Skip to content

ปรับปรุง เว็บไซต์ เยอะแยะเลย ลองกดเข้าไปเล่นดูสิ ตอนนี้ มีหมอตั้ม มาประจำที่ โรงพยาบาลแล้วนะครับ ใครมีปัญหาปลาป่วย ปรึกษาได้ครับ

ปลาทอง ปลาสวยงาม ชนิดแรกๆ ที่ เชื่อว่า หลายคน คงมีโอกาสได้สัมผัส ได้เลี้ยงดู ได้หลงเสน่ห์ ความน่ารัก ความอุ้ยอ้าย ของปลาชนิดนี้ กว่าร้อย สายพันธุ์ ที่เกิดจาก ความพากเพียร พยายาม ของมนุษย์ เรา

0001275

เอามาฝากสหายปลาทองกันอีกอันค่ะ ความสำคัญของการเปลี่ยนน้ำให้ลูก ๆ คุณ

mimis
mimis [2005-05-14 15:53:22]
อันนี้เอาจากเว็บเดียวกัน เว็บนี่มี่อ่านมาเยอะมากเลยจำได้เวลาไปเจอเว็บปลาทองของไทยบางแห่งแปลข้อมูลมาเหมือนกัน เลยไม่รู้ว่าจะไปซ้ำหรือเปล่านะ

ทำไมต้องเปลี่ยนน้ำให้ปลา

ความสำคัญของการเปลี่ยนถ่ายน้ำให้ปลาอย่างสม่ำเสมอ
ไม่ใช่เพียงเพื่อจะลดปริมาณของเสียรวมทั้งไนเตรทในน้ำ สำคัญยิ่งไปกว่านั้น เป็นการกำจัดอะไรบางอย่างที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเจริญเติบโตของปลา โดยปกติแล้ว ปลาจะหายใจเอาเจ้าตัวยับยั้งการเจริญเติบโตออกมาด้วยการหายใจ และมันจะยังเจือปนอยู่ในน้ำ และเมื่อสะสมถึงระดับหนึ่งเนื่องจากไม่มีการเปลี่ยนถ่ายเอาน้ำสด ๆ ใหม่ ๆ เข้าไปเจือจาง ปลาก็จะถูกยับยั้งการเจริญเติบโต ซึ่งหมายความว่าปลาจะหยุดการเติบโต

ด้วยการเปลี่ยนถ่ายน้ำครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง เจ้าตัวยับยั้งการเจริญเติบโตของปลานี้จะถูกเจือจางและถูกลดปริมาณลงด้วยน้ำใหม่ และปลาก็จะมีการเติบโตต่อไปได้

เพื่อยืนยันความเห็นนี้ มีผู้เลี้ยงปลาคาร์ฟสองรายซึ่งอยู่ใกล้กัน เลี้ยงปลาคาร์ฟสองบ่อในบริเวณเดียวกัน ด้วยสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน ให้อาหารทุกอย่างเหมือนกันหมด

ต่างกันตรงที่
บ่อแรก -มีระบบกรองแบบปกติที่ใช้ทั่วไป มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอทุกอาทิตย์ในปริมาณเดียวกัน

บ่อที่สอง -มีการติดตั้งเครื่องกรองเช่นกัน แต่มีระบบที่ต่างกันตรงที่มีการต่อท่อจากแหล่งน้ำที่มีสภาพดีเข้าสู่บ่อน้ำนี้ น้ำส่วนที่ล้นก็จะไหลย้อนออกไป ทำให้ได้มีน้ำที่สดใหม่อยู่ตลอดเวลา

ทั้งสองฟาร์มให้อาหารปลาคาร์ฟประเภทเดียวกัน แต่ผลปรากฏว่า ปลาคาร์ฟของฟาร์มที่สอง ซึ่งมีน้ำใหม่ไหลเข้าตลอด มีขนาดใหญ่กว่า ของฟาร์มแรกมาก ในระยะเวลาการเลี้ยงที่สั้นกว่าอีกด้วย ตีความได้ว่า น้ำสะอาดสดใหม่ได้ไปกำจัดเจ้าตัวยับยั้งการเจริญเติบโตของปลา

