Skip to content

ปรับปรุง เว็บไซต์ เยอะแยะเลย ลองกดเข้าไปเล่นดูสิ ตอนนี้ มีหมอตั้ม มาประจำที่ โรงพยาบาลแล้วนะครับ ใครมีปัญหาปลาป่วย ปรึกษาได้ครับ

ปลาทอง ปลาสวยงาม ชนิดแรกๆ ที่ เชื่อว่า หลายคน คงมีโอกาสได้สัมผัส ได้เลี้ยงดู ได้หลงเสน่ห์ ความน่ารัก ความอุ้ยอ้าย ของปลาชนิดนี้ กว่าร้อย สายพันธุ์ ที่เกิดจาก ความพากเพียร พยายาม ของมนุษย์ เรา

0000859

ถามเรื่องตู้ เมื่อวานไปเดินดูตู้ปลาที่ตลาดซันเดย์

C.T. (มือใหม่)
C.T. (มือใหม่) (210.246.163.211) [2005-01-31 10:59:19]
เมื่อวานไปเดินดูตู้ปลาที่ตลาดซันเดย์มามีคำถามจะถามพี่ๆดังนี้ครับ

1. เห็นตู้กรองข้าง(น่าจะใช่)+ฝาครอบ ราคา 1200 แพงไปหรือป่าวครับ
2. ถ้าซื้อตู้โล่งแล้วซื้อตัวกรองมาใส่เองกับซื้อแบบกรองข้างสำเร็จรูปที่เขาขายๆกัน ราคาจะแตกต่างกันมากมั้ยครับ คุณภาพอันไหนดีกว่า
3. ระบบกรองที่ใช้เลี้ยงปลาทองมีกี่แบบครับ

ปล.ตั้งใจเลี้ยงฮอฯ อ้วนๆ 2 ตัว ซึ่งจากกระทู้เก่าที่เคยถามนั้นได้พี่มี่ มาแนะนำ ก็เลยไปเดินดูตู้มา แต่อยากได้ข้อมูลเยอะ ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อครับ ช่วยแนะนำร้านได้ยิ่งดีครับ

ปล.ผมเองมีความรู้นิดหน่อย จากการอ่านเว็บ ยังไงช่วยแนะนำแบบละเอียดด้วยนะครับ ขอขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้ครับ

ความคิดเห็นที่ 1

Polapat
Polapat [2005-01-31 17:21:58]
เรื่องราคาตู้ไม่แน่ใจครับ แต่เลี้ยงปลาทองต้องเอากรองชุดใหญ่ๆหน่อยครับ เพราะขี้เยอะมากๆ

ความคิดเห็นที่ 2

Polapat
Polapat [2005-01-31 17:23:14]
ถ้าจะซื้อตู้ใหญ่หน่อย 36 ขึ้นไป ลองดูที่ นิศาชลครับ ใช้กรองใต้ตู้ไปเลยครับ ดีกว่ากรองข้างจมเลยครับ แพงขึ้นอีกหน่อย แต่คุ้มครับ

http://www.nisashon.com/index.php

ความคิดเห็นที่ 3

mimis
mimis [2005-01-31 21:07:25]
ขอก๊อบคุณปิติ พันทิบมานะคะ ขอบคุณมาณที่นี้
ดู ๆ แล้วข้อมูลน่าจะมาจากแหล่งเดียวกันกับที่พี่ศึกษาอยู่ค่ะน้อง ซีที

เรื่องกรองต้องรู้ -- ระบบกรองชีวภาพในตู้ปลา
เรื่องระบบกรองชีวภาพนั้น...แหมฟังดูแล้ว"วิชาก๊าร วิชาการ" แค่ได้ยินแค่นี้ก็ไม่อยากจะอ่านต่อแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงปลาทุกคนสมควรทำความเข้าใจจริง ๆ เรียกว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นเป็นอย่างมากครับ

ผู้เลี้ยงปลาบางคนอาจจะเข้าใจว่าที่เราใส่หัวทรายเพราะปลาต้องการอ๊อกซิเจน และเข้าใจว่าของเสียของปลา(ก็ขี้ปลานั่นแหละ)ก็เป็นเหมือนเศษฝุ่นเศษผงที่ตกเข้าไปในตู้ปลา โดยไม่ได้ทราบเลยว่า "ของเสียจากปลานั้นทำให้น้ำเป็นพิษได้"

และการกำจัดสารพิษตรงนั้นก็เป็นหน้าที่ของระบบกรองชีวภาพครับ ด้วยเหตุนี้ตู้ปลาทุกใบจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีระบบกรองชีวภาพนอกเหนือจากระบบกรองทางกลภาพที่มีหน้าที่กำจัดเศษฝุ่นผงในน้ำ

เราลองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบกรองทางชีวภาพกันดูเสียหน่อยนะครับ
คือเพื่อน ๆ คงพอจะเคยเห็นปลากินอาหารใช่ไหมครับ แต่เพื่อน ๆ ทราบไหมครับว่า ปลากินอาหารแล้วก็ต้อง"ขี้"ด้วย ขี้นี่แหละครับที่เป็นจุดเริ่มต้นของของเสียในตู้ปลา แล้วการที่เราดูดขี้ปลาไปทิ้ง หรือเก็บไว้ที่ใยแก้ว..นั้นไม่ได้หมายความว่าน้ำในตู้ปลาสะอาดเหมาะสมสำหรับปลาแล้วนะครับ ต่อให้เพื่อน ๆ ดูดขี้ออกจากตู้ปลา(ไม่ได้ให้ดูดลงคอไปเด้อ...) แต่น้ำก็ยังเสียอยู่ดีแหละครับ ยังไงก็ต้องมีระบบกรองครับ

ที่ไหนมี"ขี้"ที่นั้นก็จะเกิดแอมโมเนีย(NH4)-- (บ่ใช้แอมเสาวลักษณ์เด้อ) น้องแอมฯเนี้ยถือว่าเป็นสารตัวแรกที่เกิดจากขี้ปลาครับ แล้วก็อันตรายต่อปลาเรามากกกกกครับ เจอขึ้นสูงไม่มาก...เจ้าปลาเราก็ไปหาพี่ยมแล้วครับ เพื่อให้เพื่อน ๆ จำให้ง่าย ๆ ให้มองว่าเพื่อน ๆ แต่งงานกันน้องปลา เพื่อมีนางเอกก็ต้องมีตัวร้าย งานนี้ก็"น้องแอมฯ"แหละครับ ซึ่งอย่างไงก็ตามน้องปลาก็แพ้ทางน้องแอมฯครับ น้องปลาแกต้องหนีเพื่อน ๆ ไปหาพี่ยมแน่ ๆ ครับ (น้องแอมฯนี้ร้ายมากกกเลยนะครับ ถือว่าร้ายที่สุดของนิยายเรื่องนี้ครับ)

แล้วทำไงหละทีนี้

ณ ตรงนั้น จะมีแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อ Nitrosomonas(บ่ต้องจำชื่อหรอกครับ เอาแค่เข้าใจว่ามีแบคทีเรียฝ่ายธรรมะเกิดขี้นเป็นพอครับ) ซึ่งเจ้านี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติครับ เรียกกว่าที่ไหนมีแอมโมเนีย..เจ้าแบคทีเรียชนิดนี้ก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ต้องไปเสียเงินหาซื้อมานะครับ มันมาเองครับ อย่างที่รู้ ๆ กันแหละครับ หนังน้ำเน่าเมืองไทย..ที่ไหนมีนางร้าย ที่นั่นก็มีผู้ช่วยนางเอกอยู่แล้ว

เจ้าแบคทีเรียชนิดนี้จะกินแอมโมเนียครับ เจ๋งไหมครับ ซึ่งขั้นตอนนี้เจ้าแบคทีเรียต้องใช้อ๊อกซิเจนด้วยนะครับ แต่สารที่เกิดจากขั้นตอนนี้ซึ่งก็คือ"ไนไตรท์"(NO2)ก็ยังมีพิษต่อปลาของเราอยู่ดีแหละครับ แม้เจ้านี้จะไม่ร้ายเท่าน้องแอม แต่ก็อันตรายต่อน้องปลาของเรานะครับ ไนไตร์ทปริมาณไม่มากในตู้ปลาสามารถฆ่าปลาเราได้นะครับ ทำเป็นเล่นไป

อยุธยาไม่เคยยากไร้คนดีฉันใด ตู้ปลาเราก็ยังไม่หมดหนทางฉันนั้น

ผู้ช่วยนางเอกอีกคนก็ปรากฏตัวขึ้น (แบบนิยายน้ำเน่าเลยครับ ^_^ )

ณ จุดนั้น ก็จะมีแบคทีเรียอีกประเภทเรียกว่า Nitrobacter ซึ่งก็เช่นกันครับ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติไม่ต้องไปหาซื้อหรอกครับ เจ้านี้จะกัดกินไนไตร์ทครับ (ใช้อ๊อกซิเจนอีกเช่นกัน) แต่ก็จะได้"ไนเตรท"ในขั้นตอนนี้ "ไนเตรท"(NO3)เป็นสารที่เป็นพิษต่อปลาเราเช่นกัน แต่...โทษทีครับปลาเราสามารถทนต่อไนเตรทในปริมาณมากกว่าเจ้าแอมโมเนียหรือไนไตร์ทเป็นร้อยเท่าครับ

แล้ววิธีกำจัดเจ้าไนเตรทก็คือการเลี้ยงต้นไม้น้ำ เพราะต้นไม้น้ำจะใช้ไนเตรทเป็นอาหารในการเจริญเติบโตครับ แต่ในแง่ความเป็นจริงแล้ว ต่อให้มีไม้น้ำเต็มตู้ก็กินไนเตรทไม่ทันหรอกนะครับ ดังนั้นวิธีที่ง่ายกว่านั้นคือการถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอครับ คำว่าสม่ำเสมอไม่ได้หมายความว่า วันเว้นวัน อาทิตย์ละครั้ง อาทิตย์ละสองครั้งนะครับ

