Skip to content

ปรับปรุง เว็บไซต์ เยอะแยะเลย ลองกดเข้าไปเล่นดูสิ ตอนนี้ มีหมอตั้ม มาประจำที่ โรงพยาบาลแล้วนะครับ ใครมีปัญหาปลาป่วย ปรึกษาได้ครับ

Arowazone เว็บบอร์ด สำหรับ เพื่อนๆ ที่รักการเลี้ยงปลาในครอบครัว Osteoglossidae ไม่ว่าจะเป็นอะโรวาน่าจากทวีปเอเชีย อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย หรือ อัฟริกา ไว้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

0000353

สาเหตุการป่วยและตาย ของปลาสวยงาม รำลึกถึงคุณกร๋วย

JJ
JJ (203.155.29.5) [2003-08-01 11:17:13]
เรื่องการเลี้ยงปลาเมื่อก่อนตอนผมเริ่มเลี้ยงใหม่ๆ
นั้น ไม่ได้นึกถึงว่าการเลี้ยงปลาสักหนึ่งตัวนั้น จำเป็น
ต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง แต่เมื่อมาถึงวันนี้ทำให้รู้ว่าบางเรื่อง
เราน่าจะรู้ไว้บ้าง อย่างน้อยเกี่ยวๆกับชนิดปลาที่จะเลี้ยง
ก็ยังดี เพราะอย่างน้อยก็จะได้รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับ
ปลาที่เราเลี้ยงอยู่บ้างไม่มากก็น้อย สำหรับเรื่องที่ผม
อยากจะเอามาให้อ่านกันนี้เป็น เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ
สาเหตุการป่วยและการตายของปลาสวยงาม ซึ่ง
ผู้ที่เขียน เรื่องนี้เอาไว้ ใช้นามว่า กร๋วย สำหรับผมแล้ว
อ่านแล้ว อ่านอีกก็ยังไม่อาจที่จะทำความเข้าใจได้
กระจ่างแจ้ง เลยหวลกลับมาคิดถึงผู้ที่เสียสละในการ
เขียนที่ต้อง ทุ่มเทความรู้ความสามารถ อย่างมากมาย
ผมอยากให้ความรู้ที่ คุณกร๋วย ถ่ายทอดออกมาให้
ผู้ๆที่เลี้ยงปลา ไม่ว่าเป็นมือเก่าหรือมือใหม่ได้รับความ
รู้นี้ ถ้าท่านใดได้เคยอ่านมาก่อนแล้วก็อย่าว่ากันนะครับ
ผมมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่ามีประโยชน์มากสำหรับเพื่อนๆ
ที่เลี้ยงปลาอยู่กระทู้จะยาวมากครับ ถ้าเบื่อที่จะอ่าน
ทั้งหมด ก็ตัดตอนเลือกอ่านเฉพาะตอนที่ต้องการก็ได้
นะครับ กระทู้นี้ขอรำลึกถึงคุณ กร๋วย สักทีครับ
ผมเป็นเพียงคนเลี้ยงปลาคนหนึ่งที่เห็นถึงความเสียสละ
และอยากให้ความรู้นี้เผยแพร่ไปยังเพื่อนๆด้วยครับ

นายกร๋วยบอกเล่าเก้าสิบ ตอน \"สาเหตุการป่วยและ
ตายในปลาสวยงาม\" ตอนที่ 1
สวัสดีอีกครั้งครับ เพื่อนๆ ชาวจตุจักร ขอบคุณสำหรับ
เมลล์ทั้งหมดที่สอบถามสารทุกข์สุขดิบเกี่ยวกับที่ผมหายจากโต๊ะนี้ไปนาน เพราะเผอิญช่วงนี้มีภาระกิจต้องเดินทาง
ไปต่างจังหวัดติดๆ กันหลายแห่ง เลยไม่ค่อยมีเวลาเข้ามา
ตอบปัญหา จึงทำให้เกิดความคิดที่ว่า ถ้ามีบทความอธิบาย
เกี่ยวกับการวิเคราะห์อาการของโรคและวิธีการรักษา
ปลาสวยงามด้วยตนเองแบบคร่าวๆ โดยเพื่อนๆ
สามารถจะเข้ามาหาข้อมูลเองในชั้นต้นก่อน
ก็น่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย จะได้ไม่ต้องมาคอยผู้อื่นตอบปัญหา ก็เลยดึงเอาข้อมูลจากเว็บไซต์ที่ผมกำลังทำอยู่ แต่ยังไม่เสร็จ มาเผยแพร่ก่อนคิดว่าอาจจะพอช่วยได้บ้างจริงๆแล้วผมติดค้างเรื่องของการใช้ยีนในการเพาะเลี้ยงบทความนี้ มีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้เจ้าของปลา
หรือนักเลี้ยงปลามือใหม่ มือเก่า สามารถที่จะวิเคราะห์
หาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยและสาเหตุการตายในปลาสวยงาม
ที่ตนเลี้ยงได้บ้าง ซึ่งบ่อยครั้งที่เจ้าของปลาสวยงามมัก
จะเกิดความสงสัย เกี่ยวกับอาการของโรคที่เกิดขึ้น
และสาเหตุการจากไปของปลาที่ตนรัก แต่ถ้าจะให้ดี
หรือปลามีอาการหนักมากๆ มีอาการที่แตกต่างไปจาก
ในบทความนี้ แนะนำให้นำปลาและน้ำไปเข้ารับการตรวจ
รักษาจากสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเหมาะสมกว่าครับ
การที่ปลาของคุณได้มีอันต้องจากลาไป หรือการที่ปลา
เป็นโรคนั้น ก็พอจะสรุปสาเหตุได้ดังนี้
- สาเหตุการป่วยและตายที่เกิดจากอาหาร
- สาเหตุการป่วยและตายที่เกิดจากสภาพแวดล้อม
- สาเหตุการป่วยและตายที่เกิดจากโรค
- สาเหตุการป่วยและตายที่เกิดจากอุบัติเหตุ

มาดูสาเหตุแรกกันก่อน ได้แก่?????
- การป่วยและตายที่เกิดจากอาหาร มีอยู่ 3 กรณี
ด้วยกันคือ
1. ให้อาหารมากเกินไป บางท่านเห็นปลาที่เลี้ยงไว้
กินอาหารจุ กินเก่ง ยิ่งให้ยิ่งกิน ก็ขนให้ซะมากมาย
ด้วยความหวังดีอย่างแรง จนบางทีปลาก็เกิดอาการ
เเน่นท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย จนถึงกับตายได้
และอีกกรณีหนึ่งคืออาหารที่เราใส่ลงไปมากๆ ถ้าปลากิน
ไม่หมดก็จะทำให้น้ำเน่าเสีย เป็นพิษได้
2. ให้อาหารน้อยเกินไป หรือไม่ได้ให้เลย
กรณีนี้ปลาจะตายเพราะอดอาหาร อาจจะผ่ายผอม
โทรม ขาดภูมิคุ้มกัน เมื่อโรคเข้าแม้จะให้อาหารก็มักจะ
ไม่ค่อยกินแต่กรณีนี้จะพบได้น้อยมาก เพราะปลาที่เลี้ยงๆ
กันอยู่จะสามารถอดอาหารได้เป็นอาทิตย์ เป็นเดือน
เลยทีเดียว ส่วนมากที่ปลามักจะตายกัน ก็เป็นเพราะ
ผู้เลี้ยงให้อาหารเกินความจำเป็นมากกว่า
3. อาหารเป็นพิษ ความเสียหายกรณีนี้มักจะเกิดขึ้น
จากการที่ผู้เลี้ยงรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นำเอาอาหารปลาที่เก่า
มากๆหรือหมดอายุจนขึ้นรามาให้ปลากินและอีกกรณี
หนึ่งก็คืออาหารสดที่นิยมให้ปลากินกัน จำพวกลูกน้ำ
หนอนแดง ไรแดง ไส้เดือนน้ำ ไม่สะอาดดีพอ
หรืออาจจะเป็นพาหะนำโรคร้าย
4. อาหารไม่มีคุณภาพ ไม่มีความสมดุลของสารอาหาร
โดยปกติแล้ว อาหารปลาที่ดีควรมีคุณภาพครบตามความ
ต้องการของปลาแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็น คาร์โบไฮเดรท
โปรตีน ไขมัน แร่ธาตุ วิตามิน
(รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ)
ในปลาที่ขาดโปรตีนหรือกรดอะมิโน จะแสดงอาการโลหิตจาง
ในปลาที่ได้รับไขมันมากเกินไป การทำงานของตับจะผิด
ปกติ และการสร้างไข่หรือน้ำเชื้อตัวผู้จะไม่สมบูรณ์
การขาดไขมันในบางกลุ่มทำให้การเจริญเติบโตลดลง
สีผิวจาง ครีบฉีกกร่อน ส่วนปลาได้รับไขมันหืน
(Rancid)ไขมันที่ขาดคุณภาพ ปลาจะแสดงอาการ
กล้ามเนื้อลีบ ส่วนในปลาที่ได้รับคาร์โบไฮเดรท
มากเกินไปจะมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ว่ายอยู่ข้างตู้
หรือบ่อ ลอยอยู่ผิวน้ำ สีเปลี่ยนไปโดยมักเข้มข้นขึ้น
มีอัตราการตายเพิ่มขึ้นเนื่องจากเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน
ในปลาที่ขาดแมกนีเซียมจะทำให้ปลาแสดงอาการเบื่ออาหารเคลื่อนไหวเชื่องช้า กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย
และมีอัตราการตายสูงขึ้น
วิธีแก้ไข สองข้อแรกคงไม่ต้องบอกวิธีแก้ไขให้มากมาย
คือให้ในปริมาณที่พอเหมาะพอควรไม่มากไม่น้อยจนเกินไปเป็นใช้ได้ ส่วนข้อที่สาม ควรเลือกอาหารที่มีคุณภาพที่ดีสะอาด ถ้าเป็นอาหารสำเร็จรูปควรเลือกใช้ที่มียี่ห้อ
มีฉลากระบุส่วนผสม และคุณค่าทางโภชนาการจะดีกว่า
อาหารที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งมักจะผลิตและอัดเม็ดโดยผ่าน
กระบวนการอบความร้อนเพื่อให้แห้งและเกาะเป็นเม็ดใย
ใช้เทคโนโลยีต่ำ ซึ่งจะสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการไปมากหรือถ้าเป็นอาหารสด ก็ควรเลือกที่ใหม่ สด สะอาด ปลอดโรค เพื่อให้แน่ใจก็ให้นำอาหารสดเหล่านั้นแช่ลงใน
น้ำด่างทับทิมเพื่อฆ่าเชื้อก่อนที่จะนำไปให้ปลากินก็ได้
การให้อาหาร ควรเลือกใช้อาหารที่มีคุณภาพครบถ้วน
ตามชนิดของปลา ให้อาหารวันละ 1-3 เปอร์เซ็นต์
ของน้ำหนักตัวปลา ก็เพียงพอ

