Skip to content

ปรับปรุง เว็บไซต์ เยอะแยะเลย ลองกดเข้าไปเล่นดูสิ ตอนนี้ มีหมอตั้ม มาประจำที่ โรงพยาบาลแล้วนะครับ ใครมีปัญหาปลาป่วย ปรึกษาได้ครับ

ปลาทอง ปลาสวยงาม ชนิดแรกๆ ที่ เชื่อว่า หลายคน คงมีโอกาสได้สัมผัส ได้เลี้ยงดู ได้หลงเสน่ห์ ความน่ารัก ความอุ้ยอ้าย ของปลาชนิดนี้ กว่าร้อย สายพันธุ์ ที่เกิดจาก ความพากเพียร พยายาม ของมนุษย์ เรา

0000275

ผมอยากรู้วีธีเลี้ยงปลาทองโดยละเอียดเลยครับ

bas
bas (172.16.1.114) [2004-09-20 16:31:58]
ผมอยากรู้วีธีเลี้ยงปลาทองโดยละเอียดเลยครับ

กรูณาตอบมาที่ teerapat.piyapun@hunsa.com

ความคิดเห็นที่ 1

JoieGirl25
JoieGirl25 (203.144.226.244) [2004-09-21 15:53:51]
ส่งเมล์ไปแล้วนะคะ แนะนำไม่ค่อยถูกอ่ะค่ะ

กว้างจัง...

ถามในนี้ก็ได้หนิคะ เพื่อนๆจะได้ช่วยกันตอบ

ความคิดเห็นที่ 2

กู๋เอก
กู๋เอก (203.213.57.223) [2004-09-21 18:13:59]
คุณ joiegirl25 นี่ใจดีจังนะครับ เห็นเข้าไปแนะนำแทบทุกคนที่เข้ามาขอความช่วยเหลือเลย ตอนนี้ผมอยู่ที่ ออสเตรเลีย เพิ่งจะลงทุนซื้อตู้+อุปกรณ์ และก็ปลาทองมา หมดไปหลายร้อยเหรียญเหมือนกัน ถ้างัยคุณช่วยแนะนำวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้องให้ผมด้วยสิครับ เป็นมือใหม่ซิงๆ เลยล่ะ

ความคิดเห็นที่ 3

ป้อม  สุราษฎร์ธานี
ป้อม สุราษฎร์ธานี (203.113.70.71) [2004-09-22 04:33:25]
เลี้ยงปลาทองอย่างไร ให้สดใส แข็งแรง ไร้โรคภัย




ปลาหลากหลายสายพันธุ์

Azumanishiki Cyakin Edonishiki Hamanishiki

Jikin Kurodemekin Kyariko Kyarikoparl

Nankin Oranda-shishigashira Ranchu Ryukin

Sakuranishiki Suihougan Tantyo Tosakin
หมายเหตุ รูปภาพจาก Japan Kingyo 2004 Calendar

ในประเทศญี่ปุ่น ปลาทองมีมากมายหลายสายพันธุ์ ทุกสายพันธุ์จะกำหนดรุ่น โดยการเรียกตามอายุ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นเป็นช่วงเวลายาวนาน จึงทำให้ตามปกติสามารถเพาะพันธุ์ปลาทองได้เพียงปีละครั้ง ในช่วงเดือน มีนาคม ถึง เมษายน เท่านั้น แต่สภาพอากาศที่เป็นเช่นนี้กลับเป็นผลดี ทำให้สามารถผลิตปลาที่มีคุณภาพดีได้

ปลาแรกเกิด จนถึงอายุประมาณ 3 เดือน จะเรียกกันว่า Aoko (อาโอโคะ) ในเมืองไทยนิยมเรียกกันว่า Black Baby ซึ่งโดยทั่วไป จะมีขนาดความยาวของลำตัวจากหัวจรดปลายหาง ประมาณ 2-4 ซม.
โตขึ้นมาอีกเล็กน้อยมักจะเรียกกันว่า Bigbaby (ประมาณ 4-8 ซม.) จนถึงปลามีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ก็จะเรียกปลาตัวนั้นว่า Tosai (โทไซ)




พอถึงเดือน มกราคม ของปีถัดไป ถึงแม้ปลาจะมีอายุเพียง 8-9 เดือน ก็มักจะเรียกกันว่าเป็นปลา Nisai (นิไซ)
ถึงเดือน มกราคม ของอีกปีหนึ่ง ก็จะเรียกกันว่า Oya (โอหย่ะ) หรือรุ่นพ่อแม่พันธุ์


คิดที่จะเลี้ยงปลาทอง คุณพร้อมหรือยัง
ก่อนที่คุณจะเริ่มเลี้ยงปลาทอง คุณต้องพิจารณาดูให้ดีว่า คุณมีเวลาที่จะดูแลชีวิตน้อย ๆ เหล่านี้หรือไม่ ปลาทองเป็นปลาที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ หากคุณดูแลมันด้วยความเข้าใจแล้ว คุณจะพบว่ามันจะให้การตอบแทนโดยการให้ความเพลิดเพลินกับคุณ และการเจริญเติบโตที่สวยขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คุณภูมิใจว่าคุณก็มีฝีมือในการเลี้ยงที่ดีเหมือนกัน

การเริ่มต้นที่ดี จะทำให้คุณมีความเพลิดเพลินกับการเลี้ยง ไม่เป็นภาระ และไร้ซึ่งปัญหาจุกจิกกวนใจ โดยการจัดวางระบบทุกอย่างให้พร้อม เช่น สถานที่ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงปลา , บ่อหรือภาชนะที่ใช้เลี้ยง, ระบบการเปลี่ยนถ่ายน้ำ - การเติมอากาศ เป็นต้น