แม้มาตราฐานพิมพ์นิยมจะบอกว่าอาทิตย์ละครั้งที่ 30% นั่นเพราะคุณฝรั่งเมืองนอก เวลาเค้าจะเลี้ยงปลา เค้าจะศึกษาข้อมูลอย่างดีครับว่าตู้ขนาดที่เค้าเป็นเจ้าของนั้นเลี้ยงปลาอะไรได้บ้าง เลี้ยงได้แค่ไหน ไม่ใช่แบบพี่ไทยครับ ทำตามใจได้คือไทยแท้ บางคนก็เลี้ยงแออัดโครต ๆ แบบหลาย ๆ คนที่อยู่ดี ๆ ก็หาซื้อปลาทอง ฯลฯ มาเท ๆ ใส่ตู้ หรือไม่ก็แบบคนรักอะโรฯ บ้านตัวเราก็แทบจะไม่มีรูอยู่ ดันซื้อตู้ใหญ่ ๆ มาใส่อะโรฯตัวเดียว

เลี้ยงปลาแออัดก็ถ่ายน้ำถี่หน่อย เลี้ยงปลาหลวม ๆ ก็นาน ๆ ทีได้-- งานนี้ต้องดูนิสัยปลาด้วย ปลาบางตัวชอบน้ำใหม่ ถ่ายน้ำบ่อย ๆ ก็ดีเช่นปลาปอม ปลาทอง แต่ปลาบางตัวชอบน้ำเก่า ก็ต้องพยายามรักษาสภาพน้ำให้ดีแต่ยืดเวลาถ่ายน้ำไปอีกหน่อย

บอกอะไรให้ฟังไหมครับ น้ำเมืองไทยถูกมากนะครับ น้ำ1000 ลิตรไม่ถึง 20 บาท อย่าประหยัดกันมากนัก รักจะเลี้ยงปลาก็เลี้ยงให้ดีครับ ถ้าขี้เกียจถ่ายน้ำให้ปลา แล้วมาอ้างว่าเปลืองน้ำด้วย...ผมว่าขี้เกียจอาบน้ำดีกว่าครับ ขี้เกียจเหมือนกันประหยัดน้ำเหมือนกันด้วยครับ

แต่ก็อย่าบ้าถ่ายเช้าถ่ายเงิน หรือถ่ายปริมาณมาก ๆ ระวังปลาจะแป๊กเอาด้วยนะครับ

พระท่านว่าให้เดินทางสายกลางครับ

แบคทีเรียสองชนิดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นที่ไหนครับ คำตอบก็คือทุกทีแหละครับ ผนังตู้ เปลือกpower สายอ๊อกฯ ฯลฯ แต่นั้นไม่เพียงพอต่อการย่อยของเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นในตู้ปลาครับ งานนี้ต้องมีระบบกรองครับ เพราะ80%ของแบคทีเรียจะอาศัยอยู่ในตู้กรองเราครับ ก็อยู่ที่วัสดุกรองแหละครับ

แหมจะให้ทำตัวไร้หลักแหล่ง ลอยไปลอยมาได้ไง คนเราก็ต้องมีบ้านฉันใด เจ้าแบคทีเรียก็ต้องมีบ้านฉันนั้นครับ

ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องมีกรองไงครับ จะกรองนอก กรองล่าง กรองข้างตู้ข้างเตียงอะไรก็ขอให้มีกรองนะครับ

แต่.....

เพื่อน ๆ สังเกตไหมครับว่ารูปแบบของของเสียที่เกิดขึ้นมีอย่างไร

จากขี้->แอมโมเนีย->ไนไตร์ท->ไนเตรท

ทีนี้ถ้าเพื่อน ๆ มีระบบกรองที่สมบูรณ์คือเซ็ตตัวอยู่แล้วก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ เพราะในกรองเราจะมีแบคมีเรียที่พร้อมจะฆ่า กัด กิน ทำลาย (555 บ้าไปแล้วตรู)ของเสียทันทีทันใดที่เกิดขึ้น แต่....

ถ้าเป็นตู้ใหม่ ๆ กรองใหม่ ๆ หล่ะครับ

ตู้ใหม่ ๆ ที่กรองยังไม่เซ็ตตัวจะไม่มีแบคทีเรียที่ว่านะครับ แล้วเพื่อน ๆ จะสังเกตเห็นว่า แบคทีเรียเกิดขึ้นได้ต้องมีของเสียเกิดขึ้นก่อนครับ การที่มีของเสียเกิดขึ้นก่อน ซึ่งก็หมายถึงช่วงนั้นน้องปลาของเราต้องอยู่ในตู้ที่มีของเสียไงครับ...