การป่วยและตายของปลาที่เกิดจากสภาพแวดล้อมสาเหตุ
ที่ปลาตาย อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมนั้น นับว่าเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมาก และมีสาเหตุอยู่ด้วยกันหลายประการคือ
1. น้ำมีคุณภาพไม่เหมาะสมหรือสภาพน้ำมีไนไตรท์สูง
ซึ่งปัญหาน้ำเสียลักษณะนี้เกิดจากการที่ปลาขับถ่ายของเสียขับเมือกและแอมโมเนียออกมา ยิ่งถ้ามีปริมาณปลา
ในตู้เลี้ยงมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสทำให้น้ำเสียมากขึ้นมาก
เท่านั้น หากระบบกรองไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ นอกจากนี้การให้อาหารจำนวน
มากจนเหลือตกค้างอยู่ภายในตู้ ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำในตู้เน่าเสีย ซึ่งคำว่าเน่าเสียในที่นี้ไม่จำเป็นว่าน้ำจะต้องมีลักษณะ เน่าเหม็นสีดำ ฟองฟ่อด น้ำที่ดูใสๆ ก็อาจจะมีปริมาณแอมโมเนีย ไนไตรท์ ไนเตรท สูงได้เช่นกันการตรวจเช็คน้ำเพื่อดูว่าคุณภาพของน้ำภายในตู้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพจนเป็นพิษหรือไม่ นั้นก็สามารถทำได้โดยการเช็คปริมาณไนเตรทในน้ำว่ามีมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งมีอุปกรณ์สำหรับตรวจวัดแบบง่ายๆ ที่สามารถจะหาซื้อได้ตามร้านขายวัสดุ อุปกรณ์และเคมีภัณฑ์เกี่ยวกับปลา ซึ่งในกรณีที่หากปริมาณไนเตรท
เจือปนในน้ำมีสูงมากเกินกว่า 1 ppm.
(1 mg. / L.) ปริมาณดังกล่าวอาจจะมีความเป็น
พิษกับตัวปลาบางชนิดได้ นอกจากนี้ การสังเกตอาการปลาที่หายใจถี่ขึ้น และว่ายน้ำไปมาเร็วขึ้นกว่าปกติ รวมไปถึงบนบริเวณผิวน้ำจะเป็นเมือกเหนียวและอาจเกิดฟองอากาศจำนวนมาก นั่นก็เป็นสัญญานเตือนที่พอจะทำให้เราทราบได้ว่า คุณภาพน้ำเริ่มดิ่งลงสู่ภาวะวิกฤติ
วิธีแก้ไข : หากพบว่าน้ำมีปริมาณไนไตรท์สูง
(วัดโดยใช้เคมี ที่กล่าวมาข้างต้น) ให้ทำการย้ายปลาไป
ไว้ในตู้ที่มีคุณภาพน้ำที่ดีมีอุณหภูมิน้ำเท่ากับตู้เดิม หากไม่มีตู้สำรองก็ให้เปลี่ยนถ่ายน้ำใหม่ประมาณ 50% และงดให้
อาหารแก่ปลาในตู้ที่เกิดภาวะซึ่งมีปริมาณไนไตรท์หรือ
ไนเตรทสูง สัก 2 - 3 วัน เป่าอากาศ แรงๆ ปริมาณ
ไนเตรทที่สูงก็จะลดหายไปเองในระยะเวลาประมาณ 3-7วันโดยปกติแล้วตู้ที่เพิ่งจะเลี้ยงปลาใหม่ๆเป็นครั้งแรกมักจะมีปัญหาไนเตรทสูง เนื่องจากปริมาณแบคทีเรียในชั้นทราย
ในตู้ปลายังมีจำนวนไม่มากพอที่จะย่อยสลายของเสียต่างๆได้ทัน ดังจะเห็นได้ว่าน้ำที่มีอยู่ในตู้เก่าจะเลี้ยงปลาได้ดี ไม่ค่อยจะมีปัญหาเรื่องไนไตรท์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่ผู้เลี้ยง
ด้วยว่าไม่เลี้ยงปลาแน่นเกินไป หรือให้อาหารหลงเหลือตกค้างมากเกินไป ถ้าหากคุณมีชุด กรองระบบ Biological
หรือที่เรียกกันว่ากรองชีวภาพ ติดตั้งในตู้ปลา ก็จะสามารถช่วยลดปริมาณโปรตีนและคาวเมือกปลาซึ่งปนอยู่ในน้ำได้ ทำให้ปริมาณไนเตรทลดลง และยิ่งปัจจุบันนี้จะมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบคทีเรียเพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำเสีย ซึ่งก็ใช้ได้ผลดีเช่นกันเวลาที่มีการล้างตู้ปลานั้น กรวดและทรายเก่าที่ปูพื้นตู้อยู่เดิมให้เอามาล้างน้ำโดยใช้น้ำเก่าในตู้ล้างแล้วใส่กลับเข้าใหม่ ซึ่งหากมันมีความสกปรกมากจนล้างไม่ออกก็ไม่ต้องทิ้งไปแต่ให้ใช้กรวดทรายใหม่ทับด้านบน ก็จะเป็นการช่วยให้มีเชื้อแบคทีเรียคงอยู่ในตู้ อันจะทำให้การเพิ่มจำนวนแบคทีเรียเป็นไปอย่างรวดเร็ว และสามารถย่อยสลายของเสียภายในตู้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นอีกวิธีหนึ่งในการลดปริมาณไนไตรท์โดยเฉียบพลันคือ การเติมสารจำพวกคลอไรด์ลงในน้ำ เช่น
NaCI หรือ CaCI ซึ่งไม่อยากแนะนำเท่าใด เพราะ
การคำนวนสัดส่วนในการใช้ ต้องคำนึงถึงปัจจัหลายอย่าง

2. น้ำมีปริมาณคลอรีนเจือปนอยู่ในปริมาณที่มากกว่า
0.02 mg / L. กรณีดังกล่าวนี้จะเป็นอันตราย
กับปลามาก โดยเฉพาะในปลาขนาดกลางและเล็ก ซึ่งใน
คลอรีน (Chlorine) ที่ใช้ๆ กันอยู่ในน้ำประปามัก
จะเป็นสารประกอบจำพวก คลอรีนพวกโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (Sodium Hypochlorite) หรือที่รู้จักกันในชื่อ น้ำยาฟอกขาว และ คลอริเนทเต็ทไอโซไซยานิวเรต (Clorinated Isocyanurates) ซึ่งเป็นสารประกอบ โซเดียมไดคลอโรไอโซ ไซยานิวเรต (Sodium
Dichloroisocyanurate) และไตรคลอโรไอโซไซยานิวเรต (Trichloroisocyanurate)โดยเมื่อ
สารเหล่านี้สัมผัสกับน้ำ ก็จะเกิดปฏิกริยาทางเคมี โดยการสร้างกรดไฮโปคลอรัส (HOCL) ออกมา มีสมบัติเป็นสารที่
สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ส่วนเจ้าสารประกอบ คลอริเนทเต็ท ไอโซไซยานิวเรต (Clorinated Isocyanurates) เมื่อละลายกับน้ำจะเกิดกรดไซยานิวริค(Cyanuric Acid) ซึ่งมีสมบัติป็นตัวปรับสภาพน้ำ (Stabilizer)เขาจึงนิยม
นำมาใช้ในกิจการน้ำประปา หรือ ตามสระว่ายน้ำ
ผลพวงจากการเกิดปฏิกริยาเคมี จะมีฤทธิ์เป็นกรด
ซึ่งแน่นอนว่ามันจะทำอันตรายกับเหงือกปลาอย่างมาก
วิธีแก้ไขเพื่อให้คลอรีนในน้ำประปาสลายตัว
(ระยะเวลาขึ้นอยู่กับปริมาตรน้ำและปริมาณความเข้าข้น
ของคลอรีนในแต่ละเขตพื้นที่ใช้น้ำ)
1. พักน้ำจากก๊อก 1 - 2 วัน
2. เอาน้ำตากแดด 1 วัน
3. เป่าอากาศ 1 วัน
4. ใช้เคมีสลายคลอรีน
5. ใช้โซเดียมไธโอซัลเฟต ลักษณะเป็นเกล็ดใส สีขาว
ละลายน้ำในอัตราส่วน 7 mg./L ต่อคลอรีน 1 mg.
/L หรือในอัตราส่วน 0.3 - 0.5 g. /
น้ำ 100 L.

