Skip to content

ปรับปรุง เว็บไซต์ เยอะแยะเลย ลองกดเข้าไปเล่นดูสิ ตอนนี้ มีหมอตั้ม มาประจำที่ โรงพยาบาลแล้วนะครับ ใครมีปัญหาปลาป่วย ปรึกษาได้ครับ

Arowazone เว็บบอร์ด สำหรับ เพื่อนๆ ที่รักการเลี้ยงปลาในครอบครัว Osteoglossidae ไม่ว่าจะเป็นอะโรวาน่าจากทวีปเอเชีย อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย หรือ อัฟริกา ไว้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

0000384

อยากรู้วิธีย้าย ปลาอะโรวาน่า 17 นิ้ว จาก กทม.ไประยองครับ

pream
pream
1
[2003-08-31 12:54:33]
อยากถามผู้รู้ครับ วิธีย้ายอะโรว่าน่าขนาด17นี้ว โดยมิให้บอบช้ำ ถ้ามีการวางยาสลบ ในระหว่างการเคลื่อนย้ายเราต้องทำอย่างไรบ้าง อะโรว่าน่าเป็น RTG ขอบคุณล่วงหน้าครับ ครับ

ความคิดเห็นที่ 1

ใช้วิธีนี้มาโดยตลอด
ใช้วิธีนี้มาโดยตลอด (203.155.224.25) [2003-09-01 09:30:31]
- ลดน้ำลงเหลือ 1/2 ของตู้
- ค่อยๆ ต้อนปลาเข้าถุง (ถุงที่ใช้ต้องมีความเหนียวและหนาเพื่อป้องกันกระโดดทะลุถุง)
- เมื่อจับได้ให้ใส่ยาสลบในปริมาณ 15-20 หยดเพื่อให้ปลาซึมแต่ไม่ถึงกับประคองตัวไม่ได้
- ทำการ Packing โดยเติมหัวทรายระหว่างย้ายหรือให้ร้านปลาช่วยอัดอ๊อกให้...
- ใส่ถุงดำรอบนอกอีกชั้นเพื่อลดอาการตื่นของปลา
- ใส่กล่องโฟมเพื่อประคองปลาไม่ให้โครงเคลงหรือได้รับการกระเทือนระหว่างขนย้าย

** ปริมาณน้ำที่อยู่ในถึงให้ท่วมเหนือตัวปลาประมาณ 2 นิ้วนะครับเพื่อกันปลาเครียด (ปริมาณมากเกินไปก็ไม่มีประโยชน์ จำทำให้หนักและยากต่อการขนย้ายเปล่าๆ)
*** ขอให้เดินทางโดยสวัสิดิภาพครับ

