0000512

Aqua53 ว่าด้วยเรื่องการประกวดปลากระเบน ตอนที่ 1

สวัสดีครับ สมาชิกเว็บ ninekaow ทุกท่าน หลังจากที่ห่างหายไปนานกว่า 4 ปีจาก webboard และบทความ วันนี้กระผม Earth Aqua53 เจ้าเก่า กลับมารายงานตัวอีกครั้งครับ ด้วยอาชีพธุรกิจส่วนตัว และความไม่ลงตัวของเวลา ผมยังคงมีความสุขกับการเลี้ยงลูกๆ(ปลากระเบน) ของผมอยู่เช่นเดิมครับ กลับมาอีกครั้งผมมาพร้อมกับ ประสบการณ์ดี ๆ ที่ได้รับจากการเพาะเลี้ยงปลากระเบนสวยงาม มาแบ่งปันทุกๆท่านครับ

หลังจากที่บทความเรื่องแรกของผมเผยแพร่ไปเมื่อ 6 ปีก่อน

http://www.ninekaow.com/scoops/?action=view&catID=0000001&pid=0000199

เนื้อหาว่าด้วยเรื่องของ ที่มาและความชื่นชอบในการเพาะเลี้ยงปลากระเบนสวยงามของผมเริ่มจาก &Motoro+sp.& ต่อด้วย &Pearl ray + Motoro& เคล็ดลับการเพาะพันธุ์ปลากระเบนสายพันธุ์ผสม และทิ้งท้ายไว้ด้วย sp.ในฝัน คือ &Pearl - Polkadot&

ตามติดด้วยบทความเรื่องที่สอง ในอีก 2 ปีถัดมา

http://www.ninekaow.com/scoops/?action=view&catID=0000001&pid=0000328

ว่าด้วยการติดตาม ต่อยอดการเพาะพันธุ์ปลากระเบนสายผสมsp. (cross breed) ทั้งในส่วนสายพันธุ์ Motoro sp. และสายพันธุ์ที่สูงขึ้น คือ Pearl+Polkadot รวมถึงพัฒนาการในการเพาะพันธุ์ปลาสายพันธุ์แท้อมตะอย่าง &Polkadot&

ผลตอบรับจากบทความทั้งสองเรื่องนั้น สำหรับผมจัดว่าดีเยี่ยมครับ ในมุมมองของนักเพาะเลี้ยงอย่างผม ทำให้ได้รู้จัก คนเลี้ยงเพิ่มทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ผลผลิตส่วนใหญ่ของผมจะส่งออกไปยังลูกค้าต่างประเทศครับ (ซึ่งต้องขอบคุณ พื้นที่ในการเขียนบทความ จากเว็บ นายเก๋าแห่งนี้ครับ) สำหรับคนไทย จะมีการแบ่งปันในหมู่ นักเพาะเลี้ยงซึ่งมีแนวทาง ในการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ ใกล้เคียงกับผมครับ

ช่วงประมาณปี พ.ศ.2550 ผมมีโอกาสได้ตระเวนไปตามฟาร์มปลาและร้านค้าหลายๆร้าน ภายในประเทศครับ แต่ละที่ ก็มีแนวทางในการเพาะเลี้ยงแตกต่างกันไป แต่มีอยู่สถานที่หนึ่ง (บ้านลูกค้าของเพื่อน) ผมต้องสะดุดตา ระคนแปลกใจครับ เมื่อได้พบกัน ถ้วยรางวัลจากการประกวดปลากระเบน และภาพถ่ายปลากระเบนตัวหนึ่ง


*ถ้วยรางวัลและภาพถ่ายปลาของผม จากบ้านคนอื่น ที่มาของบทความเรื่องนี้ครับ

เห็นครั้งแรกก็จำได้และรับรู้ได้ทันทีครับว่า นั่นคือปลาของผม เนื่องจากช่วงแรกในการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ของผม จะมีการบันทึกข้อมูล ปลาทุกๆตัวอย่างละเอียดครับ เริ่มตั้งแต่ การคัดเลือกพ่อ-แม่ปลา การผสมพันธุ์ จวบจน การอนุบาลหลังจากคลอด จะมีการถ่ายรูปลูกปลาไว้ทุกๆตัวครับ เพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบพัฒนาการ ทั้งในเรื่องของลักษณะจุด ลวดลาย สีสัน ที่เปลี่ยนแปลงไปในการเจริญเติบโตแต่ละช่วงครับ

