Geophagus กับสุรินัม ในวันวาน
Geophagus กับสุรินัม ในวันวาน จั่วหัวข้อ ย้อนไปในอดีต กับปลาตัวหนึ่ง ที่ผมและนักเลี้ยงปลาในวัยเดียวกับผม ต่างรู้จักมันดีในนาม 'สุรินัม' กาลเวลาผ่านไป ยี่สิบปี เห็นจะได้ จากปลาสุรินัมในวันวาน ที่เราเรียกกันได้เต็มปาก กับกลายเป็นว่า เมื่อเห็นปลาในกลุ่มนี้ จะเกิดอาการติดอยู่ที่ริมฝีปาก เนื่องจากปัจจุบัน มีการนำเข้าปลาในสกุลนี้มาหลายชนิด หากมองดูผิวเผินแล้ว ก็อาจจะนึกว่าเป็นชนิดเดียวกันไปหมด แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นคนละชนิดกัน แล้วคำถามที่ว่า 'สุรินัม' ที่ผมเคยเลี้ยงตอนเด็กๆ ตกลงมันใช่สุรินัมจริงๆ หรือป่าว สุรินัม ตัวจริงๆ นั้นมันมีหน้าตาเป็นอย่างไร จะมีใครบ้างไหม ในเมืองไทย ที่เคยได้ครอบครอง
บทความนี้ จะพาท่าน ไปไขปริศนา สุรินัมในตำนาน โดย คุณเปา แห่งร้าน CichlidsLives ได้ทำการโพสต์เรื่องราวดังต่อไปนี้ ใน เฟสบุ๊คกรุ๊บของนายเก๋าดอทคอม ก่อนที่เราจะดำดิ่งลึกลงไปเพื่อตามหา เจ้านั่มในตำนาน เรามาทำความรู้จัก สกุล Geophagus กันก่อน ปลาในกลุ่มนี้ เป็นพวก Eartheater (หากินโดยการคุ้ยหน้าดิน) พบแพร่กระจายทั่วทวีปอเมริกาใต้ ปลาในสกุลนี้ จะมี ลักษณะพฤติกรรมตามธรรมชาติ ที่ชอบอมและบ้วนทราย ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติ ที่นักมีนวิทยา ใช้ในการจัดจำแนก ปลาในสกุลนี้ นอกเหนือไปจาก ลักษณะทางกายภาพของปลา นับเกล็ด นับกระดูก นับก้านครีบ
เราจะมาทำความรู้จัก สมาชิก ในสกุล Geophagus ที่พบกันบ่อยๆ และมีหน้าตาดูที่คล้ายคลึงกับ Geophagus surinamensis ส่วนพวกหน้าตามีเอกลักษณ์ ที่สามารถจำแนกชนิดได้ชัดเจนอยู่แล้ว เช่น บัลซานี่ ฮอนเด้ ชนิดพวกนี้ ขออนุญาตข้ามไป เพราะคิดว่าเพื่อนๆ สามารถแยกได้ไม่ยากอยู่แล้ว จากแผนภาพนี้ จะมีทั้งหมด 10 ชนิด ที่มองดูเผินๆ แล้ว รับรองแยกชนิด กันไม่ถูกเลยทีเดียว
Geophagus dicrozoster (ไดโครซอสเตอร์) - หมายเลข 1
จากรูป จะว่ารูปแต่งสีมากก็ไม่ใช่ เพราะไดโครมีความสามารถแตะสีระดับนี้ได้จริง ไดโคร เป็นจีโอทรงยาวในตอนเด็กๆ ถ้าเทียบทรงปลาเด็ก มันดูยาวกว่าใครเพื่อน จนอาจจะคิดไปแล้วว่า 'โตมาตัวต้องยาว ไม่สวยแน่เลย!' ... เปล่า มันยาวแค่ถึง 4-5 นิ้วเท่านั้น พอขยายขึ้น มันเริ่มกว้างขึ้น บวกกับเครื่องครีบที่ค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับสัดส่วน ทำให้ ไดโคร ตอนเต็มฟอร์ม ดูสง่างามมากพอตัว