อาจจะมีคนแย้งว่า ปลาของสองฟาร์มอาจจะซื้อมาจากคนละที่ ซึ่งมียีนส์ดี ไม่ดีต่างกัน ซึ่งก็อาจจะเป็นเช่นนั้นได้ แต่ทว่า ทั้งสองฟาร์มซื้อปลาจากผู้นำเข้าเดียวกัน ซึ่งมาจากฟาร์มเพาะพันธุ์เดียวกันจากประเทศจีน ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าของฟาร์มคนหนึ่ง ได้แบ่งปลาส่วนหนึ่งไปไว้อีกบ่อหนึ่ง ในที่ดินของตนเอง และทำการทดลอง โดยใช้สภาพแวดล้อมดังกล่าว คือ บ่อหนึ่งเปลี่ยนน้ำอาทิตย์ละครั้ง อีกบ่อมีน้ำใหม่ไหลเข้าตลอด ผลลัพธ์ที่ได้ตรงกันคือ ปลาที่อยู่ในบ่อซึ่งมีน้ำใหม่ไหลเข้าตลอด เติบโตเร็วกว่าปลาที่อยู่ในบ่อซึ่งมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอาทิตย์ละครั้ง

นี่ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องเปลี่ยนน้ำปลาทุกวัน แต่ว่าขอให้ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ อย่าขี้เกียจ จงคิดเสียว่าทำดีที่สุดให้กับปลาของคุณ

สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งคือ อาหารและการให้อาหารในปริมาณมาก ไม่ใช่สิ่งเดียวที่คุณควรจะรู้หากคุณต้องการเลี้ยงปลาตัวใหญ่ การเติบโตของปลาเป็นเรื่องที่ซับซ้อนต้องการปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ใช่ต้องอาศัยแค่การให้อาหารในปริมาณเกินความต้องการอย่างเดียว แล้วก็นั่งรอผลลัพธ์สุดยอด

ควรจะทำบันทึกการเปลี่ยนน้ำไว้ด้วย ในแต่ละครั้ง เพื่อที่จะไม่มีการพลาดลืมไป รองน้ำไว้ในถังพักน้ำอยู่เสมอ(แต่อันนี้มี่จะเอาไปรดน้ำต้นไม้หากไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่หมด แล้วรองใหม่ จะไม่ใช้น้ำที่รองทิ้งไว้เกินสองวันค่ะ)


-จะต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยขนาดไหน

การละเลยน้ำในตู้ปลาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการสะสมของสารพิษในน้ำซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและการเจริญเติบโตของปลา

เราจำเป็นต้องเปลี่ยนน้ำปลาด้วยเหตุผลต่อไปนี้

-ให้ปลาได้น้ำใหม่ ๆ สะอาด ๆ สร้างความสดชื่นแข็งแรง
-กำจัด ของเสียส่วนเกิน หรืออาหารตกค้างในน้ำ
-กำจัดไนเตรท และสารพิษพิษอื่น ๆ ในน้ำ
-น้ำใหม่ช่วยเติมแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นในสร้างสุขภาพที่ดีให้กับปลา
-ปลาที่ได้รับการเปลี่ยนน้ำอย่างประจำสม่ำเสมอจะมีการเจริญเติบโตดีกว่า

หลาย ๆคนยึดติดกับหลักการเปลี่ยนถ่ายน้ำ 10-20 % ต่ออาทิตย์ จำไว้ว่า อย่าไปยึดติดกับกฏ แต่จงดู สถานการณ์ความเป็นจริง กฏแต่ละกฏใช้ได้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

ปัจจัยที่บอกว่าคุณควรเปลี่ยนน้ำบ่อยขนาดไหน มีดังนี้

-จำนวนปลาในตู้ คุณมีปลากี่ตัวในตู้ ยิ่งมีมากตัว ของเสียในน้ำก็ยิ่งมาก ก็ยิ่งต้องเปลี่ยนน้ำบ่อย
-คุณให้อาหารปลาบ่อยแค่ไหน นี่ยิ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล บางคนให้วันละครั้ง บางคนวันละสองครั้ง บางคนยิ่งให้มากกว่านั้น
-จำนวนของอาหารที่ให้ปลากิน แต่ละมื้อ
-จำนวนไม้น้ำในตู้ สัมพันธ์กันโดยตรงกับปริมาณไนเตรทในน้ำ ใบไม้ที่ร่วงหล่นอยู่ในตู้ก็ทำให้แอมโมเนียสูงเช่นกัน
-น้ำจากแหล่งที่ต่างกัน ก็จะมีสภาพต่างกันเช่นกัน จะทนกับสารพิษที่จะเกิดขึ้นหลังใช้เลี้ยงปลาต่างกัน