จากการสืบสาวราวเรื่องทำให้ทราบว่า นั่นคือปลาของผมจริงๆครับ มีการซื้อขายกันมาเป็นทอดๆ ความคิดแรกคือ รู้สึกดีใจไปกับเจ้าของปลา (ขณะนั้น) ด้วย ความคิดต่อมาคือ หากในวันข้างหน้า มีการประกวดปลากระเบนขึ้นมา อีกครั้ง ผมคงไม่พลาดที่จะร่วมสนุก ส่งปลาเข้าประกวดด้วยอย่างแน่นอนครับ เพราะหากได้รับรางวัล น่าจะ เป็นผลดีสำหรับ นักเพาะเลี้ยงปลาอย่างผม นั่นหมายถึงกำลังใจ ความภาคภูมิใจ และ การเป็นที่ยอมรับในผลงาน ทั้งในและต่างประเทศครับ



*การประกวดปลากระเบนอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกในประเทศไทยครับ

 

แล้วโอกาสอันดีก็เข้ามาในชีวิตครับ ผมไปเจอ Brochure เกี่ยวกับการประกวดปลาในงานวันปลาสวยงามแห่งชาติ ปี พ.ศ.2551 เกิดความตื่นเต้นและ ท้าทายอย่างบอกไม่ถูก โดยการประกวดปีนั้น จากการสอบถามผู้จัด (ชมรมผู้นิยมปลาสวยงาม ประเทศไทย) ทำให้ทราบว่า เป็นการจัดประกวดอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

1.ปลากระเบน Polkadot

2.ปลากระเบนรวมทุกสายพันธุ์


ความคิดเดิมกับความตั้งใจที่เปลี่ยนไป

ภายหลังเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า จะมีการประกวดกระเบนขึ้นในงานดังกล่าว ความคิดที่จะส่งปลาเข้าประกวด ยังคงเหมือนเดิมครับ แต่ความตั้งใจที่จะทำเพื่อตัวผมเองนั้นเปลี่ยนไป เนื่องด้วยเป็นงานประกวดระดับประเทศ ผมเริ่มมองถึงถ้วยรางวัลชนะเลิศในงาน ซึ่งเป็นถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ประทานโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ

การประกวดครั้งนั้น ผมจึงประกวดในนาม คุณพ่อครับ (สมพงษ์ สมบูรณ์พร) เพราะคิดว่า หากมีบุญญาธิการ ได้รับรางวัลประทาน คุณพ่อของผม น่าจะเป็นผู้ได้รับโอกาสนั้นก่อนครับ


* 1 ใน 3 ปลาที่ส่งประกวด ชิงแชมป์ประเทศไทย ปีพ.ศ.2551

*ผลการตัดสิน ปลาที่ผมส่งเข้าประกวด ได้รับรางวัลชนะเลิศ ยอดเยี่ยมประเภทกระเบนรวมทุกสายพันธุ์

วินาทีแรกที่ทราบว่า ปลากระเบนที่ส่งลงประกวดได้รับรางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยม ถือเป็นความสำเร็จของ อีกหนึ่งอาชีพเรา ยังความปลาบปลื้มปิติ ยินดีและภูมิใจสำหรับผมและครอบครัวมากครับ เพราะถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศและความภาคภูมิใจสูงสุด ที่เราได้เพาะพันธุ์ปลากระเบนมา อีกทั้งเป็นรางวัลที่ไม่สามารถหาซื้อได้ด้วยเงินตรา หรือสิ่งอื่นใดครับ

 

*ภาพแห่งความภาคภูมิใจ สำหรับนักเพาะเลี้ยงปลากระเบนอย่างผมและครอบครัวครับ

 

* ภาพถ่ายหมู่ พร้อมกับผู้เข้ารับถ้วยประทาน รางวัลชนะเลิศปลาสวยงามชนิดอื่นๆ

 

* ถ้วยรางวัลชนะเลิศ ยอดเยี่ยม ประเภท ปลากระเบนรวมทุกสายพันธุ์ครับ

 

*ภาพบรรยากาศโดยรวมในงาน

 

* นำรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ กลับไปเชยชมที่บ้านครับ

