Skip to content

ปรับปรุง เว็บไซต์ เยอะแยะเลย ลองกดเข้าไปเล่นดูสิ ตอนนี้ มีหมอตั้ม มาประจำที่ โรงพยาบาลแล้วนะครับ ใครมีปัญหาปลาป่วย ปรึกษาได้ครับ

โลกปลาหมอสีสายพันธุ์ แท้ๆ ทั้งจาก ทะเลสาบมาลาวี, ทังแกนยิกา, หรือ ปลาหมอสี สายพันธุ์ แท้ จาก ทวีปอเมริกา ตลอดจน ปลาหมอแคระ ชนิดต่างๆ อยากให้เว็บบอร์ด นี้ มีส่วนช่วยให้คนรักปลา รู้จัก ไม่ลืม ในสายพันธุ์ ดั้งเดิม ตามธรรมชาติของปลาในครอบครัว Cichlidae

0003847

ถามเรื่องมีนาแรมโบ้ครับ

offba
offba
29
[2008-09-03 21:03:57]
ใครเลี้ยงปลาตัวนี้อยู่บ้าง มันดุกับปลาหมออื่นรึปล่าวครับ พอดีได้มาเลี้ยงสี่ตัวขนาดหกเจ็ดนิ้ว ผมจะเอาเฮคเคลลี่รวม ไม่ทราบว่ามันจะอยู่ด้วยกันได้รึปล่าว

ความคิดเห็นที่ 1

offba
offba
29
[2008-09-03 21:07:04]
ตอนนี้อยู่ตู้หกสิบกับหมูอินโด ทอร์คกิ้งแคทฟิช มันก็ไม่ดุกะปลาพวกนั้นนะครับ อ่อแล้วสังเกตดูท่อเพศของมัน แปลก ๆ ครับไม่เห็นเปนท่อ เป็นพูสองข้างแล้วเป็นขน ๆ แปลกดีครับ (ตัวเมียน่ะครับ)

ความคิดเห็นที่ 2

offba
offba
29
[2008-09-03 21:11:43]
ใครทราบลักษณะการผสมพันธ์ของปลาชนิดนี้บอกหน่อยนะครับ ของผมรู้สึกเหมือนกับจับคู่ กัดขอน ทำหัวสั่น ๆ แล้วก็ไล่ตัวผู้อีกตัวนึงแล้ว แต่ก็ไม่เห็นต่อเนื่องเลย เดี๋ยวทำเดี๋ยวหยุด ไม่รู้ว่ามันวางไข่ยังไง จะเปนพวง ๆ แบบโพเลนนี่รึปล่าวไม่รู้ แต่ที่รู้ ๆ ชอบมากครับ คล้ายปลาทะเลมาก มันมักจะกลัวอะไรที่เราใส่ไปในตู้ใหม่ ๆ พักนึงครับ ถึงจะชิน สรุปว่ามันน่ารักดี เลี้ยงกันเยอะ ๆ นะครับ

ความคิดเห็นที่ 3

fufu
fufu
52
[2008-09-03 21:44:21]
ไม่รู้ว่าไฟล์เรื่องฉบับเต็มที่ผมเขียนอยู่มันหายไปไหน
เหลือแต่ไฟล์เรื่องของย่อ เลยเอามาแปะไว้ให้อ่านก่อนนะครับ

ถ้าจำไม่ผิด ไข่ติดกระถางแล้วพ่อแม่ปลาช่วยกันดูครับ

จากจำนวนปลาหมอสีกว่าสองพันชนิดที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกนั้น ปลาหมอกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งจากดินแดนอันห่างไกลนามว่า ‘พาเรโทรพลัส’ ได้ปรับตัวเองผ่านกาลเวลากว่า 65 ล้านปีบนเกาะกลางมหาสมุทรอินเดียอันอุดมไปด้วยสังคมสัตว์และพืชที่แปลกตาไปจากส่วนอื่นๆของโลก อย่าง ‘มาดากัสการ์’ ได้อย่างน่าอัศจรรย์