สถานที่ ชนิด-ขนาดของบ่อ อุปกรณ์ที่ต้องใช้
สถานที่ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงปลาทอง ควรจะอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก หากมีแสงแดดส่องโดนในยามเช้า (ประมาณ 8 โมง ถึง 11โมง) จะดีมาก ควรหลีกเลี่ยงการโดนแดดทั้งวัน ต้องไม่โดนฝน และป้องกันไม่ให้สัตว์ชนิดอื่นมาคาบไปกินได้ โดยเฉพาะ นก สุนัข งู เป็นต้น

ปลาทอง Ranchu และ Tosakin นิยมเลี้ยงกันในบ่อ ส่วนปลาทอง Jikin สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อ และในตู้ปลา แต่โดยทั่วไปแล้วปลาทั้งสามชนิดนี้เรียกได้ว่าเป็นปลา Top View คือ นิยมมองดูในด้านบน มากกว่าด้านข้าง จึงเหมาะสมที่จะเลี้ยงในบ่อปลามากกว่า


บ่อปลา ในปัจจุบันมีให้เลือกทั้ง บ่อที่หล่อจากปูน , บ่อที่ทำจากไฟเบอร์ และ บ่อที่ทำจากพลาสติก


บ่อที่หล่อจากปูน มีให้เลือกทั้งบ่อปูนสำเร็จรูป มีมากมายหลายขนาด และบ่อที่ใช้ก่ออิฐฉาบปูนแบบ ถาวร ซึ่งทั้งสองแบบจะให้ความแข็งแรง ทนทาน มากกว่าบ่อประเภทอื่น มีราคาไม่สูง และสามารถควบคุมอุณหภูมิของน้ำให้เปลี่ยนแปลงได้อย่างช้า ๆ แต่จะมีข้อเสีย คือ น้ำหนักมาก (หมายถึงบ่อปูนสำเร็จรูป) เมื่อมีตะไคร่น้ำขึ้นจะล้างทำความสะอาดได้ยาก อาจก่อให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคตามรูพรุนเล็ก ๆ ของเนื้อปูน และเนื่องจากบ่อชนิดนี้ทำจากปูน จึงทำให้ค่าความกระด้างของน้ำเปลี่ยนแปลงได้ง่าย หากเป็นบ่อใหม่ ต้องระวังอย่างมากในเรื่องความเค็มของเนื้อปูน ก่อนจะใช้ต้องแช่น้ำไว้เป็นเวลานาน (นับเดือน) จนแน่ใจว่าไม่มีความเค็มของเนื้อปูนหลงเหลืออยู่ หรือหากต้องการรีบใช้ สามารถแก้ได้โดยการปล่อยบ่อให้แห้ง นำน้ำส้มสายชู มาทาบ่อด้านในให้รอบบ่อ ปล่อยให้แห้งแล้วทาซ้ำอีกหลาย ๆ เที่ยว จากนั้นใส่น้ำให้เต็มบ่อ เทน้ำส้มสายชูผสมลงไปด้วย ทิ้งไว้สัก 2 วัน แล้วจึงล้างให้สะอาด จะช่วยให้ความเค็มของปูนลดน้อยลง และสามารถใช้เลี้ยงปลาได้ แต่การเลี้ยงปลาในระยะแรกควรสังเกตอาการของปลาด้วยว่า ลำตัวปลาตกเลือด หรือมีผื่นแดง หรือไม่ เพราะนั่นเป็นอาการที่ปลาแพ้ความเค็มของปูน

อีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันคือการทาสี สีที่ใช้เป็นสี เพ้นท์การ์ด อีนาเมล หรือที่นิยมเรียกกันว่าี Epoxy (อีพ็อกซี่) การทาสีบ่อนี้จะมีผลดีตรงที่เมื่อสีแห้งแล้ว ล้างทำความสะอาด และสามารถใช้เลี้ยงปลาได้ทันที และสามารถแก้ปัญหาจุดอ่อนของบ่อปูนได้ทั้งในเรื่องความกระด้างของน้ำ รูพรุนของผิวปูน และทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น

สีอีพ็อกซี่ ของโจตัน 1 ชุด มี 2 กระป๋อง คือกระป๋อง A และกระป๋อง B วิธีการใช้จะต้องนำทั้งสองกระป๋องมาผสมกันในอัตราส่วน 1 ต่อ 4 ส่วน ควรผสมทีละน้อยตามความจำเป็น เพราะสีที่ผสมแล้วจะแห้งแข็งตัวในเวลาอันรวดเร็ว และไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก บ่อปูนใหม่จะต้องใช้รองพื้น ก็คือ น้ำมันวานิช ของโจตัน ทารองพื้นก่อนสัก 2-3 เที่ยวยิ่งดี ก่อนทาทับต้องปล่อยให้น้ำมันวานิชเดิมแห้งสนิทก่อน เมื่อทาน้ำมันวานิชเสร็จแล้ว จึงเริ่มลงสีจริง ซึ่งมีหลายเฉดสีให้เลือกตามความพอใจ ตัวทำละลายที่ต้องใช้คือ ทินเนอร์ ของโจตัน เบอร์ 17 การผสมทินเนอร์ไม่ควรเกิน 10 % ของเนื้อสี เพราะหากผสมทินเนอร์มากไป ถึงแม้จะทำให้ทาสีได้ง่าย ลื่นมือ แต่เนื้อสีจะไม่แข็งแกร่ง การเกาะติดของเนื้อสีจะน้อยลง และความเงางามจะลดน้อยลงตามไปด้วย

บ่อไฟเบอร์ ในปัจจุบันเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ข้อดีของบ่อไฟเบอร์ก็คือ น้ำหนักเบา ล้างทำความสะอาดง่าย ผิวบ่อเรียบลื่น จึงทำให้ไม่เป็นที่สะสมของเชื้อโรค ไม่มีปัญหาในเรื่องค่าความกระด้างของน้ำ ส่วนข้อเสียเมื่อเทียบกับบ่อปูน คือ ราคาสูงกว่า แข็งแกร่งน้อยกว่าน และอุณหภูมิน้ำในบ่อเปลี่ยนแปลงเร็วกว่า

