Skip to content

ปรับปรุง เว็บไซต์ เยอะแยะเลย ลองกดเข้าไปเล่นดูสิ ตอนนี้ มีหมอตั้ม มาประจำที่ โรงพยาบาลแล้วนะครับ ใครมีปัญหาปลาป่วย ปรึกษาได้ครับ

Exotic Fishes สำหรับคนที่หลงใหล และ ชื่นชอบ ในความแปลก ฉีกความจำเจ พื้นๆ กับ สายพันธุ์ปลาแปลกๆ จากอะเมซอน, ปลาแม่น้ำของไทย, สัตว์น้ำแปลกๆ, สัตว์เลื้อยคลาน (Reptile) โพสต์ข้อความแลกเปลี่ยนความรู้ กันได้ที่ ห้องนี้

0002966

"เรื่องเล่าตั้งแต่โลกเริ่มเย็นตัว" สำหรับคนรักเต่าบกโดยเฉพาะครับ

Chelonian
Chelonian [2005-05-20 13:31:41]
ช่วงนี้ภาระกิจรัดตัว ไม่ค่อยได้มีเวลาเขียนเรื่องใหม่ๆ เผอิญได้ไปค้นงานเดิมที่เคยเขียนทิ้งไว้ เลยเอามาให้อ่าน ร่วมฉลองการเปิดหน้าสัตว์แปลกก็แล้วกัน

“เรื่องเล่าตั้งแต่โลกเริ่มเย็นตัว”

หลายท่านอาจกำลังงงว่า ตกลงอีตาChelonianคนนี้ กำลังเขียนเรื่องราวของการเลี้ยงเต่าหรือจะเล่าเรื่องอะไรกันแน่? ขอความกรุณาอดทนอ่านต่อสักนิดเถอะครับ แล้วคุณจะทราบว่า เรื่องของการเลี้ยงเต่ากับเรื่องเล่าตั้งแต่โลกเริ่มเย็นตัวเนี่ย มันคนละเรื่องเดียวกันชัดๆ

เต่าบกได้อุบัติขึ้นและใช้ชีวิตอยู่บนดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ร่วมกับสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่ามีมาตั้งแต่ก่อนกาลไดโนเสาร์ครองโลก แต่เต่าบกกลับเจียมเนื้อเจียมตัวไม่คิดการไกลให้ใหญ่หลวงถึงขึ้นจะครองโลกทั้งที่เป็นผู้มาก่อนใคร จวบจนปัจจุบันที่ “โฮโมซาเปี้ยน”ครองโลก สภาวะแวดล้อมได้มีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่เห็นได้ชัดก็คือ แกนโลกเริ่มเย็นตัวลง และอุณหภูมิในฤดูหนาวก็ลดลงด้วย (อันนี้ไม่เกี่ยวกับอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นในปัจจุบันจากปฏิกิริยาเรือนกระจกและการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำนะครับ) ด้วยพื้นฐานความเป็นอยู่มาแต่โบราณกาลเช่นนี้เต่าบกบางชนิดก็มีการปรับตัวให้เข้าความเปลี่ยนแปลงได้มาก บางชนิดก็ปรับตัวได้น้อย จึงไม่แปลกที่เต่าบกบางชนิดจะไม่ทนทานต่อสภาพอากาศเย็นเอาเสียเลย ซึ่งตรงข้ามกับเต่าที่มีถิ่นอาศัยแถบอเมริกาเหนือ,ยุโรปและออสเตรเลีย ที่รู้ตัวเองว่าหากยังต้องทนใช้ชีวิตกับความหนาวเหน็บสุดขั้วในฤดูหนาวเห็นทีจะต้องสูญสิ้นเผ่าพันธุ์เป็นแน่แท้ จึงมีการปรับตัวโดยการจำศีลตลอดช่วงฤดูหนาวเอาเสียเลย ทั้งนี้เนื่องจากเต่าบกเป็นEcto-thermalคือต้องการพลังงานความร้อนจากภายนอกในการสันดาปอาหารที่กินเข้าไป ข้อมูลเหล่านี้ผู้เลี้ยงทุกท่านจะต้องทราบและศึกษาไว้ว่าเต่าบกที่เราต้องการเลี้ยงแต่ละชนิดมีพื้นฐานความเป็นอยู่ในธรรมชาติอย่างไร