ความคิดเห็นที่ 1

JJ
JJ (203.155.29.5) [2003-08-01 11:22:41]
3. ออกซิเจนในน้ำมีปริมาณต่ำ
ในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอ (น้อยกว่า 4 - 5
mg./L) ปลาบางชนิดจะออกอาการกระวนกระวาย
ว่ายน้ำเร็วกว่าปกติ หรือว่ายอยู่บริเวณใกล้ผิวน้ำและเอาปากขึ้นมาเหนือน้ำเพื่อฮุบหายใจเอาอากาศ
ในน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนน้อยกว่า 3 mg./L ปลาบางชนิดเช่นปลาสวยงามทั่วไป จะมีอาการว่ายโคลงเคลง และหากเกิดภาวะการขาดออกซิเจนในน้ำรุนแรง(น้อยกว่า 1 mg./L) ปลาจะเกิดอาการหมดสติ
เป็นระยะ มีฟองอากาศที่ระยางค์เหงือก บางรายมีอาการตาโปนถุงลมพอง และตายในที่สุด แต่ในปลาดุก ปลากัด กระดี่ ปลาหมอ จะสามารถทนต่อภาวะการขาดออกซิเจนในน้ำได้นาน เพราะสามารถหายใจได้จากอากาศโดยตรง
สาเหตุของการขาดออกซิเจนในน้ำ มักเกิดจากการที่
คุณภาพน้ำไม่ดีพอ มีปริมาณของเสียสะสมในน้ำมาก
ซึ่งมักจะเกิดจากการให้อาหารมากเกินไป อาหารที่เหลือ
จะเกิดการสะสมหมักหมม ซึ่งการย่อยสลายของ
เสียเหล่านี้โดยแแอโรบิคแบคทีเรียในกระบวนการ
เมตาบอลิซึ่ม ซึ่งจะใช้ออกซิเจนในปริมาณมาก เป็นเหตุให้
ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงกว่าปกติ นอกจากนี้ ในกรณีที่น้ำในตู้มีอุณหภูมิสูงมากเท่าใด ก็จะมีส่วนในการเร่งปฎิกริยาการย่อยสลายโดยกระบวนการเมตาบอลิซึ่มมากเท่านั้น ปริมาณออกซิเจนในน้ำจึงลดลงตามไปด้วย ซึ่งยิ่งกระบวนการเมตาบอลิซึ่ม ทำงานมากเท่าใด ปริมาณออกซิเจนก็ยิ่งหมดเร็วมากเท่านั้นและอีกกรณีหนึ่งคือ การใช้เคมีบางชนิดเพื่อรักษาโรคปลานั้น อาจทำให้เกิดภาวะการขาดออกซิเจนได้ เช่น ฟอร์มาลิน เป็นต้นในตู้ที่มีปัญหาปริมาณออกซิเจนต่ำ มักจะเกิดปัญหาการสะสมของก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่าในบริเวณชั้นกรวดทรายก้นตู้ นอกจากนี้แอมโมเนียและไนไตรท์จะสามารถทำอันตรายกับสัตว์น้ำได้ง่ายในกรณีบ่อเลี้ยง การขาดออกซิเจนในน้ำมักจะเกิดขึ้นโดยการที่น้ำในบ่อมีปริมาณแพลงตอนพืชสีเขียวมากเกินไป(น้ำข้น) จริงอยู่ที่แพลงตอนพืชจะสามารถสังเคราะห์แสงและคายออกซิเจนแก่น้ำได้ แต่ในกลางคืน ตอนฝนตก ตอนเมฆครึ้ม หรือเวลาที่ไม่มีแสงสว่างในความเข้มแสงที่เพียงพอกับการสังเคราะห์แสง แพลงตอนพืชเหล่านั้นก็จะหาย
ใจเอาออกซิเจนในน้ำเข้าไปใช้ และคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ดังนั้นในบ่อเลี้ยงจะเกิดปัญหาภาวะออกซิเจนในน้ำลดต่ำมากๆ ในช่วงเช้ามืด ปลาส่วนใหญ่จะลอยหัวปริ่มๆน้ำเพื่อฮุบอากาศ ปลาที่เป็นโรค หรือไม่แข็งแรงจึงมักจะออกอาการหรือมีอัตราตายที่สูง ในช่วงเวลาดังกล่าว
การป้องกันการขาดออกซิเจนในตู้ปลา
1. เป่าอากาศตลอดเวลา
2. เลี้ยงปลาในปริมาณที่ไม่มากเกินไป ไม่แน่นตู้
3. รักษาคุณภาพน้ำ โดยให้มีเศษของเสียในน้ำในปริมาณ
ที่ต่ำ โดยอาจจะเลือกใช้ระบบกรองที่มีประสิทธิภาพ
เพื่อการย่อยสลายของเสียทีรวดเร็ว
4. หาเครื่องปั๊มอากาศแบบใส่ถ่าน เพื่อสำรองเวลาไฟดับ
5. ควบคุมปริมาณการให้อาหาร การป้องกันการขาดออกซิเจนในบ่อ
1. ดูแลความสะอาดของบ่อ ให้น้ำสะอาดเสมอ
2. มีระบบการให้อากาศที่ดี
3. ออกแบบบ่อให้สามารถรวมปริมาณของเสียได้ เช่น
การทำสะดือบ่อ เพื่อรวมอินทรีย์วัตถุ
4. ควบคุมปริมาณการให้อาหาร โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติ
เช่นเวลาฝนตก อุณหภูมิต่ำ ซึ่งปลาจะกินอาหารลดลง
5. ควบคุมปริมาณแพลงตอนพืช
6. มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอยู่เสมอ โดยการดูดน้ำจากก้นบ่อ
ออก และเติมน้ำดีลงไปแทน
7. ควรเลี้ยงปลาในปริมาณทื่ไม่แน่นจนเกินไป


ความคิดเห็นที่ 2(ต่อ)
4. ความเป็นกรดด่างของน้ำ (pH) ไม่เหมาะสม
ค่า pH (พีเอช) คือค่าความเป็นกรด เป็นด่าง ถ้า pH
ต่ำแสดงว่าน้ำมีภาวะป็นกรด ถ้า pH เท่ากับ 7 แสดงว่า
มีภาวะเป็นกลาง และ ถ้า pH สูงกว่า 7 แสดงว่า น้ำมีภาวะ
เป็นด่างความทนทานต่อความเป็นกรด-ด่าง ของน้ำในปลา
แต่ละชนิดจะมีต่างกัน บางชนิดสามารถอยู่ได้ในน้ำที่เป็นกรดอ่อนๆ บางชนิดจะชอบน้ำเป็นกลาง (ปลาส่วนใหญ่จะชอบน้ำที่เป็น กลางหรือด่างอ่อนๆ เพราะในน้ำที่มีสภาพเป็นกรดมากๆ
จะส่งผลให้ปลามีอาการผิวหนังซีดขาว พยายามฮุบอากาศ
และกระโดดออกจากบ่อ หรือตู้ ท้ายที่สุดก็อาจตายได้
และถ้าน้ำมีภาวะความเป็นด่างมาก (ค่า pH 8 - 9
หรือสูงกว่า) จะทำให้ เกิดอาการครีบปลาฉีกกร่อนและ
เกิดอาการระคายเคืองที่บริเวณเหงือกได้ในปลาน้ำจืด ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงควรทำการตรวจค่าความเป็นกรด - ด่าง ของน้ำให้เหมาะสมกับปลาที่จะเลี้ยงอยู่เสมอการปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างของน้ำอาจ ทำได้โดยรักษาคุณภาพน้ำให้ดี อย่าให้มีของเสียหมักหมมเพราะปริมาณไนไตรท์ที่สะสมในน้ำจะทำให้ค่า Ph ลดลงและปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำก็มีผลต่อค่า Ph เช่นกันนอกจากนี้เรื่องของค่าAlkalinity และค่าความกระด้าง
หรือปริมาณแมกนีเซียมอิออนและแคลเซียมในน้ำก็เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพน้ำที่จะใช้เลี้ยงเช่นกันแต่ในที่นี้คงจะไม่กล่าวถึง เพราะโดยทั่วไป หากเราใช้น้ำประปาในการเพาะเลี้ยงแล้ว มักจะไม่ค่อยประสบปัญหาดังกล่าว