การแก้ปัญหาอุณหภูมิน้ำในบ่อไฟเบอร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สามารถทำได้โดย การเลือกขนาดของบ่อไฟเบอร์ ให้มีขนาดบรรจุน้ำได้มาก ความหนาของบ่อไฟเบอร์ยิ่งหนามากก็ยิ่งมีส่วนช่วยในเรื่องนี้ได้ดีมากขึ้น แต่ทั้งนี้บ่อไฟเบอร์ยิ่งหนาเท่าไหร่ราคาก็ยิ่งสูงมากขึ้นอีก บ่อไฟเบอร์ที่ประเทศญี่ปุ่นของผู้ผลิตบางรายจะใช้ฉนวนรักษาอุณหภูมิแทรกไว้ในผิวเนื้อกลาง แต่ราคาของบ่ออยู่ที่ใบละไม่ต่ำกว่า 10,000.- บาท




บ่อพลาสติก มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับบ่อไฟเบอร์

ขนาดของบ่อ มีความสำคัญมาก การเลี้ยงปลาทองให้ดีควรให้ปลามีพื้นที่การว่ายได้มาก ซึ่งขนาดของบ่อไม่ควรต่ำกว่า 1.10 เมตร คูณ 0.90 เมตร และความลึกไม่ควรน้อยกว่า 25 เซนติเมตร ตัวอย่างบ่อขนาด 1.10 เมตร คูณ 0.90 เมตร ควรเลี้ยงปลาในรุ่นโทไซ ไม่เกิน 4 ตัว เป็นต้น แต่ถ้าเป็นปลาทอง Tosakin ขนาดเล็ก ควรเลี้ยงในบ่อทรงกลม ลักษณะคล้ายชาม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากบ่อตั้งแต่ 50 –70 เซนติเมตร จะทำให้หางของปลามีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเลี้ยงปลาโทซาคิน สามารถศึกษาวิธีการเลี้ยงได้ที่เทคนิคการเลี้ยงโทซาคินเบื้องต้น และเทคนิคการเลี้ยงโทซาคินชั้นสูง ในเวปไซด์นี้ได้





แหล่งน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงน้ำที่ใช้เลี้ยง ต้องเป็นน้ำที่สะอาด ปราศจากคลอรีน 100% ซึ่งน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาทองโดยทั่วไปมี 2 ประเภท คือ น้ำประปา และน้ำบาดาล

น้ำประปา เป็นน้ำที่ค่อนข้างเชื่อมั่นในความสะอาดได้มากกว่าน้ำประเภทอื่น แต่จะมีปัญหามากในด้านคลอรีนที่ผสมอยู่ น้ำประปาจะนำมาใช้เลี้ยงปลาได้จะต้องเป็นน้ำที่ปราศจากคลอรีน โดยอาจจะนำน้ำประปาผ่านเครื่องกรองน้ำ (เครื่องกรองน้ำจะต้องใส่สารกรองคาร์บอน) , การนำน้ำประปามาพักทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน หรือการใส่สารลดคลอรีนในน้ำประปา ซึ่งวิธีนี้ควรใช้ในเวลาที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

เครื่องกรองน้ำที่ใช้ดักคลอรีนในน้ำประปา ควรใช้เครื่องกรองที่มีความจุสารกรองไม่ต่ำกว่า 20 ลิตร และใช้สารกรอง Activated Carbon ที่มีคุณภาพดี มีการทดสอบน้ำที่ผ่านเครื่องกรองอย่างสม่ำเสมอว่ามีคลอรีนติดออกมาหรือไม่ มีการล้างสารกรองย้อนกลับ (Back Wash) ตามปริมาณมากน้อยของการใช้น้ำ แต่อย่างน้อยที่สุดควรล้างสารกรองเดือนละ 1 ครั้ง





น้ำบาดาล ไม่มีปัญหาในเรื่องคลอรีน แต่จะมีปัญหาในเรื่องคุณภาพน้ำ บ่อน้ำบาดาลที่มีคุณภาพจะต้องเป็นบ่อซึ่งเจาะลึกลงผ่านชั้นดิน ความลึกไม่ต่ำกว่า 100 เมตร ในบางที่ต้องเจาะลึกถึง 300 เมตร คือต้องเจาะถึงตาน้ำ บ่อน้ำบาดาลที่เจาะตื้น ๆ น้ำที่ได้จะเป็นน้ำซึ่งซึมมาจากบริเวณข้างเคียง จึงไม่ค่อยสะอาดนัก ผู้เลี้ยงปลาที่ใช้น้ำบาดาลบางรายอาจจะเคยพบปัญหาปลามีสีซีด เกล็ดปลากระด้าง ขุ่น ดูไม่มีชีวิตชีวา อาจจะแก้ปัญหาโดยการนำน้ำบาดาล ผ่านถังกรองน้ำซึ่งมีใยแก้ว ซีโอไลท ถ่านคาร์บอน ปะการัง หรืออื่น ๆ และพักน้ำทิ้งไว้สัก 1-2 วัน จะช่วยลดปัญหาได้บ้าง




ปั๊มพ์อากาศ หรือที่เรียกกันว่า ปั้มออกซิเจน จำเป็นต้องใช้แน่นอน เลือกขนาดที่พอเหมาะกับจำนวนบ่อที่ใช้เลี้ยง และควรมีเครื่องสำรองไว้ในกรณีเครื่องเดิมเสียด้วย