ข้อควรสังเกตุอีกข้อคือ...
คุณได้ปรับสภาพน้ำ หรือพักน้ำ ไว้ก่อนหรือไม่ ปรับสภาพน้ำหมายถึง คุณได้ใส่น้ำยาปรับสภาพน้ำ กระทั่ง คลอรีน หรือคลอราไมน์ กระทั่ง ค่าพีเอชในน้ำได้มากกว่า 7

พักน้ำ หมายถึง การรองน้ำที่จะใช้ไว้ในภาชนะหนึ่งคืนก่อนนำมาใส่ในตู้ปลา

การพักน้ำไว้จะทำให้คลอรีน หรือสารระเหยไม่จำเป็นอื่น ๆ ในน้ำ สลายตัวไป ทำให้น้ำสามารถซึมซับออกซิเจนได้มากยิ่งขึ้น

ที่สำคัญ การเติมน้ำลงไปในตู้ให้เท่าปริมาณที่ระเหยแห้งไป ไม่เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนถ่ายน้ำ เนื่องจากของเสียในน้ำ จำพวกไนเตรท ยังคงอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อน้ำระเหยไป ปริมาณของเสียในน้ำก็จะเพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

สมมุตว่าปลาของคุณ ผลิต ไนเตรท ในปริมาณ 20 มก.ต่อวันและคุณต้องทำให้มันน้อยที่สุดเท่าที่เป็นได้(แม้ว่า 0 จะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้) ซึ่งเท่ากับว่าอาทิตย์หนึ่ง ไนเตรทจะเป็น 140 การเปลี่ยนน้ำ 50 % เท่ากับว่าคุณได้ทำให้มันเหลืออยู่ 70 (ในอาทิตย์ที่ 1)

อีกเจ็ดวันผ่านไป ปริมาณไนเตรทก็จะกลับขึ้นมาเป็น 210 และเมื่อคุณเปลี่ยนน้ำ 50 % อาทิตย์นั้น มันก็จะลดลงเหลือ 105 (อาทิตย์ที่ 2)

ถึงตรงนี้เราจะสังเกตเหตุอะไรบางอย่างแล้ว อีกเจ็ดวันถัดมา ไนเตรทจะเพิ่มขึ้นเป็น 245 และพอเราเปลี่ยนน้ำ 50 % มันก็จะลดลงเหลือ 123...

เห็นปัญหาแล้วใช่ไหม ใช่แล้ว แม้ว่าจะทำการเปลี่ยนน้ำตามกฏที่ยึดปฏิบัติกันมาและเป็นที่เชื่อถือว่าถูกต้องแล้วอย่างสม่ำเสมอ แต่ปริมาณไนเตรทก็สะสมเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา และมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งอยู่ในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อปลา เป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บป่วย การเติบโตช้า

ในการให้อาหารปลา ยังมีการให้ที่แตกต่างไปทั้ง ประเภทของอาหาร จำนวนอาหาร จำนวนมื้อ ระยะห่างระหว่างมื้อ แต่การเปลี่ยนน้ำล่ะ หากมีการเปลี่ยนน้ำที่แตกต่างออกไปขึ้นกับสภาวะการณ์ไม่ใช่ ติดอยู่กับหลักเกณฑ์ว่า ต้องอาทิตย์ละ 10-20% เท่านั้น จะช่วยให้ปลามีความสุขมากกว่า ดังนั้นคุณควรจะมีการยืดหยุ่นตารางการเปลี่ยนน้ำของคุณให้เหมาะกับสภาวะการณ์