5. มีปริมาณสารพิษและโลหะหนักในน้ำมีอัตราสูงจนเกิด
อันตรายถ้าปลาของคุณ เกิดอาการซึม ลอยเฉยๆ หรือตาย
ไปดื้อๆ โดยไม่มีอาการของโรค ลองพิจารณาหาสาเหตุต่อไปนี้ดู คือบ่อหรือตู้เลี้ยงปลาของคุณ อาจจะมีสารพิษปะปนอยู่ในน้ำก็ได้ โดยอาจจะมาจากวัสดุอุปกรณ์ ของเล่น ของประดับ หิน ฯลฯ ที่ใช้กับตู้ปลา ซึ่งอาจจะมีส่วนประกอบสารมีพิษเจือปนอยู่ด้วย เช่น ท่อยาง ของเล่นสีสันฉูดฉาด ฉาบสีแววาวต่าง ๆ แม้กระทั่งสีชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ทาในบ่อเลี้ยงปลา ก็อาจมีสารพิษ
เช่นตะกั่ว ปรอท นอกจากนี้สารจำพวก ยาฆ่าแมลง หรือมลพิษจากโรงงานต่าง ๆ จากไอเสียรถยนต์ ที่ตลบอบอวลในบริเวณที่ตู้ปลาตั้งอยู่ ซึ่งเมื่อเราเปิดปั๊มอากาศเป่าลงไปในน้ำ สารเหล่านี้จะละลายปะปนอยู่ในน้ำ และเมื่อปลาดูดซึมสารพิษเหล่านี้ผ่านทางเหงือกและทางผิวหนัง ก็จะเกิดอาการป่วยได้เช่นกัน ยังไม่รวมถึงกรณีที่ใช้น้ำบาดาลเลี้ยงปลา ซึ่งอาจจะมีสารพิษปนเปื้อนมากับน้ำ หากเป็นบริเวณใกล้โรงงานอุตสาหกรรม
การป้องกัน
1. หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุอุปกรณ์ ของเล่น ของประดับ หิน
ที่คาดว่าสารพิษ
2. หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีฆ่าแมลงในบริเวณตู้ปลา
3. น้ำที่จะนำมาใช้ในการเลี้ยงปลา ควรปลอดสารพิษ
6. อุณภูมิน้ำที่ผิดปกติ
ภาวะการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันของอุณหภูมิน้ำ
เพาะเลี้ยง อาจเป็นสาเหตุทำให้ปลาตายได้เช่นกัน เพราะปลาเป็นสัตว์เลือดเย็นไม่สามารถควบคุมอุณหถูมิร่างกายได้ดีเท่าสัตว์เลือดอุ่น โดยทั่วไปถ้าอัตราการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำ อยู่ในระหว่าง 1 - 2 องศาเซลเซียส กรณี
นี้ปลาส่วนใหญ่ พอจะสามารถปรับตัวได้ทัน แต่ถึงกระนั้น
ปลาหลายชนิดก็อาจจะไม่สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลง
ขนาดนี้ได้ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำที่เกิดขึ้นเสมอ
คือ การย้ายปลาจากแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง เช่นการซื้อปลาจากร้านและนำมาลงตู้,บ่อ มักจะเกิดปัญหามาก จึงควรระมัดระวังในการย้ายปลาช่วงดังกล่าว เพราะถ้าเกิดการช็อกจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกระทันหัน จะทำให้ปลาอ่อนแอติดเชื้อได้ง่าย หรือแม้จะไม่ได้ทำการย้ายปลาก็ตาม แต่การที่อุณหภูมิน้ำในช่วงนั้นๆไม่เหมาะสมกับความเป็นอยู่ของปลา
โดยเฉพาะในปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำผิดปกติ
ปลาจะเกิดอาการติดเชื้อรา และผิวหนังซีดขาว
เฮ้อ???~~~~
ตอนที่ 1 จบแค่นี้ก่อนครับ นี่แค่หัวข้อ สาเหตุการป่วยและ
ตายที่เกิดจากอาหารและจากสภาพแวดล้อม เท่านั้น
ยังเหลือสาเหตุการป่วยและตายที่เกิดจากโรค และสาเหตุ
การป่วยและตายที่เกิดจากอุบัติเหตุ อีกครับ ไว้ต่อตอนหน้านะครับผม?

นายกร๋วย บอกเล่าเก้าสิบ ตอน "สาเหตุการป่วยและตายในปลาสวยงาม" ตอนที่ 2 เว้นไปหลายวันหน่อย แหม?
ไม่ค่อยมีเวลาน่ะครับ มาต่อกันเลยดีกว่า ตอนที่แล้วนั้นผม
ได้กล่าวถึง สาเหตุการป่วยและตายที่เกิดจากอาหาร
และสาเหตุการป่วยและตายที่เกิดจากสภาพแวดล้อม มาแล้วในตอนนี้ก็จะมากล่าวถึง สาเหตุการป่วยและตายที่
เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บกันบ้าง มาดูกันเลยครับ?
การป่วยและตายที่เกิดจากโรค ในปลาสวยงามที่เราเลี้ยงกันนั้น ถ้าเป็นตามธรรมชาติที่มัน
อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่สะอาด กว้างใหญ่ โรคภัยไข้เจ็บก็มักจะไม่มี เพราะน้ำจะมีคุณภาพที่ดีอยู่เสมอ อันเนื่องมาจากกระบวนการย่อยสลายของเสียในธรรมชาติจะสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว แต่ในปลาสวยงามส่วนใหญ่ที่เรานำมาเลี้ยงนั้น ไม่ว่าจะเป็นปลาที่เพาะจากฟาร์ม หรือปลาที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เมื่อเรานำมาเลี้ยงในตู้หรือบ่อที่มีพื้นที่อันจำกัด สภาพแวดล้อมภายในตู้หรือในบ่อเลี้ยงมักจะเกิดปัญหาในเรื่องของคุณภาพน้ำ ระดับไนไตรท์ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิความหนาแน่นของจำนวนปลา ปริมาณอาหารฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากเราไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้วการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ก็จะสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ทั้งนี้เนื่องจากการที่ปลาเหล่านั้นอยู่ในสภาวะที่กดดันและเครียดตลอดเวลา ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เลี้ยง
ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ และวิธีปฏิบัติเอาใจใส่ดูแลปลาของตนอยู่อย่างสม่ำเสมอ ในการที่จะจำลองสภาพในตู้หรือบ่อเลี้ยงให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด เพื่อที่ว่าปลาที่เราสู้อุตส่าห์เสียเงินซื้อหามา แม้บางตัวราคาจะไม่แพงมากนัก แต่หนึ่งชีวิตก็มีค่าเท่ากับหนึ่งชีวิตเช่นกันจะได้สามารถอยู่เพื่อสร้างความสุขความภูมิใจให้กับเราไปได้นานๆ ตามอายุขัยไม่ใช่พอซื้อมาก็เห่อเลี้ยงกันไป พอเบื่อก็ปล่อยปละละเลยหรือไม่ก็โอ๋กันจนปลาตายก็มี อย่างในกรณีที่เจ้าของหวังดีเกินเหตุให้อาหารปลามากๆ หรือเปลี่ยนน้ำบ่อยเกินไปจนปลาตายก็พบได้บ่อยๆ ดังนั้น อย่างน้อยที่สุดผู้เลี้ยงเองก็ควรที่จะเอาใจใส่ คอยสังเกตปลาในตู้ทั้งหลายด้วยว่ามันมีโรคภัยอะไรบ้างมาคอยรังควาญ เพราะโรคของพวกปลาเหล่านี้
ลองถ้าได้เป็นแล้วจะมีอาการลุกลามเร็วมาก การรักษาถ้า
ล่าช้าอาจจะสายเกินไป และบางโรคถ้าปลาเกิดอาการแล้ว
จะรักษาให้เป็นปกติดังเดิมดูจะเป็นเรื่องยากพอสมควร
จึงไม่ควรนิ่งนอนใจหากพบเห็นว่าปลาของเรามีอาการ
ควรจะรีบทำการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องเสียแต่เนิ่นๆ จะดี
ที่สุดครับที่นี้มาดูกันว่าโรคที่ปลาเป็นๆ กันอยู่ มันเป็นอย่างไรมีวิธีป้องกันและแก้ไขกันอย่างไร ซึ่งโดยทั่วไปแล้วโรคปลานั้นมักจะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ(Infectious
Diseases) อันรวมไปถึงโรคที่เกิดจากพยาธิด้วย
เช่นกัน ซึ่งถ้าเราทราบถึงสาเหตุโน้มนำเหล่านี้ เราก็สามารถที่จะทำการป้องกันไม่ให้อัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อในปลาของเรามีมากขึ้นได้

