Skip to content

ปรับปรุง เว็บไซต์ เยอะแยะเลย ลองกดเข้าไปเล่นดูสิ ตอนนี้ มีหมอตั้ม มาประจำที่ โรงพยาบาลแล้วนะครับ ใครมีปัญหาปลาป่วย ปรึกษาได้ครับ

Exotic Fishes สำหรับคนที่หลงใหล และ ชื่นชอบ ในความแปลก ฉีกความจำเจ พื้นๆ กับ สายพันธุ์ปลาแปลกๆ จากอะเมซอน, ปลาแม่น้ำของไทย, สัตว์น้ำแปลกๆ, สัตว์เลื้อยคลาน (Reptile) โพสต์ข้อความแลกเปลี่ยนความรู้ กันได้ที่ ห้องนี้

0000277

สำหรับเพื่อนๆที่สนใจเลี้ยงซัคเกอร์ครับ

haow
haow (203.118.66.85) [2003-01-14 23:53:35]
ลักษณะถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ
ปลาซัคเกอร์ที่พบในธรรมชาติจะอาศัยอยู่ตามลำธารน้ำที่มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา โดยปากจะมีลักษณะพิเศษสามารถดูดติดกับก้อนหินได้เพื่อมิให้ไหลตามกระแสน้ำไป โดยธรรมชาติเป็นปลาที่ขี้อายจะอาศัยหลบอยู่ตามซอกหิน ใช้ปากดูดกินตะไคร่และสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่ลอยมาตามน้ำ บริเวณที่ปลาอาศัยอยู่น้ำจะใสสะอาดและมีอ๊อกซิเจนอยู่ในปริมาณสูง ดังนั้นเมื่อผู้เลี้ยงนำปลามาเลี้ยงควรที่จะจัดสภาพแวดล้อมให้มีลักษณะคล้ายกับธรรมชาติที่ปลาเคยอาศัยอยู่
อุปกรณ์ที่จำเป็นในการเลี้ยงปลาซัคเกอร์
ตู้- ตู้ที่ใช้ในการเลี้ยงปลาซัคเกอร์จะใช้ขนาดเท่าใดอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดและจำนวนปลาที่เลี้ยง ความสูงดูจะไม่มีความจำเป็นเท่าใดนักเมื่อเทียบกับความยาวและความกว้างเพราะซัคเกอร์โดยมากเมื่อผู้เลี้ยงจัดที่หลบซ่อนไว้ให้อย่างเพียงพอแล้วก็มักจะไม่มีซัคเกอร์มาแปะอยู่ตามกระจกอย่างที่เราคุ้นตากัน
ตู้ที่ยิ่งมีความยาวและความกว้างจะยิ่งลดอัตราการเสี่ยงของการประทะกันของปลาได้แต่ทั้งนี้ก็ต้องจัดที่หลบซ่อนไว้อย่างเพียงพอด้วยครับ อย่าดูถูกซัคเกอร์นะครับเห็นปากดูดๆดูไม่ร้ายแรงแต่บางตัวนี่กัดกันทีก้านครีบหางซัคเกอร์ที่ว่าแข็งๆนี่หักติดปากกันเลยนะครับ ดังนั้นตู้ซัคเกอร์ความสูงดูจะไม่มีความจำเป็นเท่าใดสำหรับปลาครับ (แต่กรณีใช้ระบบกรองข้างตู้ ตู้ที่สูงกว่าจะมีประสิทธิภาพในการกรองของเสียดีกว่าตู้ที่เตี้ยกว่า) แต่อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนครับ
ระบบกรอง- ปลาซัคเกอร์เป็นปลาที่กินมากจึงปล่อยของเสียออกมามากเช่นกัน ดังนั้นถ้าระบบกรองในตู้ไม่มีประสิทธิภาพดีพอน้ำจะขุ่นและมีเมือกอยู่ตามผิวน้ำอย่างรวดเร็ว (ขึ้นอยู่กับจำนวนปลาและขนาดตู้ด้วยครับ) ระบบกรองที่เหมาะสมควรเป็นระบบกั้นกรอง หรือ กรองนอก ที่มีไส้กรองประสิทธิภาพสูงสามารถดักเก็บฝุ่นระอองจำนวนมากได้ดีมีไส้กรองจำพวกชีวภาพ และมีขนาดของกรองที่ใหญ่เพียงพอ