บทสรุปการประกวดปลากระเบนงานวันปลาสวยงามแห่งชาติ พ.ศ.2551

- ในด้านของการตัดสิน ปลาที่รับรางวัลในทั้ง 2 ประเภท โดยส่วนตัวผมมองว่า เหมาะสม ทั้ง 2 ประเภทครับ ถึงแม้ว่า การตัดสินด้วยสายตาของกรรมการ จะไม่สามารถนำมาตรฐานใดๆ มาใช้ในการตัดสินได้ และการประกวดปลากระเบนถือว่า ยังใหม่อยู่มาก สำหรับการประกวดชิงแชมป์ประเทศไทย ในมุมมองผมซึ่งได้คลุกคลี กับปลากระเบนมาพอสมควร ถือว่ากรรมการตัดสินได้อย่างเป็นกลาง ไม่เอนเอียงครับ

- องค์ประกอบอื่นๆ ภาชนะที่ใช้ใส่โชว์ปลา เป็นถังพลาสติกสี่เหลี่ยม ขนาด 120x80x45 cm. สำหรับปลาขนาด 12 นิ้วขึ้นไป(วัดจากขอบเชิงจากข้างหนึ่งไปยังอีกข้าง) มีระบบกรองบน มีอุปกรณ์ทำความร้อน Heater และ สิ่งที่ สำคัญที่สุดคือ มีการเตรียมแผ่นกระจกเพื่อใช้ปิดกั้นผู้ชมในการชมซึ่งมีทั้งข้อดี และ ข้อเสียครับ

ข้อดี - เนื่องจากปลากระเบนถือว่าเป็นปลาที่มีมูลค่าในตัวสูง ราคาแพง อีกทั้งลักษณะส่วนตัวเป็นปลาที่ค่อน ข้างไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น น้ำ อุณหภูมิ อ๊อกซิเจน และสารเคมีรวมทั้ง ปัญหาที่อาจจะเกิดจากผู้ชม นำสิ่งของต่างๆ ใส่ลงไปในอ่างแสดงปลาได้ การใช้กระจกใสปิดป้องกัน จากด้านบน จึงเป็นการป้องกันปัญหาเริ่มต้นอย่างถูกต้องครับ

ข้อเสีย - ผลจากการใส่ Heater เพื่อควบคุมและรักษาอุณหภูมิน้ำในอ่าง ไม่ให้เย็นเกินไป ประกอบกับอากาศ ด้านนอกอ่างปลา ภายใน Hall มีการใช้เครื่องปรับอากาศเกือบตลอดเวลา เมื่อความเย็นจากด้านนอก มีอุณหภูมิ ต่ำกว่า บริเวณภายในอ่างปลา ทำให้กระจกที่ปิดกั้น เกิดไอน้ำ เกาะทั่วบริเวณกระจก ทำให้ ยากแก่การ มองเห็นตัวปลาในอ่างครับ

**************************************************************

&ห่างหายไปกว่า 4 ปี ภายหลังจากประกวด Aqua53 ทำอะไรอยู่?&

หลังจากได้รับรางวัลสมความปรารถนา จากการประกวดดังกล่าว ผมเองยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาสายพันธุ์ ปลาที่มีอยู่ตลอดครับ เนื่องด้วยการเลี้ยงของผม ไม่ได้เป็นไปในลักษณะของฟาร์ม ด้วยพื้นที่ทีมีอยู่อย่างจำกัด บ่อปลาที่สร้างบริเวณหลังบ้าน มีอยู่ 4-5 บ่อตั้งแต่เริ่มเลี้ยง จนถึงวันนี้ก็ยังคงมีเท่าเดิมครับ และด้วยจำนวนแม่ปลา ที่ไม่มาก ผมจึงพยายามเน้นในเรื่องของความสวยงาม และ คุณภาพในผลผลิตลูกปลาที่มีอยู่เดิมครับ


ขออนุญาต ไม่กล่าวถึงกระแสปลาโดยรวม ภายหลังจากงานประกวดครั้งนั้นนะครับ เพราะผลผลิตลูกปลาที่บ้าน ไม่ได้มากมายเลยครับ ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังกลุ่มลูกค้าที่เชื่อมั่น และติดต่อซื้อขายกันมานาน จนถึงปัจจุบันนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อคือ การที่เราจะทำอะไร หากเริ่มด้วย ใจรัก และ เอาใจใส่ต่อสิ่งที่เราทำ ความสุขมันเริ่มจาก สิ่งนั้นครับ ผมจึงเลือกที่จะไม่ทำปลาตามกระแส คือทำตามสิ่งที่เราชอบเท่านั้นครับ