ความคิดเห็นที่ 2

JJ
JJ (203.155.29.5) [2003-08-01 11:33:04]
โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ
เชื่อที่ว่านี่ก็คือเชื้อโรคครับ โดยเชื้อโรคต่างๆ นั้น เป็นตัวการสำคัญที่จ้องจะทำให้ปลาของเราป่วยและตายอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าถ้าปลาของเราภูมิคุ้มกันต่ำเมื่อไหร่ล่ะก็เป็นอันเสร็จกัน เจ้าเชื้อโรคร้ายที่ว่านั้น มันก็มีอยู่หลายชนิดหลายสายพันธุ์ รวมไปถึงพวกพยาธิภายนอกซึ่งมักจะพบได้มากในปลาสวยงามที่ป่วย ส่วนพยาธิภายในเราก็อาจจะพบได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีพวกเชื้อราแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อที่พบบ่อยๆ จะเป็นพวก
พยาธินอกจำพวกเชื้อรา Saprolegnia sp.
พวกปรสิตโปรโตซัว และพวกเชื้อแบคทีเรียจำพวก
แอโรโมแนส ไฮโดรฟิลล่า (Aeromonas
hydrophila) ลักษณะในการติดเชื้อนั้น
ส่วนใหญ่แล้วจะมีสาเหตุโน้มนำที่สามารถทำให้ปลอ่อนแอและเชื้อโรคที่ปะปนอยู่แล้วในน้ำ ในตู้ บ่อ หรือแม้กระทั่งในตัวปลา ซึ่งจ้องจะเข้าทำการออกฤทธิ์เดชจนทำให้เกิดอาการต่างๆ ทั้งที่เห็นและไม่เห็นแก่ปลาของเรา ซึ่งบางทีถ้าเราไม่สังเกตให้ดีๆ กว่าจะรู้ว่าปลาเป็นโรคนั้น ก็สายเกินแก้และปลาก็จะตายในที่สุด ดังนั้นเราต้องทราบก่อนว่า โอกาสที่ปลาจะเกิดโรคได้นั้นจะมาจากอะไรบ้าง ซึ่งสาเหตุโน้มนำที่สำคัญอันจะก่อให้เกิดภาวะโรคแทรกซ้อนในปลาสวยงามนั้น ได้แก่
1. กรณีการย้ายที่อาศัยของปลา เช่นการซื้อปลาเข้ามาใหม่ การย้ายตู้ ย้ายบ่อ ซึ่งคุณภาพน้ำ ถ้าเป็นไปได้ควรจะใกล้เคียงจากแหล่งที่ซื้อปลามา เช่นอุณหภูมิ ความเป็นกรด - ด่าง หรือไม่ก็พยายามปรับอุณหภูมิน้ำในถุงให้เท่ากับในตู้ก่อน โดยการแช่ถุงลงไปในน้ำเลี้ยง เพื่อปรับอุณหภูมิซัก 15 นาที นอกจากนี้ การพักปลาก่อนนำไปเลี้ยงรวมกับปลาเดิมในตู้เดิม ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะเราจะไม่ทราบเลยว่าปลาที่ซื้อมานั้นเป็นพาหะของโรคหรือไม่ทางที่ดีควรให้ยาฆ่าพยาธิแก่ปลาก่อนนำลงปล่อยในตู้หรือบ่อ จะปลอดภัยที่สุด
2. กรณีการเปลี่ยนถ่ายน้ำเลี้ยง หากผู้เลี้ยงปฏิบัติไม่ถูกต้องจะพบว่าหลังจากที่เราเปลี่ยนถ่ายน้ำแล้ว ปลามักจะแสดงอาการป่วย ทั้งนี้อาจจะมาจากสาเหตุการที่เราเปลี่ยนถ่ายน้ำมากเกินไป บางรายเปลี่ยนครั้งเดียวหมดตู้ 100 % ก็มีซึ่งปลาจะรับไม่ค่อยได้กับการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงฉับพลันขนาดนั้นปลาจะเครียดและเป็นเหตุโน้มนำให้เชื้อโรคเข้าทำร้ายปลาได้ ดังนั้น เราจึงควรที่จะทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำออกประมาณ 10-20% ก็เพียงพอ และที่สำคัญที่สุดคือ น้ำนั้นต้องไม่มีคลอรีนโดยอาจจะพักน้ำเอาไว้อย่างน้อยซักประมาณ 1 - 2 วันก่อนจะนำมาใช้หากปลาที่เลี้ยง
มีรูปร่างใหญ่ ยาว อาทิ ออริเกเตอร์ จรเข้ฟลอริด้า อราไพม่าอโรวาน่า เสือตอ เทพา กราย ฯลฯ ปลาพวกนี้ การจะทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำนั้น ต้องทำด้วยความนุ่มนวล พยายามอย่าให้ปลาตกใจเพราะ ปลาเหล่านี้
แรงเยอะมาก หากตกใจในบางรายจะพลิกตัว
หรือว่ายสะบัดหางอย่างรุนแรง กระโดดชนกระจกตู้ หรือ
ผนังบ่อ ที่ร้ายไปกว่านั้นคือกระโดดหลุดออกมาหล่นนอกตู้ ซึ่งในบางทีอาจจะส่งผลทำให้กระดูกสันหลังคด หัก หรือเคลื่อนได้ ซึ่งจะทำให้ปลาเสียทรง ลำตัวคดเบี้ยวบิด
เสียการทรงตัว ในบางรายก็จะมีการอักเสบในช่องท้อง
ถุงลมรั่ว หงายท้อง ไม่กินอาหาร และตายในที่สุด
3. กรณีอาหารที่ให้ปลาไม่มีคุณภาพหรือให้ในปริมาณ
ที่ไม่เหมาะสม เช่น อาหารไม่มีคุณภาพ สารอาหารไม่ครบถ้วนตามที่ปลาต้องการเช่นการขาดวิตามิน โปรตีน หรือในอาหารมีไขมันมากเกินไป ซึ่งมักจะทำให้ในช่องท้อง และตับมีไขมันมากเกินไป ซึ่งจะพบได้บ่อยในปลาทอง หรือในกรณีที่ปลาแสดงอาการตัวคดโดยที่ไม่ได้หล่นกระแทก ซึ่งมักจะเกิดจากการขาด Vitamin C ในปลา ก็พบได้บ่อยเช่นกันจึงควรเลือกอาหารที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับประเภทของปลา ในเรื่องของปริมาณการให้อาหารก็เช่นกันควรให้อาหารแก่ปลาวันละ 1-3 %ของน้ำหนักตัวปลาก็
เพียงพอแล้ว สำหรับอาหารสดควรล้างให้สะอาดก่อนเพื่อ
ป้องกันเชื้อโรค โดยเฉพาะพยาธิภายนอก
4. กรณีการบำรุงดูแลรักษาไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่าง
ยิ่งการที่น้ำมีก๊าซแอมโมเนีย หรือไนไตรท์มากซึ่งอาจจะมาจาก
การเลี้ยงปลาหนาแน่น การให้อาหารมาก การปฏิบัติต่างๆ
ไม่เหมาะสม ค่า Ph ไม่เหมาะสมไม่คงที่ ก็ล้วนแต่เป็นเหตุ
ที่ทำให้ปลาเกิดอาการเครียดและอ่อนแอได้ทั้งสิ้น ที่กล่าวมาจึงเป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงควรที่จะตระหนัก เพื่อแก้ไขป้องกันไม่ให้เหตุโน้มนำต่างๆ เกิดขึ้นอันจะทำให้ปลาที่เลี้ยงไว้มีชีวิตที่ยืนยาวต่อไป ต่อไปนี้ จะเข้าเนื้อหาเกี่ยวกับโรคปลา
แล้วนะครับ มาดูกันเลย จะได้สามารถพิจารณาและรักษาโรคในเบื้องต้นได้ โดยโรคที่เกิดขึ้นกับปลาพอจะแบ่งได้ดังนี้
1. โรคที่เกิดจากพยาธิภายนอก
2. โรคที่เกิดจากพยาธิภายใน
3. โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส
4. โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
5. โรคที่เกิดจากเชื้อรา


ความคิดเห็นที่ 1
1. โรคที่เกิดจากพยาธิภายนอก
โรคที่เกิดจากพยาธิภายนอกนั้น บางทีจะเป็นเฉพาะพันธุ์และขนาดปลา รวมทั้งอาจจะเกิดตามฤดูกาล เช่น ในฤดูหนาวจะพบโรคจุดขาวมากกว่าในฤดูอื่นๆ หรือในลูกปลาที่มีขนาดใหญ่จะมีโอกาสพบเห็บระฆังได้มากหรือในปลาคาร์พก็จะพบหนอนสมอและเห็บปลา ฯลฯ ซึ่งพยาธิที่พบส่วนใหญ่ในปลานั้นจะเป็นพยาธิภายนอก ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ได้แก่
1.1. เห็บระฆัง (Trichodina sp.)
1.2. โรคจุดขาว (White spot;
Lchthyophthirus multifilis)
1.3. ปลิงใส (Metazoa;
Monogeneans; Gyrodactylus
or Dactylogyrus)
1.4. เห็บปลา (Argulus sp.)
1.5. หนอนสมอ (Anchor worm;
Lernaea sp.)

1.1 โรคที่เกิดจากเห็บระฆัง
(Trichodiniasis)
สาเหตุ ;
เกิดจากโปรโตซัวชนิด Trichodinia sp.
ลักษณะเป็นโปรโตซัวที่มีรูปร่างกลมแบน มีขนรอบตัว
เคลื่อนไหวรวดเร็วที่บริเวณปากมีขอหนามอยู่กลางเซลล์
ใช้เกาะตามลำตัวปลาและเหงือกปลาชนิดของปลาที่เป็นโรค ;
ปลาทุกชนิด ทุกช่วงอายุ ส่วนใหญ่พบในลูกปลามากกว่า
ปลาใหญ่ ถ้าพบเป็นจำนวนมาก ทำให้ปลาตายหมดบ่อ
หรือหมดตู้อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเกิดโรค ; พบได้ในทุกช่วงอุณหภูมิ แต่ในฤดูฝนและฤดูหนาวจะพบมาก
อาการ ;ปลาเกิดอาการระคายเคือง มีสีเข้ม ว่ายถูกับตู้
บางครั้งว่ายตามผิวน้ำ ครีบสึกกร่อน เกล็ดหลุดร่อน
เป็นแผลขนาดเล็กตามผิวตัว และเหงือก
อัตราการตาย ;ขึ้นกับปริมาณของพยาธิ ถ้าพบมากจะทำให้ปลาตายจำนวนมาก
การติดต่อ ;โรคนี้ติดต่อโดยทางน้ำ ปลาที่จะนำเข้ามาใหม่
ไม่ควรปนกับปลาเก่า อาหารสดควรมีคุณภาพ อุปกรณ์ต่างๆ ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคก่อนเช่น ตากแดด แช่ด่างทับทิม
การป้องกัน ;ปรสิตชนิดนี้สามารถแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วและทำให้ปลาตายได้ในเวลาสั้นๆ ควรตรวจปลาก่อนจะนำมาเลี้ยงว่ามีปรสิตหรือไม่ ให้ระวังการติดต่อระหว่างอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันและจากอาหารสดต่าง ซึ่งมีโอกาสเป็นพาหะสูง
ควรพักปลาไว้ก่อนนำลงเลี้ยงประมาณ 2-3 วัน
และตรวจให้แน่ใจว่าไม่มี โรค
การรักษา ;หากทำการรักษาโรคนี้ในระยะแรกๆ จะได้ผลดี
กว่าเมื่อติดโรคเรื้อรังแล้ว
1. ใช้เกลือแกงขนาด 1-1. %ของปริมาตรน้ำ
แช่ปลานาน 20-30 นาที
2. ใช้เกลือแกงขนาด 0.2 - 0.3 %
ของปริมาตรน้ำ แช่ปลานาน 10-12 ชม.
3. ใช้ฟอร์มาลีน 25 ppm. ( 25 mg
./ L.) ) แช่ปลานาน 12 -24 ชม.
4. ใช้ฟอร์มาลีน 2.5 - 5 cc. /
น้ำ 10 ลิตร หรือ 25 - 50 cc. /
น้ำ 1,000 ลิตร) แช่ปลานาน 12 -24 ชม.