ด้วยเหตุนี้ผมจึงนิยมให้เพื่อ ๆ เซ็ตระบบกรองแล้วทำให้ระบบกรองของเราสมบูรณ์ก่อนที่เราจะลงปลาตัวโปรดของเรา

ขั้นตอนนี้เราเรียกว่าการ cycle tank (ขอดัดจริตให้หน่อยะครับ อิ อิ)

ไม่ยากอะไรครับ งานนี้ต้องอาศัยพี่บรู๊ช วิลลิช หรือ คุณจอน แม็คเคนแห่ง die hard ครับ

ไม่ต้องงงครับพี่ ภาษาประกิตเค้าบอกว่าให้เราใส่ hard fish หรือปลาที่ทน ๆ เช่นปลาทอง ปลาคร๊าฟ นี่แหละครับ เอามันมาทรมาณ 555 เลี้ยงมันไปก่อน ให้มันกิน ให้มันขี้ เพื่อให้เกิดแบคทีเรีย จากนั้นก็...555...ให้เจ้าอะโรฯเรากินไปซะ

ผมไม่เคยใช้หรอกนะครับปลาทอง ปลาคร๊าฟที่ว่า ผมใส่ตะเพียนเผือกตาแดงครับ ก็ใส่ไปเลยในตู้ ไว้ทดสอบคลอรีนด้วย เป็นแท็งค์เมทด้วย ทำให้กรองเซ็ตตัวในช่วงแรกด้วย คุ้มอิบหาย อิ อิ

ถามว่า"นานไหมครับ กล่าวระบบกรองจะเซ็ตตัวสมบูรณ์" ---- ไม่นานครับ ปกติก็ 40 วันครับ (นั้นแหละเป็นเหตุผลที่ผมจะเชียร์ให้เพื่อน ๆ ซื้อตู้มาล่วงหน้า เลี้ยงtankmate ไปก่อนในระวังที่เรามองหาอะโรฯตัวโปรด กว่าจะได้ปลาตัวโปรด กรองในตู้ก็สมบูรณ์แล้ว ปลาก็ไม่เครียด สีก็ดี สบายใจผู้เลี้ยง ^_^ )

บางคนอาจจะบอกว่าก็ทุกทีก็ซื้อตู้มา ล้างตู้ ใส่น้ำ เดินกรอง ใส่ปลา ก็เลี้ยงมาปกติ ปลาก็อยู่ดี โตด้วย ไม่เห็นตายเลย ไม่เห็นต้องซีเรียสอะไรเลย นั้นก็บังเอิญกว่าเพื่อน ๆ โชคดี ได้บักอึดมาเป็นนางเอกครับ ทนได้สารพัด ทนต่อสภาพแวดล้อมเลว ๆ ห่วย ๆ โดยที่ไม่ตายครับ แบบว่าบักอึดรักพี่มากค่ะ ชาตินี้จะอดทนเพื่อพี่แหละ พี่ที่แหละที่น้องจะอยู่ด้วย

อ้อ....เกือบลืมไป พอระบบกรองเช็ตตัวได้แล้ว อย่าดันทะลึ่งนะครับ ผ่านไป 40 วันแล้ว ตรูรอวันนี้มานานแล้ว เอาเลย...ว่าแล้วใส่ปลาที่อยากได้นักอยากได้หนาเข้าไปทีเดียวหลายตัว

ไม่ได้ ไม่ได้เลยนะครับ ทยอยใส่ปลาลงไปครับ ไม่ใช่ชั่วโมงละตัวนะพี่... โดยปกติแล้วเค้าว่าสัปดาห์ละตัวครับ

ไม่ยากเกินไปนะครับ
สรุปเพิ่มเติมนะครับ

1 ถ้าไม่มีของเสียก็ไม่มีแบคทีเรียที่ใช้ค่อยของเสีย เพราะฉะนั้นการเดินระบบกรองโดยไม่มีปลา หรือไม่มีของเสีย ต่อให้รอนานแค่ไหน ก็ได้แต่ฝันค้างครับ เพราะระบบกรองไม่มีทางเซ็ตตัวครับ

2 ขี้ปลากับอาหารที่เหลือคาตู้ล้วนแต่ทำให้น้ำเสียทั้งนั้น แต่...เศษอาหารทำให้น้ำเสียมากกว่า ระบบกรองต้องทำงานหนักกว่า ลองให้นึกว่าหนูตายหนึ่งตัวเหม็นแค่ไหนเมื่อเทียบกับขี้หนึ่งก้อน อันไหนใช้เวลาย่อยสลายนานกว่ากัน คงพอนึกออกแล้วใช่ไหมครับ ถึงบอกว่า...อย่าพยายามให้เศษอาหารเหลืออยู่คาตู้ครับ มันไม่ดี คนเลี้ยงปลาที่มีวินัยเค้าไม่ทำกัน

3 รักจะเลี้ยงปลาก็ต้องถ่ายน้ำสม่ำเสมอนะครับ

4 เมื่อไหร่ที่ระบบกรองสมบูรณ์ ยาและสารเคมีพยายามอย่าไปใส่เลยนะครับ เดี๋ยวกรองล่มครับ ตู้ที่กรองลงตัวแล้ว แทบจะไม่มีปลาป่วยเลยครับ