เมื่อสามารถเลือกใช้บ่อได้ตามความเหมาะสม พร้อมกับมีน้ำที่มีคุณภาพแล้ว เพื่อความสะดวกสบาย ควรมีการเดินท่อระบายน้ำเก่าทิ้ง และเดินท่อน้ำใหม่ลงสู่บ่อ การจัดระบบต่าง ๆ ให้ดีและพร้อมครบถ้วน จะทำให้ท่านมีความเพลิดเพลินในการเลี้ยง และเป็นงานอดิเรกที่ดีมาก ไม่เป็นภาระแต่อย่างใด




การเลือกซื้อปลา และข้อควรปฏิบัติในการเลี้ยง

ปัจจัยหลักอย่างแรกในการเลือกซื้อปลา นั่นก็คือ ความแข็งแรง ปลาขณะอยู่ที่ร้านจำหน่ายปลาจะต้องเป็นปลาที่แข็งแรง ว่ายน้ำ ไม่มีอาการซึม หากเป็นปลานำเข้าจากต่างประเทศ ควรเป็นปลาที่นำเข้ามาแล้วไม่น้อยกว่า 10 วัน สังเกตทั่วทุกส่วนของปลาจะต้องไม่มีบาดแผล หรือจุดแปลกปลอมใด ๆ ปัจจัยต่อมาก็คือความสวยงามของปลา ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์พอสมควร เพราะฉะนั้นจึงควรเลือกซื้อปลาจากร้านที่มีชื่อเสียง เชื่อถือและไว้วางใจได้

เมื่อเลือกซื้อปลาที่ท่านถูกใจได้และนำกลับบ้านแล้ว การปล่อยปลาจะต้องนำถุงปลาวางลอยไว้ในบ่อที่ใช้เลี้ยง ประมาณ 20-30 นาที เพื่อปรับอุณหภูมิน้ำในถุงให้เท่ากับน้ำในบ่อ หลังจากนั้นเปิดถุงปลาออก ตักน้ำในบ่อใส่เพิ่มลงไปในถุงทีละน้อย ปล่อยไว้สักระยะหนึ่ง แล้วจึงปล่อยปลาลงสู่บ่อได้ เมื่อปลาอยู่ในบ่อแล้ว สถานที่ สภาพน้ำ สภาพภูมิอากาศ อาจจะแตกต่างจากที่เคยอยู่เดิม และปลาจะอ่อนแอจากการเคลื่อนย้าย เพราะฉะนั้นจึงควรงดการให้อาหารแก่ปลา 1 วัน เพื่อให้ปลาปรับสภาพ และแข็งแรงก่อน ปัญหาที่มักพบบ่อยคือ การนำปลาใหม่ที่พึ่งจะซื้อ ไปปล่อยรวมกับปลาเดิมที่เลี้ยงอยู่แล้ว อาจจะทำให้ปลาป่วยได้ จึงสมควรที่จะต้องแยกเลี้ยงปลาใหม่ไว้ต่างหาก ประมาณ 10 วันขึ้นไป หากปลาแข็งแรงดี ไม่มีอาการใด ๆ ผิดปกติ ก็สามารถนำไปรวมกับปลาเดิม เลี้ยงในบ่อเดียวกันได้ หลังจากรวมปลาแล้วควรงดอาหารสัก 1-2 วัน แล้วสังเกตอาการปลาอย่างใกล้ชิด การเปลี่ยนน้ำในบ่อปลาเดิมเป็นน้ำใหม่ทั้งหมดก่อนการรวมปลาจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อของปลาได้เป็นอย่างดี

เลี้ยงอย่างไรให้ปลาโตและสวยด้วย

มีผู้กล่าวว่า ถ้าเลือกซื้อปลาที่สวยและมีสายเลือดที่ดี นำไปเลี้ยงแล้วปลามีการพัฒนาที่ด้อยลง แสดงให้รู้ว่าฝีมือการเลี้ยงยังไม่ดี ถ้าเลี้ยงแล้วปลาคงสภาพเดิม ฝีมือการเลี้ยงก็อยู่ในระดับทั่วไป แต่ถ้าเลี้ยงไปแล้วปลามีพัฒนาการที่ดีขึ้น ยิ่งโตยิ่งสวยขึ้น ก็เรียกได้ว่า มีฝีมือการเลี้ยงที่ดีมาก

การที่จะทำให้การเลี้ยงปลาทองให้โตด้วย และสวยได้ั ไม่ใช่เรื่องยากเย็น การเตรียมความพร้อมให้ครบถ้วนตามที่ได้เขียนไว้ข้างต้น เป็นพื้นฐานของการเลี้ยงปลาให้มีคุณภาพดีได้

ปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุด ก็คือ การเอาใจใส่ ดูแลปลา อย่างสม่ำเสมอ การรักษาคุณภาพน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ควรมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำปลาทองของท่านอยู่เสมอ ๆ หากเปลี่ยนถ่ายน้ำได้ทุกวันยิ่งดี ไม่ใช่เรื่องยากหากท่านมีการเดินท่อน้ำใหม่ และเดินท่อน้ำเก่าทิ้ง เพียงแต่เปิดให้น้ำเก่าไหลทิ้ง ดูดสิ่งสกปรก ขี้ปลา ออก และเปิดเติมน้ำใหม่ลงสู่บ่อทีละน้อย ก็จะทำให้บ่อปลาของท่านมีน้ำที่ใสสะอาดอยู่ตลอดเวลา อุณหภูมิของน้ำใหม่ มักจะสูงกว่าอุณหภูมิของน้ำในบ่อ การเปิดเติมน้ำใหม่ทีละน้อย จะช่วยให้ปลาสามารถปรับตัวได้ และมีสุขภาพแข็งแรง ควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างกระทันหัน เพราะอาจจะทำให้ปลาอ่อนแอ และป่วยได้