'ไดโคร' ไม่ใช่ปลามีเปีย แต่ก็สามารถยาวได้นิดหน่อย 'ไดโคร' มีครีบท้อง ที่เราเรียก "ตะเกียบ" ที่ใหญ่และยาวมาก มากๆอ่ะ
- มีขีดดำที่คาง (ถ้าเทียบกับโพสไวน์มิลเลอร์ จะเห็นว่าลักษณะขีดไม่เหมือนกันด้วย)
- มีบั้งตัว Y อยู่หลังจุดดำ (บั้งขึ้นเฉพาะตอนตกใจ เครียด ขู่)
- เนื้อตัวสีเหลืองอมเขียว มุกไม่มาก(เยอะในปลาป่า)
- แถบสีไม่มี จะเป็นสีเดียวกับเนื้อตัว
- ในปลาป่ามีจุดแต้มแดงค่อนข้างชัดในช่วงแถบสีด้วย
- เครื่องครีบชมพูอมม่วง
Geophagus abalios (อะบาลิออส) - หมายเลข 2
บางคนอาจจะ เอ๊ะ ?! สักนิด เหมือนเคยผ่านมือ ครับ... มันเคยเข้ามาอยู่ตามร้านในนาม 'สุรินัม' เมื่อสิบปีที่แล้วโดยประมาณ ถ้าสังเกตจากภาพจะเล่นว่ามีลักษณะที่ เข้าเค้าสุรินัมในตำนานจริงๆ G. abalios นั้นมีลักษณะที่พอจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวดังต่อไปนี้
- เนื้อตัวอมเหลือง แถบสีเหลืองอมส้ม เสริมด้วยแต้มสีส้มแดงทับลงบนแถบสี
- ขนาดจุดดำปานกลาง เครื่องครีบชมพูอมม่วง
- เครื่องครีบยาวได้
ส่วนในภาพที่สองนั้น เป็นตัว cf. abalios (ใกล้เคียง อะบาลิออส มาก)
Geophagus winemilleri (ไวน์มิลเลอร์) - หมายเลข 3
ถ้าพูดถึง ไวน์มิลเลอร์ สมัยก่อนที่เคยเลี้ยงกันมานมนาน จะจำภาพแรก (รูปที่ 1) ซึ่งนี่แหละ ไวน์มิลเลอร์ ที่คุ้นตา เป็นสายพันธุ์ที่มาจาก Rio Negro (แม่น้ำเนโกร)
มีลักษณะที่พอบรรยายคร่าวๆ ได้ดังนี้
- มีขีดดำที่คาง จุดดำกลางๆ ทรงยาวๆ
- แถบส้มอมเหลือง เครื่องครีบชมพูม่วงจี๊ดๆ
แล้วรูปที่เหลือล่ะ? ใช่ครับ ประมาณน่าจะ 6-7 ปีที่แล้ว ร้าน Proaquaclub ได้นำเข้า ไวน์มิลเลอร์ ในรูปที่ 2 เข้ามา พอเริ่มค้นๆ รื้อๆ ... หน้าตาไม่เหมือนกันนะ แต่ ! ถูกจัดเป็น ไวน์มิลเลอร์ เช่นกัน แต่แค่มาจากคนละแม่น้ำ (รูปที่ 2) อยู่ที่ Rio Atabapo (แม่น้ำอะตาบาโพ้) ขีดดำมีเหมือนกัน ขนาดจุดเท่ากัน แถบมุกมีเหมือนกัน ต่างกันที่... ทรงกว้างกว่า สีไม่เหมือนกันทั้งตัวทั้งครีบ เครื่องครีบเป็นชมพูอมแดง แถบสีเหลือง ถ้าสังเกตลึกเข้าไปอีก ให้มองที่ ขีดดำข้างแก้ม ระหว่าง Rio Negro (รูปที่ 1) กับ Rio Atabapo (รูปที่ 2) รูปลักษณ์ขีดดำไม่เหมือนกันด้วย (รูปที่ 1) ขีดตรงลงมาเลย ในขณะที่ (รูปที่ 2) มีความโค้ง ส่วนรูปที่ 3 ... ไปเจอมาจากเพจ Below water Geophagus cf. winemilleri 'Orinoco' แปลจากชื่อคือคิดว่า... ใกล้เคียง ไวน์มิลเลอร์ มาก พบที่ Rio Orinoco (แม่น้ำโอริโนโค่) มองแล้วคล้ายกับ Rio Atabapo (รูปที่ 2) นะ
Geophagus brokopondo (โบรโคพอนโด) - หมายเลข 4
ตัวที่สาม ตัวนี้มีความคล้ายกับ สุรินัม อัลติฟรอน มาก แต่คล้ายไปทาง สุรินัม มากกว่า เนื่องด้วยว่าถิ่นกำเนิดก็อยู่ที่ซูรินาม ที่เดียวกับสุรินัมเลย
- มุกเรียงเป็นระเบียบ สลับแถบสีน้ำตาลอมเหลือง (คือสีพื้นตัวมัน) มีจุดส้มขึ้นทับ
- จุดดำใหญ่ ควรอยู่ตู้สว่างๆ เพราะเนื้อตัวมืดๆ ถ้าอยู่ตู้มืด.. จะกลืนไปกับตู้เลย
Geophagus brachybranchus (บราชี่แบรนชัส) - หมายเลข 5
ชื่อของมันบ่งบอกถึงช่วงคาง คือนอกจากจะมีขีดดำแล้ว คาง {ใต้ปาก} ก็ดำด้วย Brachy เคยเข้ามาในไทยในชื่อ 'สุรินัม' ด้วย หลุดมา 1-2 ล็อต ผ่านทางร้าน All fish (พี่โอ๋) [ มีสั่งมาเป็นจริงเป็นจังอีกรอบผ่านทางร้านปลาหมอสีร้านใดร้านนึง ] น่าจะเนื่องด้วย ตอนเด็กมันดูคล้ายกับสุรินัม และยังอยู่ที่สุรินัมอีกด้วย
- จุดดำมี มุกมี แถบส้ม แต้มแดงทับ
- ใต้คางจะมีดำอย่างเห็นได้ชัด
Brachy ที่พบใน Rio Sipaliwini (แม่น้ำสิปาลิวินาย) เป็นแม่น้ำในสุรินัม (รูปที่ 5)
ส่วนสองภาพสุดท้าย นี้ คือ Geophagus sp. Rio Branco ซึ่งพบที่ในแม่น้ำ ริโอแบรนโค ซึ่งอยู่คนละฟากกับ Rio Sipaliwini ในสุรินัม มีความใกล้เคียงกับ brachybranchus มาก ทั้งเรื่องสี มุก ลายหาง แต่! ทั้ง 2 ชนิดนี้ไม่ได้อยู่แหล่งใกล้กันเลย sp. 'Rio Branco มีขีดดำลางๆที่แก้ม ตัวผู้จ่าฝูงมีสันหัวขึ้นดูหนาๆ เหมือนหัวจะใหญ่
Geophagus surinamensis (สุรินัมในตำนาน) - หมายเลข 6
ชื่อคุ้นมากก คุ้นกันมานาน แต่ไม่คุ้นตากันเลยสักคนเดียว คุ้นว่าคล้าย กับ คุ้นว่าใช่ คือต่างกัน เราต่างคุ้นกับชื่อ surinamensis (สุรินัม) แต่ตัวที่เราคุ้นกันมาตลอด ชื่อจริงคือ altifrons (อัลติฟรอน) ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ Clear ว่า ท้ายที่สุดมันคือแบบไหน เพราะเจออยู่ 2-3 ลักษณะที่แตกต่างกัน คือยังไม่รู้ชัดว่า แหล่งไหนคือตัว main หลัก ก่อนจะแตกลักษณะไปตามเขตแม่น้ำอีก
