0000014

วิธีขนย้ายปล่อยปลามังกรลงตู้

ปลาอะโรวาน่า เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่

เรื่องง่ายๆ ที่บ่อยครั้งสร้างปัญหาให้ผู้เลี้ยงปลาสวยงามมือใหม่ ผมได้พูด ถึงการเคลื่อนย้าย ปลามังกรไปบ้างแล้วในกระทู้ก่อนหน้า เที่ยวนี้ขอพูดถึงขั้นตอนระหว่างการขนย้ายและการเตรียมตัวก่อนปล่อย ปลาลงตู้ก่อนจะไปรับปลาจากร้านต้องมั่นใจว่าตู้และน้ำในตู้พร้อมแล้วสำหรับการ ลงปลาใหม่ ตู้ปลาใหม่ควรพักไว้ให้นานพอที่กาวจะแห้ง หมดความเป็นกรด ระยะเวลาที่ใช้ในการเซ็ทตัวของกาวขึ้นกับขนาดตู้และความหนาของกาว

ควรมั่นใจด้วยว่าน้ำที่เติมลงในตู้คลอรีนได้ระเหยไปหมดแล้ว หากเป็นไปได้ควรลงทุนหาเครื่องกรองที่มีไส้เป็นถ่านกัมมันต์ ( Activated charcoal ) ไม่ควรใช้เครื่องกรองผิดประเภท ผิดวัตถุประสงค์ เครื่องกรองน้ำดื่มทั่วไปมักกรองสารเคมี คาร์บอเนต ฝุ่นตะกอน สารแขวนลอย จุลินทรีย์และกลิ่น แต่อาจจะกำจัดคลอรีนได้ไม่หมด จึงควรระวังจุดนี้ไว้ด้วย

หากท่านใช้น้ำบาดาล หรือแหล่งน้ำของท่านมีค่าของน้ำ ที่ไม่เหมาะสมต่อการเลี้ยงปลา ควรหาน้ำสะอาดหรือแก้ไข คุณภาพน้ำก่อนปล่อยปลา ควรเติมน้ำเพียง 1/2-1/3 ของความสูงตู้ปลา ไม่ควรเติมน้ำเต็มตู้ ปลา เมื่อปล่อยปลาลงตู้ใหม่ ปลามักจะมีอาการตื่นและกระโดด หากน้ำน้อยปลาจะกระโดดได้ไม่สูงนัก และจะกระโดดไม่ถึงคานกระจกในตู้ปลา ปลาไม่บาดเจ็บ มีตำหนิเสียหาย ควรห่อหุ้มคานกระจกในตู้ปลาด้วยวัสดุอ่อนนุ่ม สามารถซึมซับแรงกระแทกได้เช่นแผ่นโฟม

หากตู้ปลาที่ท่านใช้มีระบบกรองในตู้ ควรสังเกตว่า ฝาตู้ได้กั้นปิดช่องกรอง ด้านบนในฝาไฟของตู้หรือไม่ ปลาอโรวาน่าเป็น ปลาที่ชอบ กระโดดและกระโดดได้สูง หากท่านไม่กั้นปิดบริเวณช่องกรอง ปลาอาจกระโดดลงไปติดในช่องกรองได้

เพื่อลด การบาดเจ็บ จากการ เคลื่อนย้ายผิดวิธี

การขนส่งปลาต้องมั่นใจว่าปลาอดอาหารมานานพอ จะได้ไม่เสี่ยงต่อ การสำรอกอาหารในถุงระหว่างการขนย้าย ควรใส่น้ำ และอัดอ๊อกซิเจน ให้มากพอกับเวลาที่ใช้ หากท่านต้องใช้เวลาเดินทางนาน ควรแจ้งผู้ขายแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้อดอาหารนานขึ้น ยิ่งขนย้ายนาน ยิ่งต้องอดอาหารนาน ปลาไม่ตายเพราะการอดอาหารเพียง 1-2 วันอย่างแน่นอน แต่อาจตายหากปลาสำรอกอาหารในถุงระหว่างการขนย้าย