1.2โรคจุดขาว(White Spot Disease)
สาเหตุ ; สาเหตุของโรคนี้เกิดจากโปรตัวซัวชนิด
Lchthyophthirius multifiliis
คือโปรโตซัวที่กินเซลล์ผิวหนังเป็นอาหาร นิวเคลียสมี
รูปร่างคล้ายเกือกม้า เมื่อพยาธิโตเต็มที่จะออกจากตัวปลา
โดยจมตัวลงสู่บริเวณก้นตู้หรือบ่อปลา และจะสร้างเกราะ
ห่อหุ้มตัวไว้ จากนั้นจะแบ่งเซลล์เป็นตัวอ่อนจำนวนมากภายในเกราะที่ห่อหุ้มนั้น เมื่อสภาวะแวดล้อมภายนอกเหมาะสมเกราะหุ้มจะแตกออกและตัวอ่อนจะพรั่งพรูว่ายน้ำเข้าเกาะตามผิวหนังของปลาที่อยู่ในตู้หรือบ่อ โดยเมื่อเป็นตัวแก่จะฝังตัวอยู่ใต้ผิวหนังปลา ซึ่งทำให้ยากต่อการรักษา
ยาที่ใช้จะทำลายเฉพาะตัวอ่อนเป็นส่วนใหญ่ โดยตัวอ่อน
จะตายภายใน 2-3 วัน ถ้าไม่มีปลาให้เกาะ
ชนิดของปลาที่เป็นโรค ;เป็นได้กับปลาทุกชนิด และทุกขนาดเช่น หางนกยูงปลา สวาย ดุก ข่อน นิล หมู ทรงเครื่อง
ปอมปาดัวร์ ฯลฯ
อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเกิดโรค ;ตั้งแต่ 3 - 28
องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิที่สูงกว่า 20 องศาเซลเซียสเชื้อจะสามารถ แบ่งตัวได้รวดเร็วมาก และโรคนี้จะพบมากในฤดูหนาว
อาการ ;มีจุดสีขาวขุ่น ขนาดเท่าหัวเข็มหมุดเล็ก ๆ ขนาด 0.5-1 มม. กระจายทั่วลำตัว ที่ผิวหนังและครีบ แสดงอาการหายใจลำบาก
ผนังปิดเหงือกเปิดบ่อยขึ้น ว่ายตามผิวน้ำ หรือถูกับตู้จะเห็นเป็นจุดขาวๆ
อัตราการตาย ;ขึ้นกับความรุนแรงของโรค และขนาดของปลาปลาขนาดเล็กจะมีอัตราตายมากกว่าปลาขนาดใหญ่
การติดต่อ ;สามารถติดต่อจากปลาตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่ง จาก พืชน้ำ หรือจากสัตว์น้ำอื่นๆ เช่นหอย
การป้องกัน ;ปลาที่นำมาเลี้ยงใหม่ควรพักดูอาการก่อน 1
อาทิตย์ ก่อนน้ำไปเลี้ยงปนกับปลาเก่า และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำเมื่อมีปริมาณ ไนไตรท์มากกว่า 0.5 mg / L
อย่าเลี้ยงปลาแน่นเกินไป ตลอดจนรักษาอุณหภูมิของน้ำ
ให้อยู่ในช่วง 28-32 องศาเซลเซียส
การรักษา ;ยังไม่มีวิธีกำจัดปรสิตที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนังที่ได้ผล
เต็มที่ การค่อยๆเพิ่มอุณหภูมิน้ำ จะช่วยให้ตัวแก่หลุดออก
จากตัวปลาเร็วขึ้น จากนั้นให้ทำการย้ายปลาไปอยู่ที่อื่นก่อน และรักษาโดยการทำลายตัวอ่อนในน้ำหรือทำลายตัวแก่ขณะว่ายน้ำ โดย
1. ใช้มาลาไคท์กรีน ขนาด 0.2 - 0.3 ppm(0.2 - 0.3 mg/L) แช่ปลานาน 12-24 ชม.
2. ใช้มาลาไคท์กรีนผสมฟอร์มาลีน โดยใช้มาลาไคท์กรีน 0.1 ppm ร่วมกับฟอร์มาลีน 25 ppm แช่ปลาไว้ 12-84ชม.
3. ใช้ฟอร์มาลิน 15 - 20 ซีซี ต่อน้ำ 100 ลิตร แช่ปลานาน 1 ชม. สำหรับ ปลาขนาดใหญ่ หรือ 2.5 - 5 ซีซีต่อน้ำ 100 ลิตร นาน 24 ชม. สำหรับปลาขนาดเล็ก
4. ใช้เมททิลีนบลู 0.1 - 0.2 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร แช่ติดต่อกัน 7 วัน
5. มาลาไค้ทกรีน 0.15 กรัม ผสมกับและฟอร์มาลิน
2.5 ซีซี ต่อน้ำ 100 ลิตร แช่ปลานาน
24 ชม. แช่ติดต่อกัน 7 วัน โดยเปลี่ยนน้ำใหม่
ทุกวัน และแช่ยาวันเว้นวัน ทำจนปลามีอาการดีขึ้น
ควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในช่วง 28-32 องศาเซลเซียส
เมื่อย้ายปลาออกจากตู้ไปรักษาในทื่อื่น ควรใส่ฟอร์มาลิน 10-15 ซีซีต่อน้ำ 100 ลิตร ลงในตู้หรือบ่อที่มีปัญหา เพื่อกำจัดตัวอ่อนให้หมดแลัวถ่ายน้ำทิ้ง จึงค่อยนำกลับมาใช้
1.3 โรคที่เกิดจากปลิงใส (Metazoa; Monogeneans)
สาเหตุ ;เกิดจากปลิงใสชนิด Gyrodactylus
sp. อาศัยอยู่ตามผิวหนังและครีบปลา และชนิด
Dactylogyrus sp. ซึ่งมักพบตามเหงือกปลา มีลักษณะตัวบางที่ปากมีขอ เคลื่อนที่ด้วยการยืดหดตัวเอง
ชนิดของปลาที่เป็นโรค ;เป็นได้กับปลาทุกชนิด
อุณหภูมิที่เหมาะสม ;ระบาดได้ในทุกช่วงอุณหภูมิ
อาการ ;พบว่าปลามีเมือกตามตัวมากผิดปกติ ว่ายน้ำ
ทุรุนทุรายถูกับตู้ หรือว่ายเชื่องช้าลอยตัวดามผิวน้ำ
มีอาการผ่ายผอม กระพุ้งแก้มเปิดปิดเร็วในบางรายจะมีแผลขนาดเล็กเท่าปลายเข็มหมุดกระจายทั่วลำตัว ถ้าเป็นขั้นรุนแรงจะดูเหมือนมีขนสีขาว สั้น ๆ อยู่ตามลำตัวปลา บางรายมีอาการครีบฉีกกร่อน ในปลาดุก ปลาหนัง จะมีลักษณะคล้ายตกเลือดที่ผิว
อัตราการตาย ;ลูกปลาจะตายมากกว่าปลาใหญ่ จำนวนปลาที่ตายขึ้นกับความรุนแรงของจำนวนพยาธิ
การติดต่อ ;ติดต่อจากปลาด้วยกันเอง ติดต่อทางน้ำและ
อุปกรณ์ ติดต่อทางคนเลี้ยงเองที่เอามือจุ่มน้ำจากตู้หนึ่งไปอีกตู้หนึ่งการป้องกัน ;พักปลาที่จะเลี้ยงใหม่ 7 วัน อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการเลี้ยง ควรทำความสะอาดให้ถูกสุขลักษณะ มีการฆ่าเชื้อหรือตากแดดเสมอ
การรักษา ;ถ้าพบการติดเชื้อในพยาธิชนิดนี้ตั้งแต่ระยะแรกก็สามารถรักษาให้หายได้ไม่ยาก
1. ใช้ฟอร์มาลีน 25 - 30 ppm นาน
12 - 24 ชม. ทุกๆ 3 วัน (แช่นาน 3 วัน
เว้น 1 วัน) ทำติดต่อกัน 3 ครั้ง
2. ใช้ neguvon ขนาด 0.25 ppm นาน
12-24 ชม. ทำครั้งเดียว
3. ใช้ฟอร์มาลิน จำนวน 25-40 cc / น้ำ
1,000 ลิตร แช่นาน 24 ชม.
4. ใช้ดิพเทอร์เร็กซ์ จำนวน 0.25-0.5 g.
ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่นาน 24 ชม.