หลายคนอาจจำต้องซื้อเต่ากลับบ้านทีละสองตัว โดยคิดไปเองหรือเชื่อคำกล่าวที่ว่า เต่าจะได้มีเพื่อนและไม่เหงา แต่ความเป็นจริงก็คือ “เต่าบกไม่ใช่สัตว์สังคม” ซึ่งโดยปรกติในธรรมชาติแล้ว เต่าจะหากินอย่างโดดเดี่ยวโดยไม่มีคู่หรือการรวมฝูง จะมีก็แต่ช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้นที่เต่าบกจะใช้ชีวิตร่วมเป็นระยะเวลาสั้นๆในรูปแบบของ “กิ๊ก”เท่านั้น พอสิ้นสุดช่วงฤดูผสมพันธุ์เต่าแต่ละตัวก็จะแยกย้ายกันออกไป ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ ล้วนเป็นกลไกรักษาเผ่าพันธุ์ของธรรมชาติ เพราะในกรณีที่เกิดโรคติดต่อขึ้นในเต่าตัวใดตัวหนึ่ง เต่าตัวที่ติดเชื้อเท่านั้นจะตายไปโดยไม่ระบาดสู่เต่าตัวอื่น มิหนำซ้ำธรรมชาติยังชดเชยนิสัยความรักสันโดษของเต่าซึ่งอาจมีผลต่อการขยายพันธุ์ โดยเต่าบกเพศเมียจะสามารถเก็บน้ำเชื้อตัวผู้ไว้ในตัวได้นานหลายเดือนหรือหลายปีสำหรับเต่าบางชนิด ดังนั้นการไม่ได้เจอะเจอกันหรือการมิได้มีกิจกามร่วมกันบ่อยๆ จึงไม่ใช่ประเด็นหลักในการขยายพันธุ์ของเต่าเสียแล้ว(ไม่เหมือนคนเลยนะครับ) และหากคุณไม่ต้องการที่จะเพาะพันธุ์เต่าแล้วละก็...การเลือกเต่าเพศใดมาเลี้ยงก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ทั้งนี้ก็เพราะความสวยงามของเพศผู้และเพศเมียไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าใดนัก อาจจะต่างกันก็ตรงเรื่องของขนาดในเต่าบางชนิดเท่านั้น ผิดกับสัตว์บางชนิดที่เพศผู้และเพศเมียจะมีความสวยงามต่างกันราวฟ้ากับดิน

นอกจากนี้เต่าบกยังมีความพิลึกพิลั่นอีกอย่างในเรื่องของการรับน้ำเข้าสู่ร่างกายอีกด้วย แน่นอนว่าวิธีการแรกที่เป็นธรรมดาสามัญอย่างยิ่งสำหรับสิ่งมีชีวิตทั่วไปบนโลกใบนี้คือการรับน้ำทางปากไม่ว่าจะเป็นจากผักที่กินเข้าไปหรือการก้มดื่มน้ำโดยตรง กับอีกวิธีที่เมื่อผมทราบในครั้งแรกแล้วยังอดขำไม่ได้ คือเต่าจะได้รับน้ำเข้าสู่ร่างกายทางก้นเมื่อเต่าลงไปแช่น้ำ(อ่านแล้วจั๊กกะจี้ไหมครับ) แต่ด้วยวิธีที่พิลึกนี้เองที่เราจะใช้ให้เป็นประโยชน์ในการป้องกันเต่าจากภาวะขาดน้ำได้ ซึ่งเรื่องราวจั๊กกะจี้อย่างนี้ ผมจะขยายความให้ฟังโดยละเอียดในคราวหลัง