5 ถ้าจะล้างวัสดุกรอง ไม่ว่าจะเป็นตุ้มฟองน้ำ bioball ประการัง ซับเสตรท(ซับในไม่เกี่ยวนะ) ฯลฯ ให้ใช้น้ำในตู้ปลาล้างนะครับ อย่าเอาน้ำก๊อกล้างนะครับเดี่ยวแบคทีเรียกลับบ้านเก่าหมด จริง ๆ แล้วเวลาล้างวัสดุกรองให้ทยอยล้างครับ เช่นเดือนนี้ล้างสัก 1/3 ของทั้งหมด เดือนหน้าก็ล้างอีก 1/3 แต่เป็นอีกส่วนหนึ่งครับ อย่าขยันมากนักแบบว่าล้างทีเดียวทั้งหมด มันไม่ดีครับ

6 แบคทีเรียทั้งสองชนิดใช้อ๊อกซิเจนในการย่อยของเสียนะครับ จะเห็นว่าทั้งปลาทั้งแบคทีเรียต่างก็ต้องใช้อ๊อกซิเจนทั้งนั้น อ็อกซิเจนสามารถละลายกับน้ำได้โดนการให้น้ำสัมผัสกับอากาศ เช่น ในกรองที่มี bioball หรือการที่ผิวน้ำในตู้ปลาเคลื่อนไหว

7 ระบบกรองที่เซ็ตตัวสมบูรณ์แล้ว ค่าแอมโนเมียกับไนไตร์ทจะเป็น 0 นะครับ แต่ค่าไนเตรทจะไม่เป็น 0 นะครับ

8 ในระยะยาวให้แฟนเรา เมียเรารักปลาเหมือนกัน เพราะอย่างน้อยเราก็จะมีลูกมือในการทำความสะอาดตู้ปลา ข้อนี้สำคัญมากกก อย่างน้อยก็มีเพื่อนคุย ดีกว่านั่งทำงก ๆ อยู่คนเดียว

ความคิดเห็นที่ 4

mimis
mimis [2005-01-31 21:10:00]
ขอบคุณคุณ ปิติ อีกอันค่ะ

กรองนอกสำเร็จรูป -- Canister Filter
กรองนอกสำเร็จรูป นับว่าเป็นระบบกรองชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กับตู้อะโรวาน่า โดยต้นตำหรับของกรองนอกก็คือ "อีฮาม แห่ง เยอรมันนี" นับว่าเป็นต้นแบบของกรองนอกในยุคปัจจุบัน

ในอดีตกรองนอกฯนั้นมีราคาแพงมาก แต่ปัจจุบันก็มีหลากหลายยี่ห้อ จากหลากหลายแห่งผลิต เช่น ไต้หวัน จีน เป็นต้น ทำให้เราสามารถหาซื้อกรองนอกได้ในราคาที่ย่อมเยาว์ขึ้น ซึ่งก็ยิ่งทำให้ความนิยมที่มีต่อกรองนอกฯนั้นมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

กรองนอกฯ ที่มีขายในปัจจุบันผู้ซื้อสามารถหาซื้อได้ตามร้านอุปกรณ์ตู้ปลาในตลาดซันเดย์ ถ้าเป็นอย่าง"อีฮาม" ก็มีหลากหลายรุ่นมาก มีอะไหล่สต๊อกทุกชิ้น แข็งแรง ทนทาน มีความเชื่อถือได้สูง แต่ก็ย่อมแลกมาด้วยราคาที่แพง อะไหล่เล็ก ๆ บางชิ้นมีราคาเป็นครึ่งหนึ่งของกรองนอกฯบางยี่ห้อทั้งชุดด้วยซ้ำไป

หรือจะเป็นของไต้หวันอย่าง "Azoo" ราคาก็ย่อมเยาว์ลงมาหน่อย โดยรวม ๆ ก็ถือว่าใช้งานได้ดี

หรือจะเป็นของจีนอย่าง "Resun,Via aqua, Atman, etc." กรองยี่ห้อเหล่านี้ราคาย่อมเยาว์น่าซื้อมาก แต่อุปกรณ์ก็ดูจะบอบบางกว่า แต่ถ้าเราใช้งานอย่างเบามือก็ไม่มีปัญหาอะไรเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นกรองยี่ห้อให้ก็มีลักษณะการใช้งานที่เหมือนกัน ต่างกันที่วัสดุกรองของแต่ละยี่ห้อ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเท่านั้นเอง

ข้อดีของกรองนอกฯ อันดับแรก...ไม่เสียพื้นที่ในตู้ปลาเลย เพราะมีแค่ท่อ 2 ท่อเท่านั้นที่เข้าไปอยู่ในตู้ปลา นั้นคือท่อที่ลักน้ำเข้ากรอง กับท่อที่จ่ายน้ำที่ผ่านการกรองแล้วกลับเข้าตู้ปลา

