Skip to content

ปรับปรุง เว็บไซต์ เยอะแยะเลย ลองกดเข้าไปเล่นดูสิ ตอนนี้ มีหมอตั้ม มาประจำที่ โรงพยาบาลแล้วนะครับ ใครมีปัญหาปลาป่วย ปรึกษาได้ครับ

ห้อง Crossbreed อาทิ เช่น ปลาไตรทอง, ปลาเท็กซัสแดง, Flowerhorn, Pearl horn, นกแก้ว, คิงคอง, และ ครอสบรีด สายพันธุ์ต่างๆ แยกออก มาเป็นห้อง แต่ไม่แยก ค่าย เพื่อความ มัน ในการอ่าน กระทู้จริงๆ

0019019

เอาความรู้มาไห้อ่านเล่นกันครับ !!!

icearmy
icearmy [2009-01-17 15:33:09]
ปลาหมอสี

ปลาหมอสีเป็นปลาน้ำจืดจัดอยู่ในวงศ์ Cichlidae พวกเดียวกับปลานิล ปลาหมดเทศ ปลา ออสการ์ ปลาปอมปาดัวส์ เป็นปลาที่เลี้ยงได้ง่าย อดทน มีพฤติกรรมที่หลากหลาย ถ้าผู้เลี้ยงไม่เข้าใจพฤติกรรมของปลาหมอสีก็จะทำให้ตายได้ง่าย ฉะนั้น ก่อนเลี้ยงก็ควรศึกษาหาอ่านจากตำราการเลี้ยงปลาหมอสีก่อน ซึ่งปัจจุบันนี้มีหนังสือเกี่ยวกับปลาหมดสีทั้งเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่มากมาย ผู้เลี้ยงที่เพิ่งเริ่มต้นก็หาซื้อปลาที่มีราคาถูกหน่อยเลี้ยงหาประสบการณ์ก่อนแล้วค่อย ไปซื้อชนิดราคาแพงเมื่อมีความสามารถมากขี้นแล้ว
หลักทั่วไปในการเลี้ยงหมอสีก็เหมือนกันกับการเลี้ยงปลาอื่นๆ คือ