ฮีทเตอร์- ปลาซัคเกอร์ที่นำมาเลี้ยงกันส่วนมากเป็นปลาทางเขตร้อนทั้งจากบราซิล และ เปรู ดังนั้นน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำเกินไปมักจะก่อปัญหาให้แก่ปลาซัคเกอร์ได้ครับอุณหภูมิที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 27-30 องศาเซลเซียส สำหรับหน้าร้อนดูจะไม่น่ามีปัญหาแต่ถ้าหน้าหนาวหรือในห้องแอร์จำเป็นครับ ยิ่งถ้าเป็นตู้ขนาดเล็กอุรหภูมิแกว่งไปมาไม่นานซัคเกอร์ก็จะอ่อนแอลงเป็นโรคจุดขาวได้ง่าย ปลาซัคเกอร์เป็นปลาที่ไม่ค่อยจะถูกกับยารักษาโรคเท่าใดนัก ดังนั้นหากปลาเป็นโรคจุดขาวก็ต้องพึ่ง ฮีทเตอร์อีกแหละครับ โดยเพิ่มอุณหภูมิมาที่ 31 องศาใส่เกลือเล็กน้อยเปลี่ยนน้ำ ไม่เกิน 3-4 วันจุดขาวจะค่อยๆหายไปจนหมดครับ การติดตั้งฮีทเตอร์ควรติดตั้งไว้ในที่มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลาเพื่อที่จะให้ความร้อนทั่วถึงเท่ากันทั้งตู้
ข้อควรระวังในการใช้ฮีทเตอร์ คือ ต้องถอดปลั๊กออกทุกครั้งเวลาเปลี่ยนน้ำเพราะถ้าฮีทเตอร์พ้นน้ำแล้วเราเติมน้ำเข้าไปใหม่จะทำให้หลอดฮีทเตอร์ที่เป็นแก้วแตก เป็นอันตรายต่อทั้งปลาและผู้เลี้ยงเป็นอย่างนิ่งครับ
แสงสว่าง- ในตู้ซัคเกอร์จะติดตั้งไฟไว้ก็เพียงให้ผู้เลี้ยงเห็นปลาเท่านั้น เพราะปลาซัคเกอร์เป็นปลาที่ไม่ชอบแสงสว่างเท่าใดนักพอเปิดไฟปลาก็จะเข้าหลบตามมุมมืดต่างๆ จะออกมาว่ายเล่นหาอาหารก็ตอนปิดไฟนั่นแหละครับ
ไดโว่- เนื่องจากในธรรมชาติปลาซัคเกอร์ เป็นปลาที่อยู่ตามลำธารน้ำไหลต่างๆ ดังนั้นการไหลเวียนของน้ำจึงมีความสำคัญต่อปลาค่อนข้างมาก การติดตั้งไดโว่เพื่อสร้างระบบหมุนเวียนของน้ำภายในตู้จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อปลา ยิ่งถ้าเติมอากาศลงไปพร้อมกับกระแสน้ำ ปลาจะยิ่งดูมีความสุขครับ
ปล.ถ้าติดตั้งไดโว่หลายตัวภายในตู้เดียวกันควรจะหันหัวไดโว่ไปในทางเดียวกันเพื่อให้เกิดกระแสน้ำไหลไปในทางเดียวกันทั้งตู้
การจัดตู้
ตู้ซัคเกอร์ผู้เลี้ยงจะปูด้วยพื้นกรวด หรือ ปล่อยพื้นโล่งเลยก็ได้ แต่ตู้โล่งจะดูแลรักษาความสะอาดได้ง่ายกว่าไม่เกิดของเสียหมักหมมตามพื้นตู้
ในตู้ควรจัดที่หลบพักแก่ปลาอย่างเพียงพอหากจำนวนปลามากกว่าที่อยู่อาศัยจะเกิดการกัดตีกันได้เพื่อแย่งที่อยู่อาศัย
วัสดุที่นิยมใช้ในการจัดตู้ซัคเกอร์ได้แก่ ขอนไม้ที่จมน้ำ,หิน,วัสดุดินเผา,ท่อพลาสติก มีผู้เลี้ยงซัคเกอร์บางท่านแนะนำมาว่าควรใช้ขอนไม้ในการจัดตู้ซัคเกอร์เพราะปลาจะค่อยๆกัดแทะขอนไม้กิน เป็นอาหารที่ช่วยให้ระบบย่อยของปลาดีขึ้น อันนี้ไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้นะครับ แต่จากการลองเอาวัสดุหลายๆอย่างใส่ลงไปในตู้ จากที่สังเกตุ ปลาจะชอบมาเกาะที่ขอนไม้มากกว่าวัสดุอื่นจริงๆ อันนี้ก็ไม่ทราบว่าเพราะอะไร เหมือนกันครับ
การเลือกซื้อปลา