การให้อาหารปลา ควรเลือกสรรอาหารปลาที่สะอาด และมีคุณภาพดี ในปัจจุบันอาหารเม็ดก็มีการพัฒนาคุณภาพของสินค้าขึ้นไปมาก มีโปรทีนสูง และอาหารเม็ดบางชนิดก็ช่วยให้ปลาย่อยง่าย ขับถ่ายเป็นปกติ และสามารถซื้อหาได้สะดวก ควรให้อาหารแก่ปลาครั้งละน้อย ให้ปลาสามารถกินหมดได้ภายใน 5-10 นาที หากเป็นปลาเล็ก จนถึงปลาในรุ่นโทไซ ควรให้อาหารบ่อยครั้งเพื่อให้ปลาสมบูรณ์ หากไม่มีเวลามากพอ ก็สามารถหาซื้อเครื่องให้อาหารปลาอัตโนมัติ ซึ่งตั้งเวลาการให้อาหารปลา และจำนวนอาหารมากน้อยตามที่ต้องการได้


การให้อาหารสด จำพวก หนอนแดง ลูกน้ำ ก็จะทำให้ปลามีความสมบูรณ์เต็มที่ แต่ทั้งนี้อาจจะเสี่ยงต่อการติดโรคได้ จึงควรนำอาหารเหล่านี้มาฆ่าเชื้อ โดยการแช่ในน้ำที่ผสมยาที่สามารถฆ่าปรสิต ปลิงใส เห็บ และเชื้อโรคอื่น ๆ ได้ เช่น ยา Aquarium 2 , ไซเตส หรือแช่ในน้ำผสมด่างทับทิม เป็นต้น โดยแช่ไว้ในระยะเวลาประมาณ 30 นาที จากนั้นนำไปล้างในน้ำสะอาดหลาย ๆ เที่ยว แล้วจึงค่อยให้ปลากิน หรืออีกวิธีคือการนำอาหารสดล้างให้สะอาดตามขั้นตอนข้างต้น จากนั้นนำไปแช่ช่องแข็งในตู้เย็น อย่างน้อย 3 วัน แล้วจึงค่อยให้ปลากิน ก็จะสามารถควบคุมโรคได้อย่างดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ้การล้างอาหารสดให้สะอาดก่อนให้ปลากินจะแก้ไขปัญหาของเชื้อโรคที่ติดมาได้ แต่ข้อสำคัญอีกอย่างที่ไม่ควรมองข้ามก็คือเปลี่ยนถ่ายน้ำให้สะอาดหลังจากการให้อาหารสด

การจับปลาขึ้นมาจากบ่อ ควรใช้กาละมังตักปลาขึ้นมาพร้อมกับน้ำ หรือกระชอนพิเศษที่ทำขึ้นโดยเฉพาะ การจับปลาด้วยมือเปล่าควรล้างมือให้สะอาดก่อน แต่ก็ไม่ควรทำ เพราะอุณหภูมิของมือคนจะอยู่ที่ประมาณ 36.5 องศา แต่อุณหภูมิของปลาจะต่ำกว่ามาก หากต้องการจับปลาด้วยมือจริง ๆ ให้นำมือแช่ไว้ในบ่อปลาสักพักหนึ่งก่อนแล้วค่อยจับ ก็สามารถช่วยได้

เมื่อปลาป่วย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสิ่งมีชีวิต ก็ควรรีบทำการรักษาทันที อย่าปล่อยไว้สักระยะแล้วค่อยรักษา เพราะจะทำให้ปลามีอาการทรุดลง และยากต่อการรักษา การที่ปลาจะป่วยได้จะต้องมีสาเหตุ ลองนึกย้อนหลังไปสัก 1-2 วันว่า การเลี้ยงของท่านมีอะไรผิดปกติไปบ้างหรือเปล่า เช่น ให้อาหารสดที่ไม่สะอาด , ปล่อยให้น้ำในบ่อสกปรก โดยไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำ, น้ำฝนตกสู่บ่อ เป็นต้น การรักษาในเบื้องต้นคือการเปลี่ยนถ่ายน้ำให้สะอาด แล้วใส่เกลือสะอาดลงไปในบ่อเล็กน้อย งดการให้อาหารเด็ดขาด เปิดออกซิเจนให้แรงขึ้น คอยดูอาการ หากวันรุ่งขึ้นยังไม่ดีขึ้น ให้เติมเกลือลงในบ่อเพิ่ม รวมเป็นประมาณ 300 กรัม ต่อน้ำ 100 ลิตร ตามปกติปลาจะมีอาการดีขึ้นภายใน 1 –2 วัน

สรุปแล้ว ก็คือ น้ำสะอาด อาหารสมบูรณ์ หลีกเลี่ยงที่จะทำให้ปลาต้องปรับสภาพกะทันหัน เพียงเท่านี้ก็สามารถเลี้ยงปลาให้สวยได้แล้ว

ผมรวบรวมวิธีการเลี้ยงปลาทอง โดยอาศัยประสบการณ์ในการเลี้ยงที่ผ่านมา โดยเฉพาะปลาทอง Ranchu, Tosakin และ Jikin และอาศัยการสังเกต และสอบถาม Breeder ที่มีชื่อเสียง จากการที่ได้เดินทางไปเยี่ยมชมฟาร์มปลาที่ประเทศญี่ปุ่น แต่โดยทั่วไปแล้ว ปลาทองทุกสายพันธุ์จะมีวิธีการเลี้ยงที่ใกล้เคียงกัน ทำให้สามารถนำวิธีการเลี้ยงนี้ ไปใช้ได้กับปลาทองทุกชนิด

ปลาทองโทซาคิน เป็นปลาทองสายพันธุ์ดั้งเดิมสายพันธุ์หนึ่ง เรียกกันในหมู่นักเลี้ยงปลาทองว่า “ราชินีแห่งปลาทอง” ด้วยความสวยงามของช่วงลำตัวซึ่งมีรูปทรงคล้ายหยดน้ำ และแผ่นหางที่กางอย่างสวยงาม แต่แฝงไว้ซึ่งความอ่อนโยน เมื่อปลาโตขึ้นเรื่อย ๆ ด้านข้างของหางทั้งสองข้าง จะม้วนลงอย่างสวยงาม และย่นเข้าเรื่อย ๆ มีพัฒนาการเต็มที่เมื่อมีอายุ 3-4 ปี