1. น้ำต้องสะอาดไม่ควรมีเชื้อโรค ห้ามใช้น้ำประปาที่เปิดจากก๊อกน้ำโดยตรง เฉพาะคลอรีนและปูนที่อยู่ในน้ำจะฆ่าปลาได้ในเวลาอันรวดเร็วควรพักน้ำประปาไว้สัก 2-3 วันจึงนำมาใช้
2. ใช้เครื่องกรองน้ำซึ่งหาซื้อได้ตามร้านทั่วไปเลือกให้เหมาะกับขนาดของตู้
3. ขนาดของตู้เลี้ยงควรจะใหญ่สักหน่อย ถ้าเลี้ยงพวกหมอสีพันธุ์เล็ก ความยาวของตู้ไม่ควรต่ำกว่า 24 นิ้ว ถ้าเป็นพันธุ์ใหญ่ก็ไม่ควรต่ำกว่า 36 นิ้ว ควรมีสัก 2 ตู้ เพื่อเป็นตู้พักปลา 1 ตู้ ตู้เลี้ยง 1 ตู้
4. อาหารปลาหมอสีกินอาหารสำเร็จรูปได้ดี ซึ่งเราหาซื้อได้ทั่วไปแต่ถ้าที่บ้านใกล้แหล่งเพาะยุงหรือใกล้บริเวณที่มีลูกน้ำลูกไรมาก และหาได้สะดวกก็ให้ลูกน้ำ ลูกไร เป็นอาหารจะดีมากทั้งประหยัดเงินและมีอาหารที่มีคุณค่าดี
5. ก้อนหิน ก้อนกรวด พันธุ์ไม้น้ำที่เราคิดว่าจะจัดลงไปในตู้นั้นควรจะทำความสะอาดให้ดี ก้อนหินก็ควรจะแช่น้ำลดความเป็นด่างลงพันธุ์ไม้น้ำก็ควรจะพักไว้ในถังหรือตู้อื่นๆ รอจนมันฟื้นตัวได้แล้วค่อยนำมาจัดในตู้
6. ตู้ปลาควรจะตั้งอยู่ใกล้กับที่พักน้ำเพื่อเปลี่ยนน้ำในตู้ปลาได้สะดวก ปัญหานี้ดูเหมือนเล็กแต่ก็มีหลายๆรายที่เลิกเลี้ยงปลา เพราะต้องเปลี่ยนน้ำในตู้ปลาบางรายถึงขั้นทะเลาะกันเพราะเกี่ยงกันเปลี่ยนน้ำตู้ปลา บางรายถูกคำสั่งห้ามเลี้ยงหลังจากการเปลี่ยนน้ำตู้ปลาผ่านไปไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เพราะขณะเปลี่ยนน้ำตู้ปลาบริเวณระหว่างที่พักน้ำกับตู้ปลาจะกลายเป็นเขตอันตราย สูงสุดต่อชีวิตของคนแก่และเด็ก รวมทั้งสตรีมีครรภ์ไปในทันที การลื่นหกล้มในบริเวณนี้จะเกิดขึ้นบ่อยมาก
7. เวลา ถ้าคุณต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตีห้าครึ่งและกลับถึงบ้านประมาณไม่ถึงสี่ทุ่มดีในวันปกติ วันเสาร์ต้องตื่นสิบโมงเช้าเพื่อนอนชดเชยพอตื่นก็ต้องทำงานบ้านจิปาถะที่ค้างตั้งแต่จันทร์-ศุกร์ แล้วก็ขอแนะนำว่าไปปลูกต้นไม้ดีกว่าเพราะปลาที่คุณเลี้ยงไว้นั้นมันพากันตายหมดแล้ว ก่อนเลี้ยงปลาต้องถามตัวเองก่อนว่ามีเวลาไหม และคนรอบข้างจะยินดีไหมที่คุณจะเลี้ยงปลา เพราะคนรอบข้างนั้นก็คือคนงานของคุณขณะเปลี่ยนน้ำตู้ปลา ถ้าเกิด คนงานสไตรท์ขณะเปลี่ยนน้ำไปได้ครึ่งเดียว ภาระทั้งหมดก็จะอยู่ที่คุณคนเดียวจริงๆ
เมื่อหลัก 7 ประการนี้คุณแก้ปัญหาได้แล้ว คราวนี้ก็เริ่มลงมือเลี้ยงกันได้ สมมุติว่าตู้ปลาจัดตกแต่งเรียบร้อยแล้ว ตำราก็อ่านแล้วมีความมั่นใจ 100% ถุงใส่ปลาถูกแกะออกปลาฝูงแรกถูกปล่อยลงตู้แล้วทุกตัวพร้อมใจกันว่ายเข้าหาที่ซ่อน ไม่ต้องตกใจนั่นเป็นสัญญาณของปลา สักครู่ตัวที่กล้าหน่อยหรือตกใจน้อยหน่อยจะเริ่มว่ายน้ำสำรวจที่อยู่อาศัยใหม่ ตัวอื่นๆก็จะตามมาที่มีนิสัยรวมฝูงก็จะรวมกัน บางตัวก็ว่ายเที่ยวแล้วแต่ชนิดและนิสัยของแต่ละตัวไม่ต้องให้อาหารวันที่สอง เมื่อปลาส่วนใหญ่สงบลงแล้วเริ่มให้อาหารเล็กน้อยเป็นอาหารมีชีวิตได้ก็ดีถ้าไม่มีอาหาร เม็ดก็ได้ ให้น้อยๆดูจนกว่าปลาจะกินอาหารเม็ดหมด ทิ้งไว้สัก 2-3 ชั่วโมง ถ้ามีเศษอาหารเหลือก็ให้ตักออกทิ้งไป สัปดาห์แรกผ่านไปคุณจะรู้สึกว่าตัวเองกะประมาณอาหารที่ให้ปลาได้ดีขึ้น อาหารที่ให้ไม่ค่อยเหลือซึ่งจะดีมากน้ำจะใสไม่เสีย ถ้ามีปลาตายก็รีบตักออกไปจากตู้โดยเร็ว สังเกตุด้วยว่าตายสภาพอย่างไร ถ้าครีบขาดรุ่งริ่งแสดงว่ามันกัดกัน แยกตัวที่ก้าวร้าวออกไปใส่ไว้ในตู้พักปลา ถ้าภายในสภาพตัวยังสมบูรณ์ก็เกิดจากหลายสาเหตุ และตายติดต่อกันทุกวันก็ต้องเปิดตำราและถามผู้รู้แล้วละ สัปดาห์ที่สอง-สาม-สี่ ปลาก็จะเริ่มคุ้นกับคุณแล้วละมันจะเริ่มมาหาคุณไม่กลัวคุณ ยิ่งคุณอยู่ดูมันมากเท่าใดมันก็จะยิ่งคุ้นกับคุณมากขึ้นเท่านั้น การสื่อสารระหว่างคุณกับปลาก็จะยิ่งรู้เรื่องกันมากขึ้น แต่คุณต้องไม่ลืมคนที่อยู่รอบข้างคุณนะครับ นานเข้าก็จะมีเสียงบ่นเดี๋ยวนี้ไม่รู้เป็นอะไรมัน(หมายถึงตัวคุณนะครับ) กลับจากเรียน(หรือทำงาน)แล้วก็นั่งขลุกอยู่หน้าตู้ปลาตลอด ถ้าเป็นแบบนี้คุณควรจะห่างจากปลาของคุณไปสนใจคนอื่นบ้าง แล้วหาเวลาช่วงก่อนนอนหรือคนอื่นพักผ่อนกันแล้วค่อยมาดูแลปลาของคุณ โดยสังเกตุปลาทุกตัวทีละตัว คุณจะพบว่ามันโตขึ้นมาก แข็งแรง สุขภาพดี ซึ่งเป็นความปรารถนาของคุณพอทุกอย่างเงียบสงบ คุณจะได้ยินเสียงกระซิบว่า ดูแลสุขภาพด้วยฉันก็เป็นห่วงคุณเหมือนกัน ก็พอดีได้เวลาเข้านอนรุ่งเช้าคุณตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่นเพื่อไปเรียนหรือ ทำงานต่อตามเรื่องของคุณ