- จุดนึงที่เป็นตัวชี้ให้ดึงมันเข้ามาใน Target ของสุรินัมแท้ๆ คือ "จุดสีดำที่ โคน ครีบ อก" จุดนี้เป็น Target สำคัญอันดับแรก ถ้าไม่มีจุดนี้ให้ปัดตกไปก่อน
- จุดดำข้างตัวมีขนาดกลาง ไม่ถึงกับใหญ่มาก
- ทรงตัวยาว มีแถบมุก สลับแถบเหลือง
- มีแต้มสีส้มแดงขึ้นทับ
- เรื่องไซส์นั้น.. อย่าว่าแต่หลายคนงงว่าโตได้แค่นี้จริงหรอ? ทางเราก็งงไม่ต่างกัน 14.8 cm. มาจาก fishbase ฐานข้อมูล และยังเจอ 14.8 cm. ใน paper ของนักมีนวิทยาที่ค้นพบ และที่อธิบายรายละเอียดสัดส่วนกระดูกซึ่งจะไม่พูดในนี้ มันวิชาการจ๋ามากกกก(ตาลาย)
G. surinamensis ที่มีลักษณะของลายหางเป็นเส้น
3 รูปนี้จัดเป็น เซตที่ 1 จัดจากลายหางหลักๆ ถ้ามองลึกๆ ที่ภาพแรกซึ่งเป็นปลาขนาดเล็ก เราจะเห็นลายเส้นที่หางจางๆ เป็นเส้นไม่ประติดประต่อ ซึ่งพอโยงมาดูรูปที่ 2 กับ 3 ลักษณะลายหางเป็นเส้นไม่แตกต่างกันนัก มีโอกาสที่ลายแบบรูปที่ 1 จะพัฒนาเป็นลายในรูปที่ 2 และ 3
G. surinamensis ที่มีลักษณะของลายหางเป็นจุด
มีความแตกต่างชัดที่ลายหางอย่างในโพสที่แล้ว คือเ ลายหาง เป็น จุด ที่แทบไม่ต่อกันเป็นเส้นเท่าไร 2 รูปแรก เป็น รูปที่ถ่ายจากธรรมชาติ รูปสุดท้ายมีความต่างเข้ามาอีกจุดคือ ลายที่ปลายกระโดง (ครีบหลัง) มีความเป็นจุด ในขณะที่ภาพอื่นเป็นลายเส้น
Geophagus proximus (พร็อกซิมัส)- หมายเลข 7
ออกเสียงตามจริง 'พร็อกซิมุส' เป็นชนิดที่สร้างความสับสนไม่น้อยกับ Geophagus winemilleri ลักษณะเด่นของ Proximus จะมีดังต่อไปนี้
มีขีดดำตรงแก้ม จุดดำขนาดใหญ่ ใหญ่พอๆ กับ Megasema (เมกะเซม่า) เรียกว่าตีคู่กันมาเลยก็ได้ ลายหางเป็นเส้น ลายหางแนวนี้จะมีอยู่ไม่กี่ตัวที่ชัดๆ [Proximus, Tapajos, Megasema...] เนื้อตัวอมเหลือง แถบส้มแดงจัด ตัวเด็ดๆพีคๆ ส้มจะเริ่มจากคาง แล้วแผ่ไปทั่ว แถบมุกไม่ค่อยเป็นระเบียบ
Geophagus megasema (เมกะเซม่า) - หมายเลข 8
มองเผินๆ ดูคล้ายกับ abalios(อะบาลิออส) อยู่นะ แต่ Geophagus megasema (เมกะเซม่า เครื่องครีบและจุดดำมีขนาดใหญ่กว่าใครๆ มาก ลายตามครีบ ชัดสุดคือหาง จะเป็นเส้นๆ แถบมุก สลับ แถบเหลืองอมส้ม เครื่องครีบยาวได้ในปลาใหญ่