ขนาดของถุง ปริมาณน้ำและอากาศล้วนมีส่วนสำคัญต่อการขนส่งปลา ยิ่งเดินทางไกล ถุงยิ่งต้องใหญ่ อากาศยิ่งต้องมากขึ้น หากเป็นไปได้ควรบรรจุถุงลงในกล่องโฟมเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลง ของอุณหภูมิ ควรห่อหุ้มถุงด้วยวัสดุทึบแสง เช่นถุงดำ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ หากท่านต้องขนส่งปลาทางอากาศ ควรศึกษาและสำรองระวางก่อนการขนส่งจริง ไม่ควรตะแคงถุงระหว่างการขนย้าย ควรยึดให้ถุงอยู่ในสภาพตั้งระหว่างการขนย้าย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ครีบปลาหักได้หากถุงตะแคงนอนลง

ไม่ควรวางถุงปลาในตำแหน่งที่โดนแดดส่องหรือใกล้บริเวณพื้นรถที่ความ ร้อนสูง เช่นใกล้บริเวณท่อไอเสียหรือท่อพักท่อไอเสียรถยนต์ หากจำต้องส่งปลาในที่ๆซึ่งอาจจะมีอุณหภูมิสูง หรือใช้เวลาขนย้ายนาน ควรห่อถุงน้ำแข็งลงไปในกล่องโฟมด้วย หากท่านขนย้ายในที่ๆเย็น เช่นรถยนต์ที่มีเครื่องปรับอากาศ ท่านสามารถกระทำได้ ไม่เสียหายแต่ประการใด แต่ท่านจะต้องไม่ลืมปรับอุณหภูมิอีกครั้งก่อนปล่อยปลา

เมื่อถึงที่หมายแล้ว ควรลอยถุงปลาในตู้เพื่อปรับอุณหภูมิให้เท่ากับอุณหภูมิน้ำในตู้ เมื่อเปิดถุงปลาแล้วควรตอบสอบอุณหภูมิก่อนปล่อยปลาอีกครั้ง หากยังต่างกันมากก็ควรปิดถุงและแช่ต่ออีกสักพัก เปิดถุงปลาและทำให้ถุงโป่งพอง เปิดให้น้ำในตู้ผสมกับน้ำในถุงปลา ปล่อยให้ปลาว่ายออกเอง ไม่ควรรีบร้อน หลังจากปล่อยปลาแล้วควรดูอาการปลาสักระยะหนึ่ง หากปลามีอาการหอบให้เพิ่มอ๊อกซิเจนในน้ำ โดยการเพิ่งปั๊มลมและหัวทราย จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ผู้เขียนอยากเน้น ปลาหลังการขนย้ายมักมีอาการหอบ ปลาบางตัวหอบหลังการใช้ยาสลบ หากไม่รีบแก้ไขแต่เนิ่นๆ ปลาอาจเหงือกอ้าได้ ควรจัดเตรียมปั๊มลมและอุปกรณ์ให้พร้อม มีปั๊มลมสำรองหากต้องใช้เวลาปลามีอาการหอบหลังการขนย้าย จุดวิกฤติ คือหลังการขนย้าย 2-3 วัน เมื่อปลาหายหอบก็ถอดปั๊มลมสำรองออกเก็บได้

หลังจากปล่อยปลาลงตู้แล้ว หากปลานิ่งหรือหมอบนิ่งๆ ไม่ว่ายน้ำ ไม่ต้องกังวลแต่ประการใด เป็นอาการปกติของปลา หากปลามีอาการตื่นกลัว กระโดดหรือพุ่งไปมา ให้ปิดกระจกรอบด้าน เปิดไฟทิ้งไว้ตลอดเวลา ค่อยๆ ฉีกกระดาษที่ปิดออก เมื่อปลาเริ่มชินต่อตู้ใหม่แล้ว การเริ่มกินอาหารของปลาเป็นประเด็นที่สรุปได้ยาก ปลาขนาดยิ่งใหญ่ ยิ่งใช้เวลาปรับตัวนาน ปลาขนาดใหญ่บางตัว หลังขนย้ายอาจไม่กินอาหารเป็นเวลาหลายเดือน โดยไม่เจ็บป่ายแต่ประการใด ลูกปลาขนาดเล็กจะใช้เวลาปรับตัวสั้นกว่า บ่อยครั้งที่พบลูกปลาซึ่งเริ่มกินอาหารตั้งแต่วันแรกหลังการขนย้าย จึงไม่ควรกังวลหากหลังการขนย้ายและปลาหยุดกินอาหาร ควรสอบถามผู้ซื้อด้วยว่าปลาเคยกินเหยื่ออะไร และควรจัดเตรียมเหยื่อให้เหมือนดังเดิม ก่อนจะเปลี่ยนชนิดเหยื่อตามความเหมาะสมของตนภายหลัง