ปลาในสกุลพาเรโทรพลัสนี้เป็นกลุ่มปลาที่มีจำนวนชนิดมากกว่าสิบห้าชนิด เมื่อเทียบกับปลาหมอมาลากาซี่ทั้งหมดแล้ว พวกมันเป็นสกุลปลาหมอที่มีจำนวนชนิดมากที่สุดของมาดากัสการ์ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ปัจจุบันปลาหมอในกลุ่มนี้นั้นเป็นปลาที่เพิ่งเป็นที่รู้จักกันในประเทศไทยได้ไม่นานนัก ปลาในกลุ่มพาเรโทรพลัสมีลักษณะเด่นด้วยลำตัวกลมแบน รูปทรงเหมือนกับปลาในกลุ่มปลาขี้ตังเบ็ด(surgeonfish) ที่อาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อน ซึ่งก็ไม่น่าจะแปลกอะไร เพราะกล่าวกันว่าปลาหมอสีเป็นกลุ่มปลาที่มีความใกล้ชิดกับปลาทะเลบางสกุลเป็นอย่างมาก


ปลาในกลุ่มนี้ที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดในเมืองไทยเห็นจะหนีไม่พ้นมาคูลาตัส (P. maculatus) ปลาหมอตัวกลมแบนสีบรอนซ์ และจุดสีดำขนาดใหญ่กลางลำตัว อันเป็นที่มาของชื่อในภาษาละติน ‘maculatus’

แม้จะถูกค้นพบมานานกว่าสามสิบปีแต่ปลาหมอในกลุ่มนี้ก็เพิ่งจะมีการนำมาเลี้ยงในวงการปลาสวยงามทั่วโลกเพียงช่วงระยะเวลาราวสิบปีมานี้ และถูกนำเข้ามาในเมืองไทยได้เพียงระยะหนึ่ง ปลาชนิดนี้มีราคาสูง เพราะเป็นปลาหมอที่เพาะพันธุ์ได้ยาก ปลาแต่ละตัวต้องใช้เวลาถึง 2ปีครึ่งเป็นอย่างต่ำจึงจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ตามธรรมชาติแล้วปลาหมอมาคูลาตัสนี้พบเฉพาะในทะเลสาบบางแห่งแถบตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ เท่านั้น ปัจจุบันนี้ปลาหมอมาลากาซี่ต่างตกอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ เพราะนอกจากสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวันแล้ว การบุกรุกพื้นที่เพื่อการเกษตรบนเกาะยังเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พวกมันต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะที่เป็นแหล่งอาศัยที่ใหญ่ที่สุดของพาเรโทรพลัสชนิดต่างๆ รวมไปถึงการถูกรุกรานด้วยผู้อาศัยต่างถิ่นอย่างปลานิลและปลาช่อน ที่ถูกนำเข้ามาเพื่อเป็นอาหาร หากแต่หลุดรอดลงตามแหล่งน้ำธรรมชาติและกลายมาเป็นศัตรูตัวสำคัญของปลาท้องถิ่น นอกจากนี้พวกมันยังมีถิ่นอาศัยที่จำกัดเช่นเดียวกับปลาหมอมาลากาซี่ชนิดอื่นๆ การเพาะพันธุ์นั้นจึงเป็นสิ่งที่สมควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเพิ่มจำนวนและช่วยให้ปลาเหล่านั้นดำรงสายพันธุ์ต่อไปได้แม้จะไม่ได้อยู่ในสภาพธรรมชาติก็ตามที