ช่วงประมาณปี พ.ศ.2550 - 2551 น่าจะเป็นช่วงที่ปลากระเบนได้รับความนิยมสูงสุด ไม่ว่าในแง่ของความต้องการ ในการเลี้ยง รวมทั้งในแง่ของราคา ลูกปลาสายพันธุ์แท้อย่าง Polkadot และ Pearl ราคาสูงถึงคู่ละ 120,000- ก่อนที่จะลดลงในเวลาต่อมา และถูกแทนที่ในปี พ.ศ.2552 ด้วยปลาลูกผสมในตระกูลปลาดำ Polkadot โดยเฉพาะ ลูกผสมระหว่าง Polkadot-Henlei จากประสบการณ์ตรงของผม ลูกผสมสายพันธุ์นี้มีมูลค่าต่อตัวสูงที่สุด(ในขณะนั้น) ทำให้ผมเลือกที่จะเก็บปลาสายพันธุ์ดังกล่าวไว้เพิ่มความหลากหลาย จนถึงปัจจุบันนี้ครับ

สรุปสายพันธุ์ปลากระเบนที่ผมเลือกทำในปัจจุบัน แบ่งได้เป็น 3 สายพันธุ์คือ

1.Motoro sp. 2. Polkadot Leopoldi สายพันธุ์แท้ 3. Polkadot-Henlei

 

[Motoro sp.]

หากจะกล่าวถึงปลากระเบนที่มีความสวยงาม หลากหลาย มีการเปลี่ยนแปลงตลอดการเจริญเติบโตของมัน ให้นักเพาะเลี้ยงอย่างผม ได้ลุ้น และติดตาม ผมขอชี้ไปที่ Motoro sp. ครับ จากก้าวแรกในการทำปลาสายผสม จาก Motoro sp. ต่อยอดขึ้นไปเป็น Pearl-Motoro ยิ่งทำให้ผมค้นพบและ เข้าใจว่า ความน่าลุ้น น่าตื่นเต้น มันผิดกันเยอะเลยครับ (ในสายปลา Cross ธรรมดาที่ไม่ใช่สายสูงอย่าง Polkadot-Pearl) สีสันและลวดลาย ลายเส้นคล้ายพรม หลากสีบนตัว Motoro sp. เป็นอีก สเน่ห์ หนึ่ง ที่ทำให้ผม ไม่เคยหันหลังให้กับมันครับ (สนใจข้อมูล โปรดศึกษาจากบทความก่อนหน้านี้ครับ)

* ลูกปลา Motoro sp. ยุคแรกๆ

 

*รุ่นต่อๆมา ภายหลังการปรับปรุงสายพันธุ์ครับ (ภาพจากบทความเดิมครับ)

* พ่อพันธุ์ Motoro sp. ต้นสายผลผลิตลูกปลาทั้งหมดในปัจจุบันครับ

 

Motoro sp. & ลูกผสมปลาดำ???

ไม่ทราบว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายของผม เนื่องจากก่อนหน้านี้ พ่อปลา Polkadot leopoldi เพียงตัวเดียว ที่ผมมี ไม่สามารถผสมข้ามสายพันธุ์กับแม่ปลาตัวอื่นที่ไม่ใช่ Polkadot หรือปลาตระกูลปลาดำได้ อีกทั้ง ลำพัง พ่อปลาตัวดังกล่าวตัวเดียว ต้องคอยผสมแม่ปลา Polkadot ทั้งบ่อของผม จึงไม่น่าจะมีความสมบูรณ์ เพียงพอ ที่จะข้ามไปผสมปลา Motoro sp. หรือแม่ปลา สายพันธุ์อื่นที่มีครับ

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผมเองไม่เคยเห็นปลาลูกผสม จากพ่อ Polkadot กับแม่ Motoro sp. ของที่บ้านได้ครับ กล่าวง่ายๆคือ Motoro sp. จากบ้านผม ไม่มีเชื้อปลาดำแน่นอน 100% ครับ