ความคิดเห็นที่ 2

JJ
JJ (203.155.29.5) [2003-09-01 09:54:14]
ผมพอมีเรื่องการย้ายปลาเก็บไว้บ้างเลยเอาบางส่วน
ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคุณpreamบ้าง ลองอ่าน
ดูนะครับ ผมไม่เคยย้ายปลาในระยะทางยาวๆ มาก่อน
ปลาที่ผมเคยย้ายก็เป็นปลาของผมเองแต่เป็นการย้าย
ในระยะทางสั้นๆ อาศัยอ่านแล้วก็ทดลองทำดูเอาเอง
ปลาขนาดใหญ่ถ้ามีอะไรผิดพลาดไปอาจจะทำให้
เกิดความสูญเสีย ขึ้นได้ ถ้าไม่มั่นใจในกรณีที่ต้องย้าย
เอง และไม่เคยย้ายมาก่อน อยากแนะนำให้ปรึกษา
ร้านที่รับย้ายปลา แต่ถ้าไม่มีจริงๆหรือจำเป็นต้องย้าย
เองก็ต้องลองดูครับ แต่ก็ต้องมั่นใจตั้งสติให้ดีก่อนย้าย
ปลานะครับ
วิธีขนย้ายปล่อยปลามังกรลงตู้
เรื่องง่ายๆ ที่บ่อยครั้งสร้างปัญหาให้ผู้เลี้ยงปลาสวยงามมือใหม่ ผมได้พูดถึงการเคลื่อนย้ายปลามังกรไปบ้างแล้วในกระทู้ก่อนหน้า เที่ยวนี้ขอพูดถึงขั้นตอนระหว่างการขนย้ายและการเตรียมตัวก่อนปล่อยปลาลงตู้ ก่อนจะไปรับปลาจากร้านต้องมั่นใจว่าตู้และน้ำในตู้พร้อมแล้วสำหรับการลงปลาใหม่ ตู้ปลาใหม่ควรพักไว้ให้นานพอที่กาวจะแห้ง
หมดความเป็นกรด ระยะเวลาที่ใช้ในการเซ็ทตัวของกาวขึ้นกับขนาดตู้และความหนาของกาว ควรมั่นใจด้วยว่าน้ำที่เติมลงในตู้คลอรีนได้ระเหยไปหมดแล้ว
หากเป็นไปได้ควรลงทุนหาเครื่องกรองที่มีไส้เป็นถ่านกัมมันต์ ( Activated charcoal ) ไม่ควรใช้เครื่องกรองผิดประเภท ผิดวัตถุประสงค์ เครื่องกรองน้ำดื่มทั่วไปมักกรองสารเคมี คาร์บอเนต ฝุ่นตะกอน สารแขวนลอย จุลินทรีย์และกลิ่น แต่อาจจะกำจัดคลอรีนได้ไม่หมด จึงควรระวังจุดนี้ไว้ด้วย หากท่านใช้น้ำบาดาล หรือแหล่งน้ำของท่านมีค่าของน้ำที่ไม่เหมาะสมต่อการเลี้ยงปลา ควรหาน้ำสะอาดหรือแก้ไขคุณภาพน้ำก่อนปล่อยปลาควรเติมน้ำเพียง 1/2-1/3 ของความสูงตู้ปลา ไม่ควรเติมน้ำเต็มตู้ ปลา เมื่อปล่อยปลาลงตู้ใหม่ ปลามักจะมีอาการตื่นและกระโดด
หากน้ำน้อยปลาจะกระโดดได้ไม่สูงนัก และจะกระโดดไม่ถึงคานกระจกในตู้ปลา ปลาไม่บาดเจ็บ มีตำหนิเสียหาย
ควรห่อหุ้มคานกระจกในตู้ปลาด้วยวัสดุอ่อนนุ่ม สามารถซึมซับแรงกระแทกได้เช่นแผ่นโฟม หากตู้ปลาที่ท่านใช้มีระบบกรองในตู้ ควรสังเกตว่าฝาตู้ได้กั้นปิดช่องกรองด้านบนในฝาไฟของตู้หรือไม่ ปลาอโรวาน่าเป็นปลาที่ชอบกระโดดและกระโดดได้สูง หากท่านไม่กั้นปิดบริเวณช่องกรอง ปลาอาจกระโดดลงไปติดในช่องกรองได้
การขนส่งปลาต้องมั่นใจว่าปลาอดอาหารมานานพอ จะได้ไม่เสี่ยงต่อการสำรอกอาหารในถุงระหว่างการขนย้าย