ความคิดเห็นที่ 1

icearmy
icearmy [2009-01-17 15:33:36]
การผสมพันธุ์ปลาหมอสี มีขั้นตอนคร่าวๆดังนี้....................

1. ให้ตัวผู้และตัวเมียสร้างความคุ้นเคยกันก่อน โดยอยู่ในตู้เดียวกัน แต่ควรหาอะไรมากั้นเป็น 2 ฝั่งไว้ก่อน

2. พอตัวเมียเริ่มมีท่อน้ำไข่ยื่นมากขึ้น ก็ปล่อยให้ตัวผู้มาฉีดน้ำเชื้อ

3. ถ้ากรณีที่ตัวผู้และตัวเมียเข้ากันได้ดี มันก็จะสลับกันวางไข่และฉีดน้ำเชื้อที่ถาดที่เราจัดเตรียมไว้ให้

4. เสร็จแล้วก็นำถาดไข่ที่ได้มาแยกฟัก โดยให้น้ำท่วมถาด และให้ออกซิเจนเยอะ ๆๆ

5. ประมาณสัก 3-4 วันก็จะมีจุดดำอยู่ในไข่ แต่ถ้ากรณีที่เป็นสีขาวๆเป็นแพติดกัน นั่นความหมายว่าตัวผู้ไม่มีน้ำเชื้อหรือมีน้ำเชื้อน้อยมาก

การเลี้ยงปลาฟอร์มให้หัวโหนกไว

สายพันธุ์ปลาจะต้องดี คือว่าปลาหมอสีเพศผู้จะต้องมีเชื้อที่สมบูรณ์ และปลาหมอสีเพศเมียจะต้องให้ไข่เยอะ อย่างเช่นสายพันธุ์ bighead เป็นต้น