อันดับที่สองก็คือ...สะดวกเวลาทำความสะอาด เมื่อพึ่งเวลาทำความสะอาด ผู้ใช้สามารถถอดตู้กรองออกจะท่อยางเพื่อนำตู้กรองไปทำความสะอาดในห้องน้ำ เป็นต้น ทำให้การดูแลระบบกรองนั้นไม่เปียกเลอะเทอะบริเวณตู้ปลา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในกรณีที่ผู้เลี้ยงตั้งตู้ปลาในห้องรับแขก สำนักงาน เป็นต้น (แต่ถ้าผู้เลี้ยงต้องการเปลี่ยนแค่ใยแก้วอย่างเดียว...ดูเหมือนกว่ากรองข้างหรือกรองใต้ตู้จะสะดวกกว่าในกรณีนี้)

อันดับสาม... ผู้เลี้ยงสามารถลดน้ำได้ตามที่ผู้เลี้ยงต้องการ โดยปกติแล้ว เราก็จะลดระดับน้ำในตู้ปลาสำหรับอะโรฯอยู่แล้ว เพื่อป้องกันเวลาที่ปลาชาร์จเหยื่ออย่างรุนแรง หรือเวลาที่ปลาสะบัดตัวดีดดิ้น ด้วยระบบกรองนอกฯ ผู้เลี้ยงสามารถเติมน้ำที่ระดับไหนก็ได้ขอให้ปลายท่อลักน้ำเข้ากรองอย่าพ้นน้ำเป็นอันใช้ได้

ในกรณีที่เราต้องการใส่ยาให้กับปลาอันเนื่องมาจากปลาเป็นโรค ด้วยระบบนอกฯที่เราสามารถลดน้ำได้ ทำให้ผู้เลี้ยงประหยัดปริมาณยาที่จะใส่ลงในตู้ปลาได้ด้วยเช่นกัน

ข้อเสียของกรองนอกฯ อันดับแรก...ก็คือว่ามีราคาแพงเมื่อเทียบกับกรองชนิดอื่น

อันดับสอง...ปริมาณที่ใส่วัสดุกรองมีจำนวนจำกัด ตรงนี้ทำให้ผู้เลี้ยงต้องเลือกวัสดุกรองที่มีประสิทธิภาพเท่าที่ใคร

อันดับสาม...ในการติดตั้งระบบกรองนอกฯนั้นจะต้องมีสายยางอยู่นอกตู้ 2 เส้น โดยเส้นหนึ่งเป็นท่อน้ำที่ลักน้ำจากตู้เข้ากรอง อีกท่อหนึ่งเป็นท่อที่ส่งน้ำที่บำบัดแล้วเข้าตู้ปลา ตรงนี้อาจจะดูเกะกะตาสำหรับตู้เลี้ยงบางท่าน

อันดับสุดท้าย ระบบมาตราฐานของกรองนอกตู้ไม่สามารถกำจัดเมือกบนผิวน้ำได้ ตรงนี้ต้องติดตั้งอุปกรณ์เสริม โดยปกติแล้วตรงนี้จะไม่ใช้ปัญหาของตู้สำหรับอะโรฯเท่าไหร่นัก แต่ถ้าเป็นตู้ไม้น้ำ..เมือกผิวน้ำทำให้ไม้น้ำไม่ได้รับแสงเท่าที่ควรครับ
การเรียงลำดับของวัสดุกรองในตู้กรองนอกฯ ตรงนี้ผมขออ้างถึงกรองนอกฯ "อีฮาม" เป็นหลักนะครับ

จากรูป... กรองของอีฮามจะเรียงวัสดุกรองดังนี้ (จากบนลงล่าง)
1 Ehfisynth ก็คือ ใยแก้วครับ ไว้บนสุดเป็นด่านสุดท้ายก่อนปล่อยน้ำไหลเข้าตู้ปลา
2 Ehfisubstrat ก็คือ biological filter media วัสดุกรองทางชีวภาพ สามารถใช้ ปะการัง ฟองน้ำ ฯลฯ แทนได้
3 Ehfifix --Mechanical purifying pre-filter วัสดุกรองทางกายภาพ (ของอีฮามเป็นฟองน้ำสีฟ้า) โดยวางไว้ใต้วัสดุกรองทางชีวภาพเพื่อป้องกันมิให้วัสดุกรองทางชีวภาพโดนของเสียของใหญ่หมักหมมอุดตันครับ
4 ehfimech --Coarse mechanical filter เซรามิคริง เอาไว้ดักของเสียขนาดใหญ่ แล้วเป็นตัวกระจายน้ำให้ไหลทั่วกรองอย่างสม่ำเสมอครับ

หมายเหตุ เซรามิคริงค์ของอีฮาม เป็นวัสดุกรองทางกายภาพ จะมีผิวเรียบ ไม่เหมือนเซรามิคริงค์บางประเภทที่มีผิวขุขระ และมีขนาดใหญ่กว่า เซรามิคริงค์ประเภทหลัง ทำให้ที่เป็นวัสดุกรองทางชีวภาพนะครับ