 

 

* Motoro sp. แท้ๆ มิได้มีสายเลือดปลาดำ รุ่นหลังๆผมพยายามจะให้เป็นแบบนี้ทั้งหมดครับ

ยุคหลังๆของผม จะใช้พ่อปลา Motoro sp. ที่พัฒนาสายพันธุ์แล้ว (เนื้อสีส้มจัด ตัดกับเส้นสีดำ) มาผสมกับ แม่ปลาที่มีลักษณะจุดสีขาวไม่ว่าจะเป็น Motoro sp. ด้วยกันเอง หรือแม่ปลาจาก Pearl-Motoro ลูกปลาที่ ได้มีลักษณะดังรูปข้างล่าง จุดอาจจะไม่ขาวสนิท แต่สีของพื้นสีดำ เกือบจะดำสนิท ทำให้ปลาดูมีสเน่ห์ขึ้น มาอีกแบบครับ

 

* Motoro sp. ชุดปัจจุบัน ขณะถ่ายภาพกลางแจ้งครับ

****************************************

[Polkadot] &Leopoldi&

ปลาสายพันธุ์แท้เพียงสายพันธุ์เดียวที่ผมเลือกที่จะเพาะเลี้ยงคือ Polkadot ครับ โดยเลือกเก็บเฉพาะ Leopoldi สายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีที่บ้าน แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีหลัง จะมีทางเลือกที่เพิ่มขึ้นสำหรับการเพาะเลี้ยง ปลาสายพันธุ์นี้ แต่ผมเองเลือกที่จะต่อยอดจากพ่อแม่ปลาคู่เดิมที่มีครับ ด้วยเอกลักษณ์ของตัวมันเอง คือ จุดเล็กและกระจายทั่วตัว ส่งผ่านลักษณะดังกล่าวมายังรุ่นลูกในแต่ละรุ่น ลักษณะลูกปลาแรกเกิด จุดจะมีขนาดใหญ่ โดยถูกแทนที่ด้วย จุดเล็กๆที่เพิ่มขึ้นเมื่อปลาโตขึ้นครับ

สิ่งหนี่งที่ผมพยายามเหลือเกินในการพัฒนาปลาสายแท้อย่าง Polkadot ผมต้องการให้ลูกปลาที่ได้มี ลักษณะเด่นที่แปลกจาก Polkadot สายแท้ออกไป กล่าวคือ อยากเห็นลูกปลาที่ได้ มีลักษณะเส้นสีขาว ตัดกับพื้นสีดำสนิท โดยใช้พ่อปลาเป็น Leopoldi แท้ๆ มิได้ผ่านปลาสายพันธุ์ผสมแต่อย่างใด

* พ่อ-แม่ปลา Leopoldi ต้นสายผลผลิตที่บ้านในปัจจุบันครับ

 

* ลูกปลาชุดแรก สมัยเริ่มต้นใหม่ๆ (จากบทความเดิมครับ)

*ลูกปลารุ่นถัดมา ผมเริ่มได้ลักษณะเส้นสีขาวบนตัวปลา บ้างแล้วครับ

* ยุคกลางๆ ครับ

 

*ผลผลิตในยุคปัจจุบัน

*********************************************

[Polkadot-Henlei]

ในขณะที่การเลี้ยงและพัฒนาปลา 2 สายพันธุ์ด้านบนยังคงดำเนินไป แม่ปลาสายพันธุ์อื่นอย่าง Polkadot-Henlei บางส่วนที่เก็บไว้ เริ่มเข้าสู่วัยพร้อมเจริญพันธุ์แล้ว เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักเพาะเลี้ยงปลากระเบนครับ ว่าแม่ปลาที่เป็น Henlei หรือ มีเชื้อ Henlei นั้นให้ลูกค่อนข้างยาก แต่ผมค่อนข้างโชคดีที่ ไม่ค่อยพบกับปัญหาดังกล่าว ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน (บทความเก่า) ผมได้ลูกปลาจากแม่ที่เป็น Henlei แท้ๆ พ่อ Polkadot และเก็บลูกปลาบางส่วนจากรุ่นนั้น มาต่อยอดเป็นแม่ปลาในส่วนที่กำลังกล่าวถึงปัจจุบันนี้ครับ