เมื่อมีตัวที่หนึ่งแล้ว ก็ไม่ยากอะไรที่สมาชิกตัวอื่นๆของสกุลนี้อย่าง ‘เมนาแรมโบ’(P. menarambo) จะเดินทางมายังเมืองไทยเป็นตัวที่สอง ปลาหมอชนิดนี้เป็นปลาที่เพิ่งถูกค้นพบเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยฌ็อง คล็อด นูริซา(Jean-Claude Nourissat) และ ปาตริก เดอ ราม (Patrick de Rham) เมื่อครั้งที่พวกเขาไปสำรวจในมาดากัสการ์เมื่อปี 1992 ฌ็องและปาตริกค้นพบเมนาแรมโบจากการสอบถามชาวประมงท้องถิ่นถึงที่อยู่ของปลาที่พวกเขาจับมาขายเป็นอาหารจานเด็ดในตลาดสด ก่อนจะตามไปสำรวจในเวลาต่อมา แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้รับการบรรยายทางอนุกรมวิธานจนกระทั่งอีกห้าปีให้หลัง ชื่อ ‘เมนาแรมโบ’ ได้มาจากภาษาท้องถิ่นที่แปลได้ว่า ‘หางแดง’ อันที่จริงแล้ว เมนาแรมโบนั้นพบได้ยากกว่ามาคูลาตัสมาก เพราะเข้าใจกันว่ามันมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทะเลสาบเล็กๆแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘ซาโรดราโน’ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะเพียงแห่งเดียวในโลก เชื่อกันว่าปลาหมอเมนาแรมโบนั้นได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติเพียงชั่วเวลาไม่กี่ปีหลังจากที่ถูกค้นพบ ส่วนปลาที่เหลืออยู่ในตู้เลี้ยงนั้นก็เป็นลูกหลานของเมนาแรมโบที่ถูกนำขึ้นมาจากแหล่งนี้โดย ฌ็อง และครั้งที่พอล หลุยส์ (Paul Loiselle) จับกลับมาในปี 1996 แทบทั้งหมด เมื่อครั้งที่ฌ็องนำพวกมันกลับมาที่พิพิธภัณฑ์บอลตันในอังกฤษเมื่อปี 1997 โปรแกรมการเพาะพันธุ์ประสบความสำเร็จไปด้วยดี ก่อนจะเริ่มมีการกระจายไปสู่มือนักเลี้ยงปลาหมอสีทั่วโลก


แต่เมื่อต้นปีมานี้ มีคนไปพบปลาหมอชนิดนี้เข้าในแหล่งธรรมชาติอีกครั้ง และเมื่อผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว เป็นที่น่ายินดียิ่งว่าปลาที่ถูกพบนั้นเป็นปลาหมอเมนาแรมโบจริงๆ เขาอธิบายเพิ่มเติมมาในอีเมลล์ว่าถ้าปลาที่จับกันมานั้นไม่ได้ถูกจับจากทะเลสาบซาโรดราโนที่เคยจับกันมาก่อนกันจริง พวกมันก็ต้องถูกจับมากจากอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำบีมาริโอที่จะท่วมทุ่งในหน้าน้ำ ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าปลาทั้งสองแหล่งนี้เป็นปลากลุ่มเดียวกันที่อาศัยช่วงน้ำท่วมในการว่ายข้ามไปยังที่อื่นๆ ข้อมูลเหล่านี้ถึงจะน่าตื่นเต้น แต่ก็ไม่ใช่ข้อมูลที่ใหม่ซะทีเดียว เมื่อตอนค้นพบปลาชนิดนี้ในตอนแรก คนท้องถิ่นก็ให้ข้อมูลมาว่าเมนาแรมโบนั้นพบได้ในทะเลสาบทั้งสองฝั่งของแม่น้ำที่อยู่ในเขตน้ำท่วม แต่ในตอนนั้นเราไม่สารถจะสำรวจไปถ้วนทั่ว เพราะอีกฝั่งหนึ่งนั้นเดินทางเข้าไปถึงได้ยาก แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านบางรายบอกกับเราเมื่อตอนที่ไปครั้งล่าสุดก่อนหน้าจะได้รับข่าวนี้ว่าพวกเขาไม่สามารถหาเมนาแรมโบได้อีก นั่นก็หมายความว่าสถานะความใกล้สูญพันธุ์ของมันยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะเราจะทราบที่อยู่ของมันเพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม


ปลากลุ่มนี้เป็นปลาหมอที่เลี้ยงง่ายอย่างเหลือเชื่อ สามารถเลี้ยงได้ในสภาพน้ำที่ปราศจากคลอรีนได้แทบทุกสภาวะ แต่จะดีที่สุดก็ต่อเมื่ออยู่ในสภาพน้ำที่เป็นกลางสำหรับเลี้ยงปลาสวยงามทั่วไป ภายในตู้ควรจะมีหิน หรือขอนไม้ไว้ให้ปลาได้หลบซ่อนบ้าง และควรปูพื้นตู้ด้วยทรายบางๆ เพราะปลาในกลุ่มนี้ชอบหาอาหารตามพื้นทรายมาก พฤติกรรมหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจและชอบเป็นพิเศษก็คือวิธีการหาอาหารของปลาในกลุ่มนี้ พวกมันจะเอาปากขุดทรายโดยทิ่มปากลงไปในผืนทรายก่อนจะสะบัดด้วยความเร็วให้ทรายชั้นบนฟุ้งไปข้างๆ เพื่อที่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆที่อาศัยอยู่ใต้ทรายจะลอยขึ้นมาเป็นอาหาร


ปัจจุบัน มีพาเรโทรพลัสเพียงหนึ่งชนิดที่ยังคงพบเห็นได้ทั่วไปและไม่ตกอยู่ในอันตราย เพราะพวกมันมีการกระจายพันธุ์กว้างไปรอบๆเกาะ และสามารถอาศัยอยู่ในบริเวณน้ำกร่อยได้ ต่างจากเพื่อนร่วมสกุลอีกสิบกว่าชนิดที่มีถิ่นอาศัยอันจำกัด โชคดีที่ปลาเหล่านี้เป็นปลาที่ปรับตัวให้เข้ากับที่เลี้ยงได้ดี และสามารถเพาะพันธุ์ได้ในเวลาไม่นาน พาเรโทรพลัสเป็นตัวอย่างที่ดีของแนวทางการอนุรักษ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติรูปแบบหนึ่ง

เพราะสาเหตุหลักของการที่ปลาในกลุ่มนี้ใกล้จะสูญพันธุ์ไม่ได้เกิดจากการเจาะจงไล่ล่าเพื่อเป็นอาหารหรือเป็นสัตว์เลี้ยง หากแต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่และสภาวะแวดล้อม รวมไปถึงการรุกรานของสัตว์ต่างถิ่นในพื้นที่อยู่เดิม ปลาที่มีอยู่ในมือของนักเลี้ยงปลาทั่วโลกนั้นก็เกิดจากการเพาะพันธุ์ของปลาเพียงไม่กี่ตัวและขยายออกไปสู่มือบุคคลต่างๆที่มีประสบการณ์ในการเพาะพันธุ์ปลาที่ไว้ใจได้ โดยมีจุดประสงค์ให้ขยายพันธุ์ออกมาให้มากที่สุด เพื่อปลาจะได้ไม่หมดสิ้นสายพันธุ์ลงอย่างน้อยก็ในเวลาอันใกล้ และนั่นทำให้เห็นได้ว่าการเพาะพันธุ์สัตว์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะกระทำควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพโดยรวมและรักษาสภาพแวดล้อมของถิ่นที่อยู่เดิมด้วย จึงจะเป็นการ ‘รู้รัก’ ที่มั่นคงและยั่งยืน

ความคิดเห็นที่ 4

fufu
fufu
52
[2008-09-03 21:46:24]
เคยได้มีโอกาสส่งข้อความไปหาคนที่ค้นพบเมนาเเรมโบจากแหล่งธรรมชาติล่าสุด เขาบอกว่าปลาที่พบในเเหล่งใหม่นี้ก็ไม่ได้มีจำนวนมากมายอะไรเลย เท่ากับว่า สถานภาพของพวกมันตามธรรมชาติในปัจจุบันก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่หรอกครับ

ความคิดเห็นที่ 5

keekie
keekie
578
[2008-09-03 22:35:09]
ผมก็เลี้ยงอยู่ตู้60เหมือนกัน ในตู้มี เซวาลุ่มแดง 9 ตัว
ทรานีโอ 1 ตัว ลูคอส 5 ตัว หมอหอย 2 ตัว ก็อยู่กันสงบดีครับ..ปลาอ๊อฟสวยม๊ากมากเลยอิจฉาอ่ะ..กว่าของผมจะเหมือนอ๊อฟอีกนานแน่ๆ..อิอิ