ถ้าอยากให้ปลาหมอสีหัวโหนกไวจะต้องฟอร์มในตู้ฟอร์มที่น้ำใสสะอาด คือว่าจะต้องเปลี่ยนน้ำตู้ปลาบ่อยๆ เพื่อให้ปลานั้นโตไวและตู้ฟอร์มก็จะต้องมีขนาดกำลังดี คือว่าไม่เล็กจนเกินไป เพราะจะทำให้ปลาอึดอัด และโตช้า

อาหารเป็นสิ่งที่สำคัญการให้อาหารปลาหมอสีนั้นก็จะต้องให้พอเหมาะสมเพราะว่า ถ้าให้อาหาร มากจนเกินไป อาจจะทำให้น้ำในตู้ฟอร์มนั้น เหม็นเร็วซึ่งถ้าให้น้อยจนเกินไป ก็จะทำให้ปลานั้นไม่ค่อยโต เพราะว่าอาหารไม่ถึงซึ่งวิธีที่ดีที่สุด ก็คือการให้อาหารปลาหมอสี ประมาณขนาดของปลา คือว่าให้ พอปลากินแล้วท้องป่องก็พอ และจะให้วันละ 2 หรือ 3 ครั้งก็ได้แล้วแต่ อาหารนั้นก็ คือไรทะเล เราควรจะใส่เกลือลงไป ในไรทะเลด้วย เพื่อให้ไรทะเลนั้นอยู่ได้ตลอดทั้งวัน เพราะถ้าไม่ใส่เกลือ ไรทะเลก็จะตายเร็ว

อากาศก็เป็นสิ่งสำคัญอีกเช่นกันเพราะว่าถ้าเราให้อ็อกซิเจนน้อยไปก็จะทำให้ปลาหัวโหนกช้า ควรจะเปิดอ็อกซิเจนให้แรงพอสมควร

ความคิดเห็นที่ 2

icearmy
icearmy [2009-01-17 15:34:28]
ปัจจุบัน ความหมายของ คำว่า "ปลาหมอสี" บิดเบือนไปมากเหลือเกิน ถ้าลองยกคำว่า ปลาหมอสีขึ้นมาพูด คนส่วนใหญ่เป็นต้องนึกถึงปลาตัวโตหัวโหนกเท่าลูกกอล์ฟ ลำตัวมีสีสด มีลายเป็นจ้ำๆ สีดำที่เรียกว่ามาร์คกิ้ง อุปนิสัยดุร้ายต้องเลี้ยงตามลำพังตัวเดียว เชื่อกันว่าเลี้ยงแล้วเป็นมงคล แต่ไม่ยักมีใครนึกถึงปลาตัวเล็กๆ ที่อาศัยเป็นฝูงตามโขดหินในทะเลสาบ ไม่มีใครนึกถึงปลานักล่าขนาดใหญ่ ปากกว้างชอบกินปลาอื่นเป็นอาหาร ซึ่งในวงการนักตกปลาเรียกมันว่า "พีค็อกแบส" แล้วยิ่งปลาเศรษฐกิจสีตุ่นๆ ที่เราเอามาทอดจิ้มน้ำปลาพริกมะนาวกินอย่างปลานิลก็ยิ่งไม่มีใครนึกถึงเป็นอันขาดว่ามันก็อยู่ในกลุ่มปลาหมอสีด้วยเช่นกัน

อันว่าปลาหมอสีนั้น แท้ที่จริงคือชื่อที่เราใช้เรียกปลากลุ่มหนึ่ง (จริงๆ น่าจะใช้คำว่า วงศ์ (family) ที่มีความหลากหลายทางสรีระและขนาด แต่มีลักษณะร่วมบางอย่างเหมือนกัน ภาษาสากลเรียกปลากลุ่มนี้ว่า "ซิคลิด (Cichlid) " มีสมาชิกในวงศ์นับพันชนิด (species) และหลายร้อยสกุล (genera) แหล่งอาศัยของพวกมันจะอยู่ตามแหล่งน้ำในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนของทวีปต่างๆ ได้แก่ ทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชีย

ในทวีปแอฟริกาและทวีปอเมริกาใต้ถือเป็นดินแดนแห่งปลาหมอสี มีจำนวนชนิดพันมากมายมหาศาลทั้งที่มีสีสันสวยงามและไม่มีสีอะไรเลย ส่วนทวีปเอเชียมีจำนวนสายพันธุ์ปลาหมอสีเพียงไม่กี่ชนิด เกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศอินเดียและศรีลังกา ที่เหลืออยู่ในบางแหล่งน้ำของตะวันออกกลาง เช่น ประเทศอิหร่าน เป็นต้น

ชื่อ "ปลาหมอสี" ได้มาจากการเทียบเคียง

สมัยก่อนเรามีปลาเศรษฐกิจที่เลี้ยงไว้รับประทานเนื้ออยู่ 2 ชนิด คือ ปลานิล และปลาหมอเทศ (Tilapia niloticus,Tilapia mozambicus) ซึ่งทั้งสองก็จัดเป็นสมาชิกในวงศ์ซิคลิดดี (Family Cichlidae) เช่นกัน ปลานิลมีสีดำอมเทา ตามครีบมีลวดลาย แต่ก็ไม่เด่นชัดสวยงามนัก ส่วนปลาหมอเทศก็พอกัน แต่ปลาตัวผู้จะมีแก้มขาวและครีบหางแดง แต่ก็ไม่ได้สวยวิเศษถึงขนาดเอามาเลี้ยงในตู้ได้อยู่ดี

ต่อมาใครก็ไม่รู้นำสายพันธุ์ปลาเข้าจากต่างประเทศเพื่อเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เป็นปลาในกลุ่มซิคลิดจากทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นปลารูปร่างคล้ายปลานิล ปลาหมอเทศ แต่มีสีสันและลวดลายสวยงามกว่าอักโข แถมยังมีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีรูปร่าง รูปทรง และสีสัน แตกต่างกันไป ส่วนชื่อนั้นไม่ต้องพูดถึง ปลาเหล่านี้ในภาษาสากลมักเรียกมันด้วยชื่อวิทยาศาสตร์หรือชื่อคอมมอนเนมที่ออกเสียงลำบากสำหรับคนไทย ซึ่งในเมื่อมันออกจะคล้ายปลาหมอเทศที่เราเลี้ยงกันอยู่ก่อน กลุ่มผู้นำเข้าจึงรวมเรียกปลาที่สั่งเข้ามาว่า ปลาหมอเทศสี ได้รับความนิยมล้นหลาม แต่ด้วยชื่อที่ยังยาวเกินไป หลังๆ เพื่อให้สะดวกปาก จึงเหลือเพียงคำว่า ปลาหมอสี ดังที่เป็นอยู่อย่างในปัจจุบันนั่นเอง

วงศ์ปลาหมอสีมีความหลากหลายมากจริงๆ ผมลองยกตัวอย่างปลาขึ้นมา 4-5 ชนิด ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์ซิคลิดดีหรือวงศ์ปลาหมอสี แต่ปรากฏว่าน้อยคนนักจะยอมเชื่อ เพราะแต่ละตัวมีรูปร่างแตกต่างกันมาก เช่น ปลาเทวดา (Pterophyllum scalare) มีรูปทรงแบนข้างมากเหมือนเอากระดาษมาพับเป็นรูปปลาแล้วแต่งครีบบนครีบล่างให้ยาวโอเวอร์ หรือปลาปอมปาดัวร์ (Symphysodon aequifasciata) มีรูปทรงแบนเช่นกัน ทว่ากลมเหมือนจาน แถมยังมีสีสันสดฉูดฉาดเหมือนปลาทะเล ปลาออสก้าร์ (Astronotus ocellatus) ก็เป็นปลาในวงศ์ปลาหมอสีอีกชนิดหนึ่งที่คนไม่ค่อยจะรู้ รูปทรงของมันหนาบึกบึน หน้าตาก็น่ากลัว ปากหนา ตาพอง ลวดลายตามตัวเหมือนชุดพรางของทหาร นอกจากนี้ ปลานิล และปลาหมอเทศที่ยกตัวอย่างข้างต้นก็เป็นอีกชนิดที่สร้างความแตกต่างหลากหลายให้กับวงศ์ตระลปลาหมอสีได้เป็นอย่างดีทีเดียว