Geophagus camopiensis - หมายเลข 9 'Oyapock' (คาโมพิเอนซิส 'โอยาป๊อก')
Geophagus camopiensis เท่าที่ดูจากรูปหลายๆรูป... มีมุก กับ จุดดำใหญ่ระดับนึง ลายหางละเอียดดี ทรงตัวโทนยาวๆ มีเปียยาวทุกเส้น ส่วนสีนั้น.. สีดิบๆ สีป่าๆ ออริจินัลดี
Geophagus sp. 'Aporema' (อโพเรม่า) รูปที่ 2 Geophagus sp. Geophagus sp. อโพเรม่าเป็นสายหวาน ส้มหวานๆอ่ะ ตัวผู้จะส้มเหลือง ตัวเมียจะเป็นส้ม.. จางๆ เคยเห็นตัวเป็นๆมาแล้ว มีมุกเรียงเป็นระเบียบ จุดหางกลมกระจายละเอียด ที่จัดไว้ใกล้ๆกันเพราะบางแหล่งข้อมูลจัดให้ 2 ชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกัน เขาว่า ว่า 2 ตัวนี้มีความใกล้กันค่อนข้างมาก
Geophagus altifrons - หมายเลข 10
ดูรูป ... แล้วคุ้นจัง แต่ทำไมปากเราจะพูดว่านี่ 'สุรินัม' นิ ทำไมชื่อ "อัลติฟรอน" ซะล่ะ ??? อย่างที่รู้กันคร่าวๆ กลุ่ม Eartheater พวกอมๆ บ้วนๆ โดยเฉพาะสกุล Geophagus นั้น คือหลากหลายมาก ถ้าไม่เคยเลี้ยงมาก่อน จะแยกไม่ออกเลยด้วยซ้ำว่านี่คืออะไร ทำไมตอนเล็กๆ เหมือนชนิดเดียวกันไปหมดเลย
ผมก็เป็นแบบนั้นมาก่อน ตามอ่านข้อมูลต่างๆ ทั้งของพี่บอย (ปลาระเบิด) หรือที่ต่างๆ เท่าที่จะหาได้ จนได้เลี้ยงมาระยะนึง แล้วก็เกิดความสงสัยเกิดขึ้น.. เพราะผมมีตัวผู้อยู่ตัวนึง ซื้อมาในชื่อ 'สุรินัม' ก็อยากจะหาคู่ให้มัน แต่หลังจากซื้อ 'สุรินัม' จากหลายๆ ร้านในจตุจักรสมัยนั้น หลายตัวก็แล้ว ทำไมมันโตมา แล้วมันไม่เหมือนกับตัวผู้ที่ผมมีอยู่เลย และไม่มีพฤติกรรมจะจีบแม้แต่ว่าต่างเพศกันก็ตาม จนวันนึงจะขาย ก็เลยไปฝากที่ร้านเต้ยส้ม ก็เรียกได้ว่า 'วินิจฉัย และถกเถียง กันอยู่พักใหญ่ สรุปตัวผู้ที่ผมมีไม่ใช่สุรินัม แต่เป็น Abalios
นั่นเป็นประกายจุดแรกที่มีคำถามว่า "แล้วสุรินัมจริงๆ เป็นแบบไหน?" เป็นอีกแบบที่เราเลี้ยงๆ กันอยู่หรือเปล่า?
แต่ทำไมลักษณะภายนอกของสุรินัมที่เราเรียกกัน มันถึงเหมือนกับ "อัลติฟรอน" อย่างกับเป็นชนิดเดียวกัน พอค้นมากเข้า ลึกขึ้นเรื่อยๆ คำถามก็ตามมาเยอะพอควร - เขาจะตั้งชื่อชนิดเดียวกัน 2 ชื่อทำไม? - ตัวไหนคือตัวจริง? - ทำไมกดหา 'สุรินัม' เจอรูปทั้ง Altifrons, Abalios เยอะมาก แล้วไหนละ คือ สุรินัม?