อีกเรื่องราวพื้นฐานอย่างหนึ่งของเต่าที่มีมาเป็นเวลาช้านานก็คือ แม้ว่ากระดองเต่าจะแข็งแรงในระดับที่ใช้เป็นเกราะป้องกันตัวได้เป็นอย่างดี แต่ผิวกระดองก็ไวต่อความรู้สึกร้อน,หนาวและแรงสัมผัสได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการเคาะกระดองเต่าแรงๆ ,การแกะสลักชื่อหรือตัวเลขลงบนกระดองเต่า, หรือกระทั่งบางคนที่เจาะขอบกระดองเต่าที่มีขนาดใหญ่แล้วล่ามโซ่ไว้เพื่อจำกัดบริเวณนั้น ผมถือว่าเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอย่างแรงเลยทีเดียว และที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือบาดแผลที่กระดองเต่าอาจลุกลามกลายเป็นแผลติดเชื้อได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวอาหารการกินของเต่าบกที่หลายคนอาจสับสนและเข้าใจผิดกันอยู่ เต่าบกส่วนใหญ่เป็นHerbivore(มีเพียงบางประเภทเท่านั้นที่เป็นOmnivore) ดังนั้นอาหารหลักของเต่าบกส่วนใหญ่คือพืชอย่างเดียวโดยยึดหลักว่า”ต้องการเส้นใยมาก และโปรตีนต่ำ” การให้เต่าบกกินอาหารสุนัขหรืออาหารแมวจึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ ส่วนผักสลัดที่เห็นนิยมให้เต่ากินกันอยู่เนืองๆ ความจริงก็คือผักสลัดเป็นอาหารที่มีประโยชน์กับเต่าทั้งในด้านเส้นใยอาหารและคุณค่าทางอาหารค่อนข้างน้อย แต่เต่าก็ออกอาการชอบกินเสียจริงๆ การให้อาหารที่ถูกต้องกับเต่าควรจะสลับผักให้เต่ากินอย่างสม่ำเสมอหรือในหนึ่งมื้ออาหารควรมีผักมากกว่า2ชนิดขึ้นไป และควรให้ผักที่มีสีสันต่างๆกัน เพราะนอกจากจะทำให้เต่าได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนแล้ว ยังเป็นผลดีต่อระบบย่อยอาหารของเต่าอีกด้วย โชคดีที่ประเทศไทยเป็นเมืองเกษตรกรรมจึงมีผักสำหรับเต่าให้เลือกหลากหลายในราคาถูก สำหรับผลไม้นั้นหากจะให้ก็ไม่ควรเกิน10-20%ของปริมาณอาหารทั้งหมดเต่าจะได้รับ แม้ว่าเต่าจะมีพฤติกรรมชอบรสหวาน แต่เต่าบกส่วนใหญ่อาจมีปัญหาสุขภาพได้ หากได้รับน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไป การเลี้ยงเต่าบกโดยปกติแล้วหากเรามีการสลับชนิดของผักให้เต่าอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนให้เต่าได้รับแสงแดดธรรมชาติทุกวัน ก็แทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้วิตามินเสริมใดๆอีก หรือกระทั่งอาหารสำเร็จรูปของเต่าที่วางจำหน่ายกันทั่วไปก็ถือเป็นสิ่งไม่จำเป็น

หลายคนอาจสงสัยว่า อุณหภูมิเฉลี่ยในบ้านเรานั้นค่อนข้างสูง แล้วเต่ายังต้องการแสงแดดอีกหรือ? คำตอบก็คือ เต่าไม่ได้ต้องการแค่เพียงความร้อนจากแสงแดด แต่สิ่งที่เต่าต้องการจากแสงแดดก็คือUV A และ UV B ซึ่งUV A จะเป็นตัวกระตุ้นในเรื่องของความอยากอาหารและกิจกรรมต่างๆในการดำเนินชีวิตประจำวันของเต่า รวมไปถึงการสืบพันธุ์อีกด้วย ส่วนUV Bนั้น จะช่วยในเรื่องของการดูดซึมแคลเซียมและเสริมสร้างวิตามินD3ภายในร่างกายของเต่า อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เลี้ยงเต่าบกต้องทราบไว้ก็คือ แม้ว่าเราจะเสริมแคลเซียมให้เต่ามากสักเพียงใด แต่หากว่าเต่าไม่ได้รับUV B เต่าก็จะไม่สามารถนำแคลเซียมไปใช้ได้ ซึ่งจะส่งผลให้เต่ากระดองนิ่ม หากคุณปล่อยให้เต่าต้องถวิลหาซึ่งUV Bในระยะยาว

เต่าบกส่วนมากจะอดทนต่อการแสดงอาการเจ็บป่วยออกมา แต่เมื่อเต่าแสดงอาการออกมาก็คือว่าอาการของเต่าเข้ามาอยู่ในภาวะ “เจ้าของต้องทำใจไว้ครึ่งหนึ่งแล้ว” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเต่าที่มีกระดองทรงโค้งสูง (High Dome) อย่างRadiataและYniphora สองสหายจากแดนมาดากัสการ์ ที่ไม่ไคร่บ่อยนักจะมีใครเห็นว่าเป็นหวัด แต่หากว่าได้แสดงอาการถึงขั้นมีน้ำมูกออกมาให้เห็นเป็นเด่นชัดแล้ว ส่วนมากก็ยากที่จะเยียวยา มากไปกว่านั้นก็คือ เต่าไม่มีกระบังลม แถมร่างกายยังมีลักษณะคล้ายกล่องแข็ง จึงชดเชยการเสียพื้นที่ปอดจากการเป็นหวัดได้ยากกว่าสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่น ดังนั้นการเป็นหวัดของเต่า จึงดูเป็นเรื่องใหญ่และหนักหนา ซึ่งตรงข้ามกับคนโดยสิ้นเชิงที่มักจะเป็นกันง่ายๆ แต่ก็หายได้เร็ว