ปลาซัคเกอร์เป็นปลาที่ไม่ค่อยจะเหมือนกับปลาทั่วๆไปนักเอาแต่อยู่นิ่งๆ ซึมไม่สบายหรือเปล่าเราก็ดูไม่รู้ การเลือกซื้อผู้เลี้ยงหลายๆท่านแนะนำมาว่าให้ดูที่ท้องของปลาว่าสภาพเป็นอย่างไรการเลือกซื้อถ้าปลาเกาะอยู่ที่พี้นหรือตามขอนไม้ อย่าไปเกรงใจครับ เลือกเองเอาไม้ต้อนๆปลาให้มาเกาะที่กระจกเลยครับ ดูท้องซิว่าเป็นยังไงหากตัวไหนผอมจนท้องเว้า ก็รีบๆปล่อยเค้าไปเถอะครับ หากเอามาเสี่ยงต่อการไม่ยอมกินอาหารจนตายได้เลยครับ เจ้าพวกนี้หากตัวไหนไม่ยอมกินอาหารรักษายากครับ ดังนั้นจึงต้องเลือกตัวที่แน่ใจว่ายอมกินแล้วดูที่ท้องว่าอูมๆพอสวยงาม อย่างนี้เอามาเลี้ยงค่อยอุ่นใจกว่าครับ บางร้านเอาปลาที่ขายใส่ถุงไว้ก็ให้ดูเลยครับว่าในถุงมีขี้ปลาหรือเปล่าเพราะซัคเกอร์เวลาตกใจมักจะขี้ออกมาครับแต่ยังไงก็ควรที่จะดูที่ท้องประกอบด้วยก็ดีนะครับ ส่วนสีลายอันนี้จะขาดจะเกินยังไงก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนครับ
อาหาร
อาหารที่นิยมให้แก่ปลาซัคเกอร์กันได้แก่ อาหารสำเร็จรูป,ผักกระหล่ำ,ไส้เดือน
อาหารสำเร็จรูปในตลาดตอนนี้เท่าที่เคยใช้อาหารของปลาซัคเกอร์ Hikari ดูจะมีภาษีดีที่สุด เพราะปลาค่อนข้างกินง่ายสารอาหารครบเพียงพอข้อดีของอาหารชนิดนี้คือ สะอาดปลาที่กินแต่อาหารสำเร็จรูปมักไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับท้อง ผิดกับอาหารประเภทไส้เดือน ที่ปลาบางตัวกินเข้าไปแล้วเกิดปัญหาท้องอืดปลาซัคเกอร์ถ้าหากกินไส้เดือนแล้วท้องอืดโดยไม่รักษาเกิน 2-3 วันแล้วหละก็โอกาสตายสูงทีเดียวครับ อาการของปลาคือท้องจะใหญ่มากผิดปกติ ปลาจะหอบหายใจเร็ว เป็นหนักๆท้องจะโตจนใสเลยครับเป็นถึงขั้นนี้ก็เตรียมโลงไว้ได้เลยครับ การรักษาควรทำแต่เนิ่นๆโดยรีบใส่เกลือและเพิ่มอุณหภูมิ นอกจากนั้นต้องลุ้นเอาเองครับ (มีบทสวดไหนดีๆก็สวดร่วมด้วยก็ได้ครับสำหรับผมสวดทุกบทแล้วไม่รอดอะครับ) มีผู้รู้ท่านนึงบอกไว้เกี่ยวกับปัญหาของไส้เดือนว่าจริงๆแล้วปลาซัคเกอร์สามารถกินไส้เดือนได้ทุกตัว แต่สาเหตุที่ไส้เดือนทำให้ปลาตายก็เพราะของเสียในตัวไส้เดือนสกปรกมากพอปลากินไส้เดือนเข้าไปทำให้ป่วย วิธีแก้ให้พักไส้เดือนไว้ก่อนให้ปลากิน 2-3 วันเพื่อให้ไส้เดือนขับของเสียออกมาเสียก่อน แล้วปัญหาท้องอืดก็จะไม่เกิด (แต่สำหรับผมขอบายครับเข็ดกับการเสียเจ้า Titanic ไป) ส่วนใบกระหล่ำก่อนนำมาให้ปลากินให้นำมาล้างน้ำให้สะอาดไร้สารพิษเสียก่อนที่จะให้ปลากิน โดยนำมาผุกหินถ่วงให้จมน้ำปลาก็จะค่อยๆมาแทะกิน ส่วนที่เหลือหากเกิน 1 วันให้นำออกเพราะหากทิ้งไว้นานอาจทำให้น้ำเสียได้
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณพี่ปิติ,พี่ปลาแมว,พี่โน่ปลาแพะที่ตอบคำถามของผมทุกๆอย่างโดยไม่ปิดบัง ผมจึงนำมาเผยแพร่ต่อให้เพื่อนๆครับ