ประโยชน์ที่เห็นเด่นชัดอีกอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนน้ำก็คือ เมื่อปลาของคุณเกิดอาการผิดปกติขึ้น ซึม ไม่ว่าย กบดานอยู่แต่ก้นตู้ ไม่กินอาหาร หรือว่าหงายท้อง คุณจะทำยังไง

อย่าตกใจมากไป ขั้นแรกให้ทำการเปลี่ยนน้ำบางส่วน ซึ่งจะช่วยปรับสภาพทุกอย่างภายในตู้ปลา และช่วยให้ปลารู้สึกดีขึ้น สาเหตุหลักของการเจ็บป่วยของปลาเกิดจากน้ำที่คุณภาพแย่

ไนเตรท(ที่พูดนี่หมายความว่าตู้ของคุณผ่านการเซ็ทตัว ซึ่งทำให้แอมโมเนียและไนไตร์ทหมดไปแล้ว) เป็นวายร้าย ตัวฉกาจ ซึ่งจะก่อให้เกิดการติดเชื้อในหลายรูปแบบ ทั้งภายในและภายนอกตัวปลา
โดยเฉพาะการติดเชื้อภายใน อวัยวะบางส่วนของปลาอาจจะอักเสบบวมพอง ซึ่งจะไปทำให้ทางผ่านของอากาศในตัวปลาแคบลง แน่นอนว่าทำให้เกิดโรคเสียการทรงตัว นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมปลาถึงหงายท้อง

ก่อนที่ปลาจะแย่ไปกว่านั้น การเปลี่ยนน้ำและควบคุมคุณภาพน้ำให้ดี จะเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับปลา และส่วนใหญ่แล้วก็จะช่วยให้พวกมันอาการดีขึ้น โดยเฉพาะโรคเสียการทรงตัวส่วนใหญ่แล้ว ปัญหาบางอย่างเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะมันอยู่ภายในตัวปลา แต่เราจะสรุปว่าปลาดีขึ้น เมื่อมันเริ่มกินอาหาร หรือว่าว่ายน้ำ โดยที่ไม่รู้ว่าเชื้อโรคร้ายยังคงวนเวียนอยู่ภายในตัวปลาที่รักของเรา แต่ด้วยการเปลี่ยนถ่ายน้ำ จะทำให้ปลาสุขภาพดีขึ้น กระทั่งฟื้นคืนสู่ภาวะปรกติ

ในหลาย ๆ ครั้งที่พบว่า ปัญหาเรื่องสุขภาพปลาต่าง ๆ สามารถแก้ได้ด้วยการเปลี่ยนน้ำในทันที ปัญหาก็หยุดลงทันที

คุณเป็นคนที่จะตัดสินใจได้ว่า ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำเมื่อไหร บอ่ยแค่ไหน ตามเงื่อนไขข้างต้น


วิธีปรับเปลี่ยนสารเคมีในน้ำ อย่างปลอดภัยต่อปลา

นี่เป็นปัญหาหนึ่งจากความพยายามที่จะรักษาคุณภาพน้ำให้สะอาดมาก ๆ โดยการเพิ่ม หรือลดลงของค่า Ph หรือ อุณหภูมิในน้ำ ในปริมาณที่ต่างกันมากเกินไป ก่อให้เกิด ปัญหาปลาช๊อคอย่างรุนแรงกับสภาพที่เปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน ปรับตัวไม่ทัน ทำให้มันป่วย และตายในทันที หรือไม่ก็ยิ่งทำให้เชื้อโรคกัดกินปลามากยิ่งขึ้นในภายหลังอันเนื่องมาจากความเครียดจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงนั้น

หัวใจของปัญหานี้ คือว่า การเปลี่ยนค่าเคมีในน้ำนั้น ควรที่จะกระทำอย่างช้า ๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย เพื่อที่ปลาจะได้สามารถปรับสภาพรับการเปลี่ยนแปลงได้ทัน

แต่ในบ้างครั้งมันก็เป็นไปได้ยากที่จะค่อย ๆ เทน้ำลงไปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย ๆ กระทั่งถึงจุดที่ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีตู้เล็ก ๆ ซึ่งปริมาณน้ำน้อยอยู่แล้ว และไม่มีการเจือจาง ยิ่งถือกระป๋องน้ำ ค่อย ๆ เทลงไป มือก็ยิ่งเมื่อย