*บ่อแม่ปลารวม


*ผลผลิตลูกปลา Pol-Henlei ในปัจจุบัน ครับ


จากประสบการณ์ของผม Polkadot-Henlei ด้วยสายพันธุ์ของมันเอง และจากการคัดเลือกพ่อปลาที่ดี ส่งผลให้ลูกปลาที่ได้มีความสวยงาม หลากหลาย ไม่แพ้ ปลาตระกูล Motoro sp. นะครับ ซึ่งพัฒนาการของ Polkadot-Henlei ตอนโตจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามต่อด้านล่างของบทความนี้ครับ


* พ่อปลาที่เป็น Polkadot-Henlei อีกทางเลือกหนึ่งของการทำปลาสายผสมครับ


*Polkadot-Pearl พ่อปลาหลักอีกตัว สำหรับปลาสายผสมที่บ้าน ณ ขณะนี้ครับ

นั่นคือสายพันธุ์ทั้งหมดที่ผมทำอยู่ในปัจจุบันครับ จากวันแรกที่เริ่มเลี้ยงปลา ปีพ.ศ.2546 ด้วยบริเวณที่จำกัดและด้วยความตั้งใจแต่แรก ที่จะไม่ทำปลาในจำนวนที่เยอะ จวบจนถึงปัจจุบันภายหลังจากการประกวดปลาปี พ.ศ.2551 วงการปลากระเบนสวยงาม มีขึ้นมีลงตามวัฏจักรและกลไกของมัน สำหรับผู้เลี้ยงในประเทศ มีปลาให้เลือกเลี้ยงหลากหลายขึ้น หากเทียบกับสมัยก่อน ผมยังคงเพาะเลี้ยงปลากระเบนเพื่อส่งออก เป็นงานอดิเรกเหมือนเดิม ประกอบกับเมื่อได้รับถ้วยรางวัลจากการประกวด ชีวิตนักเลี้ยงปลากระเบนอย่างผมก็แทบจะถูกเติมเต็มโดยสมบูรณ์ครับ

*************************************************************

& Reserve Best in Show & เกียรติประวัติ และความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต

ภายหลังจากที่การประกวดปลากระเบนในงานวันปลาสวยงามแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2551 ผ่านพ้นไป ผมได้ทราบข่าวคราวการจัดประกวดปลากระเบนขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ.2555 4 ปีหลังจากงานนั้น ในงานประมงน้อมใจไทยทั่วหล้า ครั้งที่ 11 การตัดสินใจแรกคาดว่าคงไม่ลงประกวดแน่นอนครับ เนื่องจากเคยคว้าถ้วยรางวัลจากการประกวดในงานวันปลาสวยงามแห่งชาติ เมื่อปี 2551 มาแล้ว

แต่แล้ว ด้วยคำพูดของบุคคลสำคัญในชีวิตของผมท่านหนึ่งได้พูดกับผมหลังจากงานประกวดปี 2551 นั้น โดยกล่าวว่า &ครั้งนี้คุณพ่อมีโอกาสได้รับ ประทานรางวัลจากพระหัตถ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชา ทินัดมาตุ แล้ว คราวหน้าถ้ามีโอกาส ให้แม่ได้เข้ารับ ประทานรางวัลจากพระองค์ท่านบ้างนะ&

ด้วยคำพูดของคุณแม่ผมประโยคนั้น และผมมีโอกาสได้ทำให้คุณแม่ได้ภูมิใจอีกรอบ (ไม่ได้มั่นใจว่าจะได้รับรางวัลแน่ๆครับ) ประกอบกับผมห่างหายจากวงการปลากระเบนบ้านเราไปนานกว่า 4 ปี นี่จึงเป็นโอกาสอันดีอีกครั้งสำหรับผมและครอบครัวครับ