ควรใส่น้ำและอัดอ๊อกซิเจนให้มากพอกับเวลาที่ใช้ หากท่านต้องใช้เวลาเดินทางนาน ควรแจ้งผู้ขายแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้อดอาหารนานขึ้น ยิ่งขนย้ายนาน ยิ่งต้องอดอาหารนาน ปลาไม่ตายเพราะการอดอาหารเพียง 1-2 วันอย่างแน่นอนแต่อาจตายหากปลาสำรอกอาหารในถุงระหว่างการขนย้าย ขนาดของถุง ปริมาณน้ำและอากาศล้วนมีส่วนสำคัญต่อการขนส่งปลา ยิ่งเดินทางไกล ถุงยิ่งต้องใหญ่ อากาศยิ่งต้องมากขึ้น หากเป็นไปได้ควรบรรจุถุงลงในกล่องโฟมเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ควรห่อหุ้มถุงด้วยวัสดุทึบแสง เช่นถุงดำหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ หากท่านต้องขนส่งปลาทางอากาศ ควรศึกษาและสำรองระวางก่อนการขนส่งจริง ไม่ควรตะแคงถุงระหว่างการขนย้าย ควรยึดให้ถุงอยู่ในสภาพตั้งระหว่างการขนย้าย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ครีบปลาหักได้หากถุงตะแคงนอนลง
ไม่ควรวางถุงปลาในตำแหน่งที่โดนแดดส่องหรือใกล้บริเวณพื้นรถที่ความร้อนสูง เช่นใกล้บริเวณท่อไอเสียหรือท่อพักท่อไอเสียรถยนต์หากจำต้องส่งปลาในที่ๆซึ่งอาจจะมีอุณหภูมิสูง หรือใช้เวลาขนย้ายนาน ควรห่อถุงน้ำแข็งลงไปในกล่องโฟมด้วย หากท่านขนย้ายในที่ๆเย็นเช่นรถยนต์ที่มีเครื่องปรับอากาศ ท่านสามารถกระทำได้ ไม่เสียหายแต่ประการใด แต่ท่านจะต้องไม่ลืมปรับอุณหภูมิอีกครั้งก่อนปล่อยปลา เมื่อถึงที่หมายแล้ว ควรลอยถุงปลาในตู้เพื่อปรับอุณหภูมิให้เท่ากับอุณหภูมิน้ำในตู้ เมื่อเปิดถุงปลาแล้วควรตอบสอบอุณหภูมิก่อนปล่อยปลาอีกครั้ง หากยังต่างกันมากก็ควรปิดถุงและแช่ต่ออีกสักพัก เปิดถุงปลาและทำให้ถุงโป่งพอง เปิดให้น้ำในตู้ผสมกับน้ำในถุงปลา ปล่อยให้ปลาว่ายออกเอง ไม่ควรรีบร้อน หลังจากปล่อยปลาแล้วควรดูอาการปลาสักระยะหนึ่ง หากปลามีอาการหอบให้เพิ่มอ๊อกซิเจนในน้ำ โดยการเพิ่งปั๊มลมและหัวทราย จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ผู้เขียนอยากเน้น ปลาหลังการขนย้ายมักมีอาการหอบ ปลาบางตัวหอบหลังการใช้ยสลบ หากไม่รีบแก้ไขแต่เนิ่นๆ ปลาอาจเหงือกอ้าได้ ควรจัดเตรียมปั๊มลมและอุปกรณ์ให้พร้อม มีปั๊มลมสำรองหากต้องใช้เวลาปลามีอาการหอบหลังการขนย้าย จุดวิกฤติ คือหลังการขนย้าย 2-3 วัน เมื่อปลาหายหอบก็ถอดปั๊มลมสำรองออกเก็บได้ หลังจากปล่อยปลาลงตู้แล้ว หากปลานิ่งหรือหมอบนิ่งๆ ไม่ว่ายน้ำ ไม่ต้องกังวลแต่ประการใด เป็อาการปกติของปลา หากปลามีอาการตื่นกลัวกระโดดหรือพุ่งไปมา ให้ปิดกระจกรอบด้าน เปิดไฟทิ้งไว้ตลอดเวลา ค่อยๆ ฉีกกระดาษที่ปิดออก เมื่อปลาเริ่มชินต่อตู้ใหม่แล้ว การเริ่มกินอาหารของปลาเป็นประเด็นที่สรุปได้ยาก ปลาขนาดยิ่งใหญ่ ยิ่งใช้เวลาปรับตัวนาน ปลาขนาดใหญ่บางตัว หลังขนย้ายอาจไม่กินอาหารเป็นเวลาหลายเดือน โดยไม่เจ็บป่ายแต่ประการใด ลูกปลาขนาดเล็กจะใช้เวลาปรับตัวสั้นกว่า บ่อยครั้งที่พบลูกปลาซึ่งเริ่มกินอาหารตั้งแต่วันแรกหลังการขนย้าย จึงไม่ควรกังวลหากหลังการขนย้ายและปลาหยุดกินอาหาร ควรสอบถามผู้ซื้อด้วยว่าปลาเคยกินเหยื่ออะไรและควรจัดเตรียมเหยื่อให้เหมือนดังเดิม ก่อนจะเปลี่ยนชนิดเหยื่อตามความเหมาะสมของตนภายหลัง
บทความ มิสเตอร์ซันไชน์
โดย นายเก๋า 6 มิถุนายน 2545