ความคิดเห็นที่ 6

mootoy
mootoy
1122
[2008-09-03 23:08:54]
ขอให้ประสบความสำเร็จในการเพาะนะอ๊อฟ

ความคิดเห็นที่ 7

chairau
chairau
733
[2008-09-03 23:34:06]
ขอบคุณ คุณ fufu ครับ ขออนุญาติ เก็บไปเป็นสมบัติส่วนตัว ^__^

ความคิดเห็นที่ 8

offba
offba
29
[2008-09-04 00:45:05]
ขอบคุณ คุณ fufu มาก ๆ เลยนะครับ ข้อมูลด้านบนนี้แน่นมาก ๆ เลยสาวลึกไปยังที่มาเลยครับ ปึ้กครับ ขอบคุณคุณกี้นะครับ พี่หมูด้วยครับ คืออยากให้เพาะมันสำเร็จเหมือนกันแหละครับลุ้นอยู่นิด ๆ

อ่อถามคุณ fufu อีกอย่างครับว่าปลาในภาพข้างบนนี้ยังมีตัวจริงอยู่ครบทุกชนิดรึปล่าวครับ หรือสูญพันธ์ไปหมดแล้ว

ขอบคุณคร๊าบบ

ความคิดเห็นที่ 9

offba
offba
29
[2008-09-04 00:47:37]
อ่อ ผมเคยเห็นไอ้ตัวส้ม ๆ แต่อยากเห็นไอ้หัวแดงหางดำจริง ๆ สีเหมือนโรงเรียนเก่าเลย หุหุ

ความคิดเห็นที่ 10

popdeub
popdeub
706
[2008-09-04 01:07:26]
อย่างเห็นเหมือนกันคับคุณoffba มันสะดุดตาดี อิอิ

ความคิดเห็นที่ 11

tattae
tattae
1
[2008-09-04 01:16:17]
กรี๊ดๆๆๆๆๆ อยากได้ .. ขอให้อ่างทองมี เพี้ยง!

ความคิดเห็นที่ 12

phatphon
phatphon
1113
[2008-09-04 08:39:27]
เหมือนปลาทะเลจิง ๆ พวกตระกูลนี้ ของคุณมากคับสำหรับข้อมูล

ขงอเจ้ามีนาแรมโบ้ มีกะเค้าอยู่ 1 ตัวจ้อย ๆ อิอิ ของขออนุญาตเก็บ

กระทู้นี้เป็นสมบัติส่วนตัวอีกคนคับ หุหุ

ความคิดเห็นที่ 13

MrHi
MrHi
312
[2008-09-04 09:00:44]
ว๊าว.. ได้ความรู้อย่างแรง..

ขอบคุณครับ..

^_^

ความคิดเห็นที่ 14

AlfaMale
AlfaMale
1513
[2008-09-04 09:08:08]
เจ้านี่ ที่กล้วยไข่มีอยู่เยอะเลยครับ ลองไปดูกันละกัน

ปล.ไม่ได้เชียร์แต่อย่างใด แค่อยากบอกช่องทางให้คนที่อยากเลี้ยงสมหวังนะครับ

ความคิดเห็นที่ 15

Nyassae
Nyassae
826
[2008-09-04 10:06:29]
ยิ่งตัวใหญ่ ยิ่งสวยครับ

ความคิดเห็นที่ 16

Jubsy
Jubsy
253
[2008-09-04 11:28:03]
ผมว่าไม่กัดครับ เห็นไล่แต่พวกเดียวกัน ในตู้ผมมีหลายตัว แถมมีมาลาวีเหลืองตัวเล็กๆ ด้วย แต่มีนาก็ไม่แรมโบ้ใส่นะครับ

ความคิดเห็นที่ 17

offba
offba
29
[2008-09-04 21:27:10]
เหอะ ๆ คุณพี่ Jubsy "แต่มีนาก็ไม่แรมโบ้ใส่นะครับ"

ง่วงรึปล่าวครับพี่ แซวเล่น ๆ
ด้านบน

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนทำรายการ

เข้าระบบ