ปลาทองโทซาคิน เริ่มมีการเลี้ยงครั้งแรกในสมัยเอโดะ (ประมาณ 400 ปีก่อน) แหล่งกำเนิดเดิมนั้นอยู่ที่เกาะโคจิ ประเทศญี่ปุ่น โดยได้มีการค้นพบร่องรอยประวัติศาสตร์การเลี้ยงปลาทองชนิดนี้ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และแผ่นดินไหวนันไค ซึ่งเป็นผลทำให้ปลาทองชนิดนี้เกือบจะสูญพันธุ์ แต่ก็ยังพอมีหลงเหลือสายพันธุ์ สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

ในประเทศไทย ปลาทองชนิดนี้ได้มีผู้นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2542 เป็นต้นมา และประสบผลสำเร็จสามารถเพาะเลี้ยงปลาทองชนิดนี้ได้ แต่มีจำนวนไม่มากนัก ด้วยความสวยงามของมัน จึงทำให้เริ่มเป็นที่ใฝ่หาของนักเลี้ยงปลาในเมืองไทย ผู้ที่จะเริ่มเลี้ยงปลาทองโทซาคิน ควรเป็นผู้ที่รักมันอย่างแท้จริง


ถึงแม้ปลาทองชนิดนี้วิธีการเลี้ยงไม่ต้องดูแลมากนักแต่เนื่องจากเป็นปลาที่เน้นความสวยงามของส่วนหาง จึงต้องระมัดระวังอย่าให้ส่วนหางเสียรูปทรง รวมถึงการเลี้ยงที่ต้องให้ปลาเจริญเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เร่งให้โตไวเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เพื่อให้ทุกส่วนของปลาทองโทซาคินเจริญเติบโตอย่างสวยงามสมสัดส่วน จึงนับได้ว่าการเลี้ยงปลาชนิดนี้เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งจะได้กล่าวถึงวิธีการเลี้ยงไว้โดยสังเขป ดังนี้


1. การเตรียมการก่อนจะเริ่มเลี้ยงปลาโทซาคิน


ก่อนที่จะเริ่มเลี้ยงปลาชนิดนี้ จะต้องเตรียมสถานที่ก่อน ซึ่งจะเป็นหลักทั่วไปคล้ายกับการเลี้ยงปลาทองชนิดอื่น สถานที่ตั้งบ่อปลาควรได้รับแสงอาทิตย์ในช่วงเช้า ซึ่งจะมีผลทำให้สีสันของปลาสวยงาม และสุขภาพแข็งแรง อย่าให้โดนน้ำฝนโดยเด็ดขาด ควรเป็นสถานที่ที่ค่อนข้างเงียบ ไม่มีคนพลุกพล่าน อากาศถ่ายเทได้สะดวก และระวังอุณหภูมิที่อาจจะสูงเกินไปในช่วงฤดูร้อน
ภาชนะที่ใช้เลี้ยงปลาชนิดนี้ให้สวยงาม ในช่วงปลายังมีขนาดเล็ก ควรเป็นอ่างที่มีลักษณะทรงกลมคล้ายชาม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 70-90 เซนติเมตร ซึ่งจะช่วยให้รูปทรงหางของปลามีการพัฒนาได้อย่างสวยงาม ความสูงของน้ำประมาณ 15-20 เซนติเมตร แล้วแต่ขนาดของปลา การเลือกซื้ออ่างหากเป็นอ่างที่ทำจากปูน ให้ใช้มือลูบรอบ ๆ อ่างด้านใน อ่างที่ดีภายในต้องลื่นเรียบ ไม่คม และก่อนใช้จำเป็นต้องแช่น้ำไว้ก่อน จนมั่นใจว่าไม่มีความเค็มของเนื้อปูนหลงเหลืออยู่ หรืออาจจะเลือกบ่อกลมที่ทำจากพลาสติกซึ่งคนทั่วไปนิยมใช้เลี้ยงต้นบัวก็ได้

หากปลาที่เลี้ยงมีขนาดใหญ่ขึ้น และรูปหางเริ่มม้วนอย่างสวยงาม ส่วนลำตัวเริ่มอ้วนกลมจนเริ่มเห็นส่วนหัวเพรียวแหลมขึ้นแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงในอ่างกลมอีกต่อไป สามารถปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงในบ่อทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 1.0 คูณ 0.8 เมตรขึ้นไปได้ จะทำให้ปลามีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนปลาต่อบ่อขนาดนี้ควรอยู่ที่ 6-8 ตัว ต่อ 1 บ่อ และลดจำนวนลงเหลือบ่อละ 4 ตัวเมื่อปลามีขนาดโตขึ้นอีก



ในประเทศญี่ปุ่น การเลี้ยงปลาทองชนิดนี้จะไม่ใช้เครื่องปั๊มพ์อากาศ เพราะต้องการให้ผิวน้ำที่ใช้เลี้ยงราบเรียบ ไม่มีคลื่นน้ำ แต่สำหรับในบ้านเราเนื่องจากมีภูมิอากาศร้อนจัด จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องปัมพ์อากาศช่วย