ขั้นตอนการเตรียมการย้ายปลาอโรวาน่า
ผมได้รับเมล์ถาม และโทรมาปรึกษาบ่อยเรื่องการย้ายปลาอโรวาน่า โดยเฉพาะปลาใหญ่ เลยพิมพ์มาแปะไว้ให้อ่านเล่นอ้อ ไม่ว่าอย่างไรการย้ายปลาก็มีความเสี่ยงครับ เตรียมตัวดี คือการลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด แต่ก็ยังไม่ถึงศูนย์อยู่ดี
1.เตรียมตู้ใหม่และน้ำในตู้ให้พร้อม
2.ทิ้งระยะเวลาเวลาให้เหมาะสมเพื่อให้กาวแห้ง ระยะเวลาขึ้นกับขนาดตู้ที่ใช้ ตู้ขนาดยิ่งใหญ่ ยิ่งต้องทิ้งระยะให้กาวเซ็ทตัวนาน เนื่องจากตู้ใหญ่มักยิงกาวมุมตู้หนากว่าตู้ขนาดปกติทั่วไป สังเกต การแห้งของกาวโดยการดมหากลิ่นกรดน้ำส้มสายชูที่หลงเหลือในตู้ หากกลิ่นกรดแรง แปลว่ากาวยังแห้งไม่สนิท วิธีเร่งให้กาวแห้งเร็วขึ้น ให้นำตู้ไปตากแดด แต่ต้องระวังฝนตก ตู้ตากแดดร้อนจะแตกเมื่อกระทบเม็ดฝน (ตรงนี้เรื่องจริง ไม่ได้หลอกเล่น)
3.เมื่อกาวแห้งดีแล้ว สังเกตจากกลิ่นกรดน้ำส้มสายชูของกาวเริ่มจางลง
4.ให้เตรียมน้ำที่สะอาดปลาศจากคลอรีน โดยผ่านกรองคาร์บอนหรือทิ้งให้คลอรีนระเหยหมดไปเอง
5.เตรียมอุปกรณ์ขนย้ายปลาให้พร้อม ได้แก่ ถุงขนาดใหญ่ ยางรัด ถุงดำ กล่องโฟม ยาสลบปลา ปั๊มอ๊อกซิเจน ถังลม พาวเว้อร์เฮด ยาเหลือง
6.อดอาหารปลาล่วงหน้าอย่างน้อยสองวัน หากย้ายใกล้อดเพียงวันเดียว หากย้ายไกล อาจต้องอดอาหารนานกว่าสองวัน อดเพื่อไม่ให้ปลาอาเจียนในถุง อดเพื่อไม่ให้ปลาถ่ายในถุง
7.ลดความสูงของน้ำในตู้ลง น้ำที่ถ่ายออกควรเก็บใส่ถังไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน
8.สำหรับผู้ไม่ชำนาญ ขอแนะนำให้เพิ่มอ๊อกในตู้และค่อยๆหยดยาสลบลงในตู้ จนปลาเริ่มมีอาการนิ่ง ไม่ตื่น ค่อยๆต้อนปลาเข้าถุง
9.ยกปลาออกจากตู้ เติมน้ำสะอาดลงในถุง เปลี่ยนน้ำเก่าที่มียาออกบ้างหากใส่ยาเยอะเกินไป
10.ใส่ยาเหลือง อัดอ๊อก มัดปากถุง
11.ซ้อนถุงสองถึงสามชั้น
12.ครอบภายนอกถุงด้วยถุงดำเพื่อไม่ให้ปลาตื่น
13.หรือหากมีกล่องโฟมให้บรรจุถุงปลาลงในกล่องโฟม
14.เมื่อจะปล่อยปลาลงตู้ใหม่ ให้ลดน้ำลงบางส่วน เหลือประมาณสัก10-12นิ้ว
15.ลอยถุงปลาลงในตู้ใหม่เพื่อปรับอุณหภูมิสัก30นาที
16. เปิดปากถุง ค่อยๆปล่อยปลาให้ว่ายน้ำออกมาเอง อย่าเทปลาออก
17.ต้อนปลาให้หันหัวออกมาทางปากถุง
18.เมื่อปลาออกมาจากถุงแล้ว ให้เอาถุงและน้ำในถุงออกมาให้มากที่สุด เพื่อยาสลบจะได้ไม่ตกค้างในตู้
19.หากปลาออกจากถุงยาก อย่ากังวลเรื่องน้ำยาสลบในถุง เน้น ให้ปลาออกมาจากถุงโดยปลอดภัยก่อน ค่อยเปลี่ยนน้ำในตู้ภายหลังได้ หากผสมไม่มากก็ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ
20.หลังปลาว่ายออกมาแล้ว ให้หมั่นสังเกตอาการหอบของปลา เน้นมาก
21.หากปลาหอบให้เพิ่มอ๊อกแรงๆ ทิ้งไว้จนกว่าปลาหายหอบ ใส่ลมมากดีกว่าใส่น้อย
22.ควรมีอุปกรณ์ฉุกเฉินสำรองไว้ด้วย เช่นปั๊มลม หัวทราย สายยางท่อลม ปลั๊กไฟ อ๊อกซิเจนผง ถุงสำรอง น้ำสะอาดสำรอง ถังหรือกาละมัง พาวเว้อร์เฮด
23.ควรหาผู้มีประสบการณ์ช่วยเหลือให้คำแนะนำ
24.หากไม่มั่นใจ ควรจ้างร้านปลาที่ชำนาญดำเนินการย้ายปลาให้
25 ทุกขั้นตอนในการต้อนปลาเข้าและออกจากถุงให้ดำเนินไปโดยระมัดระวัง อย่าทำให้ปลาตื่น ใจเย็นๆ อย่าดื้อรั้น หากปลาเข้าถุงยากหรือตื่น ให้ทิ้งช่วงเวลาแล้วค่อยพยายามใหม่ อย่าใช้อารมณ์
26.ขอให้โชคดี
จากคุณ : Speedy Turtle

