างได้ ( สีที่ประกอบเป็นแสงสว่างเราจะแยกได้เป็น 7 สี ตามสีรุ้ง ) สีม่วงจะทะลุชั้นความลึกได้มากที่สุด แล้วก็ไล่กันไปตามแบบสีรุ้งจนถึงสีแดงจะทะลุไปได้น้อยสุด
ส่วนหลอดไฟตามบ้านได้ถูกออกแบบมาสำหรับใช้งานส่องสว่างสำหรับตามนุษย์ ซึ่งจะออกแบบให้มีส่วนประกอบของสีเขียวเป็นส่วนมาก ซึ่งให้ความสบายตาของมนุษย์ แต่ถ้าเราเอามาใช้กับตู้ปลาน้ำจะดูดซึมสีแดงให้น้อยลงไปอีก เราจะมองเห็นแสงในตู้ปลาออกไปทางสีเขียวและเหลือง ซึ่งดูแล้วไม่เหมาะกับตู้ปลาเลยครับ ดูแล้วช้ำเลือดช้ำหนองพิกล

คำถามที่ 4 ควรเปิด-ปิดไฟตอนไหน
อันนี้แล้วแต่คนเลี้ยงครับ สมมุติตอนกลางวันเราออกไปทำงานนอกบ้าน แล้วเราอยากกลับมาดูปลาเราตอนกลางคืน เราก็เปิดตอนกลางคืนได้ครับ แต่ควรจะเปิดในเวลาเดียวกันตลอด เช่นถ้าเปิดกลางคืนก็กลางคืนตลอด กลางวันก็กลางวันตลอดครับ
คำถามที่ 5 ควรเปิดไฟวันละกี่ชั่วโมงดี
ถ้าให้ดีที่สุดก็ควรจะประมาณ 8-10 ชั่วโมงครับ อาจใช้ Timer ช่วยเพื่อความสะดวกครับ



ความคิดเห็นที่ 10

JJ
JJ (203.170.225.60) [2004-05-24 08:31:00]
เยี่ยมจริงๆครับคุณ เอไลท์ตอบได้ดีจริงๆครับมาอ่าน
ด้วยคนครับ

ความคิดเห็นที่ 11

myfish
myfish (10.196.199.156) [2004-05-25 16:33:47]
มาอ่านด้วยอีกคน ยอมรับเลยครับว่าได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยครับ เยี่ยมจริงๆนะ
ด้านบน

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนทำรายการ

เข้าระบบ