โดยระบบกรองของ"อีฮาม"นั้น น้ำจากตู้ปลาจะไหลเข้าตู้กรองด้านล่างก่อน จากนั้นก็จะล้นขึ้นไปด้านบนเรื่อย ๆ จนจะทั้งถูกปั้มที่ซ่อนอยู่ในฝาของตู้กรองส่งน้ำเข้าตู้ปลาในที่สุด

เมื่อน้ำไหล่เข้าสู่ด้านล่างก็กรอง ก็จะโดนเซรามิคริง(4)ดักจับของเสียขนาดใหญ่ แล้วก็กระจายน้ำจากสายยางท่อเดียวให้กระจายทั่ว ๆ กรองครับ

น้ำที่ได้ผ่านเซรามิคริงค์ก็จะโดนฟองน้ำสีฟ้า ๆ ของฮีฮาม(3)ดักจับเศษอาหาร สิ่งสกปรกต่าง ๆ เอาไปครับ ก่อนที่จะไปถูกบำบัดโดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในซับเสตรท(2)

น้ำที่ผ่านการบำบัดผ่านซับเสตรท จะเป็นน้ำที่ไม่มีค่าของเสียในน้ำแล้ว เช่น แอมโนเนีย ไนไตร์ท(โดยหลักการ) แต่อาจจะมีเศษฝุ่น ผง เล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่ ดังนั้นก็จะถูกใยแก้ว(1)ซึ่งเป็นปราการด่านสุดท้ายดักจับเอาไว้ครับ

ตรงนี้จะมีตะแกรงพลาสติกวางบนใยแก้วเพื่อป้องกันมิให้ใยแก้วโดนพัดลมของปั้มสูบขึ้นไป
สำหรับตู้ที่ต้องการใช้ระบบกรองนอกฯนั้น เพื่อให้การติดตั้งกรองเป็นไปได้อย่างสะดวกเรียบร้อย ไม่ต้องมาดัดแปลงทีหลัง ผมแนะนำให้ใส่รายละเอียดเล็กน้อยกับร้านที่เราสั่งตู้ปลาของเรานะครับ

เราจะสังเกตุได้ว่าระบบกรองนอกต้องมีท่อส่งน้ำ และแน่นอนครับก็ต้องมีข้อต่อเชื่อม ซึ่งจะเป็นท่อพลาสติกตัว U แต่ความกว้างของท่อที่ให้มานั้น...มักจะแคบกว่าคานของตู้ปลาครับ ตรงนี้เราควรสั่งให้ร้านตู้ปลาเจาะรูที่คานของตู้ปลาครับ..จะทำให้การติดตั้งกรองเป็นไปได้ด้วยความสะดวกและสวยงาม

อีกอย่างหนึ่งก็คือฝาตู้ครับ เราควรสั่งให้ร้านตู้ปลา"บาก"ฝาตู้ปลาเพื่อหลบท่อของระบบกรองเช่นกันครับ

หมายเหตุ การเจาะท่อควรคำนึงถึงเส้นรอบวงของท่อ โดยเจาะทั้งหมด 2 รู สำหรับท่อน้ำที่ลักน้ำออกจากตู้เข้ากรอง และอีกรูสำหรับท่อที่ส่งน้ำคืนตู้ปลา

ความคิดเห็นที่ 5

mimis
mimis [2005-01-31 21:11:57]
เอาทุกกรองเลยละกันค่ะ ขอบคุณ คุณปิติค่ะ

กรองใต้ตู้ พอดีกับที่คุณพลภัทรแนะนำค่ะ

กรองใต้ตู้คือระบบกรองที่เหมาะสมกับตู้ขนาดใหญ่เป็นอย่างมาก เพราะเราสามารถกำหนดขนาดของตู้กรองได้เองตามใจชอบ ทำให้เราสามารถใส่วัสดุกรองในปริมาณที่เราต้องการได้ ที่สำคัญ...ราคาไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับระบบกรอง

ขนาดตู้ที่เหมาะสมกับระบบกรองใต้ตู้นั้นควรมีความกว้างไม่น้อยกว่า 30 นิ้ว ส่วนความยาวก็ควรเป็นอย่างน้อย 60 นิ้ว ถ้าตู้เล็กกว่านี้แล้วใช้ระบบกรองใต้ตู้...ดูเหมือนกว่าจะไม่คุ้มค่าเงินสักเท่าไหร่ และที่สำคัญก็เสียพื้นที่ในการกั้นสามเหลื่ยมเป็นกรองน้ำล้นในตู้ปลาเสียด้วย

ถ้าเป็นตู้ 72*30*30 ขึ้นไป...ตรงนั้นแหละครับ ใช่เลย เหมาะที่จะใช้กรองใต้ตู้อย่างมาก