เมื่อคุณสมบัติคือความหลากหลายแปลกตา อีกทั้งยังสวยงามน่ามอง จึงเริ่มมีการนำปลาหมอสีจากแหล่งน้ำต่างๆ มาเลี้ยงในตู้กระจกกันเมื่อราวๆ ร้อยปีก่อน ในเมืองไทยเองก็นิยมเลี้ยงปลาหมอสีมานานมากแล้วเช่นกัน แต่อยู่ในช่วงสัก 30 ปี เห็นจะได้ และนิยมถึงขีดสูงสุดในยุคปัจจุบันนี้เอง (แต่ผ่าแหกคอกเป็นปลาหมอลูกผสม แทนที่จะเป็นปลาหมอสายพันธุ์แท้) มีการประกวดประชันความงามตามเวทีต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังนิยมเพาะพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ๆ ออกมาจนไทยแลนด์กลายเป็นแดนแห่งปลาหมอสีไปแล้ว มีการส่งออกไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก

การแบ่งประเภทปลาหมอสีมีหลากหลายวิธี แต่คร่าวๆ มักจะใช้วิธีแบ่งตามทวีปเป็นหลัก และในแต่ละทวีปก็จะแบ่งย่อยออกไปตามลักษณะเด่นของภูมิศาสตร์หรือสกุล เช่น

A ปลาหมอสีทวีปแอฟริกา (Old World Cichlid) แยกย่อยเป็น

1. ปลาหมอสีทะเลสาบ (Lake Cichlid)

1.1 ทะเลสาบมาลาวี (Lake Malawi)

1.2 ทะเลสาบทังกันยิกา (Lake Tanganyika)

1.3 ทะเลสาบวิคตอเรีย (Lake Victoria)

1.4 ทะเลสาบอื่นๆ ซึ่งมีขนาดเล็ก

2. ปลาหมอสีที่ไม่ได้อยู่ในทะเลสาบ (Non-Lake Cichlid) อันได้แก่ปลาที่อยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึงต่างๆ โดยมากอยู่ทางด้านตะวันตกและตอนกลางของทวีป

B ปลาหมอสีทวีปละตินอเมริกา (New World Cichlid) แยกย่อยเป็น

1. ปลาหมอสีทวีปอเมริกากลาง (Central America Cichlid)

2. ปลาหมอสีทวีปอเมริกาใต้ (South America Cichlid)

C ปลาหมอสีทวีปเอเชีย (Asian Cichlid) ที่มีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามมีเพียงสกุลเดียว คือ Etroplus ซึ่งมีแหล่งอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดียและศรีลังกา

D ปลาหมอลูกผสม (Cross Breeding Cichlid) เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์โดยมนุษย์ ปลาหมอลูกผสมแทบทุกสายพันธุ์ล้วนมีพื้นเพมาจากปลาหมอสีทวีปอเมริกากลางไม่กี่ชนิด คือปลาหมอเรดเดวิล (Amphilophus citrinelus) ปลาหมอซินสไปลุ่ม (Paratheraps synspilus) ปลาหมอเท็กซัส (Herichthys carpinte) ปลาหมอบางชนิดในสกุลเวียจา (Genus Vieja) และสกุลนันดอปสิส (Genus Nandopsis) ทั้งหมดอาจแยกหยาบๆ ได้เป็น

1. กลุ่มเท็กซัสแดง (Red Texas Cichlid)

2. กลุ่มฟลาเวอร์ฮอร์น (Flower Horn Cichlid)

ฉบับหน้ามาว่ากันเรื่องสายพันธุ์ปลาจากแหล่งน้ำต่างๆ ครับ

ความคิดเห็นที่ 3

icearmy
icearmy [2009-01-17 15:35:37]
ป.ล.

ขอบคุณเวบต้นฉบับ ที่ช่วยไห้ความรู้ครับ

ความคิดเห็นที่ 4

mksridertv
mksridertv
24
[2020-06-25 15:54:33]

นาคีผ่า คืออะไรครับ

ด้านบน

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนทำรายการ

เข้าระบบ