ความคิดเห็นที่ 1

ปลาแมว
ปลาแมว (203.155.22.105) [2003-01-15 07:16:36]
ขอบคุณครับ

ความคิดเห็นที่ 2

ปลาก้าง
ปลาก้าง (203.151.147.219) [2003-01-15 10:53:47]
อืม.......เป็นบทความที่ดีมากครับ ได้ความรู้ขึ้นมากเลยครับ ทำให้เข้าใจปลาซักเกอร์ขึ้นมากเลย เดี๋ยวจะต้องไปจัดตู้ใหม่ซะแล้ว

คุณเก๋าน่าจะนำบทความนี้ไปอยู่หน้าหลัก หัวข้อไฮไลท์เด็ดๆ หรือเก๋าแนะนำเรื่องเลี้ยงปลาก็ได้ เมื่อจะต้องเข้ามาหาอ่านอีกครั้งจะได้หาอ่านได้ง่ายขึ้น

และคุณ haow คุณปิติ คุณปลาแมว คุณโน่ปลาแพะ มีเรื่องราวหรือบทความที่น่าสนใจก็ post เข้ามาอีกนะครับ ถ้าพูดถึงเรื่องปลาชนิดไหน ถ้ามีรูปประกอบ จะขอบคุณมากๆเลยครับ

ผมว่าเรื่องราวที่หาอ่านในwebbordนี้ ได้ความรู้จริงๆ จากประสบการณ์จริงๆ ซึ่งต่างจากตำราหรือหนังสือที่มีขายทั่วไป ซึ่งบางครั้งชื่อปลากับรูปยังไม่ตรงกันเลย

ขอขอบคุณมาอีกครั้งครับ

ความคิดเห็นที่ 3

เดฟ
เดฟ (192.168.1.7) [2003-01-15 10:54:30]
ดีจังเลยครับ คุณ haow
นายเก๋าก็น่าจะนำไปเก็บต่อนะครับเหมือนของคุณคิลลี่ไง

ความคิดเห็นที่ 4

ninekaow
ninekaow
705
[2003-01-15 11:09:17]
อ้าว เจ้าของบทความ อนุญาต มั้ยครับ ถ้าอนุญาต ผม ขอ save เก็บไป จัดหน้า ตามที่ เพื่อน ๆ เรียกร้อง นะครับ

ความคิดเห็นที่ 5

nokhuk
nokhuk (202.183.172.66) [2003-01-15 13:39:14]
ได้มาอ่าน ได้ความรู้ อีกเยอะ ขอบคุณมากครับ

ความคิดเห็นที่ 6

Fontana
Fontana (203.146.128.192) [2003-01-15 15:29:43]
ดีกว่าบทความในหนังสือหลายฉบับเลยครับ ผู้เขียนสามารถสื่อให้ผู้อ่านทราบในสิ้งที่ผู้อ่านต้องการรู้ และควรจะรู้ โดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย...เมื่อไหร่จะถึงคิวเยี่ยมบ้านนายเก๋าครับ...อยากดูกรุมหาสมบัติ... *.*

ความคิดเห็นที่ 7

haow
haow (203.113.37.8) [2003-01-15 17:13:00]
ยินดีมากๆครับนายเก๋าที่มาโพสก็เพราะอยากเผยแพร่ให้เพื่อนๆครับ ไม่หวงแน่นอนครับ

ความคิดเห็นที่ 8

not
not (203.145.15.189) [2003-01-15 21:04:28]
ขอบคุณมากครับ

ความคิดเห็นที่ 9

ลามะน้อย
ลามะน้อย (10.44.6.188) [2003-01-17 16:16:12]
ขอบคุณมากครับทุกคำชี้แนะมีประโยชน์ มากต่อผมและผู้ที่สนใจ
ด้านบน

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนทำรายการ

เข้าระบบ