จนกระทั่งวันนึงค้นจนเจอรูปภาพรูปหนึ่ง หน้าตาไม่คุ้น แต่.. มีขีดดำที่โคนครีบอก ! และรูปทรง ที่ต่างจากอัลติฟรอนโดยสิ้นเชิง มันดูเพรียว ดูลาดกว่า จุดกลางตัวชัด นั่นคือ เริ่มติดแล้วว่า อาจจะเป็น สุรินัม ของจริงที่ตามหาอยู่ก็เป็นได้ แต่เมื่อตอนนั้น ผมปี 1 ราวๆ ปลายปี 53 ... ข้อมูลของสุริน้มตัวแท้ แทบไม่มีเลย ค้น สุรินัม มากแค่ไหน ก็เจอแต่อัลติฟรอน
ลักษณะที่ใช้แยกอัลติฟรอน ออกจากสุรินัม
- สุรินัม ตรงมุมล่างของหางจะไม่มีจุด ซึ่ง ข้อนี้มีในอัลติฟรอน แล้วมันจะมีรูปภาพ (รูปหลังๆ)
- สุรินัม ตอนโต จุดกลางตัวใหญ่มาก แต่สุรินัมที่เราเลี้ยงกัน โตขึ้นมาจุดเหลือนิดเดียว เหมือน อัลติฟรอน ต่อให้พยายามหา อัลติฟรอนตัวเล็กที่มีจุดชัดๆ แต่พอโตขึ้นมาก็เหลือนิดเดียวอยู่ดี
- สุรินัม ตัวจริง มีขีดสีดำที่โคนครีบอก
ปล. ปลากลุ่มนี้ ต่อให้ชื่อชนิดเดียวกัน แต่พอต่างแม่น้ำ ก็เหมือนเป็นปลาคนละตัวไปเลย ทั้งลายหาง ลายครีบ ทรง สี ในท้องตลาดตอนนี้ มันจะมีความใกล้เคียง ความคล้าย ค่อนข้างใกล้ จนแยกไม่ออกกันเลยทีเดียว ภาพเซตนี้ทั้งหมดคือ อัลติฟรอน (Geophagus altifrons) แต่ความยากมันคือต่อจากนี้ คือ... แค่ต่างแม่น้ำ พบกันคนละที่ คนละแม่น้ำ ก็นับว่าเป็นคนละตัว คนละชนิด ทั้งๆ ที่ถูกบัญญัติชนิดว่าเป็น 'อัลติฟรอน' แต่ละแหล่งจะมีความต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อย
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ อ่านถึง ตรงนี้ แล้ว เอายาดม ยาอม ยาหม่องมั้ยครับ คงไม่ถึง ขั้นต้องไปห้องน้ำ หา ชักโครกก นะ ผมจัดหน้านี้ จัดไปอ่านไปก็มึนพอสมควร แต่เอาเป็นว่าบทความนี้ คงให้แนวทางในการศึกษาปลาในกลุ่มนี้ กับ เพื่อนๆ ได้ไม่มากก็น้อย และผมก็พอได้คำตอบแล้วว่า สุรินัม ที่ผมเคยเลี้ยงตอนเด็กๆ จริงๆ แล้วมันคือ Geophagus altifrons นั่นเอง ต้องขอขอบคุณ คุณเปา แห่ง ร้าน CichlidsLives สำหรับข้อมูล ขอเสียงปรบมือรัวๆ ให้น้องเปาด้วยครับ และขอเสียงกระทึบเท้าดังๆ ให้ผมด้วยครับ สำหรับการจัดหน้าและเรียบเรียงบทความนี้ อย่าตึบ ผมนะถ้ามีอะไรผิดพลาด และ ตกหล่นไป ผมแค่ใช้เวลาว่างจากการกักตัวอยู่ที่บ้านให้เกิดประโยชน์ แค่นั้นเอง ไปหล่ะ... อีกสิบปี จะมาทำบทความให้อ่านใหม่ ...
สุดท้ายนี้ เป็นข้อมูลการแบ่ง Geophagus ตามความ หายาก หาง่าย ในท้องตลาด เอาไว้ดู ก่อนตามหา บางตัวที่อยากได้ จะได้ไม่ต้องรอเก้อครับ
กลุ่มที่มีตลอดเวลา
กลุ่มนี้เพิ่งหมดไป แล้วยังไม่เห็นมีมาเพิ่ม
กลุ่มที่มี เกือบ ตลอดเวลา
|
กลุ่มที่หายตัวไปพักใหญ่แล้ว บางชนิด เกิน 7-8 ปี
|
กลุ่มที่มีอยู่ แต่คาดว่านานๆ จะมาอีกที หรืออีกนานเลย
|
|