หวังว่าคงจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับความรู้
ที่ได้นี้ก็ดูจากนามแฝงครับผมเอามาจากแกอีกทีหนึ่ง
รู้จักแต่ชื่อครับเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความรู้มากๆในเรื่องปลา
ครับ

ความคิดเห็นที่ 3

JJ
JJ (203.155.29.5) [2003-09-01 09:56:01]
ผมขอเพิ่มเติมจากคุณ ใช้วิธีนี้มาโดยตลอด นะครับ

ความคิดเห็นที่ 4

 
  (210.203.186.101) [2003-09-02 01:04:26]
เคลื่อนย้าย...ใช่โยกย้ายคนมีสีช่วงนี้ไหม

ความคิดเห็นที่ 5

Nokhuk
Nokhuk (202.183.129.199) [2003-09-02 14:39:23]
ของผมย้ายล่าสุดจากหาดใหญ่มาเชียงใหม่ เดินทางโดยเครื่องบิน ร่วมเลาเปลี่ยนเครื่องอยู่ในถุงประมาณ 10 ชั่วโมง ครับ ทำตามความเห็นที่ 1 ทุกอย่างเพียงแต่ขอเพิ่มเติม ควรอดอาหารก่อน ประมาณ สามวัน ครับ
และตอนแช่ปลา ต้องระวังดีๆๆ ครับ ผมซ้อนถุงหลายชั้น เลยค่อยๆๆถุงออก พอเอาชั้นที่เอา กระดาษนสพ ออก ปลาจะดิ้นทันที ครับ ผมเลยตัดสินใจ ปล่อยทันที

ความคิดเห็นที่ 6

pream
pream
1
[2003-09-03 22:31:12]
ขอบคุณทุกๆท่านที่ช่วยตอบครับ ตอนนี้ RTG ของผม ลงตู้แล้วึครับสบายดี ขอบคุณอีกครั้งครับ

ความคิดเห็นที่ 7

JJ
JJ (203.155.29.5) [2003-09-04 13:05:36]
ดีใจด้วยครับ
ด้านบน

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนทำรายการ

เข้าระบบ