ดังนั้น ให้ใช้ สายอากาศเป็นตัวดูดน้ำแทนการเทน้ำลงไป ซึ่งวิธีนี้จะใช้เวลานานพอสมควร เพราะว่าสายอากาศจะเล็กมาก ๆ ทำให้น้ำจะค่อย ๆ ไหลลงไปในตู้ปลา จะใช้เวลา ราว 10 นาทีสำหรับ การดูดน้ำเข้าตู้ 1 แกลลอน ด้วยวิธีนี้ปลาจะไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในขณะเดียวกัน คุณก็สามารถที่จะไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ ในระหว่างนั้น สายอากาศซึ่งมีขนาดเล็กและเบา อาจจะทำให้มันลอยน้ำและไม่ทำงานดูดน้ำ หรือไม่ก็อาจจะดูดน้ำแต่อีกข้างลอยออกไปนอกตู้สร้างความเลอะเทอะได้ คุณต้องหาอะไรที่มีน้ำหนักถ่วงปลายของสายอากาศทั้งสองด้านด้วย หรืออาจจะใช้ตัวยึดสายอากาศยึดเอาไว้ก็ได้

วิธีการให้น้ำไหลอย่างช้า ๆ ทีละน้อย ๆ แบบนี้ยังใช้ได้กับ การช่วยให้ปลาใหม่ปรับสภาพให้ชินกับน้ำใหม่ โดยการต่อสายอากาศจากน้ำในตู้ปลา ออกมายัง ภาชนะที่ใส่ปลาใหม่อยู่ ปล่อยให้น้ำค่อย ๆ ไหลเข้ามาทีละน้อย ๆ กระทั่ง 15-20 นาที ปลาใหม่ก็จะปรับสภาพรับน้ำใหม่ในตู้ของคุณได้ จากนั้น ก็ย้ายปลามาใส่ตู้และเทน้ำในภาชนะเดิมนั้นทิ้งไปอย่าเสียดายเพราะว่ามันเต็มไปด้วยเชื้อโรคแน่ๆ

วิธีควบคุมคุณภาพน้ำให้สะอาด

จัดทำประวัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนถ่ายน้ำในแต่ละครั้งของคุณเอาไว้ แม้แต่ว่าใส่อะไรลงไปบ้าง อาทิน้ำยาปรับสภาพ เกลือ ค่าพีเอช ใส่ไม้น้ำ ใส่ปลาใหม่ อาการปลาเป็นอย่างไร ปลามีอาการ ทีท่าอย่างไร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาในกรณีที่เกิดสิ่งผิดปรกติขึ้นในภายหลัง และที่ดีที่สุด ถ่ายรูปปลา และตู้ปลาเอาไว้ ทำเป็นแค๊ทตาล๊อก

ยามมีปัญหาก็นำกลับแฟ้มนี้มาเปิดดู ก็จะทราบได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับปลาของคุณ


ความคิดเห็นที่ 1

mimis
mimis [2005-05-14 16:01:59]
คุณได้ปรับสภาพน้ำ หรือพักน้ำ ไว้ก่อนหรือไม่ ปรับสภาพน้ำหมายถึง คุณได้ใส่น้ำยาปรับสภาพน้ำ กระทั่ง คลอรีน หรือคลอราไมน์ กระทั่ง ค่าพีเอชในน้ำได้มากกว่า 7

อันนี้ขอแก้นิดค่ะ กระทั่งคลอรีน และคลอราไมน์ถูกกำจัด

ส่วนค่าพีเอชในน้ำได้มากกว่า 7 (ปลาทองชอบพีเอช 7.2-7.6)

บทความนี้เขียนสำหรับ อันตรายของไนเตรทโดยเฉพาะ นั่นคือสำหรับตู้ปลาที่ได้รับการเซ็ทตัวเรียบร้อย คือผ่านการกำจัดแอมโมเนีย และไนไตร์ทแล้ว

บางคนจะคิดว่า ผ่านจุดนั้นมาแล้วเรามีแบคทีเรียตัวดีคอยกำจัดของเสียแล้ว ไนเตรทก็อันตรายน้อย