2. การเลือกซื้อปลาทองโทซาคิน

การเลือกซื้อปลา ควรเลือกปลาที่มีลักษณะส่วนหัวเรียวแหลม ส่วนของหางแผ่กว้าง ใบหางใหญ่ หางของปลาโทซาคินเป็นชนิดหางสาม คือไม่มีรอยแยกที่ปลายหาง หากเป็นปลาที่มีรอยแยกยาวที่ปลายหาง ซึ่งภาษานักเลี้ยงปลาเรียกกันว่า หางสี่ จัดว่าเป็นปลาที่ไม่ได้มาตรฐาน หากเป็นรอยแยกสั้น ๆ หรือเว้าเพียงเล็กน้อย ไม่ถือว่าเป็นตำหนิแต่อย่างใด จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งคือ ปลาที่มีคุณภาพดีจะต้องมีเส้นกลางหางที่ตรง และยาวตั้งแต่โคนหางจรดถึงปลายหาง

ลำตัวของปลาที่อ้วนกลม ซึ่งเป็นผลทำให้ส่วนของปากดูเรียวแหลมขึ้นนั้น ไม่สามารถคัดเลือกได้เมื่อปลายังมีขนาดเล็กอยู่ หากเป็นปลาที่มีสายพันธุ์ที่ดี และมีวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้อง เมื่อปลาเจริญเติบโตขึ้นก็จะมีการพัฒนาเป็นไปตามสายพันธุ์ แต่ทั้งนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ผู้เพาะพันธุ์ จะต้องมีวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้อง เพราะปลาชนิดนี้จะเติบโตและสวยขึ้นได้ นอกเหนือจากสายพันธุ์ต้องดีแล้ว อีกส่วนที่สำคัญอยู่ที่การวางรากฐานตั้งแต่ช่วงอนุบาลลูกปลาเมื่อออกจากไข่ และการเลี้ยงลูกปลาอย่างถูกวิธี

การเลี้ยงลูกปลาอย่างถูกวิธีนั้น ก็คือ การไม่เร่งให้ลูกปลามีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วเกินไป เพราะจะทำให้ลำตัวยาวขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่วนของใบหางดูเล็กเมื่อเทียบกับลำตัว ซึ่งดูแล้วไม่สมสัดส่วน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แล้วก็ไม่สามารถแก้ไขให้ปลากลับมามีทรวดทรงที่ดีได้




3. วิธีการเลี้ยงปลาทองโทซาคิน


หลังจากเลือกซื้อปลาที่ถูกใจได้ และเดินทางกลับบ้านแล้ว ต้องนำถุงปลามาวางไว้ในอ่างเพื่อให้ปลามีการปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิน้ำในบ่อ ประมาณ 30 นาที จากนั้นเปิดถุงออก ตักน้ำในบ่อใส่ลงไปในถุงทีละน้อยเพื่อให้ปลาปรับตัวเข้ากับสภาพน้ำใหม่ในบ่อ หลังจากนี้ปล่อยไว้อีกประมาณ 15-20 นาที แล้วจึงค่อย ๆ ปล่อยปลาลงสู่บ่อ ในช่วงแรกต้องงดอาหารเด็ดขาด 1-2 วัน และไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำในช่วง 3 วันแรก หลังจากนั้นจึงเริ่มให้อาหารทีละน้อย และสังเกตอาการของปลาหลังจากกินอาหาร หากไม่มีอาการผิดปกติก็เริ่มเลี้ยงตามปกติได้

หากปลาตายภายใน 2 อาทิตย์ ส่วนใหญ่พบว่าปลาป่วยเป็นโรคแผลที่เหงือก ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างกระทันหัน และปลาไม่สามารถปรับตัวได้ ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการเตรียมน้ำก่อนการเลี้ยงไว้เนิ่น ๆ การปล่อยปลาจากถุงอย่างระมัดระวัง หากไม่มั่นใจในน้ำที่จะใช้เลี้ยง ก็ควรขอน้ำที่ทางร้านขายปลาใช้เลี้ยงปลามาด้วยอีกส่วนหนึ่ง เพื่อให้ปลาสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนถ่ายน้ำที่ควรเริ่มต้นจากการเปลี่ยนถ่ายครั้งละน้อย ๆ เช่น เปลี่ยนถ่ายครั้งแรกโดยการดูดน้ำเก่าออก 10 % แล้วค่อย ๆ เติมน้ำใหม่ลงไปอย่างช้า ๆ ให้เท่ากับปริมาณที่ดูดออก ระยะการเปลี่ยนถ่าย 3-4 วัน ต่อ 1 ครั้ง จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ และลดระยะเวลาเหลือเปลี่ยนถ่าย 1-2 วันต่อครั้ง

การเลี้ยงปลาชนิดนี้ในประเทศญี่ปุ่น จะเปลี่ยนถ่ายน้ำครึ่งบ่อทุก 3 วัน แต่การเลี้ยงในสภาวะอากาศร้อนจัดอย่างบ้านเรา ควรฝึกให้ปลาเคยชินกับการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ซึ่งช่วงอากาศร้อนจัดอาจจะต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน แต่ละครั้งไม่ควรเกิน 50 %

ไม่ควรให้อาหารปลา และเปลี่ยนถ่ายน้ำในเวลาเดียวกัน เพราะจะทำให้ปลาอ่อนแอ อาหารที่เหมาะสมกับปลาชนิดนี้ หากเป็นอาหารเม็ดจะต้องมีเม็ดที่นุ่ม หรือควรนำอาหารแช่น้ำให้เม็ดนุ่มก่อนแล้วค่อยให้ปลากิน ปลาชนิดนี้ว่ายน้ำช้า ๆ และชอบอยู่นิ่ง ๆ ไม่ค่อยได้ใช้พลังงาน จึงไม่ควรให้อาหารที่มีโปรตีนสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ควรให้อาหารสดที่ล้างสะอาดปราศจากเชื้อโรคให้ปลากินบ้างเพื่อผลในด้านการขับถ่าย