* งานประมงน้อมใจไทยทั่วหล้า ครั้งที่11 การประกวดครั้งที่ 2 สำหรับผม

ภายหลังจากการศึกษารายละเอียดในการประกวดปลากระเบน ในงานประมงน้อมใจไทยทั่วหล้าครั้งที่ 11 นอกจากความคิดจะตอบแทนคุณแม่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้ผมมั่นใจในการความเป็นกลางของการประกวดในครั้งนี้ นั่นคือรายชื่อของ กรรมการตัดสินครับ ผมมิได้รู้จักเป็นการส่วนตัวครับ เพียงแต่พอทราบประวัติมาบ้าง ว่าเป็นนักเพาะเลี้ยงปลากระเบนส่งออก ไปต่างประเทศ และเลี้ยงมาหลายปี ด้วยแนวทางใกล้เคียงกับผม (ทำปลา cross เหมือนกัน) ผมจึงไม่ลังเลที่จะส่งปลาที่เราทำ เข้าประกวด เพื่อให้กรรมการท่านนี้ได้พิจารณาครับ นั่นคือที่มาของการประกวดปลาครั้งที่ 2 สำหรับผม

ประเภทการประกวดในครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

1.ปลากระเบนสายพันธุ์แท้ (คือนำสายพันธุ์แท้ในแต่ละสายพันธุ์ มาประกวดเพื่อตัดสินกันเอง)

2.ปลากระเบนสายพันธุ์ผสม

โดยอีกหนึ่งข้อมูลสำคัญที่ใช้ตัดสินคือ &ไม่ได้ตัดสินกันที่ราคาปลา& กล่าวคือมิได้หมายความว่าปลาที่มีราคาสูงกว่า จะมีโอกาสได้รับรางวัลมากกว่าปลาที่ มูลค่ารองลงไป โดยระบุขนาดในการประกวดครั้งนี้ที่ 10 นิ้วขึ้นไปโดยวัดจากส่วนที่กว้างทีสุดของขอบจาน และอ่างโชว์ปลาครั้งนี้ เป็นอ่างพลาสติกกลม ขนาด 1 เมตร สูง 60 cm.

*อ่างพลาสติกทรงกลมที่ใช้ในงานประกวดครั้งนี้

การประกวดครั้งนี้ ผมร่วมส่งปลาเข้าประกวดทั้งสิ้น 7 ตัว (ทั้ง 2 ประเภท) โดยแบ่งเป็น สายแท้ 2 ตัว และสายผสมอีก 5 ตัว ในฐานะแชมป์เก่าปลาสายผสม ผมจึงไม่ประมาทโดยส่งปลาสายพันธุ์ ที่บ้านลง โดยแบ่งเป็น

- Polkadot - Henlei 3 ตัว

- ลูกผสมจากพ่อ Pearl-Polkadot 1 ตัว

- และ Motoro sp. 1 ตัว

และแน่นอนที่สุดครับ การประกวดครั้งที่ 2 นี้ ส่งในนามคุณแม่ &เบญจวรรณ สมบูรณ์พร& ครับ

*ภาพบรรยากาศโดยรวม ก่อนนำปลาลงอ่างครับ

***********************************************

&ผลการตัดสิน&

เป็นที่น่ายินดี ภูมิใจ และปลาบปลื้มใจ สูงสุดครับ ปลาที่ผมส่งลงประกวด คว้าทุกรางวัลที่มีในการประกวดครั้งนี้ครับ โดยเฉพาะสายพันธุ์ผสม ได้รับรางวัลทั้ง 5 รางวัล เริ่มจาก

1. ชนะเลิศ - ยอดเยี่ยม จาก Motoro sp.

2. รองชนะเลิศอันดับ1 จาก ลูกผสมจากพ่อปลา Pearl-Polkadot

3. รองชนะเลิศอันดับ 2 จาก Polkadot-Henlei

และ รางวัลชมเชย จาก Polkadot - Henlei

ความตื่นเต้นและ น่ายินดี ยังไม่หมดแค่นั้นครับ ผมทำให้คุณแม่มีโอกาสเข้ารับรางวัลถ้วยประทาน สำเร็จดังหวัง หากเปรียบเทียบกับการประกวดครั้งก่อน มีคุณค่าเสมอกันนั่นคือ ได้รับรางวัลชนะเลิศ - ยอดเยี่ยมครับ

ข่าวดีหลังจากนั้นคือ การประกวดปลาสวยงามในแต่ละประเภท จะมีผู้ชนะเลิศ &ยอดเยี่ยม& และได้รับมอบถ้วยประทาน ได้เพียงชนิดละ 1 คนเท่านั้นครับ จากนั้นทางผู้จัดงาน จะนำผู้ที่ชนะเลิศยอดเยี่ยมในปลาแต่ละประเภท เช่น ปลากัด ปลาหาง นกยูง ปลามังกร ปลากระเบน ฯลฯ มาแข่งขันกันเอง เพื่อค้นหา