ส่วนปัญหาที่ผู้ใช้กลัวว่า เมื่อไฟดับแล้วน้ำจะท่วมบ้าน ตรงนี้ไม่มีปัญหาที่ว่าแน่นอนครับ

หลักการของกรองใต้ตู้นั้นก็ใกล้เคียงกับกรองข้างมากครับ แต่ว่าในส่วนสามเหลี่ยมน้ำล้นนั้นจะมีการเจาะก้นตู้เพื่อให้น้ำจากตู้ไหลเข้ากรองที่ต้องอยู่ด้านล่างของตู้ปลา น้ำก็จะโดยบำบัดเมื่อไหลผ่านวัสดุกรอง แล้วก็จะถูกปั้มลมสูบน้ำคืนเข้าตู้ปลา

ดังนั้น เมื่อไฟดับ ปั้มก็จะไม่สูบน้ำเข้าตู้ปลา เมื่อไม่มีน้ำมาในตู้ปลา น้ำก็จะไม่ไหลเข้าสามเหลี่ยมน้ำล้น ตรงนี้แหละที่เป็นเหตุผลว่าทำไมไฟดับน้ำจึงไม่ไหลท่วมบ้าน
ข้อดีของระบบกรองใต้ตู้คือ ขนาดที่เป็นไปตามความต้องการของเรา เปลี่ยนใยแก้วก็สะดวกกว่าเฉกเช่นกรองข้าง ราคาก็ไม่แพงเมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพที่ได้จากปริมาณอันเหลือหายของวัสดุกรอง การดูแลเปลี่ยนแปลงวัสดุกรองก็ทำได้ง่าย การเปลี่ยนปั้มน้ำก็สะดวก

ส่วนข้อเสียก็คือ การต้องเสียพื้นที่ใต้ตู้ปลาในการทำตู้กรอง เวลาเปลี่ยนถ่ายน้ำต้องดึงปลั๊กของปั้มน้ำออกเสียก่อน เวลาที่น้ำระเหยไปจากตู้ก็ต้องมีการเติมน้ำคืนเพื่อมิให้ปั้มน้ำโผล่พ้นน้ำ และที่สำคัญ...ปั้มน้ำมักจะต้องเป็นปั้มตัวใหญ่ ซึ่งก็ย่อมกินไฟมากกว่าปกติ

ท้ายที่สุดก็คือเรื่องของการเจาะก้นตู้ หลาย ๆ คนไม่ชอบที่จะเจาะตู้ปลา ซึ่งแน่นอนครับ ก็ย่อมมีความเสี่ยงมากกว่าตู้ที่ไม่มีการเจาะก้นตู้ครับ

อย่างไงก็ตาม...ถ้าเป็นร้านที่มีประสบการณ์ในการทำ ความทนทานก็ไม่ได้ต่างกับตู้ธรรมดาที่ไม่ได้เจาะก้นตู้เลย
ในกรณีที่เราใช้ระบบกรองใต้ตู้กับตู้อะโรฯนั้น สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้ต้องระบุกับร้านประกอบตู้ปลาก็คือ "การลดระดับของหวีน้ำล้น"

เนื่องจากปลาอะโรฯเป็นการที่กินเหยื่อดุเดือด ดีดดิ้นและกระโดดเก่ง เรามักจะลดระดับน้ำให้ห่างจากคานมากกว่าตู้ทั่วไป

ด้วยเหตุนี้เราต้องสั่งให้ร้านประกอบตู้ปลาทำหวีน้ำล้นตัวบนให้ต่ำจากคานอย่างน้อย 4 นิ้ว เพื่อลดโอกาสที่จะทำให้ปลาตัวโปรดของเราเกิดบาดแผลเกินความจำเป็น



ปล. รูปวาดหวีน้ำเป็นเป็นของคุณ สุวรรณมัจฉา นะครับ ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ปล2. สามารถดูรูปเพิ่มเติมได้ใน http://topicstock.pantip.com/jatujak/topicstock/J3019703/J3019703.html

ความคิดเห็นที่ 6

mimis
mimis [2005-01-31 21:15:14]
หวังว่าจะได้ประโยชน์นะคะ ไปละ ง่วงนอนละวันนี้ไม่ค่อยสบาย

ความคิดเห็นที่ 7

 
  (210.246.163.211) [2005-02-01 10:21:46]
ขอบคุณสำหรับความรู้นะครับพี่มี่ ได้อะไรเข้าหัวเยอะดีมากๆ อย่างน้อยตอนนี้จาก 0 มาเป็น 1 แล้ว แล้วถ้ามีข้อสงสัยจะมาถามอีกนะครับ

ความคิดเห็นที่ 8

akena
akena [2005-02-05 22:43:06]
เพื่อให้แบคทีเรียทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เราควรให้ bioball จมอยู่ในน้ำทั้งหมดหรือบางส่วน หรือแค่ให้น้ำไหลผ่านเท่านั้นครับ
ด้านบน

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนทำรายการ

เข้าระบบ