นอกจากนี้หลายคนอาจหลงประเด็นในเรื่องความอายุยืนของเต่าเข้าไปปะปนกับความง่ายในการเลี้ยง ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งที่ความเป็นจริงก็คือ ในธรรมชาติก็มีเต่าตายอยู่เหมือนกัน แม้ว่าจะไม่มีใครไปข่มเหงรังแก หรือจับกินเป็นอาหาร แต่เต่าก็ไม่สามารถ ผ่านร้อน ผ่านฝน ผ่านหนาว ได้จนถึงคราวครบศตวรรษในทุกทั่วตัวเต่าไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเต่าน้อยในวัยเยาว์บางตัว ที่อาจไม่สามารถผ่านปีที่มีสภาพอากาศแปรปรวนเป็นอย่างมากไปได้ แม้ว่าจะอาศัยอยู่ในธรรมชาติก็ตามที แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเต่าทุกตัวต้องอดทนและจะต้องไม่ตาย ซึ่งในความเป็นจริงนั้นเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สภาพกรงเลี้ยงที่สนองตามความต้องการพื้นฐานของเต่าได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

หลายคนอาจไม่ชอบ เต่าสีเดียว อย่างSulcataและ Aldabra เนื่องจากสีสันที่ไม่ดึงดูดใจ โดดเด่นได้แต่เพียงความงามสง่าในรูปทรงและขนาดอันมหึมาเมื่อโตเต็มวัยเท่านั้น จึงมักจะเริ่มเลี้ยงและตกหลุมรักในเต่าตระกูลลวดลายดาวจรัสแสงกันก่อนเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่ความเป็นจริงก็คือ เต่าสีเดียวจะอดทนกว่าเต่าที่มีลวดลาย(ในGenus เดียวกัน) และเหมาะสมกับการเริ่มต้นเลี้ยงเต่ากว่าเป็นไหนๆ และอีกสิ่งที่ต้องพึงระวังสำหรับเต่าที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เป็นเกาะก็คือ เชื้อโรคเฉพาะถิ่นในเอเชียที่เต่าจากแดนไกลอาจไม่คุ้นเคยและไม่มีภูมิคุ้มกัน ดังนั้นเต่าบกที่ขึ้นชื่อว่าทนในถิ่นกำเนิดอาจเปราะเช่นแก้วใสใบบางก็เป็นได้หากได้รับเชื้อโรคที่ไม่คุ้นเคยเข้าไป ซึ่งถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังสำหรับเต่าบกจากแดนไกลทุกชนิด

สำหรับความคุ้นเคยกับเต่าทั่วไปในสามัญสำนักของคนไทยที่มีมาช้านานก็คือ เต่าก็มักจะว่ายน้ำได้และอยู่ในที่ชื้นแฉะ แต่เต่าบกที่นำเข้าจากต่างประเทศแทบทุกชนิดเป็นเต่าที่มาจากดินแดนที่แห้งแล้ง แถมหลายชนิดว่ายน้ำไม่เป็นอีกต่างหาก ดังนั้น อาจฟังดูแล้วอาจตลก แต่เต่าบกนั้นตกน้ำตายนะครับ

สิ่งเหล่านี้ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ถือเป็นความสัจจริงมาแล้ว ตั้งแต่โลกเริ่มเย็นตัว ดังนั้น คงจะหาใครไปเปลี่ยนแปลงความเป็นตัวตนของเต่าบกนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่โลกใบนี้ยังหมุนอยู่ และในเมื่อคุณผู้อ่าน “รู้เต่า” โดยคร่าวๆแล้ว คุณควรจะ “รู้เรา” ด้วยเช่นกัน ว่าด้วยความต้องการพื้นฐานของเต่าเช่นนี้เราจะสนองให้พวกเค้าได้หรือไม่ หลังจากตัดสินใจได้แล้ว ก็โทรชวนเพื่อนๆไป “เดินสวน”ได้เลยครับ