รางวัลถ้วยพระราชทานพร้อมเงินรางวัลสูงสุด นั่นคือ &Best in Show& และ &Reserve Best in Show&

ผลการประกาศรางวัล ปลากระเบนชนะเลิศยอดเยี่ยมของผม สามารถคว้ารางวัล &Reserve Best in Show& เพิ่มอีก 1 รางวัล ซึ่งสำหรับผมถึงแม้จะนอกเหนือความคาดหมาย แต่นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมและครอบครัวได้ภาคภูมิใจสูงสุด กว่ารางวัลที่ได้รับในการประกวดครั้งก่อน ด้วยรางวัลนี้ครับ

* Motoro sp. กับ 3 รางวัลสูงสุด ในปลาตัวเดียวคือ Reserve Best in Show ชนะเลิศ และ ยอดเยี่ยม

 

*เหนือสิ่งอื่นใด คุณแม่ในวันเข้ารับถ้วยประทาน &Reserve Best in Show& ครับ

 

* ถ่ายภาพร่วมกับผู้ชนะเลิศยอดเยี่ยม ปลาชนิดอื่นครับ

 

* Motoro sp. ตัวแชมป์ประเทศไทย งานวันประมงน้อมใจไทยทั่วหล้าครับ

 

* รองอันดับ 1 ลูกผสมจากพ่อ Polkadot-Pearl

 

* รองอันดับ 2 และ ชมเชย Polkadot Henlei ตัวที่เข้าร่วมวาดลวดลายในงานประกวดครับ

 

*รางวัลแห่งความสำเร็จ คว้าทุกรางวัลที่มีในการประกวดครับ

บทสรุปจากการประกวดปลากระเบนในงานประมงน้อมใจ ไทยทั่วหล้า ครั้งที่ 11

-ในด้านของการตัดสิน ด้วยประสบการณ์และคุณวุฒิของกรรมการ ถึงแม้ความชัดเจนในสายพันธุ์ของปลากระเบน จะมีข้อถกเถียงในการตัดสินว่าปลาตัวนี้เป็นปลาสายแท้ หรือ สายผสม ประกอบกับเพิ่งเป็นการประกวดปลากระเบนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งที่สองในประเทศไทย โดยส่วนตัวผมมองว่า กรรมการท่านตัดสินได้อย่างตรงไปตรงมา และพิจารณาปลาแต่ละตัวที่เข้าประกวดได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนมากครับ คือ สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่า ปลาตัวนี้ ได้รางวัลเพราะอะไร หรือ ปลาตัวนี้ พลาดรางวัลเพราะอะไร และสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้ผมค่อนข้างเชื่อในความบริสุทธิ์ใจของกรรมการคือ ไม่ได้ตัดสินปลาโดยพิจารณาจากราคา จริงๆครับ ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าตัดสินใจไม่ผิด ที่ตัดสินใจ ส่ง Motoro sp. เข้าประกวดและ ได้รับการตัดสินชนะเลิศในที่สุดครับ

-องค์ประกอบอื่นๆ หากเปรียบเทียบกับการประกวดเมื่อปี พ.ศ.2551 การประกวดในครั้งนี้ อาจเสี่ยงไปบ้างสำหรับ ปลาที่เข้าประกวด เนื่องจาก เปลี่ยนจากถังพลาสติกทรงสี่เหลี่ยมมาเป็นถังทรงกลมสูง และไม่มีกระจกปิด ทั้งนี้เพื่อการชมปลาให้ได้อรรถรสและความเพลิดเพลิน ทางผู้จัดจึงไม่นำกระจกมาปิดครับ แต่จากการสังเกตจากการเข้าชมการประกวดในเกือบทุกวันของผม จะมีเจ้าหน้าที่ คอยประจำอยู่ตามจุดที่ผู้ชมเยอะๆ และคอยสอดส่องดูแลความปลอดภัยของปลากระเบนอยู่เกือบตลอดเวลาครับ ซึ่งสำหรับผมถือเป็นทางออกที่ดีครับ


โปรดติดตามต่อใน &Aqua53& ว่าด้วยเรื่องการประกวดปลากระเบน (ตอนจบ) ครับ

วิดิโอที่เกี่ยวข้อง