Skip to content

ปรับปรุง เว็บไซต์ เยอะแยะเลย ลองกดเข้าไปเล่นดูสิ ตอนนี้ มีหมอตั้ม มาประจำที่ โรงพยาบาลแล้วนะครับ ใครมีปัญหาปลาป่วย ปรึกษาได้ครับ

Exotic Fishes สำหรับคนที่หลงใหล และ ชื่นชอบ ในความแปลก ฉีกความจำเจ พื้นๆ กับ สายพันธุ์ปลาแปลกๆ จากอะเมซอน, ปลาแม่น้ำของไทย, สัตว์น้ำแปลกๆ, สัตว์เลื้อยคลาน (Reptile) โพสต์ข้อความแลกเปลี่ยนความรู้ กันได้ที่ ห้องนี้

0002200

ขอสอบถามเกี่ยวกับเต่า Leopard ด้วยครับ

มือใหม่อยากเลี้ยง
มือใหม่อยากเลี้ยง (203.144.234.241) [2005-01-18 11:51:18]
ขอสอบถามเกี่ยวกับเต่า Leopard ด้วยครับ 1.เลือกซื้ออย่างไร 2.วิธีเลี้ยงๆอย่างไร 3.มีข้อควรระวังอะไรบ้าง ขอบคุณครับ

ความคิดเห็นที่ 1

Chelonian
Chelonian [2005-01-18 14:05:14]
พอดีเตรียมต้นฉบับไว้ สำหรับนิตยสารเล่มหนึ่ง เอาไปอ่านเลยละกัน หากอยากดูพร้อมภาพประกอบก็คงต้องรอตอนหนังสือวางแผงนะครับ

Leopard Tortoise เสือดาวเจ้าเสน่ห์จากแดนกาฬทวีป

หากใครได้อ่านหัวเรื่องที่เริ่มต้นไว้เพียงผิวเผิน บางท่านอาจรู้สึกสับสนและเข้าใจผิดคิดว่านายChelonianกำลังจะนอกเรื่องไปถึงเสือดาวที่จัดเป็น 1ในBig Fiveแห่งท้องทุ่งสะวันนา แล้วเลยเถิดไปถึงเรื่องราวของไรเฟิลชั้นดีขนาด.308 ที่ถูกบรรจงออกแบบมาเพื่อต่อกรกับราชันย์ทั้งห้าได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ
เปล่าหรอกครับ นายChelonianก็ยังคงวนเวียนเขียนเรื่องรับใช้ในเนื้อหาของ ต.เต่า หลังตุงอยู่เช่นเดิม เพียงแต่ว่าเต่าที่จะกล่าวถึงตัวนี้เป็นเต่าจากแผ่นดินใหญ่ของทวีปแอฟริกาที่มีชื่อเรียกละม้ายคล้ายคลึงกับเสือลายสวย ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเจ้าเต่าตัวนี้มีสีสันบนกระดองสวยงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเสือดาวที่ถูกหยิบยืมชื่อมาใช้เป็นชื่อเรียกของมัน หนำซ้ำยังมีโทนสีที่ใกล้เคียงกันอีกด้วย
Leopard Tortoiseถูกเรียกเป็นภาษาไทยกันอย่างสุดแสลงหูคุณครูสอนภาษาอังกฤษว่า“เต่าเลียวพาร์ด” ดังนั้น ประการแรกก่อนอื่นใดนายChelonianขอประทานอนุญาติผู้อ่านทั้งหลายเรียนชี้แจงว่าการที่จะเรียกเต่าลายเสือดาวตัวนี้ให้ชาวต่างชาติเข้าใจตรงกันนั้น ต้องออกเสียงว่า”เล็พ-เพิร์ด” คราวนี้หลังจากที่เรียกชื่อกันอย่างถูกต้องแล้วเรามาเข้าถึงในรายละเอียดต่างๆของเสือดาวเจ้าเสน่ห์ตัวนี้กันเลยดีกว่า