1.4 โรคที่เกิดจากเห็บปลา (Argulus หรือ
Ergasilus)
สาเหตุ ;เกิดจากพยาธิจำพวก Argulus หรือ
Ergasilus ซึ่งมีลักษณะรูปร่างกลมแบน
สีเขียวปนน้ำตาล ขนาด ประมาณ 5 - 7 มิลลิเมตร
และมีระยางค์เกาะตามลำตัวปลาโดยเฉพาะที่ หัว โคนครีบอก หรือโคนครีบหาง ชนิดของปลาที่เป็นโรค ;พบได้ในปลาทุกชนิดและทุกขนาดแต่พบมากในปลาปลามีเกล็ด เช่น ปลาคาร์พ ปลาแรด ปลาช่อน ปลาตะเพียน เป็นต้น อุณหภูมิที่เหมาะสม ;พบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว หรือช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำ
อาการ ;โดยทั่วไป ปลาที่ติดพยาธิชนิดนี้จะไม่แสดงอาการผิดปกติมากนัก ถ้าไม่สังเกตจะไม่ทราบ ทั้งๆที่เราเราสามารถมองเห็นพยาธิด้วยตาเปล่าจนกระทั่งมีการติดโรคนี้เป็นเวลานาน ปลาก็จะเกิดอาการเป็นแผลตกเลือดกระจายอยู่ทั่วลำตัว ในปลาที่มีพยาธิจำนวนมากเกาะที่เหงือก จะแสดงอาการ
ว่ายน้ำทุรนทุราย หายใจลำบาก มีเมือกตามตัวมากกว่าปกติและพยายามถูตัวเองกับข้างบ่อหรือตู้ ว่ายพลิกไปมากับหิน หรือพื้นตู้ พื้นบ่อ เพื่อถูให้พยาธิหลุดออกไป
อัตราการตาย ;ขึ้นกับชนิดและขนาดของปลา รวมทั้งความ
รุนแรงของการติดพยาธิ ถ้าเป็นมากๆ อัตราการตายจะสูง
การติดต่อ ;ทางน้ำที่ใช้เลี้ยง จากอุปกรณ์ และจากปลาที่ป่วยเป็นพาหะ
การป้องกัน ;พักปลาใหม่ 7 วัน และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพ
ปลาที่เลี้ยงโดยเฉพาะในช่วยฤดูฝนและฤดูหนาว
การรักษา ;
1. ใช้ Organophoshate insecti
cide เช่น Trichlorfon หรือ
Neguvon ขนาด 0.25 ppm
แช่ประมาณ12-24 ชม. แต่วิธีนี้ไม่ควรใช้กับ
ปลาอะโรวาน่าระวังอย่าเทน้ำที่มียาปนเปื้อนอยู่ลงในแหล่งน้ำสาธารณะ และระวังสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์อื่นดื่มกิน
2. แช่ปลาในสารละลายยาฆ่าแมลงจำพวกดิพเทอเร็กซ์
(Dipterex) ในอัตราส่วน 0.5-0.75 g
. / น้ำ 1,000 ลิตร นาน 24 ชั่วโมง
3. แช่ปลาในสารละลายด่างทับทิม (โปแคลเซียมเปอ
แมงกาเนต) ใน อัตราส่วน 1 g. / น้ำ 10 ลิตร
นานประมาณ 15 - 30 นาที แล้วย้ายปลา ไปใส่ในน้ำ
สะอาด4. จับเห็บปลาออกด้วยปากคีบ หากพยาธิชนิดนี้เกาะแน่นให้หยดน้ำเกลือเข้มขันประมาณ 1- 2 หยด ลงบนตัวพยาธิแล้วใช้ปากคีบดีงออกจะหลุดออกโดยง่าย

1.5 โรคที่เกิดจากหนอนสมอ (Anchor wormdisease)
สาเหตุ ;เกิดจากพยาธิชนิด Lernae sp. เป็น
พยาธิที่พบเสมอในปลาน้ำจืด มักพบเกาะอยู่ตามผิวหนังของปลาโดยเฉพาะบริเวณโคนครีบตัวเมียที่โตเต็มวัยจะมีลักษณะลำตัวยาวคล้ายหนอน มีรูปร่างยาวขนาด 2 - 5 มม.ปลายหางเป็นแฉกมีรังไข่เป็นถุงอยู่ 1 คู่
ที่ส่วนหัวมีอวัยวะสำหรับยืดเกาะกับผิวหนังปลาซื่งมีรูปร่างคล้ายสมอเรือ อันเป็นที่มาของชื่อ ซึ่งจะแตกแขนงและแทงทะลุลงไปใต้ผิวหนังลึกถืงชั้นกล้ามเนื้อเพื่อจะดูดกินเนื้อเยื่อทำให้เห็นเพียงเฉพาะส่วนลำตัวที่มีลักษณะคล้ายหนอนโผล่ออกมาจากผิวหนังชนิดของปลาที่เป็นโรค ;ส่วนใหญ่จะเป็นปลาที่มีเกล็ดโดยเฉพาะปลาในกลุ่มปลาคาร์ฟ ปลาแรด ปลากะพงขาว ปลาบู่ ตะเพียนขาว ปลาทอง ปลามิดไนท์
อุณหภูมิที่เหมาะสม ;พบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
อาการ ;ขึ้นอยู่กับปริมาณพยาธิที่เกาะ ถ้ามากปลาจะมีแผลตกเลือดเต็มตัว มีอาการระคายเคือง ผอม มีเมือกตามตัวมากผิดปกติ ถ้าเกิดในปลาขนาดเล็กทำให้ตายได้ ส่วนใหญ่ตัวแก่ของพยาธิจะเกาะใต้เกล็ดปลาหรือที่โคนครีบอก ครีบหางโดยจะเห็นเป็นตุ่มตรงบริเวณที่พยาธิเกาะ บางรายแสดงอาการหายใจลำบาก
อัตราการตาย ;โดยทั่วไปไม่รุนแรงมากนัก แต่ถ้ามีพยาธิ
เกาะเป็นจำนวนมาก จะส่งผลให้ปลากินอาหารลดลง ผอม
และจะเกิดโรคแทรกซ้อนซึ่งทำให้มีอัตราการตายรุนแรงขึ้นการติดต่อ ;จากปลาตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่ง และจากน้ำ
รวมทั้งอุปกรณ์ที่เลี้ยงปลาเช่นเดียวกัน
การป้องกัน ;เปลี่ยนถ่ายน้ำตามระยะเวลา และความเหมาะสม
อุปกรณ์ในการกรองน้ำควรหมั่นทำความสะอาด อย่างน้อย
ปีละสองถึงสามครั้ง อย่านำปลาใหม่เข้าไปปนกับปลาเก่าโดยไม่พักโรคการให้อาหารสดที่มีชีวิตเลี้ยงปลาก็เป็นการเสี้ยงต่อการเกิดโรคเช่นกัน
การรักษา ;
1. ใช้ปากคีบ คีบพยาธิออกจากตัวปลา ในกรณีที่เป็นน้อย
2. ถ้าเป็นมาก ทำการรักษาโดยใช้
Trichlorfon หรือ Neguvon
เหมือนการรักษาเห็บปลา โดยแยกปลาที่มีหนอนสมอเกาะ
อยู่ไปไว้ที่อื่นประมาณ 3 - 4 อาทิตย์ ทั้งนี้เพื่อกัน
ไม่ให้ตัวอ่อนของหนอนสมอที่ออกเป็นตัวไปยึดเกาะปลาอื่นและเป็นการตัดวงจรชีวิตมันด้วย
3. แช่ปลาที่มีพยาธิในสารละลายดิพเทอเร็กซ์ ในอัตราส่วน 0.5 g. / น้ำ1,000 ลิตร แช่ 24 ชั่วโมง
แล้วทำการเปลื่ยนน้ำ จากนั้นให้เว้นไป 1 อาทิตย์ จึงทำการแช่ยาซ้ำอีก ทำเช่นนี้ 2 - 3 ครั้ง........


ความคิดเห็นที่ 2
นอกจากนี้ยังมีโรคจากพยาธิภายนอก ที่เราจะพบได้บ่อยๆ
ในปลาสวยงามอีก เช่นก. โรคตกเลือดตามซอกเกล็ด
สาเหตุ ;เกิดจากเชื้อปรสิตเซลล์เดียวที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม
หรือกระจุกชนิดของปลาที่เป็นโรค ;ส่วนใหญ่จะเป็นปลาที่มีเกล็ด โดยเฉพาะปลาในกลุ่มปลาคาร์ฟ ปลาแรด ปลากะพงขาว ปลาบู่ ตะเพียนขาว ปลาทอง ปลามิดไนท์
อุณหภูมิที่เหมาะสม ;พบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
อาการ ;มีแผลเปิดสีแดงเป็นจ้ำ ๆ ตามลำตัว โดยเฉพาะ
ที่ครีบและซอกเกล็ด ถ้าเป็นเผลเรื้อรังอาจมีอาการเกล็ดหลุดบริเวณรอบ ๆ แผลจะมีขุยคล้ายสำลีสีน้ำตาลปนเหลืองอัตราการตาย ;โดยทั่วไปไม่รุนแรงมากนัก แต่ถ้ามีพยาธิเกาะเป็นจำนวนมาก จะส่งผลให้ปลากินอาหารลดลง ผอมและจะเกิดโรคแทรกซ้อนซึ่งทำให้มีอัตราการตายรุนแรงขึ้นการติดต่อ ;จากปลาตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่ง และจากน้ำรวมทั้งอุปกรณ์ที่เลี้ยงปลาเช่นเดียวกัน
การป้องกัน ;เปลี่ยนถ่ายน้ำตามระยะเวลา และความเหมาะสมอุปกรณ์ในการกรองน้ำควรหมั่นทำความสะอาด อย่างน้อยปีละสองถึงสามครั้ง อย่านำปลาใหม่เข้าไปปนกับปลาเก่าโดยไม่พักโรค การให้อาหารสดที่มีชีวิตเลี้ยงปลาก็เป็นการเสี้ยงต่อการเกิดโรคเช่นกัน
การรักษา ;
1. ใช้เกลือเม็ด จำนวน 0.5 - 1 kg. /
น้ำ 100 ลิตร แช่ปลานาน 48 ชม.
2. ใช้ฟอร์มาลินจำนวน 2.5 - 4 ซีซี ต่อน้ำ
100 ลิตร แช่ปลา 48 ชม. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควร
เปลี่ยนน้ำ แล้วพัก 1 วัน จากนั้นทำซ้ำอีก ควรจะมีอาการ
ดีขึ้นภายในการรักษาครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 3

ข. โรคเมือกขุ่น
สาเหตุ ;เกิดจากการติดเชื้อปรสิตเซลล์เดียวจำพวก
โบโดโมแนส คอสเตีย ซิโลโตเนลล่า
ชนิดของปลาที่เป็นโรค ;พบได้ในปลาทั่วไป
อุณหภูมิที่เหมาะสม ;ต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส
อาการ ;มีเมือกสีขาวขุ่นปกคลุมลำตัว บางทีปลาที่ป่วย
อาจขับเมือกออกมามากจนมีกลิ่นคาว ครีบหุบ ว่ายน้ำกระเลือกกระสน บางครั้งจะลอยนิ่งอยู่ตามผิวน้ำ
อัตราการตาย ;ถ้าเป็นมากๆ ปลาจะกินอาหารลดลง ผอม
และจะเกิดโรคแทรกซ้อน และตายในที่สุด
การติดต่อ ;จากปลาตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่ง และจากน้ำ
รวมทั้งอุปกรณ์ที่เลี้ยงปลาเช่นเดียวกัน
การป้องกัน ;รักษาคุณภาพน้ำให้ดีเสมอ อุณหภูมิของน้ำเลี้ยงไม่ควรต่ำเกินไป ไม่ใช้อุปกรณ์ร่วมกับปลาที่ป่วย และควรพักปลาใหม่ก่อนนำลงเลี้ยงรวม
การรักษา ;
1. ใช้ฟอร์มาลิน จำนวน 2.5 - 4 ซีซี ต่อน้ำ
100 ลิตร แช่นาน 48 ชม.
2. ใช้ด่างทับทิม จำนวน 0.1 - 0.3 g. /
น้ำ 100 ลิตร แช่นาน 24 ชม.
3. เกลือเม็ด จำนวน 0.5 - 1 กิโลกรัม
ต่อน้ำ 100 ลิตร แช่นาน 48 ชม.