Enjoy Tortoise Keeping
Chelonian

ความคิดเห็นที่ 1

Chelonian
Chelonian [2005-05-20 13:35:36]
ยินดีต้อนรับคนรักเต่าทุกท่านครับ

ความคิดเห็นที่ 2

addict
addict (58.10.110.180) [2005-05-20 13:41:54]
ยังไม่ได้อ่านเลยคับ
แต่ท่าทางน่าจะมีสาระเพราะพี่เป็นคนเขียน
หึหึ

ความคิดเห็นที่ 3

sitboon
sitboon [2005-05-20 13:47:46]
เรื่องเจ๋งอีกแล้วคับ ไว้สนใจเล่นเต่าเมื่อไหร่(มีตังค์เมื่อไหร่มากกว่า)จะมาสอบถามเพิ่มละกันคับ

ความคิดเห็นที่ 4

baitongza
baitongza [2005-05-20 14:21:31]
เนื้อหายอดเยี่ยมเช่นเคยครับ หุหุ
ตอนนี้รีเควดเรื่องหกดำ ต่อครับ อิอิ

ความคิดเห็นที่ 5

ซี
ซี (58.11.39.135) [2005-05-20 14:50:45]
รวบรวมเนื้อหาแล้วทำ พ๊อกเก็ตบุ๊คไปเลยครับ ผมจะอุดหนุนคนแรกเลยครับน้าChelonian

ความคิดเห็นที่ 6

Arty
Arty (203.113.33.7) [2005-05-20 16:57:16]
ตอนนี้ที่บ้านเลี้ยงหกดำ 2 ตัว 30โลกับ 20โล กินเก่งมาก วันหลังจะเอารูปลงให้ดู

ความคิดเห็นที่ 7

hut
hut (210.246.77.16) [2005-05-20 19:01:56]
ขอบคุณมักคะพี่ Chelonian
กะลังอยากรู้เรื่องความรู้สึกของกระดองเต่าอยู่พะดีเลย เพราะจะลูบๆที่หลัง(กระดอง)ของเขาทุกวัน อยากรู้มานานแล้วว่าเขารับรู้ถึงความรู้สึกตรงนั้นได้ไม๊อะคะ จนมาอ่านเรื่องนี้ก็รู้สึกดีใจคะ ขอบคุณอีกครั้งคะ

ส่วนเรื่องโทรชวนเพื่อนๆไปเดินสวนเนีย อยากชวนพี่ Chelonian ไปเดินสวนด้วยอะคะ พี่จะลงมา กท อีกมะไหร่บอกน้องๆด้วยนะคะ(อยากตามอาจารย์อะ 5 5)

แล้วก็อยากรู้เรื่องหกดำเหมือนกันคะ อยากดูรูปด้วยคะ

สุดท้ายก็ ขอบอกว่ารอซื้อหนังสือของพี่ Chelonian อยู่นะคะ มะไหร่จะทำมาขายซะทีเอ่ย?

ขอบคุณอีกครั้งค่า....

ความคิดเห็นที่ 8

Darth
Darth [2005-05-20 20:26:52]
ขอบคุณครับ.......

ความคิดเห็นที่ 9

redearedslider
redearedslider (58.8.250.85) [2005-05-20 20:34:14]

ขอบคุณที่เขียนบทความดีๆมาแบ่งปันนะคะ
ชอบมากๆ

ความคิดเห็นที่ 10

เต่าล้า
เต่าล้า (203.209.125.79) [2005-05-20 22:12:12]
มีความรู้ขึ้นอีกเยอะเลย

ความคิดเห็นที่ 11

จ๊อบ
จ๊อบ (61.90.45.245) [2005-05-20 23:32:54]
โอย ไม่เซฟไม่ได้แล้วครับผมขอเซฟเก็บไว้นะครับพี่พี่ Chelonian เมื่อไหร่พี่ จะเขียนหนังสือเต่าบก ออกมาวางขายละครับ จะไม่พลาดการอุดหนุนแต่อย่างใดเลยครับ ที่แน่ๆ ก็มีคนรอซื้ออยู่แล้ว นับดูๆ555

ส่วนคุณarty ไม่ต้องวันหลังได้ไหมครับ

ผมรออยู่นะ จริงๆ ด้วยใจจดจ่อ เลยนะครับ Please

ความคิดเห็นที่ 12

Chelonian
Chelonian [2005-05-21 00:10:45]
ปรกติผมจะมา"เดินสวน"ได้สักเดือนละหน เอาไว้มีโอกาสวันไหน จะขออนุญาติชวนคนรักเต่ามา"เดินสวน"ด้วยกันนะครับ