ลักษณะโดยทั่วไป
เต่าเสือดาวลายสวยตัวนี้มีลักษณะสมกับชื่อตัวของมันคือมีพื้นเป็นสีเหลืองและถูกแต่งแต้มด้วยลวดลายสีดำกระจายอยู่โดยทั่วกระดอง แน่นอนว่าเต่าleopardเป็นเต่าลายสวยอีกชนิดหนึ่งที่ลวดลายบนกระดองมีความหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละตัว ดังนั้นถึงแม้ว่าจะมีฟาร์มที่เพาะพันธุ์เต่าชนิดนี้ได้หลากหลายฟาร์มก็ตามที แต่สำหรับพี่ไทยและนักนิยมExotic Petsทั่วโลกกลับถวิลหาแต่เต่าที่มีสีดำน้อยๆ และมีพื้นที่สีเหลือง(หรือกระทั่งสีครีม)มากๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติวิสัยของความเป็นHigh-Yellowย่อมเป็นที่หมายปองในเต่าบกทุกสายพันธุ์ โชคดีของนักเลี้ยงอย่างหนึ่งก็คือ เนื่องจากเต่าชนิดนี้มีการเพาะพันธุ์ได้ค่อนข้างมาก(ในต่างประเทศ) ตลอดจนเป็นเต่าที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของ CITES Appendix II ซึ่งการซื้อขายสามารถกระทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย(ตามเงื่อนไขที่CITESกำหนด)จึงทำให้เต่าleopardที่มีลวดลายมาตรฐานทั่วๆไป มีสนนราคาในระดับที่คบหาได้อย่างค่อนข้างสบายกระเป๋า เมื่อเทียบกับเต่านำเข้าตัวอื่นๆจากทวีปเดียวกัน
แม้ว่า Geochelone pardalis จะเป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ของเต่าLeopardก็ตาม แต่ยังมีการแบ่งเต่าในspeciesนี้ออกเป็นสองsub-species นั่นคือ Geochelone pardalis pardalis และ Geochelone pardalis babcocki โดยsub-speciesแรกจะพบในธรรมชาติได้น้อยกว่า และขนาดโตเต็มที่จะมีขนาดใหญ่กว่าชนิดที่สอง ส่วนในรูปทรงกระดองนั้น G. pardalis pardalis จะเป็นโดมสูงน้อยกว่า G. pardalis babcocki และแตกต่างกันในรายละเอียดของลวดลายเล็กน้อย ซึ่งนักนิยมเต่าบกสามารถแยกแยะเต่าสองSub-speciesนี้ได้ง่ายในวัยเยาว์โดย G. pardalis pardalis จะมีแต้มสีดำที่กลางเกล็ดกระดองทุกๆscute สำหรับเต่าที่นำเข้ามายั่วน้ำลายชาวExotic Petsในไทยนั้น ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นแต่ Geochelone pardalis babcocki ทั้งนั้น ดังนั้นใครที่เลี้ยงๆไปแล้วปรากฎว่าเต่าเติบโตไม่ได้ขนาดที่ระบุไว้ตามตำราก็อย่าไปโทษตัวเองว่าเลี้ยงเต่าได้ไม่ดีหรือโทษว่าเต่าที่เลี้ยงไว้เป็นเต่าแคระแกรนก็แล้วกัน
เต่าLeopard (สำหรับ Geochelone pardalis pardalis) มีขนาดโตเต็มที่60ซม.น้ำหนักประมาณ35กิโลกรัม จัดเป็นเต่าบกที่ใหญ่อันดับ4ของโลก รองจากพวก Big Threeซึ่งเป็นเต่าบกในGenusเดียวกันทั้งหมด นั่นก็คือ อัลดาบร้า,กาลาปากอส และซูคาต้า แต่เมื่อดูจากพี่ใหญ่ที่อยู่หัวแถวทั้งสามแล้ว จะเห็นว่าเป็นเต่าสีล้วนทั้งหมด ดังนั้นเสือดาวเจ้าเสน่ห์ตัวนี้จะถือว่าเป็นเต่าลายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้
การดูแลโดยทั่วไป
แม้ว่าจะถูกแบ่งเป็นสองสายพันธุ์ย่อย แต่สำหรับความต้องการพื้นฐานในการเลี้ยงดูแล้ว ทั้งสองsub-speciesมีความต้องการในสิ่งที่เหมือนๆกัน นั่นก็คือ อุณหภูมิที่ไม่ต่ำเกินไปนัก(กลางวันประมาณ 26ซํ และกลางคืนไม่ต่ำกว่า 22ซํ) ,ความชื้นสัมพัทธ์ไม่ควรเกิน85%,การได้รับแสงแดดธรรมชาติทุกวัน ,อาหารตามความต้องการทางโภชนาการของเต่า และเนื่องจากเป็นเต่าที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่เมื่อโตเต็มวัย เสือดาวลายสวยตัวนี้จึงต้องการพื้นที่ในการเดินออกกำลังกายที่พอเพียงอีกด้วย
การจัดเตรียมสภาพแวดล้อมเพื่อการเลี้ยงเต่าleopardนั้น คงไม่แตกต่างจากเต่าบกทั่วๆไปสักเท่าไรนัก แต่นอกจากสิ่งที่ต้องเตรียมไว้ให้เต่าแสนรักในวันแรกที่นำเข้ามายังบ้านใหม่แล้ว จงอย่าลืมถามตัวเองเกี่ยวกับความพร้อมเรื่องสถานที่ในอนาคต หากคำตอบคือไม่ ก็ควรหาทางหนีทีไล่อื่นไว้ด้วย เพราะเนื่องจากว่า เต่าตัวน้อยในวันนี้ ในยามที่มันโตเต็มวัย จะกลายเป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ซึ่งไม่เพียงแต่สถานที่อันกว้างขวางที่พวกเค้าต้องการแล้ว อาหารการกินตลอดจนของเสียที่เต่าขับถ่ายออกมาทุกวันถือได้ว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอทุกปี(ในการเลี้ยงเต่าบกทุกชนิด)ก็คือ การถ่ายพยาธิ เนื่องจากเต่าเป็นสัตว์ที่เดินและหากินอยู่กับพื้นดิน จึงมีโอกาสสูงที่จะได้รับไข่หรือตัวอ่อนพยาธิเข้าไปในร่างกาย การถ่ายพยาธิจะทำให้เต่าที่เราเลี้ยงไว้มีสุขภาพดี เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง หากนักเลี้ยงท่านใดสามารถคำนวณปริมาณยาได้เองการถ่ายพยาธิก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด แต่หากไม่มั่นใจ สัตวแพทย์จะเป็นผู้ที่กระทำได้ดีที่สุด