ค. โรคจากเชื้อสปอร์โรซัว
สาเหตุ ;นี้เกิดจากเชื้อปรสิตเซลล์เดียว
ชนิดของปลาที่เป็นโรค ;ส่วนใหญ่จะเป็นปลาที่มีเกล็ด
โดยเฉพาะปลาในกลุ่มปลาคาร์ฟ ปลาแรด ปลากะพงขาว
ปลาบู่ ตะเพียนขาว ปลาทอง
อุณหภูมิที่เหมาะสม ;ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด
อาการ ;เป็นแผลซ้ำบริเวณลำตัว มีตุ่มเล็ก ๆ สีขาวขุ่น
อมเหลืองอ่อนบริเวณกล้ามเนื้อลำตัว และซี่เหงือก
อัตราการตาย ;ถ้ามีการติดเชื้อที่เหงือกเป็นจำนวนมาก
ปลาจะหายใจไม่สะดวก และตายได้โดยเฉพาะกับปลาที่มี
ขนาดเล็ก การติดต่อ ;จากปลาตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่ง และจากน้ำ รวมทั้งอุปกรณ์ที่เลี้ยงปลาเช่นเดียวกัน
การป้องกัน ;เปลี่ยนถ่ายน้ำตามระยะเวลา และความเหมาะสมอุปกรณ์ในการกรองน้ำควรหมั่นทำความสะอาด อย่างน้อยปีละสองถึงสามครั้ง อย่านำปลาใหม่เข้าไปปนกับปลาเก่าโดยไม่พักโรค การให้อาหารสดที่มีชีวิตเลี้ยงปลาก็เป็นการเสี้ยงต่อการเกิดโรคเช่นกัน
การรักษา ; ไม่สามารถ ใช้สารเคมีกำจัดได้ เนื่องจากเป็นปรสิตชนิดที่ฝังตัวเข้าไปอยู่ใต้ผิวหนัง ทำได้เพียงการตัดวงจรชีวิตของสปอร์ที่หลุดออกจากเกราะ โดยใช้สารเคมีและวิธีเช่นเดียวกับไวท์สปอตนอกจากนี้ ควรแยกปลาในตู้ไปเลี้ยงที่อื่น แล้วใส่ฟอร์มาลิน เข้มขัน 25 ซีซี / น้ำ 100 ลิตรลงไปในตู้หรือบ่อ แล้วทิ้งไว้ประมาณ 1 - 2 วัน
จึงถ่ายน้ำออกแล้วล้างตู้ จากนั้นจึงค่อยนำปลาลงเลี้ยง

ง. โรคหูดเม็ดข้าวสาร
สาเหตุ ;นี้เกิดจากเชื้อปรสิตเซลล์เดียว จำพวก สปอร์โรชัว
ขนาดเล็ก มักพบในตู้หรือบ่อเลี้ยงที่มีปริมาณปลาหนาแน่น
คุณภาพน้ำไม่ดีพอชนิดของปลาที่เป็นโรค ;ปลาไทเกอร์โชวาโนส ปลาดุกปลาสวาย ปลาบึก ปลากระทิง ฯลฯ
อุณหภูมิที่เหมาะสม ;-ไม่มีข้อมูล
อาการ ;มีตุ่มสีขาวขุ่นอยู่ตามลำตัวลักษณะคล้ายเม็ดข้าวสาร อัตราการตาย ;ถ้าเป็นจำนวนมาก ทำให้ตายได้ เนื่องจากปลาจะไม่กินอาหาร
การติดต่อ ;จากปลาตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่ง และจากน้ำ รวมทั้งอุปกรณ์ที่เลี้ยงปลาเช่นเดียวกัน
การป้องกัน ;อย่าปล่อยปลาแน่นเกินไป เปลี่ยนถ่ายน้ำตามระยะเวลา และความเหมาะสม อุปกรณ์ในการกรองน้ำควรหมั่นทำความสะอาด อย่างน้อยปีละสองถึงสามครั้ง อย่านำปลาใหม่เข้าไปปนกับปลาเก่าโดยไม่พักโรคการให้อาหารสดที่มีชีวิตเลี้ยงปลาก็เป็นการเสี้ยงต่อการเกิดโรคเช่นกันการรักษา ;ไม่มีทางรักษา ในกรณีที่ปลาเป็นโรคไม่รุนแรง ให้ย้ายไปเลี้ยงในน้ำสะอาดๆ และในอัตราที่ไม่หนาแน่นมาก ปลาอาจจะหายจากโรคได้เอง

จ. โรคหมัดปลา
สาเหตุ ;นี้เกิดจากเชื้อปรสิตเซลล์เดียว ซึ่งจะดูดเลือดปลา
เป็นอาหาร แล้วทิ้งตัวลงไปอยู่ที่พื้นตู้หรือบ่อ เมื่อย่อยโปรตีนจากเลือดหมดแล้วก็จะว่ายมาเกาะตัวปลาใหม่และทำการดูดอีกชนิดของปลาที่เป็นโรค ;ปลาเศรษฐกิจ เช่นสวาย ปลาบึก เทพา ปลานิล อุณหภูมิที่เหมาะสม ;-ไม่มีข้อมูลอาการ ;มีอาการว่ายน้ำทุรนทุราย พยายามเสียดสีลำตัวกับข้างบ่อหรือผนัง,พื้นตู้ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นหมัดปลาที่มีลำตัวยาวรีเป็นปล้อง ๆสีแดงดำเกาะ
อยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของตัวปลา เหงือกจะมีสีซีดขาว
ซึ่งถ้าแสดงอาการนี้ส่วนมากมักจะตาย
อัตราการตาย ;ถ้าเป็นจำนวนมาก อัตราการตายสูง
การติดต่อ ;จากปลาตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่ง และจากน้ำ
รวมทั้งอุปกรณ์ที่เลี้ยงปลาเช่นเดียวกัน
การป้องกัน ;อย่าปล่อยปลาแน่นเกินไป เปลี่ยนถ่ายน้ำตามระยะเวลา และความเหมาะสม อุปกรณ์ในการกรองน้ำควรหมั่นทำความสะอาด อย่างน้อยปีละสองถึงสามครั้ง อย่านำปลาใหม่เข้า
ไปปนกับปลาเก่าโดยไม่พักโรคการให้อาหารสดที่มีชีวิตเลี้ยงปลาก็เป็นการเสี้ยงต่อการเกิดโรคเช่นกัน
การรักษา ;
1. ใช้ดิพเทอเร็กซ์ จำนวน 0.25-0.5กรัมต่อ
น้ำ 1,000 ลิตร แช่สัปดาห์ละครั้งติดต่อกัน 3-4สัปดาห์

ฮ่าๆ เมื่อยแล้วล่ะครับ ไว้ต่อตอนที่ 3 ก็แล้วกัน ยังมีโรคที่
เกี่ยวกับแบคทีเรีย เชื้อรา อีกมากมาย
แปดโมงกว่าแล้ว ต้องขอตัวไปทำงานก่อนนะครับ
สวัสดีครับ?.
ผมไม่มีตอนที่ 3 ครับเสียดายหาไม่เจอแล้วครับ
ใครมีเก็บไว้เอามาลงกันให้อ่านบ้างนะครับ

ความคิดเห็นที่ 3

.........
......... (203.209.49.118) [2003-08-01 13:46:17]
สุดยอด

ความคิดเห็นที่ 4

Snot
Snot
103
[2003-08-01 16:42:34]
มาอ่านด้วยคนครับ

ความคิดเห็นที่ 5

SpongeBob
SpongeBob (169.210.6.217) [2003-08-01 17:28:45]
คุณ jj คงจะ Save แล้วเก็บเข้า File ไว้แน่ ๆ เลย ถ้ามีอะไรดี ๆ ก็เอามาเผยแพร่ได้นะครับ ยินดีอ่าน คร๊อก..ก

ความคิดเห็นที่ 6

เดฟ
เดฟ (203.170.174.225) [2003-08-03 16:49:12]
ดีครับคุณ jj เก็บไว้แล้วยังมาโพสต์เตือนความจำกันอีกครั้ง บางอย่างบางคนลืม บางอย่างบางคนไม่รู้

ความคิดเห็นที่ 7

คนแถวนี้ครับ
คนแถวนี้ครับ (203.209.51.87) [2003-08-07 06:03:07]
ขอบคุณมากนะครับที่เอามาเผยแพร่อีก

ความคิดเห็นที่ 8

Toonhyper
Toonhyper
100
[2004-10-24 12:32:59]
It's Perfect!!!
ด้านบน

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนทำรายการ

เข้าระบบ