ช่วงนี้อย่างที่ว่าล่ะครับ ภาระกิจเยอะจริงๆ งานเขียนจึงออกมาน้อย ตลอดจนอาจมีเวลาเข้ามาทักทายกันน้อยลงกว่าเดิม แค่ไม่ลืมกันก็ดีใจแล้วครับ

ความคิดเห็นที่ 13

samie
samie [2005-05-21 01:04:09]
ขอบคุณสำหรับบทความดี ๆ ครับ

ความคิดเห็นที่ 14

Exotic06(ไม่ได้ล๊อกอิน)
Exotic06(ไม่ได้ล๊อกอิน) (202.5.88.141) [2005-05-21 01:43:12]
เป็นประโยชน์มากๆเลย เรียกได้ว่าถ้าเอาไปรวมเล่มขายนี้จัดเป็นคัมภีร์เต่าที่ทุกคนควรหามาอ่านประกอบการเลี้ยงเลยนะนั้น อิอิ
ถ้าจะรวมเป็นหนังสือ ขอลงรูปสวยๆด้วยนะครับ จะรอซื้อคับ
จริงๆผมว่า ทำเป็นหนังสือทำมือขายก็ น่าจะดีครับ รับรองทำไม่พอขายแน่ อิอิ

ความคิดเห็นที่ 15

exotic69
exotic69 [2005-05-21 10:19:54]
เยี่ยมครับ เห็นด้วยกะคุณ หัดเดิน(exotic06) ที่ให้ทำหนังสือขายอ่ะครับ ลองคุยกะ อควา ให้เค้ารวมเล่มดูสิครับ ช่วงนี้กระแสเต่ากำลังแรง น่าจะขายได้ดีอยู่

ความคิดเห็นที่ 16

Cheetah
Cheetah
17
[2005-05-21 12:44:24]
^
^
^
2 ท่านเล่นล็อกอินซะ เป็นแฝดกันเหรอเพ่ หุหุหุ


บทความสุดยอดดดดดดดดดดดดดด

ความคิดเห็นที่ 17

conti
conti [2005-05-21 13:02:34]
สุดยอดครับสุดยอด

ความคิดเห็นที่ 18

 
  (202.133.154.83) [2005-05-21 13:59:41]
อยากเลี้ยงมากเลย แต่พ่อมะยอมให้เลี้ยงแงๆ
อยากเลี้ยงงงงงงงงงงงงง

ความคิดเห็นที่ 19

Exotic06(ไม่ได้ล๊อกอิน)
Exotic06(ไม่ได้ล๊อกอิน) (202.5.88.143) [2005-05-21 15:40:00]
คุณexotic69ไม่ทราบว่าคือใครอ่ะครับ รู้จักผมด้วย อิอิอิ
ใครกันเอ๋ยยยยย

ความคิดเห็นที่ 20

Exotic06(ไม่ได้ล๊อกอิน)
Exotic06(ไม่ได้ล๊อกอิน) (202.5.88.132) [2005-05-21 15:40:02]
คุณexotic69ไม่ทราบว่าคือใครอ่ะครับ รู้จักผมด้วย อิอิอิ
ใครกันเอ๋ยยยยย

ความคิดเห็นที่ 21

Cheetah
Cheetah
17
[2005-05-21 18:04:13]
คุณ 06 คับ 69 คือคุณหลอดไงคับ หุหุหุ

เล่นเลขกันซะงงเรยยยยยย

ความคิดเห็นที่ 22

exotic69
exotic69 [2005-05-21 19:12:04]
lord of the ลิง ครับ
พี่ชายเค้าใช้ exotic_fish ในพันทิปอ่ะครับ แล้วนายเก๋า ก็ดันใช้ ภาษาไทย ไม่ได้ ก็เลยออกมาแบบนี้อ่ะครับ (ชอบเลข 69 อ่ะ)

ความคิดเห็นที่ 23

pondberry
pondberry (202.133.163.18) [2005-05-23 08:18:45]
ขอบคุณครับ สำหรับวามดีๆ

ความคิดเห็นที่ 24

brochure
brochure (203.118.120.141) [2006-05-16 00:06:33]
ขอบคุณมากนะค่ะ อยากเลี้ยงเต่าค่ะ กำลังหาเต่าที่เหมาะกับตัวเองค่ะ
ด้านบน

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนทำรายการ

เข้าระบบ