อาหารการกิน
เนื่องจากเป็นเต่าที่มีถิ่นอาศัยในแถบทุ่งหญ้าสะวันนา ดังนั้นอาหารหลักของเต่าตัวนี้จึงเป็นหญ้าเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นนอกจากผักหลากชนิดที่เราเลือกสรรมาให้เต่าแล้ว สำหรับบ้านที่มีสนามหญ้า(โดยเฉพาะอย่างยิ่งหญ้ามาเลเซีย)ควรปล่อยเต่าให้ได้มาเล็มหญ้ากินบ่อยๆท่ามกลางแสงแดดจะเป็นการดีต่อสุขภาพเต่าเป็นอย่างยิ่ง และเฉกเช่นเดียวกับเต่าบกทั่วไป เจ้าleopardตัวนี้ก็เป็นHerbivoreเต็มรูปแบบเช่นกัน ดังนั้นอาหารสุนัขหรืออาหารแมวจึงเป็นสิ่งไม่จำเป็น หากผู้เลี้ยงต้องการให้เต่าได้รับสารโปรตีนก็ควรจัดหาโปรตีนจากพืชตระกูลถั่วเช่น ถั่วฝักยาว,ถั่วพู,ถั่วแขก ปะปนลงไปในอาหารที่ให้อยู่เป็นประจำ แต่ไม่ควรให้อย่างต่อเนื่อง เท่านี้ก็เป็นการเพียงพอสำหรับการเสริมโปรตีนให้กับเต่าแล้ว
อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เลี้ยงต้องกระทำคือ การเสริมแคลเซียมให้เต่า ซึ่งอาจจะให้ในรูปของการใช้แคลเซียมสำหรับเต่าที่มีขายโดยเฉพาะ หรือการบดแคลเซียมเม็ดสำหรับสุนัขให้เป็นผง กระทั่งการขูดกระดองปลาหมึก(หรือที่เรียกว่า ลิ้นทะเล)โรยบนผักที่เตรียมไว้ให้
นอกจากอาหารแล้ว น้ำสะอาดในถาดเตี้ยๆก็เป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่พึงจัดหาไว้ให้เต่าตลอดเวลาอีกด้วยเช่นกัน(อ่านรายละเอียดได้จากนิตยสารเล่มก่อนหน้านี้)