4. การผสมพันธุ์

ปลาชนิดนี้จะผสมพันธุ์โดยการวางไข่ เหมือนกับปลาทองสายพันธุ์อื่น การให้อาหารปลามากเกินไปจะทำให้ปลาไข่ยาก สภาพอากาศที่ร้อนจัดมักจะเป็นปัญหากับการวางไข่ของปลาโทซาคิน ปลาที่เลี้ยงในที่อุณหภูมิสูงเป็นเวลานานโอกาสในการวางไข่จะน้อย ในบ้านเราปลาชนิดนี้จึงมักจะวางไข่ในช่วงปลายปี ซึ่งมีอากาศค่อนข้างเย็นเมื่อเทียบกับช่วงอื่น อากาศในช่วงปลายปีของเมืองไทยจะเหมาะมากในการเพาะพันธุ์ปลาโทซาคิน

บางท่านอาจจะสงสัยว่าจะเพาะพันธุ์อย่างไรเพื่อให้ได้ลูกปลาโทซาคินที่ดีจำนวนมาก ๆ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่าการเพาะพันธุ์ปลาทองชนิดนี้ก็ไม่ต่างจากการเพาะพันธุ์ปลาทองรันชูมากนัก คือ พ่อแม่พันธุ์จะให้ลูกปลาที่ดีได้ จะต้องผ่านการเลี้ยงในที่อุณหภูมิหนาวเย็นมาช่วงเวลาหนึ่ง อากาศที่หนาวเย็นจะส่งผลให้ไข่ปลาที่อยู่ในรังไข่ของปลาแม่พันธุ์ และน้ำเชื้อของปลาพ่อพันธุ์มีความสมบูรณ์เต็มที่ ส่งผลให้โอกาสที่จะได้ลูกปลาที่ดีมีมากเช่นเดียวกัน อัตราลูกปลาที่สามารถคัดได้เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซนต์แล้วมีมากกว่ารันชู เนื่องจากปลาชนิดนี้จะให้ลูกปลาที่ดีเมื่อวางไข่ในน้ำที่มีอุณหภูมิประมาณ 22-25 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิของบ้านเราในช่วงปลายปี การเพาะพันธุ์ในบ้านเราจึงมีโอกาสได้ลูกปลาที่ดีได้

การนำปลาที่มีสายเลือดใกล้ชิดกัน หรือคอกเดียวกันมาผสมพันธุ์กันเอง จะทำให้ได้ลูกปลาที่มีคุณภาพต่ำ หรือมีความผิดปกติด้านพันธุกรรม สังเกตจากลูกปลาที่ได้ ไม่มีครีบทวาร, ไม่มีครีบกระโดงหลัง หรือครีบกระโดงหลังไม่เต็ม, รูปทรงผิดปกติ, ไม่มีเส้นแกนกางหาง และ มีสุขภาพที่อ่อนแอ





5. โรคของปลา


จากที่ผมได้เลี้ยงปลาทองโทซาคินมาประมาณ 4 ปี พบว่าปลาทองสายพันธุ์นี้ค่อนข้างเลี้ยงง่าย แข็งแรง ไม่ค่อยป่วยเป็นโรค แต่เมื่อมีอาการป่วย การรักษาโดยการใช้ยามักไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากส่วนเหงือกอ่อนบาง และไวต่อการเปลี่ยนแปลง จึงแพ้ยาได้ง่าย สาเหตุที่ปลาป่วยส่วนใหญ่เกิดจากการปรับเปลี่ยนสภาพน้ำอย่างรวดเร็ว ทำให้ปลาไม่สามารถปรับตัวได้ทัน มักจะเกิดกับปลาที่ผ่านการเดินทางเป็นเวลานาน เช่นปลาที่พึ่งจะนำเข้าจากต่างประเทศใหม่ ๆ ดังนั้นจึงควรเลือกซื้อปลาที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิกาศในบ้านเราได้แล้ว ซึ่งหมายถึงเป็นปลาที่มีสุขภาพแข็งแรง กินอาหารได้ ซึ่งโดยทั่วไปหากเป็นปลานำเข้า ควรให้ผู้นำเข้าได้ปรับสภาพปลาให้อยู่รอดแล้วอย่างน้อย 14 วันและผ่านการเปลี่ยนถ่ายน้ำมาบ้าง เพราะจะเป็นการทดสอบความแข็งแรงและความสามารถในการปรับตัวของปลา ซี่งหากปลาผ่านช่วงนี้ไปได้ จะเลี้ยงได้ง่ายขึ้น




ความคิดเห็นที่ 4

cirus
cirus [2004-09-23 16:47:55]
การเลี้ยงปลาทองให้สวย น่ารัก ต้องดูวัตถุประสงค์ผู้เลี้ยงและสายพันธุ์ของปลาครับ

ความคิดเห็นที่ 5

i_am_nook
i_am_nook (203.209.96.77) [2004-10-09 17:47:20]
ก็ส่งอีเมล์ไปถามผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาสิคะคุณอาจจะได้คำแนะนำดีๆก็ได้นะค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6

หนูกระปุก
หนูกระปุก (203.209.96.77) [2004-10-09 17:52:46]
หนูอยากรู้วิธีเลี้ยงปลา tosakin ให้สวยค่ะจะต้องทำอย่างไรดีค่ะ

ความคิดเห็นที่ 7

หนูกระปุก
หนูกระปุก (203.209.107.246) [2004-10-09 18:16:48]
หนูอยากลองเลี้ยงปลาทอง tosakin สักครั้งเพราะหนูได้ลองเลี้ยงปลาชนิดอื่นแล้วเลยอยากจะถามว่าวิธีเลี้ยงปลาทองพันธุ์นี้ให้สวยจะตัองมีการเลี้ยงต่างจากที่เลี้ยงปลาทองพันธุ์อื่นให้สวยหรือไม่ค่ะ เเล้ววัสดุที่ต้องเตรียมในการเลี้ยงจะต่างจากที่เลี้ยงปลาทองชนิดอื่นหรือไม่ค่ะ
ด้านบน

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนทำรายการ

เข้าระบบ