แต่พอเค้ายกตัวอย่างขนาดว่าเปลี่ยนน้ำอาทิตย์ละครั้ง ไนเตรทยังสะสมทวีค่าขึ้นเรื่อย ๆ นี่คือคำตอบ สำหรับมี่เองด้วย ที่เมื่อก่อนสงสัย เอ๊ะ...ทำไมลูกเราตาย เราก็รักษาน้ำดีนี่ คือเราคิดว่า อาทิตย์ละครั้งสองครั้งนี่หรูมาก ๆ แล้ว ไม่ได้คิดว่า ปลาที่เราเลี้ยงนี้ มากกว่าห้าสิบตัวค่ะ

ความคิดเห็นที่ 2

mimis
mimis [2005-05-14 16:03:56]
เพื่อน ๆ มีความเห็นยังไงลุยเต็มที่นะคะ จะได้เป็นความรู้แบ่งปันกันค่ะ

ที่มี่เอามาก็เพราะเห็นด้วยกับเค้า

แต่ถ้ามีใครเห็นอย่างอื่น ก็ช่วยแบ่งปันหน่อยนะคะ

ความคิดเห็นที่ 3

 
  (202.5.88.9) [2005-05-14 18:06:42]
เจ้าของกระทู้น่ารักจัง

ความคิดเห็นที่ 4

JJ
JJ (203.118.114.56) [2005-05-15 00:15:38]
ที่บ้านจะคอยวัดค่าน้ำอาทิตย์ละครั้งเป็นอย่างน้อย ไนเตรทขึ้นไม่แน่นอนเลยค่ะ สนับสนุนที่คุณมี่ว่าการเปลี่ยนถ่ายน้ำจะยึดหลักตายตัวไม่ได้ เพราะตัวแปรที่ทำให้น้ำเสียมีมากมาย ดังนั้น ถ้าไม่มีตัววัดค่าน้ำก็ต้องสังเกตุพฤติกรรมของปลาเอา
ปลาที่บ้านมีตัวนึงถ้าไนเตรทเกิน 20 ปุ๊บสิวมันจะขึ้นทันที พอเปลี่ยนน้ำสิวก็ยุบ ตอนแรกก็ไม่รู้ เห็นสิวมันขึ้นๆ ยุบๆ ก็เลยลองวัดค่าน้ำทุกครั้งที่สิวมันขึ้น ปรากฏว่าเป็นตัวบ่งชี้ค่าไนเตรทที่ดีมากๆ

ความคิดเห็นที่ 5

มี่
มี่ (203.170.146.163) [2005-05-15 22:32:34]
คห. 3 จ๊ะ ถ้าท่านมีรสนิยมชอบสาวสูงวัยอ้วน ๆ ละก็ ป้ามี่ก็ยอมรับว่าน่ารักค่ะ...อิ...อิ...น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตราฐานมาเกือบฉิบโลค่ะ

คุณ JJ คะ สงสัยอย่างนี้ก็เอาเครื่องมือบริจาคไปได้แล้วเนอะ เพราะมีเครื่องวัดตัวจริงอยู่นี่นา งั๊นแต่ก่อนที่มีคนเข้ามาปรึกษาเรื่องปลามีสิว ก็คงเพราะเหตุนี้นี่เอง

ตอนนั้นรู้สึกเจ้าปลาน้อยจะโชคร้าย ถูกจับบีบสิวซะแห้ง แล้วเอายาทาค่ะ

เห็นด้วยชัดเจนเลยว่า คนเลี้ยงต้องสังเกตุพฤติกรรมค่ะ ถ้าเราให้ใจเค้าเราจะรู้เลยว่า เค้าปกติหรือไม่ ก็จะรักษาทันค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6

fatfish47
fatfish47
2
[2005-05-16 15:11:05]
ตามมาอ่านค่ะ...อิอิอิ....อยากรู้จัง คคห.3 น่ะใครอ่ะ?

ความคิดเห็นที่ 7

เจ้าของ คคห. 3 เองอะ
เจ้าของ คคห. 3 เองอะ (202.5.88.16) [2005-05-16 16:55:43]
ขอถอนคำพูดดีก่าT_T
ด้านบน

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนทำรายการ

เข้าระบบ