การเจ็บไข้ได้ป่วย
เช่นเดียวกับเต่าบกทั่วไป ที่การเป็นหวัดของเต่ามักจะเป็นหนามยอกอกที่พบได้บ่อยๆ ในช่วงที่มีอากาศชื้น ควรมีการกกไฟเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นไปในช่วงที่มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง เช่นในช่วงฤดูฝน เนื่องจากเต่าเป็นสัตว์ที่ไม่มีกระบังลมการเป็นหวัดจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรปล่อยปะละเลย หากอาการของเต่าไม่ดีขึ้นควรปรึกษาสัตวแพทย์ นอกจากนี้หากเต่ามีอาการผิดปกติอื่นๆควรนำไปพบสัตวแพทย์จะเป็นการดีที่สุด

การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์เต่าleopardในเมืองไทยดูเหมือนจะเป็นเรื่องไม่ไกลเกินเอื้อม เนื่องจากมีรายงานความสำเร็จจนกระทั่งสามารถจัดทำเป็นฟาร์มได้แล้วในต่างประเทศ แม่เต่าที่สมบูรณ์จะออกไข่หลุมละประมาณ20ฟอง และวางไข่เฉลี่ยเดือนละ1หลุม โดยเริ่มไข่ตั้งแต่เดือนตุลาคมไปถึงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ซึ่งหากประเมินจากตัวเลขโดยคร่าวๆจะเห็นได้ว่า แม่เต่าที่สมบูรณ์ 1 ตัว สามารถทำรายได้ให้กับเจ้าของฟาร์มในแต่ละฤดูวางไข่ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้นการเลี้ยงเต่าleopardเพื่อเพาะพันธุ์ในเชิงเศรษฐกิจสำหรับคนไทยจึงเป็นสิ่งที่มีโอกาสเป็นไปได้สูง เนื่องจากมีข้อมูลต่างๆทางเว็บไซต์ ตลอดจนตำราภาษาต่างประเทศสำหรับให้ศึกษาเพิ่มเติมกันอย่างมากมาย เพียงแต่ต้องนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยบ้างเล็กน้อย ปัญหาที่พอจะมองเห็นในปัจจุบันก็คือ การขาดแคลนพ่อ-แม่เต่าที่พร้อมขยายพันธุ์ได้ นั่นเอง

มาถึงตอนนี้ผู้อ่านก็คงได้รับข้อมูลโดยคร่าวๆของเต่าLeopardไปบ้างเล็กน้อยตามที่ภูมิปัญญาหางอึ่งของนายChelonianจะสรรหามารับใช้คนคอเดียวกัน ยังมีอีกสิ่งที่หนึ่งอยู่นอกเรื่องไปจากข้อมูลหลักและเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผมก็คือ ผมเกรงว่าความนิยมเต่าบกที่กำลังเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันจะเป็นเพียงกระแสที่เกิดจากการปั่นหรือสร้างขึ้นของคนในวงการไม่กี่คน โดยลักษณะจะเป็นแบบ มาไว,โตไวและดับไว ไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงชนิดก่อนๆที่เคยเป็นมาในอดีต แล้วเมื่อคราวที่สัตว์ตัวนั้นตกกระแส ส่วนใหญ่จะถูกทอดทิ้งโดยนักเลี้ยงขี้เบื่อ ดังนั้นก่อนที่เราจะตัดสินในซื้อเต่าตัวใดตัวหนึ่งมาเลี้ยง อย่าลืมถามและย้ำตัวเองก่อนทุกครั้งนะครับว่า เรารักที่จะเลี้ยงเค้าให้มีความสุขอย่างแท้จริง ไม่ได้ลืมตัวไปตามกระแสที่ถูกสร้างขึ้นแต่อย่างใด เท่านี้ผมก็คงมีความสุขกับการเขียนเรื่องรับใช้คนรักสัตว์อย่างแท้จริงไปได้อย่างมิรู้เบื่อแล้วล่ะครับ

Enjoy tortoise keeping
Chelonian


ความคิดเห็นที่ 2

chelonian
chelonian (203.172.48.211) [2005-01-18 14:23:09]
ไม่รู้ยาวไปหรือเปล่า ถ้ายาวเกินไปก็ขออภัยด้วยครับ

ความคิดเห็นที่ 3

Python
Python (202.176.108.254) [2005-01-18 14:50:08]
เยี่ยมมากครับ

ความคิดเห็นที่ 4

nut
nut (203.118.93.215) [2005-01-18 17:11:55]
ขอบคุณครับ

ความคิดเห็นที่ 5

bleach
bleach [2005-01-18 18:57:01]
ขอบคุณมากนะครับ
ด้านบน

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนทำรายการ

เข้าระบบ